ผิวแห้ง


826 ผู้ชม


อาการผิวแห้งคันพบได้บ่อยในหน้าหนาว เนื่องจากอากาศแห้งมีผลดูดน้ำออก   
ผิวหนังของคนเราที่ดูสดใสผุดผ่องอยู่ได้ ก็เพราะมีส่วนประกอบของน้ำ น้ำมัน และสารให้ความชุ่มชื้นตามธรรมชาติ โดยอยู่ในเซลล์ของผิวหนังส่วนต่างๆ ส่วนประกอบที่มีมากและมีความสำคัญที่สุดของเซลล์ผิวหนังคือน้ำ ถ้าเซลล์ผิวหนังชั้นนอกเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ ผิวหนังก็จะแห้ง แตก และลอกเป็นขุย มีอาการคัน สำหรับน้ำมันจากต่อมไขมันทำหน้าที่ฉาบเคลือบหล่อเลี้ยงผิวหนังจะเป็นตัวช่วย ไม่ให้น้ำระเหยออก ป้องกันการสูญเสียน้ำจากเซลล์ผิวหนัง ส่วนสารให้ความชุ่มชื้นตามธรรมชาติจะช่วยดึงดูดน้ำไว้ให้อยู่กับผิวหนัง ถ้าสิ่งเหล่านี้ลดน้อยและขาดหายไป ก็จะมีสภาวะผิวแห้ง ซึ่งมักจะพบในเด็กและผู้สูงอายุ โดยปกติพบว่าต่อมใต้ผิวหนังจะผลิตน้ำมันที่เรียกว่า 'ซีบัม' ซึ่งจะทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น และมีความอ่อนนุ่ม ยืดหยุ่น แต่ในช่วงที่อากาศเย็นและแห้ง อาจทำให้ผิวแห้ง แตกเป็นขุย คัน และหยาบกระด้าง อาการผิวแห้งคันพบได้บ่อยในหน้าหนาว เนื่องจากอากาศแห้งมีผลดูดน้ำออกจากผิวหนัง ในผู้สูงอายุก็มักจะเกิดภาวะผิวแห้งกว่าปกติได้มากกว่าวัยอื่น นอกจากนี้ โรคผิวหนังแห้งแตกคันก็เป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยมากในหน้าหนาว บริเวณที่เป็นผิวแห้งได้ง่าย ได้แก่ ใบหน้า หลังมือ แขน และผิวหนังทั่วร่างกาย ผู้ที่ผิวหน้าแห้งจะเกิดเป็นฝ้าได้ง่าย เนื่องจากผิวหน้าขาดน้ำมันไปหล่อเลี้ยงผิว และผิวหน้าไม่สามารถเก็บความชุ่มชื้นเอาไว้ได้ พบว่าคนที่มีผิวหน้าที่แห้งจะมีลักษณะของรูขุมขนที่แคบ ผิวแห้งกร้านและเกิดริ้วรอยได้ง่ายเมื่อมีอายุมากขึ้น และถ้าผิวแห้งมากก็จะทำให้เกิดผิวหน้าเป็นขุยได้ง่ายขึ้น
ลักษณะของผิวแห้ง
  1. ผิวแห้งจะมีรูขุมขนที่ละเอียด แต่ผิวแห้ง กร้าน และอาจรุนแรงถึงลอกเป็นขุย ผิวไม่นุ่มนวล
  2. มักมีปัญหาเรื่องริ้วรอยก่อนวัยได้ง่าย
  3. ภาวะที่ผิวแห้งมากมักจะเกิดกับผู้สูงอายุ โดยเกิดขึ้นบ่อยที่บริเวณแขน ขา และมือ

