โรคพิษสุนัขบ้า


747 ผู้ชม


เกิดจากเชื้อไวรัสหลังถูกกัดแล้ว เชื้อจะเดินทางไปตามเส้นประสาท เข้าสู่สมอง...   
          โรคพิษสุนัขบ้า ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา คาดว่ามีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 30,000 คน โรคพิษสุนัขบ้าในทวีปเอเซียมักมีสุนัขเป็นสัตว์นำโรคที่สำคัญ ปัจจุบันในทวีปยุโรปยังมีปัญหาในสัตว์ป่า เช่น สุนัขจิ้งจอก มีรายงานโรคนี้ในค้างคาวในเดนมาร์ค เนเธอร์แลนด์ และเยอรมันตะวันตก ส่วนในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ยังมีปัญหาโรคนี้ในสัตว์ป่า เช่น สกั้งค์ แรคคูน และค้างคาว ในประเทศไทย จากการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือที่เรียกว่าโรคหมาบ้าโรคหมาว้อ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสหลังถูกกัดแล้ว เชื้อจะเดินทางไปตามเส้นประสาท เข้าสู่สมองทำให้มีอาการทางระบบประสาท และกล้ามเนื้อ เมื่อเกิดอาการแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ โอกาสตายมี 100 เปอร์เซ็นต์ โดยจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2549 ใกล้เคียงกับปี 2548 ซึ่งพบทั้งหมด 20 ราย ส่วนใหญ่ถูกลูกสุนัขวัย 3 เดือนกัด

โรคพิษสุนัขบ้าความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า

  1. เชื่อว่าโรคพิษสุนัขบ้าเป็นเฉพาะ หน้าร้อนเท่านั้น
  2. เชื่อว่าเมื่อถูกสุนัขกัดต้องใช้รองเท้าตบแผล หรือใช้เกลือขี้ผึ้งบาล์ม หรือยาฉุนยัดในแผล
  3. หลังถูกกัดต้องรดน้ำมนต์จะช่วยรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้
  4. เมื่อถูกสุนัขกัด การฆ่าสุนัขให้ตายแล้วนำตับสุนัขมากิน คนก็จะไม่ป่วยเป็นโรคนี้
  5. เมื่อถูกสุนัขกัด การตัดหูตัดหางสุนัขจะช่วยให้สุนัขไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
  6. คนท้องไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
  7. โรคพิษสุนัขบ้าเป็นเฉพาะในสุนัขเท่านั้น
  8. วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าฉีดรอบสะดือ 14 เข็ม หรือ 21 เข็ม ถ้าหยุดฉีดต้องเริ่มใหม่ เป็นต้น

ความเชื่อเหล่านี้ทำให้ผู้ที่ถูกสุนัขที่มีเชื้อไวรัส โรคพิษสุนัขบ้ากัดไม่ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลและดีที่สุด ทำให้โอกาสตายมีร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยขณะนี้วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้ามีความปลอดภัยสูง ฉีดเพียง 5 เข็ม และไม่ต้องฉีดทุกวัน

โอกาสที่จะเป็นโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์กัด ถ้าไม่ทราบว่าสัตว์เป็นโรคหรือไม่ ให้ถือว่าเป็นไว้ก่อน สัตว์ที่มีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าที่พบมากที่สุด คือ สุนัข รองลงมา คือ แมว ม้า ลิง และปศุสัตว์ (วัว, ควาย) สัตว์แทะจำพวกหนู กระรอก ผู้ที่ถูกสุนัขหรือสัตว์ที่เป็นโรคกัด โอกาสเป็นโรคโดยเฉลี่ยประมาณ 35% ขึ้นกับบริเวณที่ถูกกัด ถ้าถูกกัดที่ขา โอกาสเป็นโรคประมาณ 21% ถ้าถูกกัดที่ใบหน้า โอกาสเป็นโรคประมาณ 88% ถ้าเป็นแผลตื้น แผลถลอก โอกาสเป็นโรคจะน้อยกว่าแผลลึกหลายๆ แผล

