การสำรวจแหล่งปิโตรเลียม
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)หรือ ปตท.สผ.ชนะการประมูล
สิทธิสำรวจปิโตรเลียมจากการเปิดประมูลสิทธิปิโตรเลียมประเทศอินโดนีเซียปี 2552/2553
โดย ปตท.สผ.และบริษัท ทาริสแมน (เอเชีย)จำกัด ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับ
สิทธิสำรวจปิโตรเลียมในแปลงมาลุนด้า แปลงเซาท์ แมนด้าร์ แปลงซาดัง และแปลงเซาท์ ซาการี
ได้มีการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลประโยชน์ ในแปลงดังกล่าวกับหน่วยงานของรัฐบาลอินโดนีเซียแล้ว
ที่มา : https://www.ryt9.com/s/nnd/904354
ประเด็นการศึกษา “การสำรวจแหล่งปิโตรเลียม”
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ วิชาเคมี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ปิโตรเลียม
ปิโตรเลียมหมายถึง สารที่ขุดเจาะขึ้นมาจากใต้ดิน ซึ่งประกอบด้วยแก๊สธรรมชาติ
แก๊สธรรมชาติเหลว น้ำมันดิบรวมทั้งสารพลอยได้อื่นๆ ซึ่งอยู่ในสภาพอิสระ ซึ่งเกิดจากการ
ทับถมของซากพืชและสัตว์ซึ่งตายและจมลงสู่ก้นทะเลเป็นเวลานาน ๆ นับล้านปี น้ำทะเลจะพัดพาเอาทรายและหินมาทับถมกันไป นานวันเข้าก็จะกดทับให้ซากพืชซากสัตว์เหล่านั้นจมอยู่เบื้องล่างลึกลงไป เนื่องจากไม่มีจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่บนส่วนลึกที่มีแรงดันสูง อีกทั้งยังเป็นสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน ซากสัตว์ที่ทับถมกัน จึงไม่สามารถเกิดการย่อยสลายได้เหมือนบนบก แต่จะกลายไปเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนหลายชนิดปะปนกัน มีทั้งสารที่มีสถานะเป็นของเหลว คือ น้ำมันดิบ หรือน้ำมันปิโตรเลียม และที่เป็นแก๊สคือ แก๊สธรรมชาติ เป็นต้น โดยทั่วไป ปิโตรเลียมถูกกักเก็บภายใต้พื้นผิวโลกในชั้นหินดินดานที่ระดับประมาณ 1-3
กิโลเมตร ชั้นหินที่สามารถกักเก็บปิโตรเลียมไว้ได้ประกอบด้วยชั้นหินทึบซึ่งช่วยป้องกันการระเหยของปิโตรเลียม และชั้นหินที่มีรูพรุนสามารถอุ้มน้ำมันที่พบอาจมีองค์ประกอบต่าง ๆ ไม่เท่ากันได้ตามแหล่งที่พบ แหล่งปิโตรเลียมที่อยู่พบ บนผิวโลกไม่ได้อยู่ใต้ทะเลหรือมหาสมุทรก็มีอยู่เช่นกัน
การสำรวจแหล่งปิโตรเลียมต้องใช้หลายวิธีประกอบกัน
1.การสำรวจทางธรณีวิทยา
1.1 จากแผนที่
1.2 จากภาพถ่ายทางอากาศ
1.3 จากภาพถ่ายดาวเทียม
1.4 จากรายงานทางธรณีวิทยา
จากการสำรวจแบบนี้ทำให้คาดคะเนได้ว่าจะมีโอกาสพบโครงสร้างและชนิดของหิน
ที่เอื้ออำนวยต่อการเก็บกักปิโตรเลียมในบริเวณนั้นมากน้อยแค่ไหน
2.การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์
2.1 จากการวัดคลื่นความสั่นสะเทือนทำให้ทราบรูปร่างและลักษณะ
โครงสร้างของแหล่งชั้นหินอย่างละเอียด ทำให้นักธรณีวิทยาสามารถระบุได้ว่า
ชั้นหินบริเวณใดมีโอกาสเป็นแหล่งปิโตรเลียมและมีปริมาณมากน้อยเพียงใด
2.2 จากการวัดความเข้มของสนามแม่เหล็กทำให้ทราบชนิด ความหนา
ขอบเขต ความกว้างของแอ่งความลึกของชั้นหิน
2.3 จากการวัดค่าแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้ทราบว่าชั้นหินบริเวณนั้น
เป็นหินชนิดใด
จากการสำรวจแบบนี้ช่วยให้สันนิษฐานว่าจะมีแหล่งกักปิโตรเลียมหรือไม่
ผลการสำรวจทั้งสองแบบจะใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้น สำหรับค้นหาแหล่งกักเก็บ
ปิโตรเลียมที่แน่นอนเพื่อทำการขุดเจาะต่อไป การเจาะสำรวจเป็นขั้นตอนที่บอกให้ทราบถึง
ความยากง่ายของการขุดเจาะปิโตรเลียมมาใช้ และสิ่งที่กักเก็บจะเป็นแก๊สธรรมชาติหรือ
น้ำมันดิบ เมื่อมีการสำรวจพบแล้ว ถ้าหลุมใดมีความดันภายในสูง ปิโตรเลียมก็จะถูกดันไหล
ออกมา แต่ถ้าหลุมใดมีความดันต่ำจะต้องมีการเพิ่มแรงดันจากภายนอกเข้าไป ซึ่งทั้งน้ำมันดิบ
และแก๊สธรรมชาติก่อนจะนำไปใช้ประโยชน์ จะต้องนำมาผ่านกระบวนการแยกสารผสมเพื่อ
ให้ได้สารที่มีสมบัติเหมาะสมกับการใช้งาน
ประเด็นคำถาม
1.เหตุที่พบปิโตรเลียมในที่บางแห่งทั้ง ๆที่มีพืชหรือสัตว์อาศัยอยู่ทั่วไปบนผิวโลก
2.บริเวณที่น้ำมันดิบหรือน้ำมันปิโตรเลียมถูกกักเก็บไว้ จะมีลักษณะอย่างไร
3.ในการสำรวจน้ำมันปิโตรเลียมมีวัตถุประสงค์อย่างไร
กิจกรรมเสนอแนะ
นักเรียนทำโครงการสำรวจแหล่งปิโตรเลียม
การบูรณาการ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ คำศัพท์เกี่ยวกับ การขุดเจาะ
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ขนาด รูปทรงทางเรขาคณิต
ที่มา : จันทรา ชาญนุวงศ์ แผนการจัดการเรียนรู้วิชาเคมี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2755