มารู้จักกับเส้นผมกันว่าคืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง จากบทความนี้กันเลยค่ะ........
ดร.บรูโน เบอนาร์ด นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้ค้นหาสาเหตุที่ทำให้ผมหงอกว่าเป็นเพราะเซลล์ต้นกำเนิดสร้างเม็ดสีในหนังกำพร้าในถุงรากผมซึ่งอยู่ใกล้กับหนังศีรษะร่อยหรอลง ต่อมเซลล์เม็ดสีเกิดความเสียหายและเสื่อมลง จนไม่สูบเม็ดสีไปเลี้ยงรากผมทำให้ผมหงอก ซึ่งเขาได้คิดค้นน้ำยาทำให้ผมหงอกกลับคืนสีเดิมตามธรรมชาติโดยไม่ต้องย้อม แต้มสี หรือใช้ตัวยาเคมีกัดแต่อย่างใด โดยน้ำยานี้จะผลิตออกมาจำหน่ายได้ในอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้านี้(ที่มา : คอลัมน์ วิทยาการ โดยไทยรัฐฉบับพิมพ์ออนไลน์ วันที่ 26 มิถุนายน 2553, 08:00 น.)
ภาพจาก https://www.talad2you.com/gallery/71313_1.jpg
เคยสงสัยกันบ้างหรือเปล่าคะว่าทำไมบางคนผมตรง บางคนผมหยิก บางคนผมเส้นใหญ่ บางคนผมเส้นเล็ก เส้นผมที่อยู่บนหนังศีรษะของเรานั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ภายในเส้นผมแต่ละเส้นประกอบด้วยอะไรบ้าง ลองมาศึกษาดูนะคะ
เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับชั้น ป.6 - ม.3
สาระที่ 1 สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต
มาตรฐาน ว 1. 1 เข้าใจหน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ของโครงสร้างและหน้าที่ของระบบต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตที่ทำงานสัมพันธ์กัน มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตของตนเองและดูแลสิ่งมีชีวิต
เส้นผมเป็นขนประเภทหนึ่ง ประกอบด้วยน้ำ โปรตีน และกรดอะมิโน (ซีสเตอีน ลิวซิน โปรลินและอื่นๆ) แร่ธาตุในเส้นผมมีปนอยู่บ้างเพียงเล็กน้อย เช่น สังกะสี แคลเซียม โปตัสเซียม แมกนีเซียม โซเดียม เป็นต้น (ที่มา : โรงเรียนเสริมสวยอรนุช)
ส่วนประกอบของเส้นผมนั้นประกอบด้วยเซลล์ทั้งหมด 3 ชั้น คือ
1. ชั้นนอก (Cuticle) หรือ เกล็ดผม ประกอบด้วยเซลล์บางๆ ชิ้นเดียว มีประมาณ 6-10 ชั้น คล้ายเกล็ดปลามีลักษณะโปร่งแสง และไม่มีสี ตรงโคนหนากว่าปลายเส้นผม เซลล์จะเรียงต่อทับกันแต่ละเซลล์ประกอบด้วยชั้นต่างๆอีก 3 ชั้น ในเกล็ดผมจะมีการเชื่อมต่อกันด้วย Intercellular Cement โดยมีการประสานกันเพื่อให้ผมแข็งแรงไม่แตกเปราะง่าย ทำหน้าที่ในการปกป้องเนื้อผม เป็นเกราะป้องกันสารเคมีชีวภาพและมลภาวะภายนอก
2. ชั้นกลาง (Cortex) หรือ เนื้อผม เป็นส่วนที่หนาสุดของผมอยู่ถัดเข้ามา ชั้นนี้เป็นชั้นที่มีส่วนประกอบที่ทำให้เส้นผมแข็งแรง มีเส้นใยเล็กๆ ทอดยาวตลอดความยาวของเส้นผม มัดไว้เป็นห่อ ในแต่ละหนึ่งเส้นใยประกอบด้วยใยเล็กๆ อยู่รวมกัน เป็นเส้นใยใหญ่หนึ่งเส้น เส้นใยใหญ่นี้อยู่ในเซลล์ที่ชื่อว่า paracortex เส้นผมชั้นกลางนี้มีสารเคอราตินอยู่เป็นจำนวนมากเป็นส่วนประกอบ ก็คือ Macrofibrills ซึ่งทำให้ผมนุ่มสลวยแตกต่างกัน
3. ชั้นใน (medulla) หรือ แกนผม ประกอบด้วยเซลล์ที่มีโพรงอากาศอยู่ อาจอยู่ติดต่อกันทั้งเส้นหรืออยู่เป็นระยะๆ หรืออาจไม่มีในผมเส้นเล็ก
ภาพจาก https://www.wanthai.co.th/images/_hair.jpg
วัฎจักรชีวิตของเส้นผม
วัฏจักรของชีวิตเส้นผมมีขั้นตอนที่มีชื่อเรียกต่างๆ กันไปคือ
ระยะอะนาเจน (Anagen Phase) เป็นระยะเวลางอกงามของขนซึ่งมีระยะเวลายาวประมาณ 3 ปี หรืออาจถึง 7 ปี เมื่อเราอายุมากขึ้นระยะอะนาเจนนี้จะสั้นลงๆ ในระยะนี้ผมของคนเราจะงอกเร็วประมาณ 1 ซ.ม.ต่อเดือน คนที่ไม่ตัดผมเลยตลอดชีวิต ก็จะมีผมยาวได้อย่างมากก็ 36 ซ.ม. ถึง 84 ซ.ม.
ระยะคะทาเจน (Catagen Phase) หรือระยะหยุดงอก ในระยะนี้เส้นผมขาดอาหารมาเลี้ยง ต่อมผมจะหดเล็กลง แล้วจะหยุดทำงานนานประมาณ 1 สัปดาห์กว่าๆ จากนั้นจะเข้าสู่ต่อไป
ระยะเทโลเจน (Telogen Phase) หรือระยะพักซึ่งกินเวลาประมาณ 3 เดือน ในระยะนี้ผมจะหลุดร่วงออกไป ปกติแล้วประมาณร้อยละ 10 ของต่อมผมทั้งหมด (มีประมาณ 100,000 ต่อม) จะอยู่ในระยะนี้ในทุกขณะของชีวิตของคนเรา
ภาพจาก https://www.elib-online.com/doctors46/dermato_hair001.html
สนุกคิดกับวิทยาศาสตร์
เราจะมีวิธีการอะไรบ้างในการดูแลเส้นผมให้มีสุขภาพดี
ลองทำดู
ลองนำเส้นผมของเราและเพื่อนๆ สัก 1 เส้นมาส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์แล้วเปรียบเทียบลักษณะของเส้นผมแต่ละเส้น
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
กลุ่มสาระภาษาไทย - แต่งบทร้อยกรองเกี่ยวกับเส้นผม(ลักษณะของเส้นผม)
ที่มา
1. ไทยรัฐออนไลน์
2. https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=groofjeab&month=15-03-2010&group=18&gblog=44
3. โรงเรียนเสริมสวยอรนุช
4. https://www.elib-online.com/doctors46/dermato_hair001.html
ภาพจาก
1. https://www.talad2you.com/gallery/71313_1.jpg
2. https://www.wanthai.co.th/images/_hair.jpg
3. https://www.elib-online.com/doctors46/dermato_hair001.html
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2816