แมงกุดจี่ สัตว์ตัวเล็กแต่ยิ่งใหญ่ สามารถพบได้ทั่วไปตามกองมูลควายในทุ่งนาชนบท ซึ่งพบว่าในมูลหนึ่งกองมีกุดจี่หลายชนิดและบางชนิด สามารถจับมาทำเป็นอาหารได้ มาดูว่ามันมีพฤติกรรม วงจรชีวิตและวิวัฒนาการร่วมกับควายบ้านอย่างไรบ้าง
ดร.รอบเนล หัวหน้าคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยว่า แมงกุดจี่ ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Onthophagus Taurus ถูกยกให้เป็นสัตว์ที่แข็งแรงที่สุดในโลก มีวิวัฒนาการยาวนาน สันนิษฐานว่าอาจมีอยู่ตั้งแต่ 350 ล้านปีก่อนโดยกินมูลของไดโนเสาร์และสัตว์ในยุคนั้น
ที่มา :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 26 มีนาคม 2553 :: คอลัมน์โลกน่ารู้ เรื่อง แมงกุดจี่ จอมพลัง
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สาระการเรียนรู้ชีววิทยา ระดับชั้น ม.ปลาย หรือวิทยาศาสตร์ ระดับชั้น ม. ต้น
ที่มา :: https://www.wildwanderer.com/journal/wp-content/uploads/2007/10/dung-beetle.jpg
บทความนี้ มุ่งที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสร่วมสังเกตพฤติกรรมของแมงกุดจี่ (กุดจี่ขี้ควาย) บนกองมูลควายในทุ่งนา ที่นับวันจะเลือนหายไปจากท้องทุ่งนาชนบท ซึ่งผลจากการสังเกตพบว่า
1. เมื่อควายถ่ายมูลในตอนกลางวัน จนถึงเวลาประมาณ 19.00-20.30 น. แมงกุดจี่จะบินมาที่กองมูล เริ่มกินและมุดตัวลงในกองมูล หากจะจับแมงกุดจี่ในเวลานี้ จะจับตัวได้ง่าย ถ้าปล่อยไว้ 1วัน ตัวกุดจี่จะมุดลงในดิน และถ้าปล่อยให้มูลแห้งจะลงไปในดินชั้นลึกลงไปอีก
2. แมงกุดจี่ จะไม่ตอบสนองกับแสงสีม่วง ที่ใช้ในการดักจับแมงดานา จิ้งหรีด จิ้งโกร่งหรือแมลงอื่นๆ แต่ตอบสนองกับแสงขาวจากหลอดฟลูออเรสเซ็นต์ แต่เป็นบางโอกาสและถือว่าน้อยมาก
3. กุดจี่จะอยู่ในมูลควายมากกว่ามูลวัว ซึ่งอาจขึ้นกับขนาดของกองมูลและกากอาหารที่มีในมูล
4. กองมูลควายหนึ่งกอง พบแมงกุดจี่อย่างน้อย 4 ชนิด(การเรียกชื่ออาจแตกต่างตามท้องถิ่น) ดังนี้
4.1 กุดจี่หวาย ส่วนหัวมีลักษณะกลมบางแบน คล้ายจาน ปากเป็นแบบกัดกิน หัว ท้องและปีกมีสีน้ำตาล ตัวมีขนาดใหญ่ มีเขา 2 อัน
4.2 กุดจี่หมุ่ม มีสีดำมันทั้งตัว หัวมีลักษณะบางแบนโค้งรูปครึ่งวงกลม ขา 2 คู่ลักษณะคล้ายใบพาย ปีกสีดำมีลายขนานกันตามยาว ขนาดเล็กกว่ากุดจี่หวาย นิยมจับมาทำเป็นอาหาร
4.3 กุดจี่แดง ส่วนหัว อกปล้องแรก และปีกมีสีดำปนส้ม ท้องดำ ตัวผู้อกปล้องแรกมีเขา 1 อัน
4.4 กุดจี่เขา ลำตัวมีสีดำหรือน้ำตาล ส่วนหัวมีลักษณะโค้งครึ่งวงกลม ขอบแบนบาง ตัวผู้ส่วนหัวมีเขาโค้งงอ 1 อัน อกปล้องแรกมีเขา 2 อัน
5. ช่วงกลางคืน แมงกุดจี่จะไปอาศัยทำรังและผสมพันธุ์กันบนกองมูล ซึ่งจากพฤติกรรมการกินและสร้างรัง สามารถจำแนกแมงกุดจี่ได้ 3 ลักษณะ คือ
5.1 กุดจี่แดง มีขนาดเล็กประมาณ 0.2- 5 มิลลิเมตร จะกินมูลเป็นอาหารโดยตรงแล้ววางไข่ในกองมูล
5.2 กุดจี่หมุ่มและกุดจี่หวาย จะปั้นมูลผสมดินเป็นก้อนกลม และขุดดินเป็นรู แล้วนำก้อนมูลลงไปในรูหรือรังใต้ดิน โดยวางต่อเนื่องกันที่ความลึกต่างๆกัน โดยกุดจี่หวาย จะขุดรูลึกกว่ากุดจี่หมุ่ม
5.3 กุดจี่เขา หรือกุดจี่ขี้ จะปั้นมูลเป็นก้อนกลม แล้วจะกลิ้งออกจากกองมูลเดิม แล้วนำไปซ่อนไว้ตามตอซังข้าว กุดจี่นี้จะมีขาคู่หลังยาวกว่าขาคู่กลางและคู่หน้ามาก มีกลิ่นเหม็น จึงนำมากินไม่ได้
นอกจากนี้ ยังพบแมงกุดจี่ บางตัวที่มีพฤติกรรมแย่งชิงขโมยเอาก้อนมูลจากกุดจี่ที่กลิ้งก้อนมูลผ่านมา และถ้ากองมูลควายแห้งอยู่หลายวัน เราอาจพบมดแดงเล็ก มาทำรังอยู่ด้วยเพื่อกินตัวอ่อนแมงกุดจี่
