แก๊สโซฮอล์กับน้ำมันเชื้อเพลิง


1,169 ผู้ชม


วันที่ 10 พ.ค.นี้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ประกาศปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 91 แก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 รวมทั้ง E 20 ลงลิตรละ 80 สตางค์   

        วันที่ 10 พ.ค.นี้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ประกาศปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 91 แก๊สโซฮอล์ 91 และ 95  รวมทั้ง E 20 ลงลิตรละ 80 สตางค์ ยกเว้นน้ำมันดีเซล และ E 85 มีผลตั้งแต่เวลา 05.00 น. ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในปั๊มบางจากทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล  วันที่ 10 พ.ค. เป็นดังนี้  เบนซิน 91ราคาลิตรละ 36.84 บาท  แก๊สโซฮอล์ 91 ราคาลิตรละ 31.54 บาท แก๊สโซฮอล์ 95 ราคาลิตรละ 33.04 บาท  และ E 20  ราคาลิตรละ 30.74 บาท  ( ที่มา https://www.thairath.co.th/content/eco/81856)

                                                    แก๊สโซฮอล์กับน้ำมันเชื้อเพลิง
                                                                                       ภาพที่  1 น้ำมันเชื้อเพลิง
                                 ( ที่มา  https://www.thaienergydata.in.th/energynew/EnergyInput/econtent/upload_pic/201_1247109364.jpg)
            น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในรถยนต์ที่เรารู้จักกันดี หลัก ๆ ก็คือน้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซินนะคะ  ซึ่งน้ำมันทั้งคู่นี้
จัดเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมพวกสารประกอบไฮโดรคาร์บอน(ประกอบด้วยธาตุคาร์บอนและไฮโดรเจน) ซึ่งได้จากกระบวน
การกลั่นน้ำมันดิบ ส่วนแก๊สโซฮอล์   E 20  และ E85 เป็นส่วนผสมระหว่างน้ำมันเบนซินกับเอทานอลด้วยอัตราส่วนที่
แตกต่างกัน เช่น E20 ใช้น้ำมันเบนซิน 80 % และ เอทานอล 20 %ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเลือกใช้ได้ค่ะ
ส่วนน้ำมัน  B5  เป็นไบโอดีเซลที่มีส่วนผสมระหว่างน้ำมันดีเซลและไบโอดีเซลด้วยอัตราส่วน 95 : 5 ค่ะ  
 
  *********  มาศึกษารายละเอียดของกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบและน้ำมันเชื้อเพลิงกันนะคะ *********

           
เนื้อหาเกี่ยวข้องกับ  กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์    ทุกระดับชั้น  และผู้สนใจทั่วไป

เรื่อง  กระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ 

          การกลั่นน้ำมัน(Oil refinery) คือกระบวนการแปรรูปจากน้ำมันดิบ เป็น ผลิตภัณฑ์น้ำมันชนิดต่างๆที่นำไปใช้ประโยชน์ได้เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันเตา โดยกระบวนการมีผลิตภัณฑ์อื่นๆเช่น สารเหลือค้าง (Residues) เช่น ถ่านโค้ก (Coke) แอสฟัลต์ (Asphalt) และ บิทูเม็น (Bitumen) 
หรือน้ำมันดิน (Tar) และขี้ผึ้ง

                                       แก๊สโซฮอล์กับน้ำมันเชื้อเพลิง
                                                                 ภาพที่  2 การกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง
           ( ที่มา  https://www.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m6-6/no11-14-16-49/images/refinery04.jpg)

          กระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ  
         
          กระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ ใช้วิธีการกลั่นแบบลำดับส่วน  โดยมีหลักการแยกตัวถูกละลายและตัวทำละลายที่มี
จุดเดือดต่างกันเล็กน้อย (น้อยกว่า 80 C) โดยจะมีคอลัมน์บรรจุแก้ว หรือที่รู้จักกันว่า"หอกลั่น" เพิ่มขึ้นมา 
         วิธีการนี้คือการกลั่นน้ำมันแบบพื้นฐานซึ่งสามารถแยกน้ำมันดิบออกเป็นส่วน (Fractions) ต่างๆ กระบวนการนี้ใช้หลักการจากลักษณะของส่วนต่างๆของน้ำมันดิบที่มีค่าอุณหภูมิจุดเดือด(Boiling point) ที่ แตก ต่างกันออกไปและเป็นผลให้ส่วนต่างๆของน้ำมันดิบนั้นมีจุดควบแน่น (Condensation point) ที่แตกต่างกันออกไปด้วยน้ำมันดิบจาก ถังจะได้รับการสูบผ่านเข้าไปในเตาเผา (Furnace) ที่มีอุณหภูมิสูงมากพอที่จะทำให้ทุกๆส่วนของน้ำมันดิบแปรสภาพไปเป็นไอได้แล้วไอ น้ำมันดังกล่าวก็จะถูกส่งผ่านเข้าไปในหอกลั่นลำดับส่วน (Fractionating tower) ที่มีรูปร่างเป็นทรงกระบอกมีขนาดความสูงประมาณ ๓๐ เมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ - ๘ เมตรภายในหอกลั่นดังกล่าวมีการแบ่งเป็นห้องต่างๆหลายห้องตามแนวราบ โดยมีแผ่นกั้นห้องที่มีลักษณะคล้ายถาดกลมโดยแผ่นกั้นห้องทุกแผ่นจะมี
การเจาะรูเอาไว้ เพื่อให้ไอน้ำมันที่ร้อนสามารถผ่านทะลุขึ้นสู่ ส่วนบนของหอกลั่นได้ และมีท่อต่อเพื่อนำน้ำมันที่กลั่นตัวแล้วออกไปจากหอกลั่นเมื่อไอน้ำมันดิบที่ร้อนถูกส่งให้เข้าไปสู่หอกลั่นทางท่อ ไอจะเคลื่อนตัวขึ้นไปสู่ส่วนบนสุดของหอกลั่น และขณะที่เคลื่อนตัวขึ้นไปนั้นไอน้ำมันจะเย็นตัวลง และควบแน่นไปเรื่อยๆแต่ละส่วนของไอ น้ำมันจะกลั่นตัวเป็นของเหลวที่ระดับต่างๆในหอกลั่นทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของการควบแน่นที่แตกต่างกันออกไปน้ำมันส่วนที่เบากว่า (Lighter fractions) เช่น น้ำมันเบนซิน (Petrol) และ พาราฟิน (Parafin) ซึ่งมีค่าอุณหภูมิของการควบแน่นต่ำจะ กลายเป็นของเหลว ที่ห้องชั้นบนสุดของหอกลั่นและค้างตัวอยู่บนแผ่นกั้นห้องชั้น บนสุดน้ำมันส่วนกลาง (Medium fractions) เช่น 
ดีเซล (Diesel) น้ำ มัน แก๊ส (Gas oils) และ น้ำมันเตา (Fuel oils) บางส่วนจะควบแน่นและกลั่นตัวที่ระดับต่างๆตอนกลางของหอกลั่นส่วนน้ำมันหนัก (Heavy fractions) เช่น น้ำมันเตา และสารตกค้างพวกแอสฟัลต์ จะกลั่นตัวที่ส่วนล่างสุดของหอกลั่นซึ่งมีอุณหภูมิสูงและจะถูก ระบายออกไป จากส่วนฐานของหอกลั่นข้อเสียของกระบวนการกลั่นลำดับส่วน คือจะได้น้ำมันเบาประเภท ต่างๆ ในสัดส่วนที่น้อยมากทั้งที่น้ำมันเบา เหล่านี้ล้วนมีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูง

        ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกลั่นน้ำมันดิบ   
        ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกลั่นน้ำมันดิบ   เรียงลำดับการแยกจากหอกลั่นดังนี้  
        

                                              แก๊สโซฮอล์กับน้ำมันเชื้อเพลิง

                                                      ภาพที่  3ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ
                   ( ที่มา  https://2.bp.blogspot.com/_xUa_XSasCII/SrdRIqTyEwI/AAAAAAAAAGE/-N-4BFvzl-8/s320/lesson3_data3_057.jpg
)

        1. ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas ; LPG) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากส่วนบนสุดของหอกลั่นในกระบวนการกลั่นน้ำมัน หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแยกก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียมเหลวมีจุดเดือดต่ำมาก จะมีสภาพเป็นก๊าซในอุณหภูมิและความดันบรรยากาศ ดังนั้น ในการเก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวจะต้องเพิ่มความดันหรือลดอุณหภูมิ เพื่อให้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวเปลี่ยนสภาพจากก๊าซเป็นของเหลว เพื่อความสะดวกและประหยัดในการเก็บรักษา ก๊าซปิโตรเลียมเหลวใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ดี และเวลาลุกไหม้ให้ความร้อนสูง และมีเปลวสะอาดซึ่งโดยปกติจะไม่มีสีและกลิ่นแต่ผู้ผลิตได้ใส่กลิ่นเพื่อให้สังเกตได้ง่ายในกรณีที่เกิดมีก๊าซรั่วอันอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ การใช้ประโยชน์ ก็คือ การใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหุงต้ม เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์และรถยนต์ รวมทั้งเตาเผาและเตาอบต่าง ๆ

        2.น้ำมันเบนซิน (Gasolin) น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน หรือเรียกว่าน้ำมันเบนซิน ได้จากการปรับแต่งคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันโดยตรง และจากการแยกก๊าซธรรมชาติเหลว น้ำมันเบนซินจะผสมสารเคมีเพิ่มคุณภาพ เพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน เช่น เพิ่มค่าออกเทน สารเคมีสำหรับป้องกันสนิมและการกัดกร่อนในถังน้ำมันและท่อน้ำมัน เป็นต้น

