พี่โอ๋ ภัคจิรา ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง...ไม่ใช่โรคใหม่..แต่ทำไมเราไม่รู้จัก


1,102 ผู้ชม


โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง..ไม่ใช่เรื่องใหม่..แต่ก็ไม่มีใครจะใคร่รู้   

ภาพไอคอนจาก : https://hilight.kapook.com/view/37169

        โอ๋ ภัจริรา ดาราสาวน่ารัก อารมณ์ดี วันนี้เธอป่วยเป็นโรค มัยแอสทีเนีย กราวิส (myasthenia gravis) หรือเรียกว่า 'โรคเอ็มจี' เป็น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อเล็กๆ บริเวณใบหน้า ผู้ป่วยมีอาการหนังตาตก ถ้าเป็นมากอาจจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อทั้วตัว รวมทั้งกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการหายใจ ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงทั่วๆ ไป กลืนลำบาก สำลักอาหาร ถ้าเป็นมากอาจถึงกับหายใจไม่ได้ ลักษณะสำคัญของโรคนี้คือ เป็นโรคเรื้อรัง อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อเป็นๆ หายๆ  ขอบคุณข่าวดีๆ จากhttps://entertain.teenee.com/thaistar/58667.html

พี่โอ๋ ภัคจิรา ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง...ไม่ใช่โรคใหม่..แต่ทำไมเราไม่รู้จัก
ภาพประกอบจาก https://www.rakdara.net/overview.php?c=1&id=4903

         ก่อนอื่นต้องสารภาพก่อนว่าครูชื่นชอบคุณโอ๋ภัคจิรา อย่างมาก เรียกว่าติดตามผลงานตลอดเลย แต่ไม่ทราบข่าวมาก่อนเลย ว่าคุณโอ๋ไม่สบาย เมื่อได้ข่าวแล้วจึงรีบนำมาเล่าให้นักเรียนฟัง พร้อมกันให้ความรู้ทางชีววิทยาไปด้วย และที่สำคัญต้องช่วยกันส่งกำลังใจให้คุณโอ๋ดีวันดีคืนและหายป่วยไวๆๆนะค่ะ ไปติดตามข่าวกันเลยดีกว่าค่ะ

สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ : วิชาชีววิทยา(เพิ่มเติม)       

 ชื่อหน่วย การเคลื่อนที่ของสิ่งมีชีวิต          ชื่อเรื่อง การเคลื่อนที่ของคน 

       โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส (myasthenia gravis) หรือเรียกว่า 'โรคเอ็มจี'เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อเล็กๆ บริเวณใบหน้า ผู้ป่วยมีอาการหนังตาตก ถ้าเป็นมากอาจจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อทั้วตัว รวมทั้ง กล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการหายใจ ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงทั่วๆ ไป กลืนลำบาก สำลักอาหาร ถ้าเป็นมากอาจถึงกับหายใจไม่ได้ ลักษณะสำคัญของโรคนี้คือ เป็นโรคเรื้อรัง อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อเป็นๆ หายๆ

         ชนิดที่พบบ่อยที่สุด เกิดในผู้ใหญ่ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ถ้าอาการเริ่มเป็นหลังอายุ 40 ปี จะพบในเพศชายมากกว่าหญิง โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่แต่อย่างใด Dr.Thomas Willis บรรยายลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคนี้ไว้ตั้งแต่ 300 กว่าปีที่แล้ว ชื่อโรค myasthenia gravis มาจากคำภาษากรีก และลาติน มีความหมายว่า 'grave muscular weakness'

         โรคนี้พบร่วมกับโรคลูปุสได้บ่อย เช่นเดียวกับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เดิมทีเดียวโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส ถือเป็นโรคที่มีอัตราการตายสูงมากตั้งแต่ร้อยละ 30-70 แต่หลังจากการค้นพบยาซึ่งสามารถรักษาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ รวมทั้งพบว่าผลการรักษาโดยการผ่าตัดต่อมไธมัสได้ผลดี จึงทำให้อัตราตายของผู้ป่วยโรคนี้ลดลงเรื่อยๆ

