เจ้าไวรัสผู้เป็นวายร้ายที่คืบคลานเข้ามาสู่ร่างกายเรา ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ที่อันตรายต่อชีวิตเรานั้น มันคืออะไรกันนะ ลองเข้าไปศึกษากันดูนะคะ
ข่าวจากไทยรัฐออนไลน์ว่ากระทรวงสาธารณสุขแจ้งเตือนอันตราย เจ้าไวรัส “อาร์เอสวี” ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของการติดเชื้อในปอดของเด็ก ทำให้เกิดโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบและโรคระบบทางเดินหายใจในเด็ก พบมากในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนกรกฎาคม - กันยายน โดยอาการของโรคจะเริ่มจากเด็กเป็นไข้หวัดธรรมดาก่อน อาจมีไข้ต่ำๆ ไอ มีน้ำมูก แต่ต่อมาไข้จะสูงขึ้น หายใจลำบาก เด็กจะซึมลง ไม่กินน้ำ ไม่กินนม มีไข้สูง ไอ หายใจหอบเร็วและมีเสียงหวีดหรือฮื๊ด ซึ่งเป็นสัญญาณของอาการปอดบวมต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน มิฉะนั้นอาจเสียชีวิตได้ (ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ : ทีมข่าวการศึกษา วันที่ 25 เมษายน 2553, 18:20 น.)
หลายครั้งที่มีข่าวของเจ้าไวรัส ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใดก็ตามที่ก่อให้เกิดโรคอันตรายร้ายแรง คร่าชีวิตผู้คนไปนับไม่ถ้วน แล้วเจ้าไวรัสนี้มันคืออะไรกันแน่ จะทำอย่างไรจึงจะหลีกเลี่ยงไวรัส...เชื้อวายร้ายนี้ได้
เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับชั้น ม.1 - ม.3
สาระที่ 1 : สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต
มาตรฐาน ว 1.1 : เข้าใจหน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ของโครงสร้างและหน้าที่ของระบบต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตที่ทำงานสัมพันธ์กัน มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ และนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตของตนเองและดูแลสิ่งมีชีวิต
ภาพจาก https://www.toptenthailand.com
ไวรัสคืออะไร?
ไวรัส (virus) เป็นสิ่งมีชีวิตและเป็นสิ่งไม่มีชีวิต หมายความว่า ไวรัสจะมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมเฉพาะตัว แต่จะไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อมชนิดอื่นๆ ไวรัสนั้นเป็นโมเลกุลของโปรตีนที่มีสูตรทางเคมีซับซ้อน มีขนาดเล็กมาก (20-300 nanometer) มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น หนักกว่าอะตอมของไฮโดรเจนหลายล้านเท่า นอกจากนี้ไวรัสสามารถสืบพันธุ์ตามธรรมชาติได้อย่างรวดเร็วมากแต่ไม่สืบพันธุ์ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เหมือนกับแบคทีเรีย เราสามารถแยกไวรัสออกมาได้โดยวิธีกลั่นลำดับส่วน (fractional dittillation) เชื้อไวรัสมีมากมายหลายชนิด หลากหลายสายพันธุ์ และปัจจุบันก็ยังมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นมาเรื่อย
โครงสร้างของไวรัส
ไวรัสที่มีส่วนประกอบครบสมบูรณ์เรียกว่าวิริออน(virion) ซึ่งจะประกอบด้วยแกนกลาง (core) ของกรดนิวคลิอิกซึ่งเป็น RNA หรือDNA และมีโปรตีนหุ้มล้อมรอบเพื่อป้องกันกรดนิวคลิอิก
รูปร่างของไวรัส มี 3 แบบ แบ่งตามลักษณะการเรียงตัวของ capsid(โปรตีนหุ้มล้อมรอบเพื่อป้องกันกรดนิวคลิอิก) และการมีหรือไม่มี envelope (ไวรัสบางชนิดจะมีชั้นไขมันหุ้มล้อมรอบ nucleocapsid) ด้วย ดังนี้
1. รูปร่างเป็นเหลี่ยมลูกบาศก์
