ร้อนถึงตาย ภัยจากอากาศร้อน "ฮีทสโตรค" (Heat Stroke)


1,021 ผู้ชม


มี"โรคอันตราย" ในช่วง "ฤดูร้อน" อยู่ชนิดหนึ่งซึ่งคนไทยยังไม่ค่อยตระหนักถึงความรุนแรง ร้ายแรงสักเท่าไหร่ ทั้งที่ อาจจะถึงขั้น "เสียชีวิตฉับพลัน"   

ร้อนถึงตาย ภัยจากอากาศร้อน "ฮีทสโตรค" (Heat Stroke)

ที่มาภาพ https://variety.teenee.com/foodforbrain/img3/m87455.JPG

        โรคที่ว่านี้มีชื่อว่า "ฮีทสโตรค" (Heat Stroke) เป็นโรคฤดูร้อนที่เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โรค"ฮีทสโตรค" นี้ เกิดจากการที่ "ร่างกายสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว" จนปรับสภาพไม่ทัน ทําให้ร่างกายเกิดความร้อนสะสมสูง จนทําให้อวัยวะภายใน เช่น หัวใจ, ตับ, ปอด,ม้าม, สมอง ร้อนระอุจน "สุก" และทํางานผิดปกติ หรือหยุดทํางาน และทําให้ "เสียชีวิต" ในที่สุด

        หลายคนคงสงสัย เพราะอาจไม่เคยได้ยิน หรือเคยได้ยิน แต่ไม่ทราบความรุนแรงของโรคนี้ หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าการรายงานโรคนี้ว่าเสียชีวิตนั้นแทบจะเรียก ได้ว่าน้อยมาก ซึ่งเป็นเพราะเนื่องมาจากความจำกัดในเรื่องนิยามการวินิจฉัย และการรายงานโรคที่ประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง(Underestimation) อุปมาอุปมัยเสมือนภูเขาน้ำแข็งคือมีบางส่วนของโรคที่วินิจฉัยได้ โผล่พ้นน้ำขึ้นมาให้เราวินิจฉัยเท่านั้น ในส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำอาจจะเข้าข่าย หรือเป็นโรคนี้แต่เกณฑ์การวินิจฉัยไม่ตรงหรือ อาจไม่ทราบว่า Heat Stroke ฮีทสโตรก  เป็นสาเหตุการตายครั้งนั้น ๆ

        เดิมเราแปลมาจากภาษาต่างประเทศ Heat Stroke Heat (n) ความร้อน อุณหภูมิร้อน Stroke(n) การเกิดขึ้นอย่างกระทันหัน, การอุดตันหรืออุดกลั้นการไหลวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ซึ่งถ้าแปลรวม ก็จะได้หลาย ๆ คำนิยามในภาษาไทย เช่น โรคลมร้อน/ ลมแดด/ โรคลมเหตุร้อน / โรคอุณหพาติ โดย มักกล่าวถึงการหมดสติที่มีสาเหตุมาจากอากาศ หรืออุณหภูมิภายนอกที่สูงขึ้น ชาวตะวันตกมักกล่าวว่าโรคนี้เป็นความหลากหลายของอาการในกลุ่มโรคเดียวกัน ซึ่งมีตั้งแต่น้อย จนถึงรุนแรง(Continuum of illness)

สาเหตุหลัก  คือ การที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับความร้อนที่เกิดขึ้น(ภายนอก และภายในร่างกาย)ได้ ทำให้เกิดการเจ็บป่วย อาจมีอาการตั้งแต่น้อยจนถึงมาก เช่น
Heat edema --> Heat rash(Prickly Heat)-->Heat Cramp(ตะคริว)-->Tetany(เกร็งกระตุก คล้ายอาการชัก)--> Heat Syncope(เป็นลมหมดสติ)-->Coma (โคม่า ไม่รู้สึกตัว) จนถึงมีผลเสีย หรือกระทบต่อการทำงานของอวัยวะหลาย ๆ ระบบ(MOF; Multiple organ failure)

