“คอเลสเตอรอล” ไขมันแห่งชีวิต


551 ผู้ชม


ช่วยในการส่งผ่านสารละลายต่างๆ เข้าออกเซลล์ ฯลฯ   
 

   “คอเลสเตอรอล” ไขมันแห่งชีวิตคอเลสเตอรอล คือ ไขมันประเภทหนึ่ง มีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว พบได้ในเซลล์ของอวัยวะทั่วไปในร่างกาย จินตนาการง่ายๆ ว่าส่วนประกอบที่เป็นของเหลวในตัวเรา ล้วนมีคอเลสเตอรอลแทรกซึมเป็นเจ้าถิ่นอยู่ทุกอณู ไม่เว้นแม้แต่ส่วนสำคัญที่สุดอย่างก้อนไขมันทรงประสิทธิภาพที่เรียกว่า สมอง

   คอเลสเตอรอลมีบทบาทสำคัญหลายประการอย่างที่เราคาดไม่ถึง ทั้งเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ ช่วยในการส่งผ่านสารละลายต่างๆ เข้าออกเซลล์ หรือรับส่งสัญญาณมาสู่เซลล์ และยังเป็นสารตั้งต้นการสร้างน้ำดีสำหรับย่อยไขมันที่เรากินเข้าไป รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการผลิตสารจำพวกสเตียรอยด์ฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนที่ไปควบคุมระบบเกลือแร่และการทำงานของไต เป็นต้น

   ถ้าคุณคิดว่าคอเลสเตอรอลส่วนใหญ่มาจากอาหารแล้วล่ะก็ เปลี่ยนความคิดใหม่ได้เลย เพราะส่วนใหญ่แล้วตับของคุณสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นมาเอง และเพราะคอเลสเตอรอลเป็นไขมันชนิดไม่ละลายในน้ำ ก่อนร่างกายนำไปใช้จึงต้องมีการรวมตัวเข้ากับโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อ อะโพโปรตีน (apoprotein) เพื่อเปลี่ยนรูปเป็นไลโพโปรตีน (lipoprotein) หน้าตาคล้ายไข่แดงที่ถูกหุ้มด้วยไข่ขาว หลังเสร็จสิ้นการเปลี่ยนรูปร่าง คอเลสเตอรอลในรูปแบบไลโพโปรตีนจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางกระแสเลือด เพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

คอเลสเตอรอลหายไปไหน

   นายแพทย์เจริญลาภ อุทานปทุมรส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 3 อธิบายว่า “คอเลสเตอรอลส่วนหนึ่งจะถูกนำไปสร้างเป็นน้ำดีหรือน้ำย่อย และอีกส่วนนำไปสร้างไลโพโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อ วีแอลดีแอล (VLDL: Very Low-Density Lipoprotein) ซึ่งประกอบไปด้วยไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์เป็นส่วนใหญ่ มีคอเลสเตอรอลอยู่เล็กน้อยพร้อมโปรตีนที่ช่วยให้มันละลายอยู่ในเลือดได้ ระหว่างทางที่วีแอลดีแอลเดินทางในเส้นเลือด จะมีเอนไซม์ที่ย่อยเอาไตรกลีเซอร์ไรด์ไปใช้ ซึ่งไตรกลีเซอร์ไรด์นี้ให้พลังงานมากกว่าคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนถึง 2 เท่า ช่วยในการสร้างน้ำนม เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของกล้ามเนื้อและหัวใจ

   ไตรกลีเซอร์ไรด์ที่ใช้ไม่หมดจะถูกนำไปเก็บไว้ในไขมัน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรอง เมื่อไตรกลีเซอร์ไรด์ถูกดึงออกไปจากวีแอลดีแอลหมดแล้วจะเหลือเป็นโมเลกุลขนาดเล็กที่สุด ในชื่อ แอลดีแอล (LDL: Low-Density Lipoprotein) หรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี แต่ยังมีประโยชน์คือ เมื่อผ่านไปถึงอวัยวะไหน ก็จะถูกดึงคอเลสเตอรอลไปใช้งานได้ทันที เมื่อวนครบทุกส่วนแล้วหากแอลดีแอลยังถูกใช้ไม่หมด ก็จะถูกลำเลียงเข้าสถานีสุดท้ายคือตับ ซึ่งตับก็จะนำแอลดีแอลที่เหลือนี้ไปสร้างเป็นวีแอลดีแอลอีกครั้ง เป็นวัฏจักรอย่างนี้เรื่อยไป

แอลดีแอล VS เอชดีแอล กำเนิดไขมันตัวร้าย ตัวดี

   จริงๆแล้วทั้งแอลดีแอลและเอชดีแอลมีที่มาเหมือนกัน คือเป็นคอเลสเตอรอลในรูปไลโพโปรตีน แต่แตกต่างกันที่น้ำหนักของโมเลกุล มวลที่มีโมเลกุลคอเลสเตอรอลมากกว่า เรียกว่า แอลดีแอล หรือไขมันตัวร้ายร้าย ที่แม้จะมีข้อดีอยู่บ้างแต่ข้อร้ายที่ปรากฎคือ นำไขมันและไตรกลีเซอร์ไรด์ออกจากตับไปสะสมไว้ตามหลอดเลือด สร้างปัญหาให้แก่หลอดเลือด

   คนที่กินอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันและคอเลสเตอรอล เมื่อรวมกับที่ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอลออกมาตามปกติ จะทำให้วัฏจักรคอเลสเตอรอลในร่างกายไม่สมดุล คือมีมากจนเกินพอดี เหลือใช้ ตับทำลายไม่ทัน บางส่วนจึงเหลือรอดออกไปสะสมตามผนังหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดแดงบริเวณนั้นสูญเสียการทำงาน ทั้งตีบ ตัน หรือแตก เป็นเหตุให้เกิดโรคร้ายต่างๆ ตามมา

