หมู่เกาะกาลาปากอส ของเอกวาดอร์ เกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เกิดจากการสะสมตัวของลาวาจากภูเขาไฟ ที่ผุดขึ้นมาจากใต้ทะเลเมื่อกว่า 10 ล้านปีก่อน น่าสนใจมากค่ะ
มารู้จัก " หมู่เกาะกาลาปากอส " ของเอกวาดอร์ เกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิก กันนะคะ
คณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก ตัดสินถอนชื่อหมู่เกาะกาลาปากอส ของเอกวาดอร์
กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ออกจากบัญชีมรดกโลกที่เสี่ยงอันตรายสูญเสียสภาพแวดล้อม หลังทางการหมู่เกาะ
กาลาปากอสจัดการพัฒนาแก้ปัญหาหมู่เกาะได้ดีขึ้น หลังหมู่เกาะเสื่อมโทรมลงอย่างมาก เพราะการท่องเที่ยว
เพิ่มขึ้นมาก จนส่งผลกระทบ ถึงสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง สัตว์ทะเลหลายสายพันธุ์ถูกรุกล้ำถิ่นที่อยู่อาศัย
หมู่เกาะกาลาปากอส เดิมเป็น ถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านราว 10,000 คน ส่วนใหญ่อาชีพประมง หมู่เกาะเดิม
เป็นถิ่นภูเขาไฟผุดขึ้นมาจากใต้ทะเลเมื่อกว่า 10 ล้านปีก่อน ทำให้อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ ทั้งมีธรรมชาติ
สวยงามมากมาย
( ที่มา ไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/content/oversea/99904 )
ภาพหมู่เกาะกาลาปากอส
หมู่เกาะกาลาปากอส ตั้งอยู่ห่างนอกชายฝั่งด้านตะวันตกของเอกวาดอร์ราว 1,000 กม.
ประกอบด้วย เกาะหลัก 13 เกาะ เกาะเล็ก ๆ อีก 17 เกาะ ยูเนสโกขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2521
เพราะมีพืชพันธุ์หายากและสัตว์หายากใกล้สูญพันธ์มากมาย ทั้งบนเกาะและบริเวณทะเลรอบ ๆ
หมู่เกาะนี้เกิดจากการสะสมตัวของลาวาจากภูเขาไฟ เมื่อ 7 - 9 ล้านปีมาแล้ว และยังมีภูเขาไฟมีพลัง
เกาะนี้เป็นที่สนใจเพราะลักษณะของสัตว์แปลก ๆ ที่พบบนเกาะนั้นเอง โดยเฉพาะ เต่ายักษ์ ที่เรียกว่า
กาลาปาโก อันเป็นที่มาของชื่อหมู่เกาะนี้ และ นกฟินช์กาลาปาโกส หรือนกฟินช์ดาร์วิน เพนกวิน
และแมวน้ำขนเฟอร์ และสัตว์อีกมากมายที่น่าสนใจค่ะ น่าเสียดายสภาพธรรมชาติอันสวยงาม
แบบนี้ถ้าเสื่อมโทรมไปค่ะ
เนื้อหาเกี่ยวข้องกับ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ทุกระดับชั้น และผู้สนใจทั่วไป
สาระที่ 6 กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก
มาตรฐาน ว 6.1 เข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนผิวโลกและภายในโลก ความสัมพันธ์ของ
กระบวนการต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และสัณฐานของโลก มีกระบวน
การสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
เรื่อง หมู่เกาะกาลาปากอส
ชื่ออังกฤษ : Galapagos Islands
ที่ตั้ง : เอกวาดอร์
ประเภท : มรดกทางธรรมชาติ
หมู่เกาะกาลาปากอส หรือ หมู่เกาะกาลาปาโกส ( Galapagos Islands) เป็นหมู่เกาะกลาง
มหาสมุทรแปซิฟิก มีความน่าสนใจทั้งด้านธรณีวิทยา สัตววิทยา และนิเวศวิทยาเป็นอย่างยิ่ง เป็นส่วนหนึ่งของ
ประเทศเอกวาดอร์ โดยมีชื่อภาษาสเปนอย่างเป็นทางการว่า กลุ่มเกาะโกลอน ตั้งอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตร
