หูกางช่วยชีวิต


1,889 ผู้ชม


เด็กชายหมิง หมิง จากเมืองหยินฉาง ประเทศจีน ทำเอาผู้คนในชุมชนตกใจสุดขีด เมื่อพลัดตกหน้าต่างบ้าน แต่เป็นเคราะห์ดีที่รอดชีวิตได้อย่างปาฏิหาริย์ เพราะ หูกางทั้งสองข้างของหมิง หมิง นั่นเอง   

        เด็กชายหมิง หมิง จากเมืองหยินฉาง ประเทศจีน ทำเอาผู้คนในชุมชนตกใจสุดขีด เมื่อพลัดตกหน้าต่างบ้าน 
แต่เป็นเคราะห์ดีของหมิงหมิง ที่รอดชีวิตได้อย่างปาฏิหาริย์ เพราะ หูกางทั้งสองข้างของหมิง หมิง นั่นเอง 
ที่ช่วยให้แคล้วคลาดจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเจ้าหน้าเล่าว่า เมื่อได้รับแจ้งเหตุจึงรุดมาช่วยเหลือเด็กชาย
ได้ทันท่วงที และพบว่าร่างของเด็กลอดตะแกรงออกไปทั้งตัวแล้ว เหลือเพียงแต่หูทั้งสองข้าง ที่คอยพยุงไม่ให้
ตกลงไปข้างล่าง ซึ่งในที่สุดก็สามารถดึงตัวเด็กขึ้นมาได้อย่างปลอดภัย
( ที่มา  https://www.thairath.co.th/content/oversea/81153)
     

                                      หูกางช่วยชีวิต
                                                         ภาพที่  1  เจ้าหน้าที่กำลังช่วยหมิง หมิง        
                          
                                          
( ที่มา  https://www.thairath.co.th/content/oversea/81153)

           จากเหตุการณ์นี้จะเห็นได้ว่า หูกาง สามารถช่วยชีวิตเด็กน้อยหมิง หมิง ได้จริง ๆ ค่ะ แต่ลักษณะหูกางนั้น
เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมคนบางคนมีหูกาง บางคนหูเล็ก บางคนหูใหญ่บ้างแตกต่างกัน  ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับ
พันธุกรรม เป็นการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากบรรพบุรุษ มาสู่ถึงรุ่นลูกหลาน กันได้ ตัวอย่างลักษณะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น ลักยิ้ม  ติ่งหู  ผมหยิก  สีผิว  เป็นต้นค่ะ 

        ****  มาศึกษารายละเอียดของพันธุกรรมและการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมกันนะคะ  ****
      

เนื้อหาเกี่ยวข้องกับ  กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์    ทุกระดับชั้น  และผู้สนใจทั่วไป


เรื่อง   พันธุกรรม

            พันธุกรรม (genetics)  หมายถึง การถ่ายทอดลักษณะต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตจากรุ่นสู่รุ่น (Generation) 
เช่น รุ่นพ่อแม่ลงไปสู่รุ่นลูกหลาน มีการเริ่มต้นการศึกษาเรื่องพันธุกรรมโดย เกรเกอร์ เมนเดล (Gregor Mendel) 
เป็นผู้ที่ค้นพบและอธิบายหลักการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม ในช่วงกลางของทศวรรษที่  18   พันธุกรรม
เป็นสิ่งที่ทำให้คนเรามีลักษณะต่างๆแตกต่างกันไปมากมาย โดยมีหน่วยควบคุมที่เรียกว่ายีนส์ ซึ่งมีทั้งยีนส์ที่ควบคุมลักษณะเด่น และยีนส์ที่ควบคุมลักษณะด้อย แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้ลักษณะเราแตกต่างออกไป คือสภาพแวดล้อม เช่น 
ความอ้วน อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมมากกว่าพันธุกรรม  
           
           การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม
          
           การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม เกี่ยวข้องกับ ยีนและโครโมโซม  ดังนี้
            