โดยธรรมชาติคนหรือสัตว์จะไม่เกิดโรคพิษสุนัขบ้าขึ้นเองได้ นอกจากจะถูกสัตว์ที่เป็นโรคนี้กัดจนเป็นแผล ตั้งแต่เป็นรอยขีดข่วนมีเลือดออก เป็นแผลฉีกขาดหรือแผลรูลึก หรือถูกเล็บที่ถูกน้ำลาย สัตว์ป่วยขีดข่วนจนเป็นแผลเลือดออก จึงจะเกิดโรคนี้ได้ มีรายงานทางวิชาการกล่าวไว้ว่า เชื้อที่อยู่ในน้ำลายคนป่วย ถ้าเข้าไปในเยื่อที่ปาก จมูกหรือตา จะสามารถทำให้ผู้รับเชื้อเกิดโรคนี้ได้ แต่รายงานภายในประเทศไทยยังไม่พบว่ามีใครติดเชื้อจากผู้ป่วยโดยทางนี้

โรคพิษสุนัขบ้าสาเหตุ

เชื้อไวรัสก่อโรคเรียกว่า Rabies virus จัดอยู่ใน Family Rhabdoviridae, genus Lyssavirus เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ สายเดี่ยว และมีทั้งหมด 7 types ลักษณะของเชื้อ รูปร่างคล้ายกระสุนปืน ปลายด้านหนึ่งโค้งมนและปลายอีกด้านหนึ่งตัดตรง ถูกทำลายได้ง่ายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เชื้อไวรัสจะอยู่ในน้ำลาย ทางติดต่อสู่คนที่พบบ่อย คือ ถูกกัด โดยทั่วไปเชื้อจะเข้าทางผิวหนังปกติไม่ได้ แต่อาจเข้าทางผิวหนังที่มีบาดแผลอยู่เดิม หรือรอยข่วน นอกจากนี้ยังเข้าได้ทางเยื่อเมือก ได้แก่ เยื่อบุตา เยื่อบุจมูก เยื่อบุภายในปาก

วิธีการติดต่อของโรค เชื้อไวรัสออกมากับน้ำลายสัตว์ที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะเข้าสู่ร่างกายคนทางบาดแผลที่สัตว์กัดหรือข่วน หรือน้อยมากที่พบว่าเชื้อสามารถเข้าทางบาดแผลที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ตามผิวหนัง หรือเข้าเยื่อบุของตา ปาก จมูก ที่ไม่มีแผลหรือรอยฉีดขาด การติดต่อจากคนถึงคน สามารถเกิดได้ตามทฤษฎี เนื่องจากมีการพบเชื้อในน้ำลายของผู้ป่วย แต่ไม่เคยมีรายงานยืนยันที่แน่ชัด นอกจากการติดต่อโดยการปลูกถ่ายกระจกตา จากผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า แต่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคของระบบประสาทส่วนกลาง

การติดต่อโดยการหายใจพบน้อยมาก มีรายงานการติดต่อในถ้ำค้างคาว และในอดีตมีรายงานในห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ เนื่องจากมีความเข้มข้นของเชื้อไวรัสในบรรยากาศสูงมากและขณะนั้นไม่มีมาตรการป้องกันที่ดีพอ การติดต่อโดยค้างคาวดูดเลือด ส่วนใหญ่พบในลาตินอเมริกา สำหรับในสหรัฐอเมริกามีรายงานติดโรคมาสู่คนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม โดยค้างคาวกินแมลง แต่พบได้น้อย

ระยะฟักตัวของโรค

ประมาณ 2-8 สัปดาห์ อาจสั้นเพียง 5 วัน หรือยาวนานเกินกว่า 1 ปี ระยะฟักตัวจะสั้นหรือยาวขึ้นกับปัจจัยบางประการ ได้แก่ ความรุนแรงของบาดแผล ปริมาณของปลายประสาทที่ตำแหน่งของแผล และระยะทางจากแผลไปยังสมอง เช่น แผลที่หน้า ศีรษะ คอ และมือ จะมีระยะฟักตัวสั้น จำนวนและความรุนแรงของเชื้อก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เครื่องนุ่งห่ม เช่น เสื้อผ้า หรือการล้างแผลจะมีส่วนช่วยลดจำนวนเชื้อลงได้มาก