ผิวแห้ง

สาเหตุ

  1. ผิวแห้งมีหลายสาเหตุ อย่างแรกที่เกี่ยวกับผิวโดยตรง ก็คือต่อมผลิตไขมันทำงานลดลง ผิวขาดน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวตามธรรมชาติ และผิวไม่สามารถกักเก็บความชุ่มชื่นไว้ได้ ระดับน้ำในชั้นใต้ผิวซึ่งตามปกติจะอยู่ราวร้อยละ 10-20 เมื่อใดที่ลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 10 ผิวจะเริ่มแห้งจนสังเกตได้ เกิดเป็นริ้วรอยเล็กๆ หรือที่เรียกกันว่า fine line
  2. สภาพแวดล้อมรอบตัว การถูกแสงแดดมาก อากาศแห้งเป็นปัจจัยที่ทำให้ผิวแห้งบ่อยที่สุดโดยเฉพาะในฤดูหนาว หากอยู่หน้าเตาผิงจะทำให้ผิวแห้งได้ง่าย การแก้ไขให้ทาครีมบำรุงผิว หรือการใช้เครื่องให้ความชื้น บางรายอาจมีอาการผิวหนังอักเสบจากผิวแห้งร่วมด้วย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบที่เกิดจากภูมิแพ้ มักจะมีอาการมากขึ้นในช่วงหน้าหนาว พบว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้อาการที่เกิดจากผิวแห้งกำเริบมากขึ้น โดยเฉพาะอากาศแห้ง หรือการที่มีความชื้นในอากาศลดลงเมื่อเทียบกับฤดูอื่นๆ
  3. การดูแลผิวที่ไม่ถูกต้อง สาเหตุที่พบบ่อยได้แก่ การใช้ครีมบำรุงผิวผิดวิธี การใช้ครีมบำรุงผิวควรจะทาในขณะที่ผิวมีความชุมชื้นพอสมควร วิธีการเมื่อเราอาบน้ำหรือล้างหน้า ปล่อยให้ผิวแช่น้ำสักครู่ แล้วจึงใช้ผ้าซับน้ำส่วนเกิน หลังจากนั้นจึงทาครีมบำรุงผิว หากผิวไม่เปียกมา ก็ใช้ครีมบำรุงผิวทาเลยก็ได้
  4. อายุที่เพิ่มมากขึ้น ผู้สูงอายุไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่ระคายเคือง ผิวที่แห้งมักจะไวต่อสิ่งกระตุ้น หากเลือกเสื้อผ้าต้องเลือกที่ใส่สบายๆ ถ้าใส่แล้วระคายเคืองก็ควรหลีกเลี่ยง
  5. ผิวแห้งที่เกิดจากยา ยาบางชนิดทำให้เกิดอาการคัน เช่น ยาขับปัสสาวะ ยารักษาสิว
  6. ผิวแห้งที่เกิดจากโรค โรคหลายโรคมีอาการคันเป็นอาการนำ เช่น โรคผื่นผิวหนังภูมิแพ้ โรคเรื้อนกวาง โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย และโรคขาดอาหาร
  7. ปัญหาเรื่องสบู่ เวลาที่เราอาบน้ำมักจะถูตัวเหมือนกับถูผิวหนังที่เท้า ความเป็นจริงผิวหนังบริเวณลำตัวไม่ได้สกปรกเหมือนเท้า ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องฟอกหรือถู เพราะจะทำให้ผิวหนังขาดความชึ่มชื้น การล้างมือบ่อยจะทำให้ผิวหนังแห้ง คันและติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนั้นการใช้ฟองน้ำ หรือหินทรายขัดผิวก็จะทำให้ไขมันบนผิวถูกชะล้าง การใช้สบู่ฆ่าเชื้อ หรือสบู่ด่างแก่ หรือสบู่ที่ผสมน้ำหอมจะทำให้ผิวเสียความชุ่มชื้น

