เขาใหญ่..ในวันนี้


959 ผู้ชม


อุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย บนสมรภูมิความขัดแย้งระหว่างสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาด้านคมนาคม   

        การขยายถนนสาย 2029 หรือถนนธนะรัชต์ ซึ่งเป็นเขตต่อของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจรของกรมทางหลวง จะส่งผลกระทบต่อต้นไม้ใหญ่อายุกว่า 100 ปี นับ 200 ต้น และอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ที่มา https://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1275228384&grpid=01&catid=04

ประเด็นข่าว
        การขยายถนนธนะรัชต์ ซึ่งเป็นเขตต่อของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ของกรมทางหลวง จะส่งผลกระทบต่อต้นไม้ใหญ่และอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

เขาใหญ่..ในวันนี้

ภาพการขยายถนนธนะรัชต์ (ที่มา: https://www.matichon.co.th/show_image.html?image=online/2010/05/12752283841275229421l.jpg)


เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ชีววิทยา) ช่วงชั้นที่ 4
สาระที่ 2   ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
        มาตรฐาน ว 2.1 เข้าใจสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในระบบนิเวศ มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์    สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์    
        มาตรฐาน ว 2.2 เข้าใจความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ทรัพยากร ธรรมชาติระดับท้องถิ่น ประเทศ และโลก นำความรู้ไปใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

        อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย เป็นพื้นที่ด้านตะวันตกของเทือกเขาพนมดงรัก พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานฯ (ประมาณ 834 ตารางกิโลเมตร) เป็นพื้นที่ราบสูงโคราช ซึ่งมีความสูงระดับ 600 – 1,000 เมตร แต่โดยทั่วไปแล้วความสูงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 เมตร ถึงประมาณ 1,350 เมตร

        อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีจุดชมวิวทิวทัศน์ และเส้นทางเดินที่มีสภาพที่สวยงาม เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น
        1.จุดชมทิวทัศน์เขาเขียว เป็นจุดสูงที่สุด สามารถมองเห็นป่าดิบเขาแน่นทึบของเบื้องล่างได้อย่างกว้างไกล
        2.น้ำตกเหวสุวัต เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ไหลตกลงมาจากหน้าผาสูงชั้นเดียวลงสู่แอ่งน้ำใหญ่ พื้นที่บริเวณรอบเป็นป่าดิบแล้ง และป่าผลัดใบ
        3.น้ำตกเหวนรก เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ และสูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ น้ำตกไหลตกลงมาจากผาสูงหลายร้อยเมตร พื้นที่ป่าบริเวณรอบเป็นป่าดิบชื้นผืนใหญ่

เขาใหญ่..ในวันนี้

        น้ำตกเหวนรก (ที่มา: https://www.nookjung.com/travel/95/attac...79553804)

        ป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
        ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่สามารถจำแนกได้หลายประเภทตามสภาพความชื้นและชนิดพรรณไม้เด่น ดังนี้
        1.ป่าดิบชื้น (Tropical Rain Forest) เป็นป่าที่พบมากที่สุดในเขตอุทยานฯ พรรณไม้เด่นได้แก่ ไม้ในวงศ์ยาง (Dipterocarpaceae) โดยเฉพาะไม้สกุลยาง Dipterocarpus ต้นไม้ที่มักจะพบได้บ่อย คือ ตีนเป็ด Alstonia scholaris (วงศ์ Apocynaceae) ไม้สกุลมะเดือ Ficus เป็นต้น
        2.ป่าผลัดใบผสมป่าดิบแล้ง (Mixed Deciduous Forest and Dry Evergreen Forest) ป่าชนิดนี้ปกคลุมในที่ลาดชันระดับต่ำในอุทยานฯ พรรณไม้เด่น เช่น มะค่าโมง Afzelia xylocarpa (วงศ์ Leguminosae) ประดู่ Pterocarpus macrocarpus(วงศ์ Leguminosae) ตะแบกแดง Lagerstroemia calyculata (วงศ์ Lythraceae) เป็นต้น
        3.ป่าดิบเขาต่ำ (Lower Montane Rain Forest) พบขึ้นที่ระดับความสูงตั้งแต่ประมาณ 1,000 เมตร ขึ้นไป ป่าชนิดนี้มีเรือนยอดค่อนข้างแน่นทึบ มีพรรณไม้เด่น เช่น ไม้วงศ์ก่อ (Fagaceae) พืชเมล็ดเปลือย (Gymnosperm) หลายชนิด เช่น พญาไม้Podocarpus สามพันปี Dacrydium เป็นต้น
        4.ทุ่งหญ้า (Grassland) ทุ่งหญ้าที่พบมักพบในป่ารุ่นสอง (secondary vegetation) พืชหลักที่พบ เช่น หญ้าคา Imperata cylindrical, อ้อ Themeda arundinacea เป็นต้น

เขาใหญ่..ในวันนี้

        ป่าดิบชื้นผืนใหญ่ในพื้นที่ของอุทยาน (ที่มา: https://www.nookjung.com/travel/95/aimg8625sz5)

        จุดเด่นของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คือ ยังคงความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าธรรมชาติเดิมขนาดใหญ่ที่ยังหลงเหลืออยู่ในทวีปเอเชีย และความอุดมสมบูรณ์ของพรรณพืชและพรรณสัตว์ ที่สมควรต้องช่วยกันดูแลรักษาไว้
        แต่ในวันนี้ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ปรากฏเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง เมื่อกรมทางหลวง ได้ทำการขยายถนนสาย 2090 หรือถนนธนะรัชต์ อันเป็นเขตต่อของอุทยานฯ ระยะทาง 10 กิโลเมตร จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นไม้ใหญ่อายุกว่า 100 ปี จำนวนกว่า 200 ต้น จะต้องถูกโค่นลง
 
        
หลายฝ่ายแสดงความวิตกว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และธรรมชาติของอุทยานฯ นับแต่นี้ไป! จึงเป็นที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าอนาคตของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จะดำเนินไปอย่างไร... คำตอบที่มีต่อคำถามนี้คงต้องให้ทุกคนเป็นผู้ที่ช่วยกันคิดหาคำตอบต่อไป


ประเด็นคำถามสู่การอภิปราย
        1.ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ
        2.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
        3.แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในโลกยุคปัจจุบัน

กิจกรรมเสนอแนะ
        1.นักเรียนติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น
        2.นักเรียนวิเคราะห์ อภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น
        3.นักเรียนจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น

กิจกรรมบูรณาการ
        1.บูรณาการกับวิชาสังคมศึกษาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน
        2.บูรณาการกับวิชาสังคมศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การสร้างถนนสายดังกล่าว
        3.บูรณาการกับวิชาคณิตศาสตร์เกี่ยวกับการคำนวณพื้นที่ที่ต้องมีการขยายทางเพิ่มขึ้น

แหล่งอ้างอิง
ก่องกานดา ชยามฤต และคริสเตียน พุฟ. 2549. พรรณไม้ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่.
        ประชาชน.กรุงเทพฯ. 265 หน้า
https://www.nookjung.com/travel/95/aimg8625sz5
https://www.nookjung.com/travel/95/attac...79553804
https://www.matichon.co.th/show_image.html?image=online/2010/05/12752283841275229421l.jpg

 ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2661

อัพเดทล่าสุด