!!!ระวังฟ้าผ่า!!!...


1,127 ผู้ชม


ปรากฏการณ์ฟ้าผ่า เป็นเหตุการณ์ปกติช่วงรอยต่อระหว่างฤดูร้อนกับฤดูฝน ปรากฏการณ์ฟ้าผ่าเป็นการปล่อยประจุไฟฟ้าจากเมฆฝนฟ้าคะนอง หรือเมฆคิวมูโลนิมบัส ซึ่งฐานก้อนเมฆจะสูงจากพื้นราว 2 กิโลเมตร ส่วนยอดเมฆอาจสูงราว 20 กิโลเมตร ภายในก้อนเมฆจะมีการไหลเวียนของอากาศอย่า   
!!!ระวังฟ้าผ่า!!!...

ฟ้าผ่าหนุ่มเลี้ยงเป็ดดับคากระท่อม

ประเด็นข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  ฉบับที่ 22,132  วันอังคารที่  18  พฤษภาคม  2553  พ.ต.ท.พิศิษย์  หลวงเทพ  สารวัตรเวร  สภ.ย่อยเมืองเก่า อ.เมืองขอนแก่น รับแจ้งพบศพชายไทยไม่ทราบชื่อ  อายุประมาณ  30-35  ปี  นอนเสียชีวิตในสภาพท่อนบนของลำตัวดำไหม้เกรียม  เพราะถูกฟ้าผ่า  ใกล้ศพมีวิทยุทรานซิสเตอร์วางอยู่  1  เครื่อง  
     
     จากการสอบถามเบื้องต้นทราบว่า  ผู้ตายได้นำฝูงเป็ดมาเลี้ยงที่กลางทุ่นนา  จนกระทั่งตกกลางคืนมีฝนตกลงมาอย่างหนักและฟ้าคะนอง  ผู้ตายจึงไล่เป็ดมาเลี้ยงใกล้กับกระท่อม  โดยเปิดวิทยุฟังเพลงไปด้วย  ต่อมาได้เกิดฟ้าผ่าลงมากลางกระท่อม 1  ครั้ง  เมื่อฝนหยุดตกชาวบ้านออกมาหาปลาใกล้ที่เกิดเหตุ  พบว่าผู้ตายถูกฟ้าผ่าเสียชีวิตแล้ว

กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  
ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6  ช่วงชั้นที่ 4
สาระที่  5   พลังงาน 
     มาตรฐาน  ว 5.1
  เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานกับการดำรงชีวิต  การเปลี่ยนรูปพลังงาน  ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสารและพลังงาน  ผลของการใช้พลังงานต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม  มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้  สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์

!!!ระวังฟ้าผ่า!!!...   !!!ระวังฟ้าผ่า!!!...

     ข้อเท็จจริงที่ควรรู้
          ฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าในอากาศ   ฟ้าผ่าที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่เป็นการปลดปล่อยประจุออกจากเมฆฝนฟ้าคะนองหรือที่นักอุตุนิยมวิทยาเรียกว่า “เมฆคิวมูโลนิมบัส” (Cumulonimbus)
          เมฆฝนฟ้าคะนอง  มีลักษณะเป็นก้อนเมฆขนาดใหญ่มหึมา   บริเวณฐานเมฆ (ขอบล่าง) สูงจากพื้นราว 2 กิโลเมตร ส่วนยอดเมฆ (ขอบบน) อาจสูงได้ถึง 20 กิโลเมตร ภายในก้อนเมฆมีการไหลเวียนของกระแสอากาศอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้หยดน้ำและก้อนน้ำแข็งในเมฆเสียดสีกันจนเกิดประจุไฟฟ้า
“ฟ้าผ่า” มีอย่างน้อย 4 แบบหลัก ได้แก่
     1.   ฟ้าผ่าภายในก้อนเมฆ   ฟ้าผ่าแบบนี้เกิดมากที่สุด และทำให้เมฆเปล่งแสงกระพริบที่คนไทยเราเรียกว่า “ฟ้าแลบ” นั่นเอง
     2.   ฟ้าผ่าจากเมฆก้อนหนึ่งไปยังอีกก้อนหนึ่ง
     3.    ฟ้าผ่าจากเมฆลงสู่พื้น   เป็นการปลดปล่อยประจุออกจากก้อนเมฆจึงเรียกว่า ฟ้าผ่าแบบลบ (Negative Lightning) ซึ่งเป็นฟ้าผ่าที่อันตรายต่อคน สัตว์ และสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนพื้น โดยจะผ่าลงบริเวณ “ใต้เงา” ของเมฆฝนฟ้าคะนองเป็นหลัก
     4.   ฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้น   เป็นการปลดปล่อยประจุบวกจากก้อนเมฆจึงเรียกว่า ฟ้าผ่าแบบบวก (Positive Loghtning) สามารถผ่าได้ไกลจากก้อนเมฆได้ถึง 30 กิโลเมตร นั่นคือ แม้ท้องฟ้าเหนือศีรษะของเราจะดูปลอดโปร่ง แต่เราอาจจะถูกฟ้าผ่า (แบบบวก) ได้หากมีเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่ห่างไกลออกไปในระยะ 30 กิโลเมตร อันเป็นที่มาของคำว่า “ฟ้าผ่ากลางวันแสกๆ” ซึ่งเป็นฟ้าผ่าที่เกิดขึ้นโดยเราไม่ได้คาดคิดนั่นเอง

!!!ระวังฟ้าผ่า!!!... 

เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus)

ฟ้าผ่าผลกระทบต่อชีวิตคน
         ข้อมูลจาก นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า ผู้ถูกฟ้าผ่าประมาณ 1/3 หรือร้อยละ 30 เสียชีวิตในที่เกิดเหตุส่วนที่รอดจะมีความพิการถาวรจากการถูกทำลายระบบประสาท เช่น อัมพาต ตาบอด หูหนวก เป็นต้น
         สถิติความสูญเสียจากฟ้าผ่าในประเทศไทย ข้อมูลจากการนำเสนอข่าวประเด็นฟ้าผ่าในสื่อพิมพ์พบว่าตั้งแต่ เดือนมกราคน 2550-มิถุนายน 2552 มีผู้เสียชีวิต 39 คน บาดเจ็บ 16 คน
ข้อมูลเชิงปริมาณของฟ้าผ่า 1 ครั้ง
        ไฟฟ้าจากฟ้าผ่า มีแรงดันไฟฟ้าสูงถึง 100 ล้านโวลต์มีกระแสไฟฟ้าประมาณ 25-250 กิโลแอมแปร์ (KA) มีอุณหภูมิประมาณ 15,000 องศาเซลเซียส มีความเร็วประมาณ 1/10 ของความเร็วแสง   สามารถวิ่งผ่านร่างกายด้วยเวลาเพียง 1/10,000-1/1,000 วินาที จึงส่งผลต่อการเต้นของหัวใจและการทำงานของระบบประสาท

“ทำไม” จึงห้ามหลบใต้ต้นไม้ใหญ่ในระหว่างที่เกิดฝนฟ้าคะนอง
     -   เมื่ออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งไปแตะโดนต้นไม้   จะทำให้กระแสไฟฟ้าวิ่งเข้า ณ จุดสัมผัสโดยตรง
     -   หากอยู่ใต้ต้นไม้   กระแสไฟฟ้าอาจ “กระโดด” เข้าสู่ตัวคุณทางด้านข้างได้ เรียกว่า ไซด์แฟลช (side Flash) หรือกระแสไฟฟ้าแลบจากด้านข้าง
     -   แม้จะยืนห่างจากต้นไม้พอสมควร ก็ยังมีโอกาสที่กระแสไฟฟ้าซึ่งวิ่งลงมาตามลำต้นจะไหลลงมาที่โคนต้นแล้วกระจายออกไปตามพื้นโดยรอบ  กระแสไฟฟ้าไหลตามพื้น (Ground Current) นี้เกิดจาก แรงดันไฟฟ้าช่วงก้าว (step Voltage) และสามารถทำอันตรายคนและสัตว์ที่อยู่ในบริเวณที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้  (คนหรือสัตว์ส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตใกล้ต้นไม้ที่ถูกฟ้าผ่าจะเกิดจากสาเหตุนี้)
โทรศัพท์มือถือ MP3 ตะกรุด สร้อย แหวน ฯลฯ เป็นสื่อล่อ “ฟ้าผ่า” หรือไม่?
         ข่าวกรณีฟ้าผ่าจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งในไทยและต่างประเทศ มักถูกระบุว่าโทรศัพท์มือถืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องประดับที่ทำจากโลหะเป็นสื่อล่อให้เกิดฟ้าผ่าแต่ความจริงแล้วชิ้นส่วนโลหะขนาดเล็กไม่ใช่ตัวล่อฟ้าผ่าแต่อาจจะมีผลกระทบข้างเคียงได้หากคุณถูกฟ้าผ่า หรืออยู่ใกล้บริเวณที่ถูกฟ้าผ่าทั้งนี้   เนื่องจากฟ้าผ่าทำให้เกิดคลื่นแม่เหล็กแผ่ออกโดยรอบ   ซึ่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านี้สามารถทำให้เกิดกระแสเหนี่ยวนำ (induced Current) ขึ้นในโลหะ ส่งผลให้โลหะร้อนขึ้น และทำให้เกิดรอยไหม้บนผิวหนังที่โลหะนั้นสัมผัสอยู่ (ในสหรัฐอเมริกา   มีกรณีที่เกิดฟ้าผ่าลงบนต้นไม้ใกล้ๆ บ้าน และทำให้เด็กที่ใส่ลวดดัดฟันได้รับอันตราย   เนื่องจากลวดดัดฟันร้อนขึ้น และในรัสเซีย มีกรณีที่โทรศัพท์มือถือละลายคามือผู้หญิงที่ถูกฟ้าผ่า) ในกรณีที่โชคร้ายกว่านั้นหากระแสไฟฟ้าไหลเข้าสู่ร่างกาย ก็เป็นไปได้ว่ากระแสส่วนหนึ่งจะไหลเข้าสู่เส้นลวดหรือโลหะ ทำให้โลหะร้อนขึ้น เกิดเป็นรอยไหม้ ที่ผิวหนัง   และทำให้เกิดการบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น

