กลิ่นหอมที่เราชอบ ช่วยผ่อนคลายให้เรามีความรู้สึกสดชื่น แต่จะมีวิธีการ กระบวนการผลิตอย่างไรบ้าง ลองมาติดตามกันดูนะคะ
ข่าวจากไทยรัฐออนไลน์ว่าวงการแฟชั่นเสื้อผ้าได้นำนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีมาใช้โดยการนำกลิ่นหอมมาผลึกลงบนผืนผ้า ทำให้เสื้อผ้ามีกลิ่นหอมอ่อนๆ ช่วยกระตุ้นความสดชื่น ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เพิ่มความกระฉับกระเฉง แถมยังไม่ต้องพึ่งน้ำหอมอีกด้วย (ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ โดย ทีมข่าวหน้าสตรี วันที่ 27 เมษายน 2553, 05:00 น.)
ภาพจาก https://uknowperfume.blogth.com/
กลิ่นหอมที่ว่านี้มาจากไหน หลายคนคงจะตอบได้ว่าก็มาจากน้ำหอมไงล่ะ แต่ทราบหรือไม่ว่ากว่าจะมาเป็นน้ำหอมที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนั้น มันมีกระบวนการผลิตอย่างไรบ้าง และกลิ่นของน้ำหอมหรือกลิ่นหอมนั้นช่วยทำให้เราสดชื่นได้อย่างไร ลองศึกษาดู.....เรามีคำตอบให้ค่ะ
เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับชั้น ม.1 - ม.3
สาระที่ 3 : สารและสมบัติของสาร
มาตรฐาน ว 3.1 : เข้าใจสมบัติของสารความสัมพันธ์ระหว่างสมบัติของสารกับโครงสร้างและแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาค มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
น้ำหอม เป็นสารปรุงแต่งที่มีกลิ่นหอม ผู้คนโดยทั่วไปนิยมใช้น้ำหอมเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับตนเอง ซึ่งเมื่อแยกคำ น้ำ+หอม ตามความหมายแล้วจะได้ดังนี้
ในความหมายทางวิทยาศาสตร์ คำว่า "น้ำ" เป็นสารประกอบซึ่งมีธาตุไฮโดรเจนและออกซิเจน เป็นองค์ประกอบ ซึ่งมีสูตรเคมีว่า H2O มีลักษณะเป็นของเหลว ใส ไม่มีสี กลิ่น รส
ส่วนคำว่า "หอม" ในพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 นั้นได้ให้ความหมายของคำว่า "หอม" หมายถึง ได้รับกลิ่นดี มีกลิ่นดี ตรงข้ามกับ เหม็น
ซึ่งหากนำคำว่า "น้ำ" กับ "หอม" มารวมกัน จะหมายถึง นํ้าที่กลั่นจากเครื่องหอมนั่นเอง
แล้วน้ำหอมมาจากที่ไหนบ้างล่ะ กลุ่มงานวิเคราะห์สินค้าและของกลาง กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ได้บอกไว้ว่า น้ำหอมมีแหล่งที่มา 3 แหล่งด้วยกัน คือ
1. สิ่งหอมที่ได้จากสัตว์ เช่น Ambergris ซึ่งเป็นสิ่งหอมที่ได้จากเชื้ออสุจิของปลาวาฬ (Sperm whale), Ciret หรือ Zebeth หรือชะมดเช็ด เป็นสิ่งขับถ่ายจากกระเปาะของต่อมคู่ใกล้อวัยวะสืบพันธุ์ของตัวชะมดทั้งตัว ผู้และตัวเมีย ที่เช็ดไว้ตามต้นไม้เพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม และ Musk เป็นสิ่งขับถ่ายที่ได้จากกระเปาะข้างๆ อวัยวะสืบพันธุ์ของกวางภูเขาตัวผู้ (Musk deer) เป็นต้น
2. สิ่งหอมที่ได้จากพืช ได้จากส่วนต่างๆ ของพืช ส่วนใหญ่ได้จากดอก ใบ เปลือก ลำต้น ราก สำหรับการผลิตเครื่องสำอางในเชิงอุตสาหกรรมได้สิ่งหอมจากเปลือกและเมล็ดของ ผลไม้มากที่สุด เพราะเป็นวัตถุดิบที่หาง่ายและราคาถูก ส่วนการผลิตจากดอกราคาจะสูงมาก ส่วนใหญ่จะนำมาสกัดเป็นหัวน้ำหอม
3. สิ่งหอมที่ได้จากสารสังเคราะห์ เนื่องจากหัวน้ำหอมจากธรรมชาติเป็นสิ่งที่หาได้ยากเพราะต้องใช้ปริมาณมากในการผลิตแต่เมื่อผลิตออกมาแล้วจะมีปริมาณน้อย ทำให้หัวน้ำหอมจากธรรมชาติมีราคาสูง จึงมีการสังเคราะห์สารที่ให้กลิ่นหอม ซึ่งเป็นสารพวกอโรมาติก (Aromatic compounds) เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มปริมาณของน้ำหอม โดยการนำสารหอมมาปรุงแต่งให้ได้หัวน้ำหอมชนิดต่าง ๆ
เมื่อรู้แหล่งที่มาของน้ำหอมแล้ว มาเรียนรู้เกี่ยวกับขั้นตอนกระบวนการผลิตน้ำหอมกันบ้างว่าต้องทำอย่างไร สำหรับวิธีการผลิตหัวน้ำหอม เราสามารถแบ่งได้ดังนี้