ผิวแห้ง

การป้องกันและดูแลผิว

  1. ไม่ควรอาบน้ำบ่อย น้ำที่อาบควรเป็นน้ำอุ่น ไม่ร้อนจัด อุณหภูมิประมาณ 35 องศาเซลเซียส คนผิวแห้งไม่ควรอาบน้ำร้อน เมื่ออุณหภูมิสูงน้ำจะระเหยออกจากร่างกาย การอาบน้ำร้อนจะทำให้น้ำระเหยออกไปได้มากขึ้น ผิวจะยิ่งแห้ง เวลาอาบน้ำควรถูตัวเพียงเบาๆ ลดการฟอกสบู่และอาบน้ำลง เช่น อาบน้ำเพียงวันละครั้ง หรือไม่ต้องฟอกสบู่ทั้งตัว แต่ให้ฟอกบริเวณที่มีความอับชื้นแทน เช่น ตามหน้าอก หรือข้อพับ ไม่อาบน้ำบ่อยเกินไป จะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น
  2. ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้พอดีรู้สึกสบาย ถ้าต้องทำงานในห้องแอร์ ก็ควรจะใส่ใจการบำรุงผิวให้มากขึ้น อาจใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวและโลชั่นที่มีความเป็นกรดด่างใกล้เคียงกับ ผิว ซึ่งจะช่วยรักษาสมดุลของผิวพรรณตามธรรมชาติ และเสริมสร้างชั้นปกป้องผิว พิจารณาเติมความชื้นให้อากาศภายในห้อง โดยการปลูกต้นไม้ หรือจัดตู้เลี้ยงปลา หรืออาจจะวางภาชนะบรรจุน้ำไว้หลายๆ จุดภายในห้อง บางคนอยู่ที่ทำงานนั่งอยู่ห้องแอร์ทั้งวัน อาจจะเข้าห้องน้ำไปทาครีมทั้งแขนและขา
  3. เพิ่มความชื้นให้กับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เครื่องเพิ่มความชื้น
  4. ทาครีมที่ลดการสูญเสียน้ำ อาทิ สารพวกวาสลีน ลาโนลิน เป็นต้น ครีมที่มีส่วนผสมของสารยูเรียใช้ทาบางๆ หลังอาบน้ำขณะที่ผิวยังเปียกอยู่วันละ 2-3 ครั้ง เวลาไปไหนก็ควรพกครีมบำรุงผิวขนาดเล็กติดตัวไปด้วย ถ้าหากรู้สึกว่าผิวแห้งก็เอาขึ้นมาทาผิว อาจจะทาแขน ทามือ เท่าที่สะดวก หลีกเลี่ยงการใช้ยาทาประเภทคาลาไมน์ เพราะจะทำให้ผิวหนังแห้งตึงมากขึ้น การทาครีมที่มีส่วนผสมของ AHA จะช่วยลดความหนาของผิวหนัง ลดการตึงตัว ทำให้ผิวหนังนุ่มนวลขึ้นได้ บางครั้งอาจพิจารณาใช้ครีมทาแก้แพ้หรือแก้คันที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ ควรทาเท่าที่จำเป็นเพราะมีผลข้างเคียงทำให้ผิวแห้งมากขึ้นได้
  5. หลีกเลี่ยงการอบซาวน่าหรือการขัดผิว ดื่มน้ำให้มากๆ และรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยวิตามินเอ บี และซี การดื่มน้ำมากๆ ไม่ควรดื่มทีเดียวหลายๆ แก้ว แต่ให้ใช้วิธีจิบน้ำบ่อยๆ จะช่วยให้ร่างกายชุ่มชื่นอยู่ตลอดเวลา ควรงดของเค็มๆ หรือขนมขบเคี้ยว เพราะจะทำให้การสูญเสียน้ำในร่างกายมากขึ้น นอกจากนี้ควรดูแลสุขภาพทั่วไปด้วยการออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จะทำให้สุขภาพกายและใจดีขึ้น

ชนิดของสบู่

ชนิดของสบู่ที่ใช้ก็มีส่วนที่ทำให้ผิวแห้ง สบู่ที่มีส่วนผสมของสารเพิ่มความชุ่มชื้น จะช่วยไม่ให้ผิวแห้ง พิจารณาใช้สบู่ที่ทดลองใช้แล้วสบายตัว ไม่ทำให้ผิวแห้ง และไม่จำเป็นต้องซื้อประเภทที่มีราคาแพง