ห่างจากทวีปออกไปทางตะวันตก 1,000 กิโลเมตร
ภาพหมู่เกาะกาลาปากอส
ลักษณะทั่วไป
หมู่เกาะกาลาปาโกส ประกอบด้วยเกาะใหญ่ 5 เกาะ เกาะขนาดกลาง 8 เกาะ และเกาะเล็กอีก 6 เกาะ
พร้อมเกาะแก่งเล็ก ๆ หรือโขดหินกลางทะเลอีกประมาณ 40 แห่ง โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 7,994 ตารางกิโลเมตร
ครอบคลุมพื้นที่ในทะเล 59,500 ตารางกิโลเมตร เกาะต่าง ๆ มีชื่อเรียกทั้งในภาษาสเปนและภาษาอังกฤษ
การกำเนิด
หมู่เกาะนี้เกิดจากการสะสมตัวของลาวาจากภูเขาไฟ เมื่อ 7-9 ล้านปีมาแล้ว และยังมีภูเขาไฟมีพลัง
แม้ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็ยังเกิดภูเขาไฟอยู่ประปราย
ลักษณะเด่น
พื้นผิวที่ขรุขระอันเกิดจากภูเขาไฟ ปล่องภูเขาไฟ และหน้าผา
เกาะในหมู่เกาะกาลาปากอส
เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือ เกาะอัลเบมาร์ล (Albermarle) หรือ เกาะอิซาเบลา (Isabela) มีรูปร่างเป็นฉาก
ความยาวทั้งหมด 132 กิโลเมตร ครอบครองเนื้อที่เกินครึ่งของหมู่เกาะนี้ จุดที่สูงที่สุดในหมู่เกาะนี้ คือ
ภูเขาอาซุล (Azul) สูง 1,689 เมตร
โดยหมู่เกาะนี้ยังมีภูเขาไฟชื่อภูเขาไฟวูล์ฟ (Wolf Volcano) อยู่ทางด้านเหนือของเกาะอิซาเบลา
ไปหลายไมล์ ส่วนเกาะที่มีขนาดใหญ่รองลงไป คือ เกาะอินดิฟาทิเกเบิล (Indefatigable) หรือ
เกาะซานตากรุซ (Santa Cruz)
ภาพเต่ายักษ์และอิกัวน่าบนหมู่เกาะกาลาปากอส
ที่ตั้งของเกาะ
หมู่เกาะกาลาปาโกสเป็นหมู่เกาะที่อยู่ไกลจากชายฝั่งเอกวาดอร์ประมาณ 965 กิโลเมตร
หรือ 600 ไมล์ เป็นหมู่เกาะที่อยู่บนเส้นศูนย์สูตรและในมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้มีกระแสน้ำไหล
ผ่าน 3 สาย คือ กระแสน้ำอุ่นจากทางด้านเหนือ กระแสน้ำเย็นจากทางด้านใต้ แล้วกระแสน้ำเย็น
จากที่ลึกจากทางด้านตะวันตกของหมู่เกาะ
สัตว์ที่พบบนเกาะ
ชื่อเสียงของหมู่เกาะนี้เริ่มต้นที่ลักษณะอันน่าแปลกของสัตว์บนเกาะต่าง ๆ นั่นเอง โดยเฉพาะ
เต่ายักษ์ ซึ่งภาษาสเปนโบราณเรียกว่า กาลาปาโก (galpago) อันเป็นที่มาของชื่อหมู่เกาะนี้
เต่าเหล่านี้คาดว่ามีอายุยืนที่สุดในบรรดาสัตว์โลกปัจจุบัน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำแทบจะไม่มีเลย
สัตว์เลื้อยคลานมีน้อย ส่วนสัตว์บกท้องถิ่นมีสัตว์ฟันแทะเพียง 7 ชนิด และค้างคาวอีก 2 ชนิด
ส่วนนกบนเกาะเหล่านี้มีเพียง 80 ชนิดและชนิดย่อย นกที่พบมากที่สุด (ไม่นับนกน้ำ) คือนกฟินช์
กาลาปาโกส หรือนกฟินช์ดาร์วิน นั่นเอง
ภาพแมวน้ำและอิกัวน่าบนหมู่เกาะกาลาปากอส
สาเหตุนักวิทยาศาสตร์สนใจ
สัตว์บนหมู่เกาะกาลาปาโกสเป็นที่น่าสนใจของนักวิทยาศาสตร์ เพราะ
1)มีเปอร์เซ็นต์สัตว์ท้องถิ่นสูงมาก
2) สัตว์ชนิดต่าง ๆ ได้พัฒนาเป็นชนิดย่อยของมันเองในแต่ละเกาะ
3) นกฟินช์กาลาปาโกสได้พัฒนาตนเองขึ้นหลายชนิดจากบรรพบุรุษเดียวกัน โดยมีความ
แตกต่างสำคัญที่จงอยปาก
4) มีสัตว์อื่นๆ อีกมากที่พัฒนาตัวเองโดยปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เช่น อีกัวน่าทะเล
ที่ว่ายน้ำได้ จะกินพืชทะเลเป็นอาหาร นอกจากนี้ยังมีนกกาน้ำที่บินไม่ได้