        3. น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินใบพัด (Aviation Gasoline) ใช้สำหรับเครื่องบินใบพัด มีคุณสมบัติคล้ายกับน้ำมันเบนซินในรถยนต์ แต่ปรุงแต่งคุณภาพให้มีค่าออกเทนสูงขึ้น ให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์ของเครื่องบินซึ่งต้องใช้กำลังขับดันมาก

        4. น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น (Jet Fuel) ใช้เป็นเชื้อเพลิงไอพ่นของสายการบินพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ 
มีช่วงจุดเดือดเช่นเดียวกับน้ำมันก๊าดแต่ต้องสะอาดบริสุทธิ์มีคุณสมบัติบางอข่างดีกว่าน้ำมันก๊าด

        5. น้ำมันก๊าด (Kerosene) ประเทศไทยรู้จักใช้น้ำมันก๊าดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่เดิมใช้เพื่อจุดตะเกียงแต่ปัจจุบัน ใช้ประโยชน์หลายประการ เช่น เป็นส่วนผสมสำหรับยาฆ่าแมลง สีทาน้ำมันชักเงา ฯลฯ

        6. น้ำมันดีเซล (Diesel Fuel) เครื่องยนต์ดีเซล เป็นเครื่องยนต์ที่มีพื้นฐานการทำงานแตกต่างจากเครื่องยนต์เบนซิน คือ การจุดระเบิดของเครื่องยนต์ดีเซลใช้ความร้อนซึ่งเกิดขึ้นจากการอัดอากาศอย่างสูงในลูกสูบ มิใช่เป็นการจุดระเบิดของหัวเทียนเช่นในเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน ปัจจุบันเราใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมักเป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น รถบรรทุก รถโดยสาร รถแทรกเตอร์ เป็นต้น

        7. น้ำมันเตา (Fuel Oil) น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเตาต้มหม้อน้ำ และเตาเผาหรือเตาหลอมที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่ เครื่องยนต์เรือเดินสมุทรและอื่น ๆ

        8. ยางมะตอย (Asphalt) ยางมะตอยเป็นผลิตภัณฑ์ส่วนที่หนักที่สุดที่เหลือจากการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง และนำยางมะตอยที่ผ่านกรรมวิธีปรับปรุงคุณภาพจะได้ยางมะตอยที่มีคุณสมบัติดีขึ้น คือ มีความเฉื่อยต่อสารเคมีและไอควันแทบทุกชนิด มีความต้านทานสภาพอากาศและแรงกระแทกกระเทือน มีความเหนียวและมีความยืดหยุ่นตัวต่ออุณหภูมิระดับต่าง ๆ ดี

     ****  ดังนั้นเมื่อผ่านกระบวนการกลั่นแล้วจะได้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมหลายชนิด รวมทั้งน้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซินด้วยนะคะ และเมื่อนำมาผสมกับเอทานอล หรือไบโอดีเซล ก็จะได้ แก๊สโซฮอล์  E 20  E 85  และ B 5 ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ ของเราค่ะ    ****


คำถาม VIP ชวนคิด
 
        1.  น้ำมันแก๊สโซฮอล์ เกิดจากส่วนผสมของน้ำมันเบนซินกับสารใด
        2.  E 20 คืออะไร
        3.  B 5  คืออะไร
        4.  การกลั่นมันดิบใช้กระบวนการใด
        5.  ผลิตภัณฑ์สุดท้ายในการกลั่นน้ำมันดิบคืออะไร
        
กิจกรรมเสนอแนะ

        1.ให้นักเรียนสำรวจประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในปัจจุบัน
        2.ให้นักเรียนเสนอวิธีการประหยัดพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลง
        3.ให้นักเรียนลองเรียงลำดับผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ
   
การบูรณาการ

        1. ให้นักเรียนนับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล และเครื่องยนต์เบนซิน
        2. ให้นักเรียนเขียนเรียงความเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน
        3. ให้นักเรียนเสนอวิธีการหาพลังงานทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิง
      
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

        1. https://www.thairath.co.th/content/eco/81856
          2. https://th.wikipedia.org/wiki/การกลั่นน้ำมัน
          3. https://www.thaienergydata.in.th/energynew/EnergyInput/econtent/upload_pic/201_1247109364.jpg
          4. https://www.tharua.ac.th/tharua/e-learning/petroleum/petrolium16862/petroleum/nummandeb.html
          5. https://www.thaienergydata.in.th/energynew/EnergyInput/econtent/upload_pic/201_1247109364.jpg
          6. https://www.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m6-6/no11-14-16-49/images/refinery04.jpg
          7. https://2.bp.blogspot.com/_xUa_XSasCII/SrdRIqTyEwI/AAAAAAAAAGE/-N-4BFvzl-8/s320/lesson3_data3_057.jpg
       
     

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2438

อัพเดทล่าสุด