โรคพิษสุนัขบ้าระยะติดต่อของโรค

สุนัขและแมวอาจแพร่เชื้อได้ 3 - 10 วันก่อนเริ่มแสดงอาการป่วย (พบน้อยมากที่จะเร็วกว่า 3 วัน) และตลอดเวลาที่สัตว์ป่วย ในสัตว์ป่า เช่น ค้างคาว และสกั้งค์ มีรายงานการปล่อยเชื้อในน้ำลายได้เร็วถึง 8-18 วันก่อนแสดงอาการ

ความไวและความต้านทานต่อการรับเชื้อ

สัตว์เลือดอุ่นที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดไวต่อโรคนี้ ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าคนมีความต้านทานโรคที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

การแพร่กระจายของโรคพิษสุนัขบ้า

มักเกิดในฤดูหนาวแล้วนำไปสู่การระบาดในฤดูร้อน เนื่องจากหน้าหนาวในประเทศไทย ซึ่งเริ่มประมาณเดือนพฤศจิกายน เป็นฤดูผสมพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด

อาการ

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่อันตราย เพราะหากรับเชื้อแล้วไม่ได้รับการรักษาให้ทันท่วงที ปล่อยไว้จนปรากฏอาการของโรค ทำให้เสียชีวิตได้ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์เลี้ยงของเราหรือที่พบเห็น โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวอย่าง สุนัขและแมวเป็นโรคนี้ วิธีง่ายๆ คือ หมั่นสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยง ในบ้านของเราเองว่ามีอาการของโรคนี้หรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของพิษสุนัขบ้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช่วงหน้าร้อน

โดยทั่วไปแล้วสุนัขจะแสดงอาการของโรคได้เร็วกว่าคน คือ หลังจากรับเชื้อแล้วประมาณ 1-3 เดือน โดยในสุนัขและแมวที่มีเชื้อนั้น จะมีอาการที่แสดงให้เห็นว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ 2 แบบ คือ ชนิดดุร้ายและชนิดเซื่องซึม

  1. ชนิดดุร้าย ในสุนัขจะมีอาการผิดไปจากปกติ ถ้าหากล่ามโซ่หรือเลี้ยงไว้ในกรงก็จะมีอาการเดินไปมา กระวนกระวาย พยายามหาทางออก โดยการกัดโซ่ กัดกรงขังจนเลือดออกโดยไม่แสดงอาการเจ็บปวด วิ่งไปโดยไร้จุดหมาย กัดคน กัดสัตว์ทุกชนิดที่ขวางหน้า น้ำลายฟูมปาก คางห้อย หางตก แววตาน่ากลัว หลังจากนั้นก็จะเริ่มมีอาการอัมพาต ขาหลังไม่มีแรง วิ่งลำบากขึ้น ขณะวิ่งอาจจะวิ่งไปล้มไป เมื่อมีอาการอัมพาตมากขึ้น ขาหน้าก็จะหมดแรง แล้วค่อยๆ ล้มลงหมดสติและตายภายใน 3-6 วัน หลังจากที่แสดงอาการ ส่วนในแมวจะแสดงอาการดุร้ายมากกว่าสุนัข มีอาการพองขน กางอุ้งเล็บออก มีลักษณะหวาดระแวง เตรียมพร้อมที่จะสู้อยู่ตลอดเวลา ส่งเสียงดังเป็นพักๆ มีอาการราว 2-4 วัน ก็จะเริ่มเป็นอัมพาต เคลื่อนไหวได้ช้าลง หมดสติและตายในที่สุด
  2. ชนิดเซื่องซึม จะสังเกตได้ยาก เพราะแสดงอาการป่วยเหมือนกับสัตว์เป็นโรคอื่นๆ เช่น โรคหวัด ไข้หัดในระยะต้นๆ สุนัขหรือแมวจะหลบไปนอนในที่เงียบๆ ไม่แสดงอาการดุร้าย จะกัดคนหรือสัตว์เมื่อถูกรบกวน หรือเมื่อเอาน้ำ เอายาหรือเอาอาหารไปให้ เมื่ออาการของโรคกำเริบมากขึ้น จะมีอาการอัมพาต ลุกขึ้นเดินไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ และตายในที่สุดและส่วนมากจะตายภายใน 3-6 วัน หลังจากแสดงอาการเช่นกัน

โรคพิษสุนัขบ้าการเก็บตัวอย่างส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์

