ฟ้ามุ่ยน้อย..สู่ความเป็น Extinct in the Wild


906 ผู้ชม


ฟ้ามุ่ยน้อย (Vanda coerulescens Griff.) พืชอนุรักษ์บัญชีที่ 2 เป็นพืชหายาก ไม่พบเหลืออยู่เลยในพื้นที่ป่าธรรมชาติ คาดว่าได้สูญพันธุ์จากถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ (Extinct in the Wild) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว   

ฟ้ามุ่ยน้อยหรือเอื้องเข็ม เป็นกล้วยไม้หายาก เคยมีการสำรวจพบในป่าเบญจพรรณและ ป่าดิบแล้งในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ (ดอยสุเทพ-ปุย) แม่ฮ่องสอน (ปางมะผ้า) แพร่ (เด่นชัย) ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดและเคยพบพืชชนิดดังกล่าวขึ้นอยู่ในธรรมชาติ  แต่ปัจจุบันปรากฏว่าไม่พบฟ้ามุ่ยน้อยเหลืออยู่เลยในป่าธรรมชาติ เนื่องจากผลสำรวจสอดคล้องกับรายงานของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ที่คาดว่าฟ้ามุ่ยน้อยได้สูญพันธุ์จากถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ (Extinct in the Wild) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


ที่มา https://www.dailynews.co.th/web/index.cfm?page=content&contentId=118334&categoryID=659


ประเด็นข่าว

        ฟ้ามุ่ยน้อย เป็นกล้วยไม้หายาก เคยมีการสำรวจพบในป่าเบญจพรรณและ ป่าดิบแล้งในพื้นที่ภาคเหนือ ปัจจุบันคาดว่าได้สูญพันธุ์จากถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ (Extinct in the Wild) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ชีววิทยา) ช่วงชั้นที่ 4
     สาระที่ 2   ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
             มาตรฐาน ว 2.1 เข้าใจสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์
                                   ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในระบบนิเวศ มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ 
                                   สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
             มาตรฐาน ว 2.2 เข้าใจความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ระดับท้องถิ่น 
                                   ประเทศและโลก นำความรู้ไปใช้ในการจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใน
                                   ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

        ฟ้ามุ่ยน้อย หรือเอื้องเข็ม เป็นกล้วยไม้ที่จัดอยู่ในบัญชีพืชอนุรักษ์บัญชีที่ 2 ภายใต้พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ตามพันธกรณีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์หรือไซเตส (CITES) สำหรับฟ้ามุ่ยน้อยนั้น เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางปลายยอด (monopodium) ลำต้นแข็งกลม ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร ใบเป็นรูปแถบ กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ยาว 12-25 เซนติเมตร ปลายหยักเป็น 3 หยัก ดอกออกเป็นช่อโปร่งตั้ง ออกตามข้อ   ทอดเอนขนานไปกับใบหรือโค้งลง ยาว 20 – 30 เซนติเมตร ขนาดดอกประมาณ 2 เซนติเมตร จำนวน 15-20 ดอก   ดอกมีกลิ่นหอม  กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีสีม่วงอมฟ้า กลีบปากสีม่วงอมน้ำเงิน ขอบกลีบสีจางและเส้าเกสรสีขาวนวล ดอกบานทนหลายวัน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม (เมษายน) ของทุกปี

ฟ้ามุ่ยน้อย..สู่ความเป็น Extinct in the Wild

                              ภาพ ฟ้ามุ่ยน้อย (Vanda coerulescens Griff.) (ที่มาwww.orchidtropical.com)
    