1. วิธีการกลั่น (Distillation) โดยการนำส่วนต่างๆ ของพืชที่มีกลิ่นหอม เช่น ดอก เปลือก ใบ เป็นต้น มาต้มกับน้ำแล้วทำการกลั่น จะได้น้ำมันหอม (ซึ่งเรียกว่า "น้ำมันหอมระเหย) และน้ำปะปนกันอยู่ ตั้งทิ้งไว้ น้ำมันหอมระเหยจะลอยอยู่ส่วนบนของน้ำตามสมบัติของน้ำมัน แล้วแยกเอาน้ำมันหอมระเหยซึ่งอยู่ส่วนบนออกไป
2. การคั้น (Expression) หรือวิธีบีบ มักใช้กับเปลือกผลไม้ตระกูลส้ม (citrus) เช่น ส้ม มะนาว มะกรูด น้ำมันหอมระเหยที่ได้จะมีกลิ่นและคุณภาพดี
3. การสกัด (Extraction) ส่วนใหญ่จะใช้กับดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม เช่น ดอกมะลิ ดอกกุหลาบ เป็นต้น ซึ่งประกอบด้วยสารหอมที่สลายตัวง่ายเมื่อถูกความร้อนสูง การสกัดหัวน้ำหอมจากดอกไม้โดยวิธีนี้ทำให้สิ้นเปลืองเวลาและมีต้นทุนการผลิตสูง
4. การสังเคราะห์เป็นสารพวกอะโรมาติก (aromatic compounds) โดยการนำสารหอมที่เกิดจากการสังเคราะห์เหล่านี้มาปรุงแต่งเพื่อให้ได้หัวน้ำหอมชนิดต่างๆ
วิธีการผลิตทั้ง 4 วิธีการดังกล่าวข้างต้นนี้ จะทำให้ได้หัวน้ำหอมที่เป็นน้ำมันเหลว มีกลิ่นแรง โดยมากมีสีเหลืองจนถึงสีน้ำตาลเข้ม บางชนิดอาจมีสีเขียว หรืออาจไม่มีสี ทั้งนี้หัวน้ำหอมที่ได้จะมีคุณสมบัติละลายได้ดีในตัวทำละลายอินทรีย์แทบทุกชนิด แต่ที่นิยมใช้กันมากก็คือ "แอลกอฮอล์"
เมื่อเราใช้น้ำหอมแตะแต้มลงไปบนร่างกายของเราเพื่อให้เกิดกลิ่นหอม หรือนำหัวน้ำหอมไปผสมลงในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดกลิ่นหอมตามความต้องการของเรานั้น แต่การที่เราจะได้รับรู้กลิ่นหอมเหล่านั้นเราจะต้องใช้ "จมูก" ซึ่งเป็นอวัยวะรับกลิ่นนั่นเอง เมื่อเราสูดกลิ่นหอมเหล่านี้เข้าไปแล้ว กระเปาะรับกลิ่นที่อยู่ในบริเวณเยื่อบุภายในโพรงจมูกซึ่งจะมีประสาทรับกลิ่นอยู่ทั่วไปเชื่อมโยงไปสู่สมอง เมื่อกลิ่นของน้ำหอมนี้ผ่านเข้าไปในโพรงจมูก กลิ่นหอมนี้ก็จะมากระทบปลายประสาทสัมผัสรับกลิ่น และส่งกระแสประสาทไปสู่สมองเพื่อแปลความหมายของสิ่งที่ได้รับ แล้วกลิ่นหอมที่เราได้รับนี้มีประโยชน์ต่อเราอย่างไรบ้าง ประโยชน์ของกลิ่นหอมหรือน้ำหอมนั้นมีมากมาย เช่น ช่วยลดความเครียด ทำให้หลับอย่างมีสุข ความทรงจำในการจำกลิ่นได้มากกว่าภาพ ทำให้เรารู้สึกเซ็กซี่ กระชับกระเชง แข็งแรง สะอาด มีความสุข อ่อนหวาน สร้างสรรค์ ซึ่งในทางการแพทย์ได้ใช้น้ำมันหอมระเหยที่สกัดมาจากพืชมาใช้ในการบำบัด ซึ่งพบว่ากลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยนั้นมีประโยชน์ คือ
1. ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายทั้งจิตใจ และร่างกาย ลดความเครียด
2. สร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย
3. ช่วยสร้างเสริมและฟื้นฟูสุขภาพโดยรวม
4. ลดจำนวนเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสบางชนิดได้
5. ทำให้โล่งจมูก และละลายเสมหะ
6. ช่วยให้หลับสบาย
7. ลดอาการตึงเกร็งของกล้ามเนื้อ
สนุกคิดกับวิทยาศาสตร์
1. กลิ่นหอมมีประโยชน์ต่อเราอย่างไร
2. วิธีการผลิตน้ำหอมในแต่ละวิธีมีข้อดี - ข้อเสียอย่างไร
ลองทำดู
สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการแยกสาร
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี - การผลิตน้ำหอม
กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ - การชั่ง ตวง วัด วัตถุดิบที่นำมาใช้น้ำหอม
แหล่งที่มาของข้อมูล
1. ไทยรัฐออนไลน์
2. พจานานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 ออนไลน์
3. กลุ่มงานวิเคราะห์สินค้าและของกลาง กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง
4. https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=130
ภาพจาก
1. https://uknowperfume.blogth.com/
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2212