           ยีน (gene) คือ หน่วยพันธุกรรมที่อยู่บนโครโมโซม (chromosome) มีลักษณะเรียงกันเหมือนสร้อยลูกปัด 
ทำหน้าที่ควบคุมลักษณะต่างๆ ทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ไปยังลูกหลาน ในคนจะมียีนประมาณ 50,000 ยีน  
แต่ละยีนจะควบคุมลักษณะต่างๆ ทางพันธุกรรมเพียงลักษณะเดียว ยีนที่ควบคุมลักษณะพันธุกรรมบางอย่างมี 2 ชนิด คือ

           1. ยีนเด่น (dominant gene) คือ ยีนที่แสดงลักษณะนั้นๆ ออกมาได้ แม้มียีนนั้นเพียงยีนเดียว
           2. ยีนด้อย (recessive gene) คือ ยีนที่สามารถแสดงลักษณะให้ปรากฏออกมาได้ ก็ต่อเมื่อมียีนด้อย
ทั้งสองยีนอยู่บนคู่โครโมโซม

         โครโมโซม (chromosome) ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตประกอบด้วย นิวเคลียส เยื่อหุ้มเซลล์ ไซโทพลาซึม เมื่อใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูนิวเคลียสของเซลล์ที่กำลังแบ่งตัวจะเห็นโครงสร้างมีลักษณะเป็นเส้นยาวๆ เล็กๆ ขดไปมาเรียกโครงสร้างนี้ว่า โครมาทิน (chromatin) เมื่อเซลล์โครมาทินขดแน่นมากขึ้นและหดสั้นลง จะมีลักษณะเป็นแท่งเรียกว่า โครโมโซม (chromosome) โครโมโซมแต่ละโครโมโซมประกอบด้วยแขน 2 ข้าง เรียกว่า โครมาทิด (chromatid) ซึ่งแขนทั้งสองจะมีจุดเชื่อมกันเรียกว่า เซนโทรเมียร์ (centromere)

            ลักษณะทางพันธุกรรม
            สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีลักษณะเฉพาะและแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ลองสังเกตบุคคลที่อยู่รอบๆ ตัวเราจะพบว่ามีลักษณะที่แตกต่างกันเช่น บางคนมีตาชั้นเดียว บางคนจมูกโด่ง บางคนผมหยิก ลักษณะต่างๆ เหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นพ่อแม่ไปสู่รุ่นต่อๆ ไป เราเรียกลักษณะนี้ว่า ลักษณะทางพันธุกรรม

                                       หูกางช่วยชีวิต
                                       หูกางช่วยชีวิต

                                                              ภาพที่  2  ลักษณะทางพันธุกรรม    
                          
                        
( ที่มา   https://www.maceducation.com/e-knowledge/2432210100/01.htm)

            กระบวนการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม

            1. เพดดีกรี (pedigree) หรือพงศาวลี เป็นแผนผังในการศึกษาพันธุกรรมของคน ซึ่งแสดงบุคคลต่างๆ
ในครอบครัว

                                     หูกางช่วยชีวิต

                                                             ภาพที่  3  เพดดีกรี หรือพงศาวลี 
                          
                    ( ที่มา  https://www.maceducation.com/e-knowledge/2432210100/01.htm)

            2. การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมโดยยีนบนออโทโซม (autosome) และยีนบนโครโมโซมเพศ 
(sex chromosome) ในร่างกายคนมีโครโมโซม 46 แท่ง มาจัดเป็นคู่ได้ 23 คู่ โดยแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
               1) ออโทโซม (autosome) คือ โครโมโซม 22 คู่ คู่ที่ 1 - คู่ที่ 22 เหมือนกันทั้งเพศหญิงและเพศชาย
               2) โครโมโซมเพศ (sex chromosome) คือ โครโมโซมอีก 1 คู่ (คู่ที่ 23) สำหรับในเพศหญิงและเพศชายจะต่างกัน โดยเพศหญิงจะเป็นแบบ XX เพศชายจะเป็นแบบ  XY  โดยโครโมโซม  Y จะมีขนาดเล็กกว่าโครโมโซม  X