ผิวแห้ง

โลชั่น
เวลา อาบน้ำเสร็จ ถ้าทาผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณแขนและขาด้วยโลชั่นหรือครีม จะช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้นได้ วิธีดูแลผิวพรรณช่วงอากาศหนาวที่สำคัญไม่ควรอาบน้ำอุ่นจัด เนื่องจากเป็นการชะล้างไขมันในผิวชั้นขี้ไคล ส่งผลให้น้ำในร่างกายระเหยได้เร็ว และควรทาโลชั่นหลังการอาบน้ำเป็นประจำโดยเฉพาะวัยสูงอายุ ลดการถูสบู่ที่เป็นด่างสูง ส่วนคนที่ว่ายน้ำในสระที่มีคลอรีนผิวจะแห้งกว่าคนทั่วไปต้องทาโลชั่นเป็น ประจำ โลชั่นทาได้ตามสบาย มีความปลอดภัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ แนะนำว่าหลังอาบน้ำให้ทาโลชั่นเป็นกิจวัตร ไม่ใช่หน้าหนาวก็ควรทาเป็นประจำ อย่าอาบน้ำอุ่นจัด ควรใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด การตากแดดมากทำให้ผิวแห้ง ผิวเสื่อมและแห้งเร็ว ก่อนออกแดดควรใช้ยากันแดด
การขัดผิวด้วยน้ำนม
กรด แลกติกในน้ำนมจะลอกเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วออก รวมทั้งช่วยทำให้ผิวหนังเก็บความชื้นได้ดีขึ้น อาจใช้วิธีแช่ผ้าขนหนูหรือผ้าสำลีในนมเย็น แล้วนำผ้ามาวางประคบบนผิวหนังส่วนที่แห้ง หรือระคายเคือง ทิ้งไว้ 5 นาที แล้วล้างนมออกอย่างนุ่มนวล เพื่อให้กรดแลกติกหลงเหลืออยู่บนผิวหนัง
การดูแลผิวที่ไม่ถูกต้อง

  1. การดูแลผิวที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งผิวแห้งเกิดจากสบู่ล้างหน้าที่ไม่อ่อนโยนต่อผิว ใช้มาส์ก หรือสครับขัดผิวบ่อยเกินความจำเป็น หรือใช้โลชั่นเช็ดผิวที่มีส่วนผสมของแอลกฮอล์ สิ่งเหล่านี้จะเป็นการรบกวนชั้นผิวบางๆชั้นบนสุดของผิว ทำให้ผิวถูกทำลายและสูญเสียน้ำมันตามธรรมชาติของผิวไป ทำให้ผิวเริ่มแห้ง
  2. คนที่ไม่ค่อยทะนุถนอมผิว เช่น เช็ดหน้าแรงๆ ทำให้ผิวแห้งกร้านขึ้นได้ รวมทั้งการล้างหน้าด้วยน้ำที่ร้อนเกินไปก็ทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้นได้เช่น กัน
  3. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอายุ เมื่อแก่ตัวลง ฮอร์โมนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง การผลิตน้ำมันตามธรรมชาติของผิวก็เริ่มลดลง ทำให้ผิวเริ่มขาดความชุ่มชื้น เริ่มแห้ง จนสังเกตได้ ผู้สูงอายุจึงมักจะกระตือรือร้นที่จะหาครีมบำรุงมาทาผิวเพื่อช่วยทดแทนสิ่ง ที่ขาดไป ช่วยให้ผิวคงความชุ่มชื้นไว้ได้นานที่สุดเท่าที่จะมากได้
  4. การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์ หรือคาเฟอีนมากไป มีส่วนทำร้ายผิวให้แห้งกร้านได้ ผู้ที่ดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ และผู้ที่สูบบุหรี่จัดๆ ผิวหน้าจะไม่สวย จะแห้งและดูแก่เร็วมาก
  5. ทุกคนอาจมีโอกาสผิวแห้งได้บางขณะ เช่น เวลาอยู่บนเครื่องบิน หรือเวลาดื่มน้ำไม่เพียงพอ แต่ผู้ที่จัดว่าเข้าข่ายผิวแห้ง จะมีผิวที่แห้งกว่าคนอื่นอย่างสังเกตได้ชัดเจน หลังอาบน้ำเสร็จมักจะรู้สึกว่าผิวเริ่มแห้ง อาจมีอาการคันและระคายเคือง ทั้งที่อาบน้ำเสร็จมาไม่นานนี้เอง
  6. ริ้วรอยที่เกิดจากผิวแห้ง แตกต่างจากริ้วรอยที่เกิดจากวัย คนที่มีผิวแห้งจะเป็นแค่ริ้วรอยชั่วคราว เป็นไปตามตามธรรมชาติของคนผิวแห้ง อาจเกิดจากการที่ผิวได้รับการบำรุงไม่พียงพอ ขาดความชุ่มชื้น ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้เมื่อผิวได้รับการดูแลที่ถูกต้อง ส่วนริ้วรอยที่เกิดจากวัยนั้นไม่ว่าจะมีผิวแห้ง หรือผิวมันก็ต้องมีทุกคน เป็นริ้วรอยที่เลี่ยงไม่ได้และเป็นริ้วรอยที่ถาวร


ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3567

อัพเดทล่าสุด