ข้อเท็จจริงและคำแนะนำ
         โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ใช่สาเหตุของการถูกฟ้าผ่า
         ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่าเป็นตัวล่อฟ้าผ่า   แต่หากเกิดฟ้าผ่าในบริเวณใกล้ๆ กับผู้ที่มีอุปกรณ์เหล่านี้อยู่   ก็จะทำให้ผู้นั้นเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น   เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวอาจจะร้อนหรือระเบิดได้   จึงมีข้อแนะนำว่า   ควรเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง

คำแนะนำเพื่อความปลอดภัยจากฟ้าผ่า
     หลีกเสี่ยงการอยู่ที่โล่งแจ้ง เช่น ทุ่งนา สนามฟุตบอล สระน้ำ สนามกอล์ฟ ฯลฯ หากเลี่ยงไม่ได้ให้ปฏิบัติดังนี้
     -   อย่าอยู่รวมกลุ่ม
     -   อย่าอยู่ใต้ต้นไม้ (โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ที่อยู่โดดเดี่ยวในที่โล่งหากมีต้นไม้เป้นกลุ่มให้เลือกต้นไม้เตี้ย) 
     -   อย่าอยู่ในที่สูง หรือถือวัตถุที่ชูสูงขึ้นไป เช่น ร่ม เบ็ดตกปลา
     -   ถอดวัตถุหรือเครื่องประดับที่เป็นโลหะออกจากร่างกาย
     -   อย่าอยู่ในสระน้ำ   หรือแหล่งน้ำ
     -   อย่างอยู่ในตู้โทรศัพท์สาธารณะ
     -   หลีกเลี่ยงวัตถุที่เป็นโลหะ

!!!ระวังฟ้าผ่า!!!...

ท่านั่งลดอันตราย (กรณีอยู่ที่โล่งแจ้ง)
          นั่งยองๆ เท้าชิด มือปิดหู (เพื่อป้องกันเสียง) เขย่งปลายเท้า อย่างนอนราบ เพื่อลดความเสี่ยงกรณีกระแสไหลมาตามพื้น

กรณีอยู่ในรถ
     จอดรถ    อย่าสัมผัสส่วนที่เป็นโลหะ (ให้นั่งกอดอกหรือวางมือบนตัก) ปิดหน้าต่างทุกบาน อย่าจอดใต้ต้นไม้ใหญ่ อย่าใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออุปกรณ์แฮนด์ฟรี รถเปิดประทุนหรือรถที่หลังคาไม่ใช่โลหะไม่ปลอดภัย

กรณีอยู่ในอาคาร
     ปิดประตูและหน้าต่าง ห้องชั้นในปลอดภัยกว่าห้องที่มีทางออกภายนอก   อาคารที่มีสายล่อฟ้าปลอดภัยกว่าอาคารที่ไม่มี
     -   หลีกเลี่ยงจุดที่ไฟสามารถวิ่งเข้าถึงได้ผ่านทางสายไฟ สายอากาศ สายโทรศัพท์ และท่อน้ำ เช่น อ่างล้างหน้า ฝักบัว
     -   ถอดสายไฟ สายอากาศ สายโทรศัพท์ สายโมเด็ม ก่อนเกิดฝนฟ้าคะนอง อย่างทำเมื่อเกิดแล้ว
     -   อยู่ห่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ถอดสาย
     -   อย่าใช้โทรศัพท์จะทำให้กระแสไฟฟ้าวิ่งมาตามสายโทรศัพท์เข้าทำอันตรายผู้ใช้โทรศัพท์ได้โดยตรง

ควรติดตั้งสายดิน (Ground)
      อุปกรณ์เชื่อมต่อไฟฟ้าเข้าในบ้านเครื่ององใช้ไฟฟ้าในบ้าน และจานดาวเทียม   เพื่อความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินในบ้าน
“สัญญาณเตือน (พ้น) ภัยฟ้าผ่า”