        ภาวะ Heat Stroke นี้เป็นอาการที่มีความรุนแรงที่สุด เดิม เคยมีข้อบ่งชี้ในการวินิจฉัยคือ อุณหภูมิกายสูงกว่า 41.1 องศาเซลเซียส(106 องศาฟาเรนไฮต์) ภาวะเหงื่อไม่ออก(anhydrosis) และมีความผิดปกติทางระบบประสาท แต่ในปัจจุบันความรู้ทางด้านนี้มากขึ้น มีการแบ่งกลุ่มจากสาเหตุการเกิดได้ชัดเจน ทำให้ตัดภาวะเหงื่อไม่ออก(anhydrosis) ออกเป็นแค่ข้อบ่งชี้ที่เป็น criteria ประกอบในกลุ่ม Classical Heat Stroke เท่านั้น
        ถ้าจะกล่าว ให้ง่ายขึ้นสาเหตุหลัก ๆ ก็คือการเสียสมดุลระหว่าง ความร้อนของร่างกายที่เพิ่มขึ้น(heat production) และ การกำจัดความร้อนออกจากร่างกาย(Heat dissipation) โดยที่ร่างกายม่สามารถลดอุณหภูมิความร้อนที่สร้างขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดโรคหรือพยาธิสภาพขึ้น ในสภาวะปกตินั้นแกนทั้งสองอันนั้นจะทำงานกันอย่างสมดุล ร่างกายจะสามารถกำจัดความร้อนลงก่อนจะถึงจุดวิกฤติที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ได้
อาการแสดงของโรค
       1) มีอุณหภูมิกายสูงมากกว่า 41 องศาเซลเซียส(hyperthermia) มีเหงื่อออกมากในกลุ่ม EHS และไม่มีเหงื่อออกใน NEHS สัมพันธ์กับประวัติกิจกรรมในที่อากาศร้อนชื้น ถ่ายเทยาก หรือมีประวัติออกกำลังกาย หรือฝึกหนักก่อนมีอาการมาพบแพทย์
        2) อาการ ทางคลินิกสามารถรุนแรงมากขึ้นหากมี ภาวะต่าง ๆเหล่านี้ นำมาก่อน เช่น proceeding viral infection, มีภาวะขาดน้ำ, ร่างกายอ่อนเพลีย, มีโรคอ้วน, ผักผ่อนนอนหลับไม่พอเพียง, ร่างกายไม่ฟิตพอ(poorly physical fitness) มีการปรับตัวกับอากาศร้อนไม่ได้ดี(lack of acclimazation)
        3) อาการทางระบบประสาท ตั้งแต่กระสับกระส่าย, delusion, มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงจากปกติ, หูแว่วเห็นภาพหลอน(hallucination), ชักเกร็ง และโคมา อาการโคมา อาจมีผลจากการผันผวนของสารน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย, ภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ, ภาวะ hepatic encephalopathy, มีเลือดออกในสมอง จากการบาดเจ็บที่ศีรษะ และอื่น ๆ จนถึงอาการทางสมองบวมจนถึงมีการเคลื่อนตัวของสมองมากดแกนสมอง เป็นต้น
        4) อาการที่พบในระบบอื่น ๆ จะช่วยทำให้เรานึกถึงโรคหรือภาวะนี้มากขึ้น
            4.1) ด้านสัญญาณชีพ พบ อุณหภูมิกายสูง เหงื่อออก(หรือ ไม่มีหงื่อออก ในกลุ่ม NEHS) ชีพจรเร็ว ความดันปกติหรือสูง ในช่วงต้นโดยมักมี wide pulse pressure(Systolic Blood Pressure-Diastolic Blood Pressure > 40 mmHg) จากการมี peripheral vasodilatation ของหลอดเลือดฝอยส่วนปลาย
            4.2) อาจพบการเคลื่อนไหวผิดปกติแบบ nystagmus ของตา หรือแบบ occulogyric เหลือกไปด้านใดด้านหนึ่ง ม่านตาสามารถขยาย,หด, หรือในสภาพปกติก็ได้ (fixed, dilated, pinpoint or normal pupils)
            4.3) ระบบไหลเวียนโลหิต สามารถทำให้เกิด myocardial dysfunction หัวใจจะอยู่ในภาวะ hyperdynamic state , ชีพจรเต้นเร็ว มี high cardiac output index ซึ่งบางครั้งอาจพบว่าความดันโลหิตต่ำ จาก peripheral vasodilatation หรือจาก myocardial dysfunction จนถึงมีอาการหัวใจวาย(High/Low output Heart failure) ได้
            4.4) ระบบทางเดินอาหาร มักเกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารร่วมด้วยเสมอ อาจพบอาการตับวายร่วมด้วยได้บ่อย ๆ โดยสามารถดูจากเอ็นไซม์ของตับที่สูงขึ้น ตัวเหลือตาเหลือง เป็นต้น
            4.5) ระบบกล้ามเนื้อ จะมีการสลายของกล้มเนื้อ ( rhabdomyolysis) มีอาการเกร็ง กระตุกของกล้ามเนื้อ จนถึงอาการอ่อนแรงก็สามารถเกิดร่วมได้
            4.6) ระบบทางเดินปัสสาวะ พบภาวะไตวายเฉียบพลันซึ่งเป็นผลมาจาก myoglobinemia จาก rhabdomyolysis หรือจากภาวะขาดน้ำรุนแรง อาจพบสีปัสสาวะแดงขึ้นคล้ายสีโค๊ก สีชา จนเป็นสีเลือดแดงเก่า ๆ ปนเวลาปัสสาวะได้

