ปรากฏการณ์เรือนกระจก (1)...ส่งผลให้...หอยขาด&หอยมีราคา


927 ผู้ชม


ช่วงนี้อากาศร้อนจัด ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลกเป็นอย่างมาก กรณีศึกษาที่ 1 หอยแมลงภู่ตายเป็นจำนวนมากเนื่องจากอุณหภูมิของน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว   

ผู้เลี้ยงครวญ อากาศร้อนจัด หอยขาดตลาด

ที่มาของภาพ : https://www.pattayadailynews.com

        ประเด็นจากข่าว  ศรีราชา – (27 เม.ย.53) ด้วยอุณหภูมิที่ร้อนจัดกำลังส่งผลกระทบส่งกลุ่มเกษตรกร ผู้เลี้ยงหอยแมลงภู่ ในเขตเทศบาลเมืองศรีราชา  อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยหอยแมลงภู่ที่เลี้ยงไว้ ตายเป็นจำนวนมาก และหอยมีขนาดเล็กลง ขาดตลาด และมีราคาถึงกิโลละ 40 บาท จากเดิมกิโลละ 20-25 บาท เกษตรกรเลี้ยงหอยแมลงภู่เปิดเผยว่า ถือว่าปีนี้อากาศร้อนมากกว่าปกติ ทำให้หอยแมลงภู่ที่เลี้ยงไว้ตายเป็นจำนวนมาก และหอยที่ยังไม่ตายก็ ไม่ได้ขนาดเพราะตัวเล็กมาก แถมราคายังสูงแต่เราไม่มีของแมลงภู่ที่จะขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อ อย่างวันหนึ่งเราไปเก็บหอยวันละ 50-80 กิโลแต่เอาขึ้นมาขายได้เพียง 30-40 กิโล เพราะหอยตายมากกว่าเอามาขายได้และต้องยอมรับว่าหอยแมลงภู่ มีความต้องการสูงในแถมชลบุรีไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือนักท่องเที่ยวที่ชอบรับ ประทาน ซึ่งไปดูได้เลยว่าในช่วงนี้หอยแมลงภู่มีนาดเล็กเป็นอย่างมากและมีราคาสูง หลายเท่า
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
ทุกระดับชั้น 

ปรากฏการณ์เรือนกระจก
         บรรยากาศประกอบด้วยแก๊สไนโตรเจนและออกซิเจนเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีไอน้ำ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นแก๊สที่มีสมบัติในการยอมให้รังสีจากดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นรังสีคลื่นสั้นผ่านมายังโลกได้โดยมีการดูดกลืนเพียงเล็กน้อย แต่จะดูดกลืนรังสีความร้อนในลักษณะของรังสีคลื่นยาวที่โลก เมฆ และแก๊สในบรรยากาศปล่อยออกมา แล้วคายรังสีความร้อนนี้กลับคืนสู่ผิวโลกและบรรยากาศ ทำให้บรรยากาศบริเวณผิวโลกมีอุณหภูมิพอเหมาะที่สิ่งมีชีวิตจะดำรงอยู่ได้ ปรากฏการณ์ที่แก๊สบางชนิด เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ ดูดกลืนรังสีความร้อนแล้วคายรังสีความร้อนกลับสู่ผิวโลกแล้วทำให้อากาศบริเวณผิวโลกอบอุ่นหรืออาจร้อนขึ้น เรียกว่าปรากฏการณ์เรือนกระจก และแก๊สที่มีสมบัติดังกล่าวเรียกว่า แก๊สเรือนกระจก
ปรากฏการณ์เรือนกระจก
         จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พบว่า ถ้าไม่มีแก๊สเรือนกระจกในบรรยากาศ อุณหภูมิของโลกจะต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 33 องศาเซลเซียส การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศนอกจากเกิดขึ้นตามธรรมชาติแล้ว มนุษย์ก็มีส่วนทำให้ภูมิอากาศของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น อาจเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของแก๊สเรือนกระจก ซึ่งเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ ได้แก่ น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ ถ่านหิน การเผาป่า 
ทำให้ฝุ่นละอองรวมทั้งแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเพิ่มขึ้น และเมื่อมีการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณต้นไม้ลดลง การใช้คาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อการสังเคราะห์ด้วยแสงจึงลดลงด้วย จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของแก๊สมีเทนและไนตรัสออกไซด์ในบรรยากาศ ถึงแม้จะมีปริมาณน้อย ก็ส่งผลต่ออุณหภูมิของอากาศ เนื่องจากมีเทนดูดกลืนและคายรังสีความร้อนที่โลกและบรรยากาศปล่อยออกมาได้เร็วกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนไนตรัสออกไซด์คงอยู่ในบรรยากาศได้นานกว่าคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน
     
   
                                         (a)                                                                                 (b)    
ที่มาของภาพ : 
          (a)  https://numthang.org/upload/content/greenhouse/greenhouse_effect3.png
          (b)  https://www.pattayadailynews.com/th/wp-content/uploads/2010/04/24.jpg
      
        นอกจากนี้การกระทำของมนุษย์ เช่น การแผ้วถางป่าเพื่อทำการเกษตรหรืออยู่อาศัย และการขยายตัวของเมือง จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เนื่องจากผิวโลกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จนทำให้สมบัติในการดูดกลืนและสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศมีความซับซ้อนมาก แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าการกระทำของมนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญในการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก แต่เชื่อว่าการกระทำของมนุษย์ทำให้การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศรุนแรงขึ้นกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียว การเพิ่มขึ้นของฝุ่นละอองและแก๊สบางชนิด นอกจากจะมีผลต่ออุณหภูมิของโลกแล้ว ยังส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศได้ด้วย ดังแสดงในตารางต่อไปนี้
คำถามชวนคิด
1. อากาศที่ร้อนจัดนอกจากจะส่งผลกระทบต่อหอยแมลงภู่ตามเนื้อข่าวแล้ว  คุณคิดว่ามีผลกระทบต่อตัวคุณอย่างไร
2. คุณมีวิธีการคลายร้อนอย่างไร
กิจกรรมเสนอแนะ
ให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตถึงผลกระทบที่เกิดจากการแปรปรวนของอากาศ  สาเหตุที่ทำให้อากาศแปรปรวน และแนวทางการป้องกันและแก้ไข
การบูรณาการ
1. กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา  เกี่ยวกับโรคที่เกิดจากอากาศร้อนจัด
2. กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เกี่ยวกับการเลี้ยงแมลงภู่
แหล่งที่มา
https://www.pattayadailynews.com
https://numthang.org/upload/content/greenhouse/greenhouse_effect3.png
แผนการจัดการเรียนรู้ วิชาวิทยาศาสตร์ ว31101 : ยุพวรรณ  ตรีรัตน์วิชชา

อัพเดทล่าสุด