ในฤดูแล้ง ทุ่งนาอีสานต้องประสบกับปัญหาความร้อนและแห้งแล้ง ทำให้พืชที่ปลูกตาย ผลผลิตเสียหาย ซึ่งถ้าต้องการให้ได้ผลผลิตดีต้องใช้น้ำจากใต้ดิน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผมได้สังเกตพบว่า ดินบริเวณที่ปลูกกล้วยจะมีความชุ่มชื้นสูงกว่าบริเวณที่ไม่ได้ปลูก เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ วิชาชีววิทยา ระดับชั้น ม.ปลาย หรือวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับชั้น ม. ต้น
ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ “เรื่อง กล้วย... กล้วย มหัศจรรย์พันธุ์ไม้แห่งมนุษย์ชาติ” ระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2553 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ........ซึ่งผมและนักเรียนในที่ปรึกษาของผม จำนวน 3 คนมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย จึงมีประเด็นมานำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันดังนี้
ที่มาของข่าว :: ค่ายกล้วย ..กล้วย มหัศจรรย์พันธ์ไม้แห่งมนุษยชาติ สำนักพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช.
ผมได้ทดลองปลูกกล้วยตามคูนา ในช่วงต้นฤดูฝน ราวเดือนพฤษภาคม เมื่อผ่านไป 1 ฤดูฝน กล้วยต้นนั้นก็จะเติบโตได้ อาจจะให้ผลหรืออาจจะไม่ให้ผลก็ได้ และเมื่อถึงฤดูแล้ง ใบจะแห้งกรอบและลำต้นเล็กลงเพราะขาดน้ำ เราอาจจะต้องรดน้ำ เพื่อรักษาต้นกล้วยไม่ให้ตาย และเมื่อถึงฤดูฝนที่สอง กล้วยต้นนั้นก็จะเริ่มกลับมาเขียวชอุ่มอีกครั้ง ให้ผลและมีหน่อกล้วยเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก เราก็จะได้กล้วยไว้ทาน โดยไม่จำเป็นต้องรดน้ำอีกเลยก็ได้ คำถามเพื่อการเรียนรู้คือว่า เราจะสามารถปรับปรุงพันธุ์กล้วยที่ปลูกในทุ่งนาให้สามารถให้ผลผลิตในฤดูแล้งและทนความร้อนแล้ง ได้อย่างไร ซึ่งคำถามนี้เราสามารถนำไปให้นักเรียนได้ทำโครงงานในลักษณะเดียวกัน หรือนำไปปลูกจริงตามพื้นที่ว่างเปล่าหรือสร้างมูลค่าเพิ่มในท้องทุ่งนาได้ ประเด็นต่อมาคือ เมื่อปลูกแล้ว ทำอย่างไรจะทำให้กล้วยแตกกอได้มากขึ้น เรื่องนี้ ได้ทดลองให้นักเรียนได้ลองทำกัน ประเด็นคือว่า “กล้วยที่ปลูกในดินบริเวณเดียวกัน แต่มีประสิทธิภาพในการแตกหน่อ ให้เครือและผลที่สมบูรณ์แตกต่างกัน อะไรเป็นปัจจัยของความแตกต่างดังกล่าว” เราได้พบว่า “กอกล้วยที่ใส่ปุ๋ยน้ำหมักจากเปลือกหอยจะมีประสิทธิภาพการแตกหน่อดีกว่า กอกล้วยที่ใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ (ขี้วัว-ขี้ควาย)” ( และมีคำถามต่อว่า ....จริงหรือ ?? หรือมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้องอีกหรือไม่หรือเป็นเพียงความบังเอิญเท่านั้น) ซึ่งงานนี้ทำให้นักเรียนของผมได้เข้ารับคัดเลือกให้เข้าค่ายในครั้งนี้ และได้รับรางวัลที่ 1 ด้วยนะ
ประเด็นต่อไปคือว่า กล้วยที่มีการบริโภค แต่ละชนิด มีคุณค่าทางอาหาร แตกต่างกัน คำถามคือ แตกต่างกันอย่างไร กล้วยที่มีการนำมาบริโภคมีหลายชนิด เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหอมทอง กล้วยหอมเขียว เป็นต้น กล้วยเหล่านี้ มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอะไรบ้าง กินผลสุกกับกินผลเมื่อผ่านความร้อน(ทำขนม) คุณค่าทางอาหารจะมีอยู่แตกต่างกันอย่างไร รวมถึงแต่ละส่วนของกล้วยที่มีการบริโภค เช่น ปลี ลำต้น ราก มีสรรพคุณทางยาอย่างไร ถ้ามีคนทำวิจัยไว้แล้ว หากมีการรวบรวมความรู้เรื่อง กล้วยกับวิถีชีวิตของคนไทยดังกล่าวข้างต้น เผยแพร่ให้ประชาชนทราบก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ฝากทุกท่านศึกษาต่อแล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ และประเด็นสุดท้าย ในชุมชนที่เราอยู่ มีการบ่มกล้วยด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน เช่น การใช้หม้อดินอบความร้อน การใช้แก๊ส การมัดปากถุงกระสอบ การใช้ใบพืชเช่น ใบสาบเสือ อบในหม้อดิน วิธีการเหล่านี้ส่งผลต่อเวลาการสุกของกล้วยแตกต่างกันอย่างไร และมีผลต่อปริมาณน้ำตาลหรือสารอาหารอย่างไร.... เป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ได้ครับ สำหรับผมแล้ว สิ่งที่ได้ทำ ต้องการให้เป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรในชุมชนได้เห็นว่า เราสามารถเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดินในทุ่งนาของเราได้ เราสามารถทำเงินจากพื้นที่ที่แห้งแล้งของเราได้ เพราะเป็นเรื่องกล้วยๆ ที่ใครก็ทำได้ นักเรียนของเราก็ทำได้ และขณะนี้ผมกำลังรวบรวมพันธุ์กล้วยต่างๆ ปลูกไว้ศึกษาด้วยครับ
ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน ทุกประเด็นคำถามที่นำเสนอในบทความ กิจกรรมเสนอแนะ ให้นักเรียนทำโครงงานตามประเด็นคำถามวิจัยที่นำเสนอในบทความ การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น 1. คณิตศาสตร์ ศึกษาระยะที่เหมาะสมในการปลูกกล้วย จำนวนลูกหรือจำนวนหวี ในหนึ่งเครือ หรือรูปแบบ(ความซ้ำๆ) ของหวีกล้วยแต่ละชนิด 2. สังคมศึกษา การนำส่วนต่างๆของกล้วยใปใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น ลอยกระทง ห่อขนม แต่งงาน หรือแม้แต่งานศพ (ตั้งแต่เกิดจนตาย) 3. ภาษาไทย แต่งกลอนคำประพันธ์ ที่เกี่ยวกับกล้วย 4. การงานอาชีพ การเพาะปลูกกล้วย และการประกอบอาหารจากกล้วย ที่มา :: https://www.nakkhaothai.com/seminar1.php?newsid=10 ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2257 |