ร้อนถึงตาย ภัยจากอากาศร้อน "ฮีทสโตรค" (Heat Stroke)
ที่มาภาพ https://pics.manager.co.th/Images/553000006888501.JPEG

        นพ.วีระพันธ์  สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวถึง 5 วิธี ในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคลมแดด ได้แก่ 

        1.ให้หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด พยายามอยู่ในที่ร่มโดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว  
        2.ให้ดื่มน้ำมากๆ   
        3.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง   
        4.หากร้อนจัดแล้วเหงื่อไม่ออกให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว เพื่อระบายความร้อนในตัวออกมา และเป็นการลดความร้อนออกจากร่างกาย  
        5.หากมีอาการของโรคลมแดด คืออาการกระหายน้ำ ตัวร้อนแต่ไม่มีเหงื่อออก หายใจถี่ ปากคอแห้งและอาจวิงเวียนศีรษะ ขอให้รีบไปพบแพทย์

       ในการป้องกันอันตรายในช่วงที่สภาพอากาศร้อน ที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนจะต้องดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ โดยควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน หากทำงานกลางแดดควรสลับมาทำงานในที่ร่มเป็นครั้งคราว  เนื่องจากผู้ที่ดื่มน้ำไม่เพียงพอจะไม่สามารถปรับตัวให้สู้กับอากาศร้อนได้ เพราะน้ำเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย โดยปกติร่างกายจะพยายามปรับอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ในการสังเกตว่าร่างกายได้รับน้ำเหมาะสมหรือไม่ สามารถสังเกตง่ายๆ จากสีของปัสสาวะ ถ้าปัสสาวะมีสีเหลืองจางๆ แสดงว่าได้รับน้ำเพียงพอ แต่ถ้าปัสสาวะสีเหลืองเข้มและปัสสาวะออกน้อย แสดงว่าได้รับน้ำไม่เพียงพอ จะต้องดื่มน้ำให้มาก ๆ   ทั้งนี้หากประชาชนปฏิบัติตนตามข้อปฏิบัติข้างต้นก็จะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคลมแดดได้

ข้อมูลเพิ่มเติม

 

สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรก
         
 สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรก ก็คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่ว ๆ ไป ที่จะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย หากเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที

 

หากพบเจอผู้เป็นโรคลมแดดสามารถช่วยเหลือเบื้องต้นได้โดย

  • นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก
  • ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศรีษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน
  • เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล

ประเด็นคำถาม
        1.  "ฮีทสโตรค" (Heat Stroke) เป็นอาการของโรคที่เกิดจากอะไร
        2.  จะมีวิธีการป้องกันอันตรายไม่ให้เกิดอาการ"ฮีทสโตรค" (Heat Stroke) ได้อย่างไร

การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น
        1.  สุขศึกษาและพลศึกษา
        2.  ภาษาต่างประเทศ

กิจกรรมเสนอแนะ
        1.  ประชาสัมพันธ์ถึงอันตรายและวิธีปฏืบัติตัวในสภาวะที่มีอากาศร้อน
        2.  ให้นักเรียนช่วยกันปลูกต้นไม้ในโรงเรียนและชุมชนเพื่อลดโลกร้อน

อ้างอิง  1.  https://variety.teenee.com/foodforbrain/26593.html
            2.  http--www.horoworld.com-
            3.  https://forum.khonkaenlink.info/index.php?topic=195396

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2578

อัพเดทล่าสุด