สัญญาณเตือน...จากร่างกายของเรา
      เมื่อรู้สึกว่าเส้นขนบนผิวหนังลุกขึ้น   หรือถึงขนาดเส้นผมศีรษะลุกตั้งขึ้น   ก็แสดงว่า คุณกำลังเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า   เนื่องจากเส้นขนและเส้นผมของคุณกำลังถูกเหนี่ยวนำอย่างแรง

สัญญาณเตือน 30/30
     กฎจำกัดง่ายๆ ข้อหนึ่งเรียกว่า 30/30 ดังนี้
         เลข 30 ตัวแรก มีหน่วยเป็นวินาที หมายถึง หากเห็นฟ้าแลบแล้วได้เสียงฟ้าร้องตามมาภายในเวลาไม่เกิน 30 วินาที ก็แสดงว่า เมฆฝนฟ้าคะนองอยู่ใกล้เพียงพอที่ฟ้าผ่าจะทำอันตรายคุณได้ ให้หาที่หลบที่ปลอดภัยทันที
         เลข 30 ตัวหลัง มีหน่วยเป็นนาที หมายถึงว่า หลังจากที่พายุฝนฟ้าคะนองหยุดลงแล้ว (ฝนหยุดและไม่มีเสียงฟ้าร้อง)คุณควรจะรออยู่ในที่หลบอีกอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้มั่นใจว่าเมฆฝนฟ้าคะนองได้ผ่านไป หรือสลายตัวไปแล้ว
         อย่างลืม ฟ้าผ่าแบบบวกมักจะเกิดในช่วงท้ายของพายุฟ้าคะนอง แล้วแม้อยู่ห่างในระยะ 30 กิโลเมตรก็ยังอาจเกิดฟ้าผ่าได้

วิธีปฐมพยาบาล ผู้ถูกฟ้าผ่า
     -   ก่อนอื่นให้สังเกตว่า ในบริเวณที่เกิดเหตุยังมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าหรือไม่   ถ้ามี  ก็ต้องทำการเคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันตัวเราเองจากการถูฟ้าผ่า
     -   เราสามารถแตะต้องตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ทันที   เนื่องจากคนที่ถูกฟ้าผ่าไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัว ดังนั้น จึงไม่ต้องกลัวว่าเราจะถูกไฟฟ้าดูด   (ต่างจากกรณีคนที่ถูกไฟฟ้าดูด)

!!!ระวังฟ้าผ่า!!!...

     -   การปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกฟ้าผ่า   จะใช้วิธีเดียวกับผู้ที่ถูกไฟฟ้าช๊อตซึ่งฝ่ายป้องกันอุบัติภัย การไฟฟ้านครหลวง ได้แนะนำวิธีปฐมพยาบาลในเอกสาร “ขั้นตอนผู้ประสบอันตรายจากไฟฟ้า โดยการทำ CPR” ว่า 
          หากผลได้รับบาดเจ็บหมดสติไม่รู้ตัว หัวใจหยุดเต้น และไม่หายใจ ซึ่งสังเกตได้จากอาการที่เกิดขึ้น คือ ริมผีปากเขียว สีหน้าซีดเขียวคล้ำ ทรวงอกเคลื่อนไหวน้อยมากหรือไม่เคลื่อนไหว  ชีพจรบริเวณคอเต้นช้าและเบามาก   ถ้าหัวใจหยุดเต้นจะคล้ำชีพจรไม่พบม่านตาขยายค้างไม่หดเล็กลง   หมดสติไม่รู้สึกตัว ต้องรีบทำการปฐมพยาบาลทันที เพื่อให้ปอดและหัวใจทำงาน โดยวิธีการผายปอดด้วยการให้ลมทางปาก หรือที่เรียกว่า “เป่าปาก” ร่วมกับนวดหัวใจ โดยวางมือตรงกึ่งกลางลิ้นปี่เล็กน้อย   ถ้าทำการปฐมพยาบาลคนเดียวให้นวดหัวใจ 15 ครั้ง สลับกับการเป่าปาก 2 ครั้ง ถ้าทำการปฐมพยาบาลสองคน ให้นวดหัวใจ 5 ครั้งสลับกับการเป่าปาก 1 ครั้ง ก่อนนำผู้ป่วยส่งแพทย์ต่อไป

ชวนกันคิด  ช่วยกันตอบ
    ลองทำดู

บูรณาการ
      กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
      กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
      กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกา  ศาสนาและวัฒนธรรม

ภาพประกอบสาระการเรียนรู้จาก : 
คมชัดลึก 
https://www.myfirstbrain.com/thaidata/image.asp?ID=861128 


เนื้อหาเพิ่มเติม

งานเสวนา : ฟ้าผ่า  ข้อเท็จจริงที่ควรรู้  
ฟ้าผ่า...มหันตภัยใกล้ของสูง  
แนวปฏิบัติในการเลี่ยงถูกฟ้าผ่า
 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2516

อัพเดทล่าสุด