ถ้าเป็นสุนัขหรือแมว ที่สามารถกักขังไว้ได้ให้ กักสัตว์นั้นอยู่ในบริเวณไม่ให้หนีไปได้ เพื่อเฝ้าดูอาการประมาณ 10 วัน ถ้าสัตว์ แสดงอาการป่วย หรือไม่สามารถกักขังสัตว์นั้นได้ หรือถ้าเป็นสัตว์ชนิดอื่น ให้รีบทำลายสัตว์นั้น และรับส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทันที

เมื่อสัตว์ที่สังสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าตายลง ให้ตัดหัวหรือถ้าสัตว์นั้นมีขนาดเล็กให้ส่งตรวจ ได้ทั้งตัว ตัวอย่างที่ส่งตรวจต้องใส่ถุงพลาสติกให้มิดชิด ห่อด้วยกระดาษหลายๆ ขั้น และใส่ถุงพลาสติก อีกชั้นหนึ่ง ปิดปากถุงให้สนิท เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจาย จากนั้นนำใส่ภาชนะเก็บความเย็น ที่บรรจุน้ำแข็ง ปิดฉลาก ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ผู้ส่งตรวจ และวัน เดือน ปี ที่เก็บตัวอย่างส่งตรวจให้ชัดเจน รีบนำส่งห้องปฏิบัติการทันที

สิ่งที่ต้องระวังคือ ผู้ที่ตัดหัวสัตว์ต้องไม่มีแผลที่มือ และต้องใส่ถุงมือยางหนา ซากสัตว์ที่เหลือให้ฝังดินลึกประมาณ 50 ซม. มีดที่ใช้ตัดหัวสัตว์ เครื่องมือที่ใช้ต้องต้มให้เดือด 30 นาที เพื่อฆ่าเชื้อ และบริเวณที่ตัดหัวสัตว์ต้องล้างทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

การเก็บตัวอย่างส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้าในผู้ป่วยในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่

  1. น้ำลาย : เก็บน้ำลายตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ และเก็บเป็นระยะ ในวันที่ 4, 5, 6, 12 และ 24 หลังเริ่มแสดงอาการ โดยวิธี Suction จากบริเวณต่อมน้ำลาย หรือเก็บจากน้ำลายที่ไหลออกมาใส่ภาชนะปราศจากเชื้อประมาณ 5 - 10 มล.
  2. ปมรากผมท้ายทอย : ถอนเส้นผมให้ติดปมรากผมจากบริเวณท้ายทอย ประมาณ 10-20 เส้น ใส่ภาชนะปราศจากเชื้อ
  3. ปัสสาวะ : เก็บตั้งแต่มีอาการและเก็บเป็นระยะๆ เช่นเดียวกับการเก็บน้ำลาย ใส่ในภาชนะปราศจากเชื้อ ประมาณ 20 มล.
  4. น้ำไขสันหลัง : เก็บน้ำไขสันหลังประมาณ 3-5 มล. ในวันที่ 7 และ 14 หลังจากเริ่มมีอาการใส่ภาชนะที่ปราศจากเชื้อ
  5. น้ำเหลือง : เจาะเลือดประมาณ 5 มล. ใส่ในภาชนะที่ปราศจากเชื้อ

ในกรณีที่ผู้ป่วยเสียชีวิต

  1. ชิ้นเนื้อท้ายทอย : ตัดชิ้นเนื้อบริเวณท้ายทอยแช่ในน้ำเกลือ (0.85% NaCl) ใส่ในภาชนะปราศจากเชื้อ
  2. เซลล์กระจกตา : นำสไลด์ที่สะอาดปราศจากเชื้อที่ได้ทำเครื่องหมายไว้แล้ว แตะบนกระจกตาของผู้ป่วยจำนวน 3 แผ่นๆ ละ 2 จุด ทิ้งให้แห้งที่อุณหภูมิห้อง 10 นาที
  3. เนื้อสมอง : ให้เก็บเนื้อสมองส่วน Hippocampus และ Brain stem ใส่ภาชนะปราศจากเชื้อ

วิธีตรวจวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ

  1. ตรวจหาแอนติเจนต่อเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าด้วยวิธี Fluorescent Antibody Technic (FAT)
  2. โรคพิษสุนัขบ้าตรวจยืนยันด้วยการแยกเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าในกรณีที่ผลการตรวจหาแอนติเจนด้วยวิธี FAT เป็นลบ สามารถตรวจยืนยันได้โดยวิธีการดังต่อไปนี้
    • Mouse Inoculaltion Test (MIT)
    • Cell Isolation
  3. ตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสพิษสุนัขบ้าโดยวิธี Polymerase Chain Reaction (PCR) ใช้เป็นวิธีพิเศษในกรณีที่ไม่สามารถสรุปผลด้วยวิธีการตรวจหาแอนติเจนและวิธีการแยก เชื้อไวรัส หรือกรณีตัวอย่างที่ไม่ใช่เนื้อสมอง
  4. ตรวจหาระดับนิวทรัลไลซิ่งแอนติบอดี
    • Mouse Neutralization Test (MNT)
    • Rapid Fluorescent Focus Inhibition Test (RFFIT)

ข้อควรปฏิบัติหลังถูกสุนัขกัด

รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่หลายๆ ครั้ง พยายามล้างให้เข้าถึงรอยลึกของแผลทำความสะอาดซ้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดน-ไอโอดีน, 70% alcohol ถ้าแผลฉกรรจ์มีเลือดออก ควรปล่อยให้เลือดออกระยะหนึ่งเพื่อล้างน้ำลาย ซึ่งอาจมีเชื้อไวรัสออก ถ้าสามารถเฝ้าดูอาการสัตว์ (กรณีที่มีเจ้าของ) ควรกักขัง และเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 10 วัน

กรณีที่สัตว์ตาย ควรนำส่งเพื่อตรวจหาเชื้อ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และวัคซีนป้องกันบาดทะยักทันที กรณีที่เป็นแผลฉีกขาด อาจทำแผลไปก่อน โดยยังไม่ต้องเย็บแผล เนื่องจากแผลสกปรก โอกาสติดเชื้อจะสูงมากถ้าเย็บแผล ทานยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่ง หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดแผลมาก ชา หรือ คันรอบๆ แผล มีไข้ขึ้น ให้รีบมาพบแพทย์ไม่ว่าจะสามารถเฝ้าดูอาการได้หรือไม่โดยเฉพาะสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ หรือกัดแล้วหนี ควรมาโรงพยาบาลทันที ไม่ควร และไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้สุนัขมีอาการก่อน เพราะระยะฟักตัวทั้งในคน และสัตว์ไม่แน่นอน คนอาจมีอาการก่อนสัตว์ได้

ประวัติการได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าของสัตว์

สัตว์มีเจ้าของไม่เคยออกนอกบ้าน ไม่เคยไปกัดกับใคร ไม่ได้บอกว่าสัตว์นั้นไม่เป็นโรค เพราะฉะนั้นท่านควรได้รับวัคซีน ซึ่งวัคซีนมี 2 ชนิด คือ

  1. วัคซีนธรรมดา คือ วัคซีนที่ต้องใช้เวลาในการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน
  2. วัคซีนอิมมูโนโกลบุลิน (Immunoglobulin) คือ วัคซีนที่เป็นภูมิคุ้มกันทันทีโดยไม่ต้องใช้เวลาในการกระตุ้น ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีราคาแพง วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า โดยปกติท่านควรได้รับวัคซีนธรรมดาซึ่ง 1 ชุดจะมี 5 เข็ม ใช้เวลาในการฉีดประมาณ 1 เดือน โดยฉีดวัคซีนในวันแรกที่ถูกสัตว์กัด และในวันที่ 3, 7, 14, 30 หลังสัตว์กัดตามลำดับ

วัคซีนอิมมูโนโกลบูลิน (Immunogobin) เป็นวัคซีนที่มีราคาแพง เพราะฉะนั้นจะใช้ต่อเมื่อสงสัยว่าสัตว์เป็นโรคแน่ๆ โดนกัดอวัยวะที่สำคัญซึ่งมีเส้นประสาทไปเลี้ยงมาก เช่น หน้า, ฝ่ามือ, ฝ่าเท้า, อวัยวะเพศ บาดแผลฉกรรจ์ แผลลึกมีขนาดใหญ่

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2022

อัพเดทล่าสุด