5) เต่ายักษ์ที่เคยแพร่พันธุ์บนทวีป แต่ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้ว เหลืออยู่เพียงบนเกาะขนาดใหญ่
นอกจากนี้ยังมีสัตว์ในเขตแอนตาร์กติก เช่นเพนกวิน และแมวน้ำขนเฟอร์ ซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะเหล่านี้
เคียงข้างกับสัตว์เขตร้อนได้
ภาพสัตว์บนหมู่เกาะกาลาปากอส
สภาพในปัจจุบัน
สัตว์จำนวนมากในหมู่เกาะนี้เริ่มมีจำนวนลดลง รวมทั้งปลาวาฬและแมวน้ำขนเฟอร์ ซึ่งถูกจับ
จนเกือบสูญพันธุ์ เต่าก็ลดจำนวนลงอย่างมาก และบางชนิดถึงกับสูญพันธุ์ เพราะมีศัตรูจากถิ่นอื่นที่
นักเดินเรือนำเข้ามา หลังจากรัฐบาลเอกวาดอร์ยึดครองหมู่เกาะนี้เมื่อปี พ.ศ. 2375 (ค.ศ. 1832) ก็เริ่ม
มีการตั้งนิคมบนเกาะโฟลเรอานา เพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเองไว้ และในที่สุดก็กลายเป็นที่คุมขังนักโทษ
ทางการเมือง ในพุทธทศวรรษ 2440 ประชากรของหมู่เกาะกาลาปาโกสมีประมาณ 600 คน โดยเริ่มตั้ง
นิคมบนเกาะซาน คริสโตบัล, อิซาเบลา และฟลอเรอานาค่อยๆ เพิ่ม ในช่วงนี้เองที่เริ่มมีการนำสัตว์เพื่อ
การพาณิชย์เข้ามา เช่น โค แพะ สุกร สุนัข ลา ม้า หนู และพืชต่าง ๆ สมัยที่ดาร์วินมาแวะที่นี่ เพิ่งมีการตั้ง
นิคมได้เพียง 3 ปี แต่ก็มีสุกรและแพะจรจัดมากมายแล้ว และสัตว์เหล่านี้โดยมากจะเป็นศัตรูต่อสัตว์หรือ
พืชต่าง ๆ
การท่องเที่ยว
ส่วนการท่องเที่ยวนั้นแต่เดิมมีข้อจำกัดเนื่องจากสภาพจำกัดทางภูมิศาสตร์ แต่ปัจจุบันมีธุรกิจ
ท่องเที่ยวนำเที่ยวหมู่เกาะกาลาปาโกสอย่างกว้างขวาง ศูนย์กลางการบริหารหมู่เกาะกาลาปาโกสอยู่ที่เมือง
ปวยร์โตบาเกรีโซโมเรโน (Puerto Baquerizo Moreno) บนเกาะซานกริสโตบัล
ภาพนกเพนกวินบนหมู่เกาะกาลาปากอส
ข้อมูลเพิ่มเติม
เกาะ
เกาะ เป็นพื้นดินที่ล้อมรอบด้วยน้ำ มีขนาดเล็กกว่าทวีป อาจอยู่ในมหาสมุทร ทะเล ทะเลสาบ
หรือแม่น้ำ เกาะขนาดเล็กเรียกว่า เกาะเล็ก (isle) ซึ่งรวมถึงอะทอลล์ (atoll) หรือ เกาะปะการังวงแหวน
และ เกาะปริ่มน้ำ (key หรือ cay) ที่เป็นเกาะขนาดเล็กโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นน้ำ เกาะหลายเกาะที่อยู่รวมกัน
เป็นกลุ่ม เรียกว่า กลุ่มเกาะ (archipelago)
ตัวอย่างเกาะ
เกาะห้า หมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา ประเทศไทย
ประเภทของเกาะ
เกาะได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ เกาะริมทวีป (continental island) เกาะแม่น้ำ (river island)
และ เกาะภูเขาไฟ (volcanic island) นอกจากนี้ยังมีเกาะเทียม (artificial island) ที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์
ได้รู้จัก " หมู่เกาะกาลาปากอส " กันแล้วนะคะ จะเห็นว่าเป็นเกาะที่น่าสนใจมาก ทั้งสภาพธรรมชาติ
ที่เกิดจากการสะสมของลาวาภูเขาไฟ และมีจุดเด่นที่สัตว์แปลก ๆ หลายชนิดบนเกาะนี้ เช่น เต่ายักษ์
อิกัวน่าทะเล อิกัวน่าบก นกโจรสลัด และนกเพนกวิน ซึ่งแม้ว่าเกาะนี้จะตั้งอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตร
แต่เพราะมีกระแสน้ำเย็นไหลผ่าน จึงทำให้นกเพนกวินสามารถอาศัยอยู่ได้ ก็น่าเสียดายถ้าธรรมชาติ
