ไลเคน (Lichen) ดัชนีวัดคุณภาพอากาศใกล้ตัว


914 ผู้ชม


ไลเคนหลายชนิดมีความไวต่อสารมลพิษในอากาศจึงสามารถใช้ในการประเมินคุณภาพอากาศ (assess air quality) และยังสามารถใช้ไลเคนชนิดที่เป็นตัวบ่งชี้ (indicator speccies) ในการประเมินและทำนายสภาพอากาศได้   

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ค้นพบไลเคนชนิดใหม่ของโลกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย หลังจากได้รับทุนสนับสนุนจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อศึกษาความหลากหลายของไลเคนและชนิดที่เป็นตัวบ่งชี้ในการตรวจสอบผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ในบริเวณที่ลุ่มซึ่งถูกรบกวนในเขต 7 จังหวัดทางภาคเหนือตอนบนของประเทศ

ที่มา https://www.biotec.or.th/brt/index.php/2009-06-23-04-00-07/117-lichen-cmu

ประเด็นข่าว
ไลเคน คืออะไร และสามารถใช้เป็นดัชนีวัดคุณภาพอากาศได้อย่างไร

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ชีววิทยา) ช่วงชั้นที่ 4
สาระที่ 2 ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
มาตรฐาน  ว 2.1
    เข้าใจสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับสิ่งมีชีวิต  
                           ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในระบบนิเวศ มีกระบวนการสืบเสาะหา
                           ความรู้และจิตวิทยาศาสตร์    สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์

        ไลเคน เป็นสิ่งมีชีวิตที่ประกอบด้วยรา ซึ่งเรียกว่า ราสหชีพ (mycobiont) 1 ชนิด และสาหร่ายหรือไซแอโนแบคทีเรีย (cyanobacteria) ซึ่งเรียกว่า สาหร่ายสหชีพ (photobiont หรือ phycobiont) อีก 1 ชนิด หรือมากกว่า   
โดยสาหร่ายสหชีพจะสร้างสารประกอบอินทรีย์ (organic compound) ซึ่งจะถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยราสหชีพ 
และราสหชีพก็จะให้น้ำ แร่ธาตุ และให้การรป้องกันอันตรายจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง และการเปลี่ยนแปลง
อุณหภูมิอย่างรวดเร็วแก่สาหร่ายสหชีพ
        ผลสำเร็จของการอยู่ร่วมกันในไลเคน ทำให้สาหร่ายสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ในสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อม
ที่เลวร้าย และราสหชีพก็ได้รับอาหารจากสาหร่ายสหชีพด้วย
        

ไลเคน (Lichen) ดัชนีวัดคุณภาพอากาศใกล้ตัว

ภาพไลเคน Lobaria retigera ซึ่งเป็นไลเคนที่ไวต่อมลพิษทางอากาศ (ภาพโดย เสฐียร ดามาพงษ์)


        ไลเคนเป็นทรัพยากรทางชีวภาพที่มีความสำคัญ มีส่วนช่วยทำให้อากาศบริสุทธิ์ขึ้นโดยการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ไลเคนหลายชนิดมีความไวต่อสารมลพิษในอากาศจึงสามารถใช้ในการประเมินคุณภาพอากาศ ประเมินและทำนายสภาพของป่าไม้ และประมาณอัตราการเปลี่ยนแปลงของป่าไม้ได้ด้วย
        ไลเคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ทนทานต่อมลพิษทางอากาศ การหายไปหรือการปรากฏขึ้นของ   ไลเคนบางชนิด รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของไลเคน เช่น การเกิดการฟอกขาวของไลเคน เนื่องจากวิกฤตก๊าซมลพิษในอากาศ จึงสามารถใช้เป็นเป็นสัญญาณเตือนถึงการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพอากาศได้ ไลเคนถูกใช้เป็นเป็นตัวบ่งชี้มลพิษทางอากาศที่แพร่หลายในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา โดยมีวิธีการมาตรฐานต่างๆ ในการใช้ไลเคนเป็นตัว
บ่งชี้ทางชีวภาพ
        นอกจากนี้จำนวนประชากรก็สะท้อนถึงระดับของผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ 
ซึ่งมีความสัมพันธ์ผกผันกับความหลากชนิดและจำนวนของไลเคน โดยในเขตตัวเมืองที่มีประชากรหนาแน่น และพื้นที่ใกล้เขตอุตสาหกรรม จะพบความหลากชนิดและจำนวนของไลเคนลดลง ขณะที่เขตนอกตัวเมืองที่มีจำนวนประชากรน้อยกว่า พบความหลากชนิดของไลเคนเพิ่มขึ้น

ประเด็นคำถามสู่การอภิปราย
        1.เนื่องจากไลเคนประกอบด้วย ราและสาหร่าย ดังนั้นควรจัดไลเคนไว้ในสิ่งมีชีวิตกลุ่มใด
        2.ไลเคนแต่ละชนิดมีความทนทานต่อมลพิษทางอากาศมากน้อยเท่ากันหรือไม่ และทราบได้
            อย่างไร

กิจกรรมเสนอแนะ
        1.นักเรียนสำรวจจำนวนและชนิดของไลเคนบริเวณโรงเรียนหรือชุมชนของนักเรียน
        2.นักเรียนศึกษาสภาพการเปลี่ยนแปลงของไลเคนที่ได้สำรวจในช่วงเวลาต่างๆ

กิจกรรมบูรณาการ
        1.บูรณาการกับวิชาศิลปะโดยวาดภาพลายเส้นของไลเคนที่สำรวจพบ
        2.บูรณาการกับวิชาคณิตศาสตร์โดยสำรวจและนับจำนวนประชากรไลเคนบนต้นไม้แต่ละต้น

แหล่งอ้างอิง
Wolseley, P.A. and Aquirre-Hudson, B. 1997. Lichen of Tropical Forest in Thailand: 
        A Field Key to Characteristic Epiphytic Species in Northern Thailand. Natural 
        History Museum, London.
https://www.biotec.or.th/brt/index.php/2009-06-23-04-00-07/117-lichen-cmu
https://www.trf.or.th/News/Content.asp?Art_ID=1589

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2281

อัพเดทล่าสุด