การจัดเรียงแบบนี้มีลักษณะสมมาตรกัน คือ เมื่อมองเข้าไปในเหลี่ยมลูกบาศก์นี้แล้วหมุนไปในมุมต่างๆ จะดูเหมือนกันหมด
2 รูปร่างลักษณะเป็นแท่งกระบอก
การเรียงตัวของแคพสิตเป็นรูปขดลวดสปริงหรือบันไควนหุ้มรอบกรดนิวคลิอิก มีลักษณะสมมาตรกัน ไวรัสที่มีการเรียงตัวแบบนี้จะเห็นรูปร่างเป็นแบบท่อนตรงหรือเป็น สายยาว ในกรณีที่ไม่มี envelope ถ้าเป็นพวกที่มี envelope รูปร่างจะไม่แน่นอน
3. รูปร่างแบบซับซ้อน
ไวรัสพวกนี้อาจมีรูปร่างปนกันทั้งสองแบบแรกและเป็นรูปร่างเฉพาะ
ส่วนประกอบทางเคมีของไวรัส
1. Viral nucleic acid อาจเป็น RNA หรือ DNA มีลักษณะเป็นสายคู่ หรือสายเดี่ยว โดย DNA viruses มักอยู่เป็นสายคู่ในลักษณะเป็นเส้นตรงหรือเป็นวงกลม ส่วนพวก RNA viruses ส่วนใหญ่เป็นสายเดี่ยวในรูปโมเลกุลเดี่ยวเส้นตรง หรือเป็นชิ้นหลายชิ้น
2. Viral proteins โปรตีนที่เป็นโครงสร้างของไวรัสคือ capsid ทำหน้าที่ป้องกันกรดนิวคลิอิกของไวรัสจากสิ่งแวดล้อม ช่วยให้เชื้อไวรัสเกาะติดที่ผิวเซลล์ในขั้นตอนการติดเชื้อ และเป็นแอนติเจนของเชื้อไวรัส
3. Viral lipids ไขมันเป็นส่วนประกอบสำคัญของ envelope มักอยู่ในรูป ฟอสโฟลิปิด ไบเลเยอร์ (phospholipid bilayer)
4. Viral carbohydrates มักอยู่ในรูปไกลโคโปรตีน เป็นแอนติเจนที่สำคัญของไวรัส
เชื้อไวรัสนี้สามารถแบ่งตัวและขยายจำนวนได้ในเซลล์ของร่างกายของสิ่งมีชีวิต เช่น ตัวเรา เป็นต้น โดยเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่มีเชื้อไวรัสอยู่อาจถูกทำลายไปหรืออาจถูกรุกราน ทำให้เซลล์นั้นๆ ทำงานได้ไม่เหมือนปกติ ซึ่งก่อให้เกิดอาการของโรคต่างๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม โรคเอดส์ เป็นต้น โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสนั้นไม่มียารักษาโดยเฉพาะเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นโรคบางโรคที่ทำให้เกิดอาการไม่ร้ายแรงก็อาจหายไปได้เอง แต่โรคบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการร้ายแรงก็ยากที่จะหายไปได้เองเพราะยังไม่มียาที่จะไปฆ่าเชื้อไวรัสเหล่านั้นได้
โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้ทรพิษ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โรคอีสุกอีใส ไข้หวัดนก โรคหัด โรคซาร์ โรคหัดเยอรมัน โรคชิคุนกุนยา งูสวัด ไข้เลือดออก โรคเริม โรคพิษสุนัขบ้า โรคมือเท้าปาก ไข้สมองอักเสบJE โรคตาแดง โรคตับอักเสบ โรคเอดส์ โรคไข้เหลือง มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
สนุกคิดกับวิทยาศาสตร์
1. ไวรัสก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของสิ่งมีชีวิตอย่างไร
2. ถ้าโลกเราขาดเชื้อไวรัสจะเป็นอย่างไรบ้าง (ด้านที่ดีและด้านที่ไม่ดี)
3. เราสามารถนำเชื้อไวรัสนี้ไปใช้ประโยชน์ใดได้บ้างหรือไม่ อย่างไร
4. เราจะมีวิธีการใดบ้างที่ป้องกันอันตรายจากเชื้อไวรัส
ลองทำดู
สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโรคต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
กลุ่มสาระสุขศึกษาและพลศึกษา - สุขภาพ โรค การป้องกันและรักษาโรค
แหล่งที่มา
1. ไทยรัฐออนไลน์
2. https://www.school.net.th
3. https://www.panyathai.or.th
4.https://lms.thaicyberu.go.th
5. https://micro.sci.ku.ac.th
ภาพจาก https://www.toptenthailand.com
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2241