              ความแปรผันทางพันธุกรรม 
              
              สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสปีชีส์เดียวกัน ย่อมมีลักษณะทางพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกันมากกว่าสิ่งมีชีวิตต่างสปีชีส์กันหรือสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันและมีความแตกต่างกันน้อยกว่าสิ่งมีชีวิต ต่างชนิดกัน ความแตกต่างอันเนื่องจากมีลักษณะพันธุการรมแตกต่างกัน เรียกว่า ความแปรผันทางพันธุกรรม (genetic variation)

              ความแปรผันลักษณะทางพันธุกรรมสามารถจำแนกได้ 2 ประเภท 
              1. ความแปรผันลักษณะทางพันธุกรรม ที่ไม่ต่อเนื่อง (discontinuous variation) 
              เป็นลักษณะทางพันธุกรรมที่สามารถแยกความแตกต่างได้อย่างชัดเจนเกิดจากอิทธิพลของกรรมพันธุ์เพียงอย่างเดียว เช่น  มีลักยิ้ม-ไม่มีลักยิ้ม   มีติ่งหู-ไม่มีติ่งหู   ห่อลิ้นได้-ห่อลิ้นไม่ได้

              2. ความผันแปรทางพันธุกรรมแบบต่อเนื่อง (continuous variation)
              เป็นลักษณะทางพันธุกรรมที่ไม่สามารถแยกความแตกต่างได้อย่างเด่นชัด เช่น ความสูง น้ำหนัก โครงร่าง สีผิว ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เช่น ความสูง ถ้าได้รับสารอาหารถูกต้องตามหลักโภชนาการ  และมีการ ออก กำลังกายก็จะทำให้มีร่างกายสูงได้
 

                                      หูกางช่วยชีวิต
                                                             ภาพที่  4  ตัวอย่างสิ่งมีชีวิตหูกาง
                          
                                                    ( ที่มา https://upic.me/i/1i/01237.jpg)

  *****  ถึงตอนนี้คงทราบเหตุผลแล้วนะคะว่าทำไมหมิง หมิง จึงมีหูกาง เพราะหูกางเป็นลักษณะ
               ทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากรุ่นพ่อแม่มาสู่รุ่นลูก นั้นเองค่ะ แสดงว่าในตะกูลของหมิง หมิง 
                                          ไม่คนใดคนหนึ่งก็ต้องมีลักษณะหูกางค่ะ  *****

           
คำถาม VIP ชวนคิด

 
        1.  เพราะเหตุใดเด็กน้อยหมิง หมิง จึงมีหูกาง
        2.  หูกางเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมอย่างไร
        3.  ลักษณะทางพันธุกรรมคืออะไร
        4.  ยีนคืออะไร
        5.  เพดดีกรี มีประโยชน์อย่างไรทางพันธุกรรม
        
กิจกรรมเสนอแนะ

        1.ให้นักเรียนเขียนเพดดีกรี แสดงลักษณะทางพันธุกรรมของครอบครัวนักเรียน
        2.ให้นักเรียนยกตัวอย่างลักษณะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมมา  3  อย่าง
        3.ให้นักเรียนสำรวจว่าในห้องเรียนนักเรียนมีนักเรียนกี่คนที่มีลักษณะหูกางหรือลักษณะทางพันธุกรรมอื่น ๆ 
        
การบูรณาการ

        1. ให้นักเรียนนับจำนวนนักเรียนในห้องเรียนที่มีลักษณะหูกางหรือลักษณะทางพันธุกรรมอื่น ๆ แล้วแบ่งกลุ่มว่าประเภทใดมีจำนวนมากที่สุด
        2. ให้นักเรียนวาดเพดดีกรี แสดงลักษณะทางพันธุกรรม 1 ลักษณะและนำเสนอหน้าชั้นเรียน
        3. ให้นักเรียนค้นคว้าและนำเสนอปัจจัยใดบ้างที่มีผลต่อการแปรผันลักษณะทางพันธุกรรม
      
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

        1. https://www.thairath.co.th/content/oversea/81153
           2. https://th.wikipedia.org/wiki/พันธุกรรม
           3. https://www.maceducation.com/e-knowledge/2432210100/01.htm
           4. https://www.thaigoodview.com/library/contest2551/science03/53/2/heredity/topic00_03.html
           5. https://upic.me/i/1i/01237.jpg

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2443

อัพเดทล่าสุด