สายไฟจิ๋ว แค่ขยับ...ก็มีไฟได้


731 ผู้ชม


เทคโนโลยีในอนาคตที่สร้างสรรค์พลังงานไฟฟ้าให้เกิดขึ้นขณะที่เราเคลื่อนไหวร่างกาย.....สายไฟนาโน   


ภาพจาก 
https://www.rmutphysics.com


          หนังสือพิมพ์ข่าวสดได้รายงานข่าวว่านักวิจัยชาวอเมริกาได้พัฒนาต่อยอด สร้างวัสดุที่จ่ายกระแสไฟฟ้าระดับ 1.26 โวลต์ ทำให้สามารถชาร์จไฟอุปกรณ์มือถือ เครื่องเล่นเพลง mp3  โดยวัสดุดังกล่าวอยู่ในรูปแบบของ "สายไฟจิ๋ว" หรือสายไฟนาโนที่เมื่อนำมาต่อกัน แล้วออกแรงจะทำให้สายไฟทั้งหมดเคลื่อนไหว เกิดกระแสไฟฟ้าสะสมขึ้นมาโดยอัตโนมัติ  ใช้ป้อนให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือยันคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ซึ่งคาดว่า 3-5 ปีข้างหน้า สายไฟจิ๋วนี้จะกลายเป็นวัสดุที่ถักทอเข้ากับเสื้อผ้าหรือรองเท้า  เมื่อผู้สวมใส่เคลื่อนไหวก็จะเป็นการประจุกระแสไฟฟ้าไปในตัว (หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7089 ข่าวสดรายวัน)
          จากข่าวจะเห็นได้ว่าปัจจุบันนาโนเทคโนโลยีได้มีการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลาย ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยเอง  แล้วนาโนเทคโนโลยีที่ว่านี้คืออะไร เราลองมาศึกษากันดีกว่านะคะ
          เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  ระดับชั้น ม.1 - ม.3  
         
