พระโคกินหญ้า พยากรณ์ว่าน้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์
13 พฤษภาคม 2553 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีนายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นพระยาแรกนา เมื่อเสี่ยงทายหยิบได้ผ้านุ่ง 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี สำหรับพระโคที่ ใช้ในปีนี้คือ พระโคฟ้าและ พระโคใส เสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ปรากฏว่าพระโคกินหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร!
ประเด็นข่าว
พระโคเป็นสัตว์กินพืช (Herbivorous animals) ประเภทสัตว์เคี้ยวเอื้อง (Ruminant) หลังจากที่กินพืชเข้าไปแล้ว พืชจะเข้าสู่กระบวนการย่อยซึ่งแตกต่างจากการย่อยของสัตว์กลุ่มอื่นๆ ซึ่งในทางชีววิทยาเป็นเรื่องที่น่าศึกษามิใช่น้อย
เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ชีววิทยา) ช่วงชั้นที่ 4
สาระที่ 1 สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต
มาตรฐาน ว 1.1 เข้าใจหน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ของโครงสร้างและหน้าที่ของระบบต่าง ๆ ของ สิ่งมีชีวิตที่ทำงานสัมพันธ์กัน มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ และนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตของตนเองและดูแล สิ่งมีชีวิต
แหล่งพลังงานในอาหารของสัตว์กินพืชส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของเซลลูโลส (Cellulose) แต่เนื่องจากสัตว์เหล่านี้ ไม่มีเอนไซม์สำหรับย่อยเซลลูโลส ดังนั้นจึงต้องอาศัยแบคทีเรียและ โพรติสต์ที่อาศัยอยู่ในทางเดินอาหารทำหน้าที่ช่วยย่อยเซลลูโลสให้เป็นน้ำตาลและสารประกอบอื่นๆ ซึ่งสัตว์กินพืชสามารถดูดซึมและนำไปใช้ประโยชน์ได้
กระเพาะอาหารของโค แบ่งเป็น 4 ส่วน โดย 3 ส่วนแรกเป็นส่วนของหลอดอาหารที่ขยายตัวออก มีเพียงส่วนที่ 4 เท่านั้นที่เป็นกระเพาะอาหารที่แท้จริง ดังนี้
ภาพทางเดินอาหารของโค (ที่มา:https://www.mun.ca/biology/scarr/Ruminant_Digestion.htm)
ส่วนแรกเรียกว่า รูเมน (Rumen) หรือ ผ้าขี้ริ้ว เมื่อโคเคี้ยวอาหารและกลืนเข้าไปอาหารจะไปคลุกเคล้ากับแบคทีเรียและโพรติสต์ (ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีซิเลีย) อาหารที่อยู่ในส่วนนี้เรียกว่า โบลัส (boluses)
ส่วนที่สองเรียกว่า เรติคิวลัม (Reticulum) หรือ รังผึ้ง โบลัสบางส่วนจากรูเมนจะถูกส่งเข้าสู่เรติคิวลัม ซึ่งจะถูกบดและคลุกเคล้ากับจุลินทรีย์เช่นเดียวกับในรูเมน และจะถูกสำรอกออกมาเคี้ยวเอื้องใหม่เพื่อให้เส้นใยอาหารละเอียดยิ่งขึ้น
ส่วนที่สามเรียกว่า โอมาซัม (Omasum) หรือ สามสิบกลีบ โคจะกลืนอาหารที่ถูกสำรอกออกมาเคี้ยวเข้าไปใหม่ยังบริเวณกระเพาะสามสิบกลีบ อาหารที่กลืนเข้ามาใหม่นี้จะเรียกว่า คัด (cud) ซึ่งกระเพาะส่วนนี้จะทำหน้าที่ดูดซึมน้ำจากอาหาร
ส่วนสุดท้ายเรียกว่า อะโบมาซัม (Abomasum) หรือ กระเพาะที่แท้จริง ซึ่งจะหลั่งน้ำย่อยออกมาย่อยอาหารในที่สุด จากนั้นอาหารที่เหลือจะถูกส่งไปยังลำไส้ ซึ่งอาจมีการดูดซึมน้ำและแร่ธาตุบ้างเล็กน้อยและถูกขับออกทางทวารหนักในที่สุด
ประเด็นคำถามสู่การอภิปราย
1.กลไกการย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้องมีประโยชน์ต่อสัตว์เคี้ยวเอื้องอย่างไร
2.มีสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดใดบ้างที่มีกลไกการย่อยอาหารเหมือนหรือต่างกันกับโค
3.สัตว์เคี้ยวเอื้องและจุลินทรีย์ในกระเพาะอาหารมีความสัมพันธ์ทางชีววิทยาในรูปแบบใด
กิจกรรมเสนอแนะ
1.นักเรียนสำรวจชนิดและประชากรของสัตว์เคี้ยงเอื้องในบริเวณชุมชน
2.นักเรียนสังเกต ศึกษา ความเหมือน และความแตกต่างกลไกการย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยง
เอื้องแต่ละชนิด
กิจกรรมบูรณาการ
1.บูรณาการกับวิชาสังคมศึกษาเกี่ยวกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
2.บูรณาการกับวิชาศิลปะโดยวาดภาพแสดงแผนผังทางเดินอาหารของโค
แหล่งอ้างอิง
Campbell, N.A. and Reece, J.B. 2005. Biology: International Edition, 7 edition.Pearson
Benjamin Cumming.United State of America.
https://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXdOakUwTURVMU13P
T0=§ionid=TURNd01RPT0=&day=TWpBeE1DMHdOUzB4TkE9PQ==
https://www.mun.ca/biology/scarr/Ruminant_Digestion.htm
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2494