ภูเขาไฟซินาบังปะทุอีกครั้ง รุนแรงกว่าเดิม ......แล้วภูเขาไฟมันคืออะไรกันนะ อะไรบ้างล่ะที่ภูเขาไฟพ่นออกมา
จากรายงานข่าว(ไทยรัฐออนไลน์ ทีมข่าวต่างประเทศ : 8 กันยายน 2553,06:00 น.) ว่าภูเขา ไฟซินาบัง ทางตอนเหนือของเกาะ สุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ที่ปะทุรุนแรงในช่วงสัปดาห์ก่อนหลังเงียบสงบมากว่า 400 ปี ได้ปะทุซ้ำอีกรอบเมื่อ 7 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น ซึ่งการปะทุในครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมา มีพ่นเถ้าถ่านไปในอากาศสูงถึง 5 กิโลเมตร
จากข่าวนี้ และหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาที่เรามักจะได้ยินข่าวการเกิดภูเขาไฟระเบิดกันบ่อยครั้งมากยิ่งขึ้น หลายคนคงสงสัยว่าภูเขานั้นสามารถพ่นไฟออกมาได้อย่างไร เราลองมาศึกษากันดีกว่านะคะ
เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับชั้น ป.4 - ม.3 และผู้ที่สนใจทั่วไป
ภาพจาก https://www.pinthong-group.com/content/detail.php?id=383
เราคงรู้กันมาอยู่แล้วว่าภายใต้พื้นพิภพโลกเรานี้ยังมีหินหลอมละลาย ซึ่งเรียกว่า แมกมา อยู่ ซึ่งภูเขาไฟ (volcano) คือ ช่องระบายของเปลือกโลกที่ให้หินหลอมเหลวและผลจากภูเขาไฟต่าง ๆ แทรกซอนผ่านขึ้นมาได้ โดยทั่วไปภูเขาไฟมีรูปทรงกรวย ที่เรียกว่า ปากปล่องภูเขาไฟ (crater) หินหลอมละลาย หรือ แมกมา เมื่อไหลออกมาจากปากปล่องภูเขาไฟ เรียกว่า ลาวา ซึ่งอาจทั้งแทรกซอนสู่เปลือกโลกหรือปะทุขึ้นมาบนพื้นผิว มี 2 ลักษณะ คือ ปะทุพ่น และ ปะทุระเบิด
ปรากฏการณ์ภูเขาไฟสามารถแบ่งออกเป็น
1. ภูเขาไฟมีพลัง คือ ภูเขาไฟที่อยู่ในสภาวะมีการปะทุอย่างต่อเนื่องหรือขาดหายไปเป็นช่วงให้จัดเป็นภูเขาไฟมีพลัง เช่น ภูเขาไฟเอ็ตนา (Etna) ในเกาะชิชิลีตอนใต้ประเทศอิตาลี
2. ภูเขาไฟสงบ คือ ภูเขาไฟที่ปัจจุบันไม่มีพลัง แต่ได้เคยปะทุขึ้นในอดีต เช่น ภูเขาไฟวิสุเวียสในอิตาลี ที่ได้ปะทุขึ้นและสงบมานานหลายศตวรรษ
3. ภูเขาไฟดับสนิท คือ ภูเขาไฟที่ไม่มีการปะทุอีกในอดีตกาล
ในประเทศไทยมีภูเขาไฟดับสนิทหลายแห่ง เช่นที่ อำเภอเมาะ จังหวัดลำปาง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ์ จังหวัดบุรีรัมย์ เช่น เขากระโดง เขาไปรบัด ภูอังคาร เขาพนมรุ้งอันเป็นที่ตั้งประสาทหินเขาพนมรุ้ง
ผลจากภูเขาไฟระเบิดจะมีประกอบ 3 สถานะ คือ แก๊ส ของเหลว และของแข็ง
1. แก๊ส ส่วนใหญ่ประกอบด้วย ไอน้ำที่มีปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์มาก แก๊สไข่เน่า และคลอรีน
2. ของเหลว ซึ่งก็คือ ลาวา ที่ปะทุจากปากปล่องบนยอดภูเขาไฟ ซึ่งลาวาที่ปะทุออกมานั้นมีสมบัติทางเคมีและ ทางกายภาพต่างกัน และสมบัติเหล่านี้อาจสะท้อนถึงรูปแบบภูเขาไฟปะทุ
3. ของแข็ง คือ หินอัคนีพุ และยังมีก้อนขรุขระของตะกรันภูเขาไฟ ซึ่งอาจมีขนาดตั้งแต่ฝุ่นละเอียดมากไปจนถึงก้อนหินหนักหลายตัน หากของแข็งเหล่านี้แข็งตัวขึ้นเป็นหิน เรียกว่า ตะกอนภูเขาไฟ และหากอนุภาคลาวาปลิวว่อนในอากาศ จับตัวกันขึ้นเป็น เถ้าธุลีภูเขาไฟ ฝุ่นภูเขาไฟ จนถึงก้อนวัสดุร่วน เรียกว่า ชิ้นส่วนภูเขาไฟ ซึ่งลาวาแข็งได้หมุนควงแหวกอากาศ มีลักษณะวัตถุทรงกลมหรือยาวรี่คล้ายลูกสาลี ขนาดใหญ่กว่า 64 มม. เรียกว่า บอมบ์ภูเขาไฟ พบกระจัดกระจายตามเชิงเขาในภาคอีสานตอนใต้ของประเทศไทย เช่น เขาพนมรุ้ง เขากระโดง ภูอังคาร จังหวัดบุรีรัมย์ และหากมีลักษณะสะเก็ดเหลี่ยม เรียกว่า บล็อกภูเขาไฟ หากมีขนาดประมาณ 2-64 มม.เรียกว่า มูลภูเขาไฟ และเป็นเนื้อแก้วชนิดด่าง เรียกว่า กรวดภูเขาไฟ
สนุกคิดกับวิทยาศาสตร์
1. ภูเขาไฟเกิดจากอะไร
2. ก่อนเกิดภูเขาไฟระเบิด มักจะเกิดเหตุการณ์ใดก่อน
3. ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีภูเขาไฟมีพลังอยู่หรือไม่ เพราะเหตุใด
4. เราจะมีวิธีป้องกันตัวเองอย่างไรเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ภูเขาไฟกำลังจะระเบิด
ลองทำดู
ให้นักเรียนทดลองสร้างแบบจำลองภูเขาไฟ เพื่อศึกษาโครงสร้างของภูเขาไฟ
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
กลุ่มสาระศิลปะ - การออกแบบ
กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ - การคำนวณ ความกว้าง ความยาว ความสูง มุม
กลุ่มสาระภาษาอังกฤษ - คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับภูเขาไฟ
แหล่งที่มาของข้อมูล
1. ไทยรัฐออนไลน์
2. https://tc.mengrai.ac.th/sinuan/test/Se/p9.htm
ภาพจาก https://www.pinthong-group.com/content/detail.php?id=383
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3136