6. พฤติกรรมการกินของแมงกุดจี่ ช่วยขจัดกองมูล ลดมลพิษจากกลิ่น ลดจำนวนและการแพร่ระบาดของแมลงวัน ซึ่งเป็นแมลงพาหะของวัว ควายและปาราสิตอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในกองมูล ส่วนพฤติกรรมการสร้างรังของแมงกุดจี่ในดิน ช่วยนำปุ๋ยและแร่ธาตุในมูลหมุนเวียนลงดิน
7. วงจรชีวิตของแมงกุดจี่ มีการเปลี่ยนแปลงแบบเมตามอร์โฟซิสเต็มรูปแบบจากไข่(บนกองมูล) ตัวหนอน(ในก้อนมูล) ดักแด้(ในก้อนมูล) และตัวเต็มวัย โดยขณะที่เป็นตัวหนอนจะกินมูลในก้อนมูล เป็นเวลาหลายเดือน และเมื่อเป็นตัวเต็มวัย จะกัดก้อนมูลดันตัวบินสู่โลกภายนอก ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝน
ที่มา :: https://www-museum.unl.edu/research/entomology/Scarabs-for-Kids/images/DungBeetleCycle.jpg
8. ช่วงฤดูฝน (พฤษภาคม-ตุลาคม) ซึ่งเป็นช่วงที่ควายถูกขังคอก จะเป็นช่วงที่แมงกุดจี่ตัวเต็มวัย โดยเฉพาะกุดจี่หมุ่ม ไม่ได้กินมูลควายเลย และจะเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ ไปอยู่ในดินใต้พุ่มไม้ขนาดเล็ก มีใบไม้ปกคลุมและมีความชื้น แมงกุดจี่ในช่วงนี้จะไม่มีมูลในท้อง มีแต่ไขมันในท้อง
9. ช่วงฤดูฝนที่ควายถูกขังคอก ในคอกควายแทบจะไม่พบแมงกุดจี่(แมงกุดจี่เปลี่ยนที่อยู่)จะเกิดการหมักหมม ของมูลควาย ส่งกลิ่นเน่าเหม็นและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หนอนและแมลงวัน สร้างความรำคาญให้ควาย และคนเลี้ยง
10. ปัจจุบัน จำนวนแมงกุดจี่ลดลงตามการลดลงของวัวควาย เพราะในชนบทเลิกเลี้ยงวัว ควาย และหันไปใช้เครื่องจักรและมีมลพิษ บางแห่งควายถ่ายมูลบนพื้นซีเมนต์ ทำให้แมงกุดจี่ไม่สามารถวางไข่และทำรังบนพื้นซีเมนต์ได้
จะเห็นได้ว่าวงจรชีวิตของแมงกุดจี่ กับควายบ้าน มีความเชื่อมโยงกัน ถ้าขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไป จะทำให้ขาดความสมดุล เช่น ในปัจจุบัน จำนวนควายลดลง ส่งผลให้แมงกุดจี่หายากขึ้นและลดจำนวนลง เพราะขยายพันธุ์ได้น้อยลง และหากไม่มีแมงกุดจี่คอยกินมูล ก็จะส่งผลให้เกิดมูลล้นคอกหรือล้นฟาร์มได้ หากมีการศึกษาปรับพฤติกรรมหรือสายพันธุ์ให้สามารถกินมูลในหน้าฝนได้ ก็จะเกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดมลพิษได้ นอกจากนี้ แมงกุดจี่ยังเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง ควรนำมาเพาะเลี้ยงเพื่อการบริโภค
ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
1. เราจะใช้แสงไฟ ในการดักจับแมงกุดจี่ในตอนกลางคืนได้หรือไม่ อย่างไร
2. ลักษณะความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต ระหว่าง แมงกุดจี่ กับควายบ้าน เป็นความสัมพันธ์ลักษณะใด ในบทความกล่าวไว้ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
3. เราจะเพาะเลี้ยงแมงกุดจี่ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างไร
กิจกรรมเสนอแนะ
ให้นักเรียนนำแมงกุดจี่มาเลี้ยงและศึกษาวงรชีวิตของแมงกุดจี่
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น
1. คณิตศาสตร์ (ขนาดของกองมูลมีความสัมพันธ์กับปริมาณแมงกุดจี่ในกองมูลอย่างไร)
2. วิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ ศึกษาประสิทธิภาพของการยกน้ำหนัก ของแมงกุดจี่เทียบกับน้ำหนักตัว
3. ภาษาไทย แต่งกลอนที่เกี่ยวกับแมงกุดจี่
4. การงานอาชีพ การเพาะเลี้ยงแมงกุดจี่ และการประกอบอาหารจากแมงกุดจี่
อ้างอิง 1. วารสาร สควค. ฉบับที่ 9
2. https://www.thaipost.net/x-cite/260310/19864
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2150