        จากศึกษาวิจัยประชากรของฟ้ามุ่ยน้อยในสภาพธรรมชาติของหลายๆ หน่วยงานปรากฏว่าไม่พบฟ้ามุ่ยน้อยเหลืออยู่เลยในป่าธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาและรายงานของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ที่ คาดว่าฟ้ามุ่ยน้อยได้สูญพันธุ์จากถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ ทั้งนี้สาเหตุของการเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องมาจากปัญหาการค้าพืชป่าทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพืชป่าหายากและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่นักสะสมพันธุ์ไม้มีความต้องการค่อนข้างสูง โดยมีราคาเป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้านลักลอบเก็บจากป่าธรรมชาติออกมาขาย ส่งผลให้จำนวนพืชป่าหายากลดลงอย่างรวดเร็วในที่สุด

        ทั้งนี้สถานภาพของพืชที่อยู่ในภาวะเสี่ยงในปัจจุบันที่สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดจำแนกไว้ มีดังนี้
        EX = Extinct (สูญพันธุ์)
        EW = Extinct in the Wild (สูญพันธุ์จากแหล่งกำเนิดในธรรมชาติ)
        CR = Critical Endangered (ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง)
        En = Endangered (ใกล้สูญพันธุ์)
        VU = Vulnerable (มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์)
        NT = Near Threatened (ใกล้ถูกคุกคาม)

        สถานภาพของฟ้ามุ่ยน้อยที่มีรายงานไว้ล่าสุดโดย หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จัดไว้เป็นพืชที่ถูกคุกคาม (Threatened Plant) (Pooma et al., 2005) ส่วนสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดฟ้ามุ่ยน้อยอยู่ในสถานภาพ EN ซึ่งย่อมาจาก Endangered (Santisuk et al., 2006) ทั้งนี้ไม่ว่าจะจัดไว้ในสถานภาพใดล้วนสะท้อนให้เห็นว่าฟ้ามุ่ยน้อยอยู่ในขั้นใกล้สูญพันธุ์จากสภาพธรรมชาติทั้งสิ้น หากเรายังไม่ตระหนักถึงปัญหาและช่วยกันหาแนวทางแก้ไขแล้ว เชื่อว่าอีกไม่นานคงจะเหลือฟ้ามุ่ยน้อยให้เห็นเพียงแค่ในสวนพฤกษศาสตร์หรือในรูปภาพเท่านั้น
        
ประเด็นคำถามสู่การอภิปราย
        1.สาเหตุที่ทำให้ฟ้ามุ่ยน้อยเสี่ยงต่อการสูญพันธ์
        2.แนวทางป้องกัน หรือวิธีการแก้ไขภาวะเสียงต่อการสูญพันธุ์ของฟ้ามุ่ยน้อย

กิจกรรมเสนอแนะ
        1.นักเรียนสำรวจกล้วยไม้ตามธรรมชาติในชุมชน แล้วศึกษาสถานภาพตามธรรมชาติ จัดจำแนกเป็นกลุ่มตามสถานะที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคามหรือการสูญพันธุ์
        2.นักเรียนคิดค้นโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อขยายพันธุ์หรืออนุรักษ์กล้วยไม้ที่ถูกคุกคามหรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

กิจกรรมบูรณาการ
        1.บูรณาการกับวิชาเกษตรเกี่ยวกับการขยายพันธุ์กล้วยไม้ด้วยวิธีการอย่างง่าย
        2.บูรณาการกับวิชาศิลปะเกี่ยวกับการวาดภาพกล้วยไม้ที่ถูกคุกคามเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

แหล่งอ้างอิง
Santisuk T., Chayamarit K., Pooma R., Suddee S. 2006. Thailand Red Data: Plants. Office of Natural 
        Resources and Environmental Policy and Planning, Bankok, Thailand
Pooma R., Suddee S., Chamchumroon V., Koonkhunthod N., Sirimongkol S., Poopath M. 2005. 
        A Preliminary Check-list of Threatened Plants in Thailand. National Park,Wildlife and Plant 
        Conservation Department,  Bankok, Thailand
https://www.dailynews.co.th/web/index.cfm?page=content&contentId=118334&categoryID=659
มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 29 มกราคม 2554 หน้า 5

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3490

อัพเดทล่าสุด