มาทำความรู้จักกับดวงจันทร์...ดวงดาวที่สร้างความมหัศจรรย์ให้กับโลกกันเถอะคะ
ข่าวจากคอลัมน์การศึกษาของไทยรัฐออนไลน์ว่ามีการค้นพบน้ำปนอยู่ในแร่ธาตุที่อยู่ในตัวอย่างหินดวงจันทร์และก้อนอุกกาบาตจากดวงจ้นทร์ในปริมาณมาก ทำให้เกิดข้อสงสัยในบ่อเกิดของน้ำภายในดวงจันทร์นั้น (ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ วันที่ 19 มิถุนายน 2553, 08:00 น.)
น้ำบนดวงจันทร์จะมีบ่อเกิดมาจากปรากฎการณ์ใดเราคงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ที่จะหาคำตอบมาให้ เพื่อต่อไปภายภาคหน้าเราอาจได้ไปจับจองที่ดินผืนหนึ่งอยู่บนดวงจันทร์ต่อไปก็เป็นได้ แต่ก่อนอื่นเราคงต้องทำความรู้จักกับดวงจันทร์กันก่อนว่าคืออะไร รูปร่างหน้าจริงๆ แล้วจะเหมือนกับที่เราเห็นในโลกนี้หรือไม่
เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับชั้น ป.4 - ป.6
สาระที่ 7 ดาราศาสตร์และอวกาศ
มาตรฐาน ว 7. 1 เข้าใจวิวัฒนาการของระบบสุริยะ กาแล็กซีและเอกภพการปฏิสัมพันธ์ภายในระบบสุริยะและผลต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก มีกระบวนการสืบเสาะ หาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ การสื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
ดวงจันทร์ เป็นดาวบริวารเพียงดวงเดียวของโลก จัดเป็นดาวบริวารขนาดใหญ่ลำดับที่ 5 ในระบบสุริยะ มีระยะห่างจากโลกเฉลี่ยนับจากศูนย์กลางถึงศูนย์กลางประมาณ 384,403 กิโลเมตร เทียบเท่ากับ 30 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางของโลก จุดศูนย์กลางมวลร่วมของระบบตั้งอยู่ที่ตำแหน่ง 1700 กิโลเมตรใต้ผิวโลก หรือประมาณ 1 ใน 4 ของรัศมีของโลก ดวงจันทร์โคจรรอบโลกในเวลาประมาณ 27.3 วัน (ที่มา : วิกีพีเดีย)
วิมุติ วสะหลาย แห่งสมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้กล่าวถึงทฤษฎีการกำเนิดดวงจันทร์ที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดในขณะนี้คือ ทฤษฎีพุ่งชน โดยได้อธิบายไว้ว่า ได้มีวัตถุขนาดใหญ่ลูกหนึ่งพุ่งเข้ามาชนโลกในช่วงปลายของระยะสะสมมวลของโลก ทำให้สสารจากเปลือกโลกจำนวนหนึ่งหลุดออกไปและต่อมาได้รวมตัวกันใหม่เป็นวัตถุอีกดวงหนึ่งและกลายเป็นดวงจันทร์
ทฤษฎีนี้แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ
1. การชนเกิดขึ้นในขณะที่โลกสะสมมวลได้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของมวลที่มีอยู่ในปัจจุบัน
2. การชนเกิดขึ้นในช่วงที่กระบวนการสร้างโลกใกล้เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งแนวคิดที่ 2 นี้ได้รับการยอมรับมากจากการสร้างแบบจำลองของ Robin Canup นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาครูซ
ภาพจาก https://thaiastro.nectec.or.th/news/2001/img/news2001sep02a.jpg
หลังจากเกิดการพุ่งชนกันแล้ว ดวงจันทร์จะมีลักษณะอย่างไร ลองมาติดตามอ่านกันดูนะคะ
ดวงจันทร์ประกอบด้วยองค์ประกอบที่มีความแตกต่างทางเคมีภูมิวิทยาอย่างชัดเจนระหว่างส่วนของพื้นผิว ส่วนของเปลือก และส่วนของแกน โดยเชื่อว่าลักษณะทางโครงสร้างเช่นนี้เป็นผลมาจากการก่อตัวขึ้นเป็นส่วนๆ จากทะเลแมกม่าที่เกิดขึ้นหลังจากการกำเนิดดาวเคราะห์ไม่นานนัก คือราว 4.5 พันล้านปีที่แล้ว พลังงานที่ใช้ในการหลอมเหลวผิวชั้นนอกของดวงจันทร์เชื่อว่าเกิดจากการปะทะครั้งใหญ่ ซึ่งให้เกิดระบบการโคจรระหว่างโลกกับดวงจันทร์ขึ้น
ภาพจาก https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/7/73/Moon_PIA00302.jpg
สนุกคิดกับวิทยาศาสตร์
ดวงจันทร์มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของเราอย่างไรบ้าง
ลองทำดู
สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับอิทธิพลของดวงจันทร์ต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในโลก
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
กลุ่มสาระภาษาอังกฤษ - การสร้างคำใหม่จากคำว่า MOON
แหล่งที่มาของข้อมูล
1.
2. วิกิพีเดีย
3. สมาคมดาราศาสตร์ไทย
ภาพจาก
1. https://thaiastro.nectec.or.th/news/2001/img/news2001sep02a.jpg
2. https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/7/73/Moon_PIA00302.jpg
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2773