ที่สวยงามที่จัดเป็นมรดกโลกที่ทรงคุณค่าแบบนี้ จะถูกทำลายไปค่ะ ทุกคนคงต้องร่วมมือกันแล้วนะคะ
ธรรมชาติจะดำรงอยู่ได้ด้วยมือเราทุกคนค่ะ
คำถาม VIP ชวนคิด
1. หมู่เกาะกาลาปากอส เกิดจากสาเหตุใด
2. หมู่เกาะกาลาปากอส ตั้งอยู่ที่ใด
3. หมู่เกาะกาลาปากอสมีลักษณะเด่นอย่างไร
4. สัตว์ชนิดใดเป็นต้นกำเนิดของชื่อเกาะกาลาปากอส
5. เกาะในปัจจุบัน แบ่งได้กี่ประเภท
กิจกรรมเสนอแนะ
1.ให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลเรื่องหมู่เกาะกาลาปากอสเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น ห้องสมุด อินเตอร์เน็ต
2. ให้นักเรียนค้นคว้าและนำเสนอแนวทางในการอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่นหมู่เกาะกาลาปากอส
3. กิจกรรมทัศนศึกษาชม "หมู่เกาะ " ต่าง ๆ ในประเทศไทย
การบูรณาการ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย นักเรียนเขียนเรียงความเกี่ยวกับหมู่เกาะกาลาปากอส
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ นักเรียนนับจำนวนสัตว์ที่พบบนเกาะหมู่เกาะกาลาปากอส
และทำสถิติพบสัตว์ชนิดใดมากที่สุด
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ฯ นักเรียนศึกษาสภาพภูมิประเทศหมู่เกาะกาลาปากอส
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี นักเรียนลองประดิษฐ์ตุ๊กตาสัตว์ประเภทต่าง ๆ
ที่พบบนหมู่เกาะกาลาปากอส
กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ นักเรียนวาดภาพสัตว์ประเภทต่าง ๆ ที่พบบนหมู่เกาะกาลาปากอส
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ นักเรียนเขียนชื่อภาษาอังกฤษของสัตว์ประเภทต่าง ๆ
ที่พบบนหมู่เกาะกาลาปากอส
ขอขอบคุณ
แหล่งข้อมูลอ้างอิงเนื้อหาและรูปภาพประกอบ ดังนี้
1. https://www.thairath.co.th/content/oversea/99904
2. https://th.wikipedia.org/wiki/หมู่เกาะกาลาปาโกส
3. https://www.mcgill.ca/files/_nea/109683_Galapagos-bartolome-island.jpg
4. https://th.wikipedia.org/wiki/เกาะ
5. https://www.rainforestandreef.org/sa/galapagos/i/santiago_island_b450w.jpg
6. https://www.ecuador.us/images/seal.jpg
7. https://www.photoseek.com/86GAL-10-16_Pinnacle-Rock-beach-Bartolome-Island.jpg
8. https://yeahthatskosher.com/wp-content/uploads/2008/11/img_1248.jpg
9. https://cache.virtualtourist.com/3209612-Sea_lion_pups_pose_for_the_camera-Galapagos_Islands.jpg
10. https://static.guim.co.uk/sys-images/Guardian/Pix/pictures/2008/10/11/bird460.jpg
11.https://www.scientificamerican.com/media/inline/blog/Image/Tortoise.jpg
12.https://www.youradventurevacation.com/top-ten-adventure-vacations/
13.https://www.adventureassociates.com/media/latinamerica/galapagos/ExplorerPenguins.jpg
14.https://www.mnh.si.edu/exhibits/natures_best_2007/gallery/sealionandpup.jpg
15.https://www.galapagoscruises.be/penguins-of-galapagos-islands.jpg
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2973