สดร. ชวนคนไทยชมปรากฏการณ์ ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ หัวค่ำคืนวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 นี้ พลาดครั้งนี้ ดูได้อีกที 30 มิถุนายนปีหน้า
ภาพจาก : https://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/occultations/img/201005venus-sky.jpg
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์ การมหาชน) หรือสดร. เชิญชวนชาวไทยทั่วประเทศชมปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ ในวันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม 2553 นี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากการเรียงตัวกันของดาวศุกร์ ดวงจันทร์ และโลก ที่เคลื่อนที่มาอยู่ในระนาบเดียวกัน ซึ่งตรงกับวันขึ้น 2 ค่ำ ดวงจันทร์ จะปรากฏอยู่ในกลุ่มดาววัว สูงจากขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 37 องศา ดาวศุกร์จะเริ่มสัมผัสดวงจันทร์ในเวลาประมาณ 18.11 น. โดยจะสังเกตเห็นดาวศุกร์ค่อย ๆ ลับหายไปด้านหลังของดวงจันทร์ และดาวศุกร์จะเริ่มพ้นออกมาจากดวงจันทร์ในเวลาประมาณ 19.24 น. สูงจากขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 22 องศา (คำนวณจากจังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งการสังเกตในแต่ละพื้นที่ ช่วงเวลาของการบังจะเริ่มและสิ้นสุดไม่เท่ากัน ควรใช้อุปกรณ์ เช่น กล้องสองตา และกล้องโทรทรรศน์ จะทำให้สังเกตปรากฏการณ์ได้ดี
ที่มา : เดลินิวส์ วันพฤหัสบดี ที่ 13 พฤษภาคม 2553 เวลา 0:00 น
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
ทุกระดับชั้น
สาระที่ 7 ดาราศาสตร์และอวกาศ
มาตรฐาน ว 7.1 เข้าใจวิวัฒนาการของระบบสุริยะและกาแล็กซี ปฏิสัมพันธ์ภายในระบบสุริยะและผลต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
มาตรฐาน ว 7.2 เข้าใจความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศที่นำมาใช้ในการสำรวจอวกาศและทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการเกษตรและการสื่อสาร สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์อย่างมีคุณธรรมต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม
สาระที่ 8 ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มาตรฐาน ว 8.1 ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ ในการสืบเสาะหาความรู้ การแก้ปัญหา รู้ว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มีรูปแบบที่แน่นอน สามารถอธิบายและตรวจสอบได้ ภายใต้ข้อมูลและเครื่องมือที่มีอยู่ในช่วงเวลานั้น ๆ เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคม และสิ่งแวดล้อมมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
อุปราคา คือ ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ เกิดขึ้นเมื่อวัตถุท้องฟ้าหนึ่ง เช่น ดาวเคราะห์หรือดาวบริวารมาอยู่ระหว่างต้นกำเนิดแสง (เช่น ดวงอาทิตย์) กับอีกวัตถุหนึ่ง
อุปราคาบนโลก
อุปราคาที่สังเกตได้จากโลกไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะระนาบการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์กับระนาบการโคจรของดวงจันทร์รอบโลกไมได้เป็นระนาบเดียวกัน แต่เป็นระนาบที่ตัดกันโดยจะเกิดขึ้นเมื่อโลก ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อยู่บนระนาบเดียวกันเท่านั้น
อุปราคาที่มองเห็นได้ชัดเจนจากโลก ได้แก่:
จันทรุปราคา - โลกเข้าบังดวงอาทิตย์เมื่อมองดูจากดวงจันทร์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ดวงจันทร์เคลื่อนเข้าไปในเงามืดของโลก มีโอกาสเกิดขึ้นได้เฉพาะในคืนวันเดือนเพ็ญ
สุริยุปราคา - ดวงจันทร์เข้าบังดวงอาทิตย์เมื่อมองจากโลก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ดวงจันทร์ทอดเงาตกลงบนผิวโลก มีโอกาสเกิดขึ้นได้เฉพาะในวันเดือนดับ
ขอบคุณ : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพจาก : https://www.narit.or.th
สำหรับการสังเกตปรากฏการณ์ครั้งนี้ในประเทศไทย หลังจากดาวศุกร์หายไปเบื้องหลังด้านมืดของดวงจันทร์แล้วราว 1 ชั่วโมงเศษ ดาวศุกร์จะกลับมาปรากฏอีกครั้งที่ขอบด้านสว่างซึ่งอยู่ด้านล่างของดวงจันทร์เมื่อมองขึ้นไปบนฟ้า ขณะนั้นท้องฟ้ามืดลงแล้ว แต่ยังมีแสงสนธยาเหลืออยู่บ้าง ขณะเดียวกัน ดวงจันทร์และดาวศุกร์จะเคลื่อนลงต่ำใกล้ขอบฟ้ามากขึ้น การสังเกตดวงจันทร์บังดาวศุกร์ในวันนี้จึงจำเป็นต้องหาสถานที่ซึ่งท้องฟ้าด้านทิศตะวันตกไม่มีสิ่งใดกีดขวาง
การที่ดาวศุกร์เป็นวัตถุท้องฟ้าในระบบสุริยะ มันอยู่ใกล้เราจนสามารถมองเห็นเป็นดวงกลมได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ ไม่ใช่จุดแสงแบบดาวฤกษ์ที่อยู่ไกลมาก ทำให้ดวงจันทร์ใช้เวลาประมาณ 24 วินาที นับตั้งแต่เริ่มแตะขอบด้านหนึ่งจนไปถึงขอบอีกด้านหนึ่งของดาวศุกร์ ขณะเริ่มบังอาจสังเกตได้ยากเพราะท้องฟ้าสว่าง ต้องใช้กล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาเข้าช่วย ขณะสิ้นสุดการบัง ดาวศุกร์จะค่อย ๆ สว่างขึ้นมาที่ขอบด้านล่างของดวงจันทร์ และสว่างเต็มที่เมื่อมันโผล่พ้นดวงจันทร์ออกมาทั้งดวง
ที่มา : สมาคมดาราศาสตร์ไทย
ดูเนื้อหาเพิ่มเติม
ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ 16 พฤษภาคม 2553 เขียนโดย Suparerk ศุกร์, 07 พฤษภาคม 2010
ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ : 16 พฤษภาคม 2553 วรเชษฐ์ บุญปลอด ปรับปรุง: 11 พฤษภาคม 2553
คำถาม
1. อุปราคาคืออะไร
2. เราสามารถเห็นปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ได้ในวันที่และเวลาใด
กิจกรรมเสนอแนะ
แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการสังเกตปรากฏการณ์อุปราคา ดวงจันทร์บังดาวศุกร์โดยการแสดงความคิดเห็นได้จากเว็บบอร์ดด้านล่างนี้
การบูรณาการ
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2466