 นาโนเทคโนโลยี คืออะไร
          นาโน เป็นหน่วยการวัดระดับ ขนาดหรือความยาวของวัตถุหนึ่งๆ ตามระบบมาตราเมตริก ซึ่ง 1 นาโนเมตร จะเท่ากับ 
10-9ของ 1 เมตร  หรือ หนึ่งในพันล้านส่วน 
          เทคโนโลยี คือ วิทยาการที่นำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติและอุตสาหกรรม 
          ดังนั้น "นาโนเทคโนโลยี" จึงหมายถึง การนำเทคโนโลยีซึ่งเกี่ยวกับกระบวนการสร้าง การสังเคราะห์วัสดุหรือผลิตภัณฑ์ซึ่งมีขนาดเล็กมากในระดับนาโนเมตร (
10-9 ของ 1 เมตรเทียบเท่ากับระดับอนุภาคโมเลกุลหรืออะตอม รวมถึงการออกแบบ การใช้เครื่องมือสร้างวัสดุที่อยู่ในระดับเล็กมาก  การเรียงอะตอมและโมเลกุลในตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างแม่นยำและถูกต้อง  ซึ่งทำให้โครงสร้างของวัสดุหรือสสารมีคุณสมบัติพิเศษ ไม่ว่าทางด้านฟิสิกส์ เคมี หรือชีวภาพ ส่งให้มีผลประโยชน์ต่อผู้ใช้สอย  
           นาโนเทคโนโลยีนั้นใช่ว่าจะมีแค่มนุษย์สร้างขึ้นเท่านั้น  แต่ยังมีอยู่ในธรรมชาติิ ซึ่งบางครั้งเราเองก็อาจคิดไม่ถึง หรือไม่รู้ว่าสิ่งที่ธรรมชาติให้มานั้น  นั่นก็คือนาโนเทคโนโลยีที่มนุษย์นำมาเลียนแบบเพื่อใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน  เช่น  
  •   ตีนตุ๊กแก - จิ้งจก ที่สามารถปีนกำแพงหรือเกาะติดผนังที่ราบเรียบและลื่นได้อย่างมั่นคง เพราะ สปาตูเล่ (spatulae) เส้นขนที่มีขนาดเล็กประมาณ 200 นาโนเมตร ที่ส่วนปลายของขนซีเต้ (setae)  (ขนขนาดเล็กบริเวณใต้อุ้งตีนของตุ๊กแก-จิ้งจก)  
  •   พื้นผิวของใบบัว มีปุ่มเล็กๆ ที่มีขนาดในช่วงระดับนาโนเมตรในหนามขนาดเล็กจำนวนมหาศาลเรียงตัวกระจายอยู่อย่างเป็นระเบียบและเป็นสารที่มีคุณสมบัติคล้ายขี้ผึ้ง จึงทำให้น้ำที่ตกลงมาบนใบบัวไม่สามารถซึมผ่านหรือกระจายตัวแผ่ขยายออกในแนวกว้างบนใบบัวได้ 
  •   เปลือกหอยเป๋าฮื้อ  มีการจัดเรียงตัวของโมเลกุลแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) มีลักษณะคล้ายเป็นกำแพงอิฐก่อที่เรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบโดยที่ก้อนอิฐขนาดนาโนแต่ละก้อนนี้จะเชื่อมติดกันด้วยกาวที่เป็นโปรตีน
  •   ปีกของผีเสื้อบางชนิด จะมีรูพรุนขนาดในช่วงนาโนจำนวนมหาศาลเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนผลึกโฟโต้นิกส์ในธรรมชาติ โดยปีกของผีเสื้อบางชนิดนี้จะเปลี่ยนสีเพื่อดึงดูดเพศตรงข้ามหรือหลบหนีศัตรู โดยอาศัยหลักการหักเหและการสะท้อนของแสงแดดที่มาตกกระทบลงบนปีก ซึ่งสีที่ปรากฎบนปีกผีเสื้อจะแตกต่างกันถ้ามุมที่แสงตกกระทบมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย 
  • ใยแมงมุม เกิดจากการที่แมงมุมหลั่งโปรตีนที่ละลายได้ในน้ำที่ชื่อว่า ไฟโบรอิน (Fibroin)  ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษคือ  สามารถเปลี่ยนสถานะจากของเหลวไปเป็นของแข็งที่มีความแข็งแรงและเหนียวมาก สามารถหยุดแมลงที่บินด้วยความเร็วสูงสุดได้โดยไม่ขาด 

สนุกคิดกับวิทยาศาสตร์
          1. นาโนเทคโนโลยีมีประโยชน์ต่อเราอย่างไร
          2. ยังมีนาโนเทคโนโลยีในธรรมชาติอะไรอีกบ้างนอกเหนือจากที่ยกตัวอย่างในสาระการเรียนรู้ 
          3. ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์อะไรบ้างที่พัฒนามาจากนาโนเทคโนโลยี
          4. การนำนาโนเทคโนโลยีไปใช้จะก่อให้เกิดผลเสียอย่างไรในอนาคตหรือไม่ อย่างไร
ลองทำดู
           ให้นักเรียนใช้จินตนาการทดลองออกแบบสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้นาโนเทคโนโลยีมา 1  ชิ้น พร้อมทั้งอธิบายเหตุผล  กลไกการทำงานของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนั้น และบอกประโยชน์ของสิ่งประดิษฐ์นาโนเทคโนโลยีชิ้นนี้

การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ

          กลุ่มสาระศิลปะ - การออกแบบ
          กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ - การคำนวณ ความกว้าง  ความยาว  ความสูง  มุม  ของสิ่งประดิษฐ์
แหล่งที่มาของข้อมูล
          1.  หนังสือพิมพ์ข่าวสด
          2.  ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
          3.  พจานานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 ออนไลน์ 
          4.  https://www.spufriends.com/blog/
ภาพจาก  https://www.rmutphysics.com

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2132

อัพเดทล่าสุด