   ส่วนมวลที่มีโมเลกุลของคอเลสเตอรอลน้อยกว่า เรียกว่า เอชดีแอล (HDL: High density Lipoprotein) อุดมไปด้วยฟอสโฟลิพิด มีหน้าที่ทำความสะอาดหลอดเลือด เก็บคราบไขมันที่แอลดีแอลทิ้งไว้กลับคืนมาที่ตับ แล้วขับออกทางน้ำดี ส่วนหนึ่งจะถูกไฟเบอร์ในอาหารจับและขับออกทางอุจจาระ จะเปรียบเอชดีแอลว่าเป็นผู้พิทักษ์ความสะอาดก็คงไม่ผิดนัก

   นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งไขมันร้าย คอยเสริมการทำงานของแอลดีแอล นั่นคือ ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ที่คอยขัดขวางการทำงานของเอชดีแอล และเมื่อใดที่ร่างกายเรามีโรคอย่างความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน เจ้าไตรกลีเซอร์ไรด์และแอลดีแอล ก็พร้อมปฏิบัติการขั้นสุดยอด ทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น จนอาจถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้

อันตรายจากไขมันร้าย แอลดีแอล

   นพ.ธีระพร ไทยจินดา อายุรแพทย์สาขาประสาทวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เล่าว่าในคนปกติ ที่ไม่มีความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน แม้ผลตรวจร่างกายจะบอกว่าคุณมีปริมาณแอลดีแอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง ทั้งยังมีค่าเอชดีแอลที่ต่ำ ก็ไม่น่าเป็นห่วงอะไร เพราะเจ้าไขมันวายร้าย 2 ชนิดนี้ จะออกฤทธิ์วาดลวดลายได้ก็ต่อเมื่อร่างกายเรามีอาการของโรคสองชนิดข้างต้นเท่านั้น ถ้าเรายังแข็งแรงดีวายร้ายก็จะไม่มีพิษสงอะไรเลย แต่ถ้าคุณมีอาการของโรคใดโรคหนึ่ง หรือทั้งสองโรค กอปรกับอายุที่มากขึ้น แอลดีแอลก็จะได้ใจพร้อมทำร้ายอวัยวะสำคัญๆ อย่างหัวใจ สมอง และตับ ไต ได้อย่างน่ากลัว

  • คอเลสเตอรอลกับหัวใจ จากการวิจัยของต่างประเทศพบว่า คอเลสเตอรอลเริ่มสะสมตามหลอดเลือดหัวใจได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี และจะอันตรายยิ่งขึ้นสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมเป็นโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้ตับสร้างคอเลสเตอรอลมากกว่าปกติ หากพบว่ามีความเสี่ยงดังกล่าวและผลตรวจร่างกายชี้ชัดว่ามีปริมาณคอเลสเตอรอลสูง ควรรีบไปพบแพทย์ 
  • คอเลสเตอรอลกับสมอง เมื่อคอเลสเตอรอลเข้าไปสะสมในเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองไม่ว่าจะบริเวณใดก็ตาม จะก่อให้เกิดความผิดปกติบริเวณนั้นๆ เช่น หากเส้นเลือดบริเวณสมองส่วนควบคุมการทรงตัวเกิดตีบ ตัน หรือแตก ร่างกายก็สูญเสียการควบคุมการทรงตัว กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตหรือพาร์คินสัน หากเกิดกับเส้นเลือดสมองส่วนควบคุมการรับรู้ อาจทำให้ความจำเสื่อม เป็นอัลไซเมอร์ เป็นต้น แต่ก่อนที่อาการผิดปกติของเส้นเลือดจะส่งผลถึงสมอง มักจะเกิดขึ้นกับหัวใจก่อนเสมอ 
  • คอเลสเตอรอลกับตับและไต หากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงตับหรือไตเกิดอาการตีบ แตกหรือตัน ก็อาจทำให้ตับหรือไตสูญเสียการทำงาน ถึงขั้นตับวายหรือไตวายจนเสียชีวิตได้

   สรุปแล้ว คอเลสเตอรอลจะทำร้ายเราได้ต่อเมื่อเราเป็นโรคหรือเสี่ยงกับโรคอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว และโดยธรรมชาติ คอเลสเตอรอลจะไปฝังตัวเป็นคราบอยู่ตามเส้นเลือดแดงหลักที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ การที่จะเกิดอันตรายใดๆ หรือรุนแรงแค่ไหน จึงขึ้นอยู่กับว่าเส้นเลือดที่มีปัญหานั้นอยู่บริเวณไหนและโดนทำลายไปมากเพียงใด คำเตือนที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดว่าถึงเวลาลดคอเลสเตอรอลหรือยัง จะอยู่ในสมุดรายงานการตรวจร่างกายประจำปีของคุณ นอกจากนี้ วิธีการป้องกันที่สุดคือ การออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง สัปดาห์ละ 3 วัน จะช่วยเพิ่มปริมาณเอชดีแอล เพื่อต่อกรกับแอลดีแอลและไตรกลีเซอร์ไรด์อย่างได้ผล

   ส่วนการควบคุมอาหารและรับประทานอาหารที่ให้แอลดีแอลต่ำก็เป็นทางเลือกที่ดี แต่ยังให้ผลน้อยกว่าการออกกำลังกายค่ะ

อ่านเพิ่มเติมในคอลัมน์ Health นิตยสาร Health & Cuisine ปีที่ : 9 ฉบับที่ : 101 เดือน : มิถุนายน 2552

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2023

อัพเดทล่าสุด