         สาเหตุ

พี่โอ๋ ภัคจิรา ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง...ไม่ใช่โรคใหม่..แต่ทำไมเราไม่รู้จัก

 ภาพประกอบจาก https://biologicalandcellularchemistry.pbworks.com/Myasthenia-Gravi

  1. ร่างกายผู้ป่วยสร้างแอนติบอดี้ต่อโปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวรับ
    สารอะซิติลโคลีน ทั้งนี้พบว่าโปรตีนตัวรับสารอะซิติลโคลีนในผู้ป่วย
    โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส น้อยกว่าคนปกติถึงหนึ่งในสาม
  2. เกิดจากสารอะซิติลโคลีนไม่สามารถทำงานได้ สารอะซิติลโคลีนเป็นสารเคมี
    ที่มีบทบาทสำคัญในการหดตัวของกล้ามเนื้อ ในผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย
    กราวิส ร่างกายหลั่งสารอะซิติลโคลีนออกมาในปริมาณปกติ แต่สาร
    อะซิติลโคลีนไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากโปรตีนตัวรับถูกทำลายโดย
    แอนติบอดี้ที่ร่างกายสร้างขึ้น
  3. ปัจจัยทางพันธุกรรม โดยปกติโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส เกิดขึ้นในภายหลัง โดยเกิดจากความปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่ในบางรายอาจเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมได้ บางครั้งพบว่าพี่น้องของผู้ป่วยก็เป็นโรคนี้เช่นกัน
  4. ความผิดปกติของต่อมไธมัสเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส โดยพบว่าเกิดจากเนื้องอก
    ร้อยละ 10 และเกิดจากต่อมไธมัสโตผิดปกติมากถึงร้อยละ 70 ทำให้เกิดการสร้างแอนติบอดีต่อโปรตีนตัวรับสารอะซิติลโคลีน ผู้ป่วยที่พบเนื้องอกของต่อมไธมัส จะมีอาการที่รุนแรง ตรวจพบแอนติบอดี้ต่อโปรตีนตัวรับสารอะซิติลโคลีนในปริมาณสูง และตรวจพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อที่รุนแรง พบว่าร้อยละ 20 ของผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส ที่ปรากฏอาการระหว่างอายุ 30-60 ปี จะมีเนื้องอกของ
    ต่อมไธมัสร่วมด้วย

       อาการ

พี่โอ๋ ภัคจิรา ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง...ไม่ใช่โรคใหม่..แต่ทำไมเราไม่รู้จัก
ภาพประกอบจาก : https://biologicalandcellularchemistry.pbworks.com/Myasthenia-Gravis

        โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส จะมีอาการชนิดค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลาเป็นสัปดาห์ถึงเดือน ในบางรายอาจมาด้วยอาการรุนแรงแบบฉับพลัน โดยเฉพาะกรณีที่มีภาวะการหายใจล้มเหลว อาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้มากในช่วง 4 ปีแรก ถ้าได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องก็จะทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น โดยที่ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงที่สุดภายในระยะเวลา 3 ปี หลังจากเริ่มมีอาการ จากนั้นโรคจะเข้าสู่ระยะคงที่ และอาจค่อยๆ ดีขึ้น ใช้เวลาเป็นปี


       ผู้ป่วยบางรายที่อาการดีขึ้นเอง
 มักจะเกิดขึ้นภายในหนึ่งปีแรก ในผู้ป่วยสูงอายุโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีก้อนที่ต่อมไธมัสร่วมด้วย ผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส บางรายซึ่งอาการไม่มาก อาจไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส มาก่อน แต่มีปัญหาภายหลังการผ่าตัด โดยไม่สามารถหายใจด้วยตนเองได้เต็มที่หลังการผ่าตัด และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานาน

       ในบางครั้งผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส จะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อและอ่อนเพลีย หรืออาจมีอาการที่เปลี่ยนแปลงระหว่างวัน โดยที่การตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติมากนัก ร่วมกับการที่ผู้ป่วยมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงง่ายคล้ายอาการที่เกิดจากโรคทางจิตใจ และไม่ได้รับการวินิจฉัยในเบื้องต้น เป็นผลทำให้มีอาการมากขึ้นได้ และยาบางชนิดมีผลทำให้เกิดอาการของโรคหรือทำให้โรคเลวลงได้เช่นกัน

       เด็กบางคนมีอาการของโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส ตั้งแต่แรกเกิด มารดามักจะสังเกตว่าเด็กมีอาการแขนขาอ่อนแรงและขยับได้น้อย ส่วนเด็กที่เกิดจากมารดาที่เป็นโรคโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส ร้อยละสิบ จะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงทั่วไปตั้งแต่แรกคลอด และเป็นอยู่นานสองสัปดาห์ก็จะหายได้เอง

        การวินิจฉัย

         โรคนี้สามารถให้การวินิจฉัยได้จากการซักถามประวัติอาการโดยละเอียด การตรวจร่างกายระบบต่างๆการตรวจทางระบบประสาท แพทย์จะพิจารณาทำการทดสอบเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ได้แก่

  1. การตรวจแอนติบอดี้ต่อตัวรับของอะซิติลโคลีน เรียกว่า acetylcholine receptor antibody เป็นการตรวจเลือดเพื่อหาแอนติบอดี้ที่ผิดปกติ ร้อยละ 85 ของผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส จะตรวจพบแอนติบอดี้ดังกล่าวในเลือด จึงเป็นการทดสอบที่ช่วยในการวินิจฉัยอย่างมาก
  2. การตรวจแอนติบอดี้ชนิด anti-MuSK เป็นการตรวจเลือดเช่นกัน พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 15 ที่ตรวจไม่พบแอนติบอดี้ต่อตัวรับของอะซิติลโคลีน จะตรวจพบแอนติบอดี้ชนิด anti-MuSK มากถึงร้อยละ 40-70
  3. การทดสอบเทนซิลอน Tensilon test โดยการฉีดเข้าเส้นเลือด แล้วสังเกตการเปลี่ยนแปลงอาการของผู้ป่วย
  4. การตรวจคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ (EMG) อาจพิจารณาตรวจเฉพาะเจาะจงในผู้ป่วยบางราย
  5. ทำการตัดชิ้นกล้ามเนื้อมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์

       การรักษา

  1. ยาต้านฤทธิ์ของเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส ทำให้สารอะซิทิลโคลีนไม่ถูกทำลาย และการที่มีสารนี้อยู่นานขึ้น ก็สามารถจับกับตัวรับได้มากขึ้น ช่วยให้ออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น
  2. ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ช่วยให้อาการดีขึ้นหรืออาการหายขาดได้มากถึงร้อยละ 75 ของผู้ป่วยทั้งหมด
  3. ยากดภูมิคุ้มกัน
  4. ยาอิมมูโนโกลบูลินชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด
  5. การผ่าตัดต่อมไทมัส
  6. การเปลี่ยนถ่ายพลาสมา

คำถามสู่ประเด็นการอภิปราย

1.   โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส (myasthenia gravis) มีลักษณะอาการอย่างไร
2. ระบบกล้ามเนื้อเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันอย่างไร
3. อาการเริ่มต้นเป็นอย่างไร

ความรู้สู่บูรณาการ

บูรณหา เรื่องระบบกล้ามเนื้อและภูมิคุ้มกัน

กิจกรรมเพิ่มเติม

นำราตรีสโมสรตอนสัมภาษณ์คุณโอ๋มาให้นักเรียนได้ศึกษา

อ้างอิง

 ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพ กรุงเทพ
 (https://www.bangkokhealth.com/index.php/2009-01-19-03-23-38/1178-2009-01-22-04-56-35)

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3129

อัพเดทล่าสุด