พบสัตว์ทะเลขนาดจิ๋วเกยหาดแถบทะเลอันดามันนับล้าน ๆ ตัวชี้ให้เห็นว่าสัตว์น้ำทะเลลดลงจนเสียสมดุลย์ธรรมชาติ
เหตุใดสัตว์ทะเลขนาดจิ๋วนับล้าน ๆ ตัว เกยหาดแถบทะเลอันดามัน
ภาพสัตว์ทะเลขนาดจิ๋ว ปูหนุมาน ปูกระดุม ชายหาดกะตะ-กะรน ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต
เกิดปรากฎการณ์แปลกประหลาดมีสัตว์ทะเลขนาดเล็กลักษณะคล้ายปูหรือกุ้งสีแดงและสีเหลืองนับล้าน ๆ ตัวถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยชายหาดกะตะ-กะรน ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต ตลอดแนวชายหาดกว่า 4 กม. ทำให้ชาวบ้านหรือประมงพื้นบ้านต่างตื่นตระหนกหวั่นเกรงอาจเป็นการเตือนภัยหรือลางร้ายล่วงหน้าของสัตว์ทะเล โดยเฉพาะถ้าเป็นลูกกุ้งมังกร ซึ่งอยู่น้ำทะเลลึกอาจเป็นการอพยพหนีภัย ซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อนในรอบ 30 ปี
สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนเก็บตัวอย่างกลับไปตรวจพิสูจน์ เบื้องต้นคาดว่าเป็นลูกปูกระดุกที่ถูกแม่พันธุ์วางไข่และคลื่นซัดเข้ามายังชายหาด เช่น ปูกระดุม ปูหนุมานซึ่งอาศัยอยู่บริเวณชายหาด ส่วนชนิดของปู ขณะนี้ยังไม่สามารถแยกแยะหรือระบุชนิดของปูได้ เนื่องจากเป็นวัยอ่อนมาก มีความยาวลำตัวประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนสาเหตุของปรากฏการณ์นี้ คาดว่าอาจเกิดความไม่สมดุลของธรรมชาติในท้องทะเลอันดามัน และอาจเกิดจากทะเลไทยมีสัตว์น้ำลดลงจึงทำให้ลูกปูเหล่านี้รอดชีวิตมากขึ้น ถือเป็นเรื่องปกติ เหมือนเช่นที่บางประเทศที่มีปูตัวแดงนับล้าน ๆ ตัวเดินข้ามถนนจึงไม่ใช่ปรากฏการณ์เตือนภัยใด ๆ (ที่มาไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/content/region/166754 )
ข้อมูลการศึกษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศทะเลอันดามัน
ที่มาจาก www.youtube.com
เนื้อหาเกี่ยวข้องกับ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ทุกระดับชั้น และผู้สนใจทั่วไป
สาระที่ 2 ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
มาตรฐาน ว 2.1 เข้าใจสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับสิ่งมีชีวิต
ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในระบบนิเวศ มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้
และจิตวิทยาศาสตร์สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
มาตรฐาน ว 2.2 เข้าใจความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในระดับท้องถิ่น
ประเทศ และโลกนำความรู้ไปใช้ในในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ
สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
สาระที่ 6 กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก
มาตรฐาน ว 6.1 เข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนผิวโลกและภายในโลก ความสัมพันธ์ของ
กระบวนการต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และสัณฐานของโลก มีกระบวน
การสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
เรื่อง ทะเลอันดามัน
ชื่ออังกฤษ : Andaman Sea
ทะเลอันดามัน (Andaman Sea) เป็นทะลที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอ่าวเบงกอล ส่วนหนึ่ง
ของมหาสมุทรอินเดีย
ทางเหนือของทะเลติดกับปากแม่น้ำอิระวดีในประเทศพม่า
ทางตะวันออกเป็นคาบสมุทรพม่า ประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย
ทางตะวันตกเป็นหมู่เกาะอันดามัน และหมู่เกาะนิโคบาร์ ภายใต้การปกครองของอินเดีย
ทางใต้ติดกับเกาะสุมาตรา (ส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย) และช่องแคบมะละกา
ทะเลอันดามันมีความยาวจากเหนือจรดใต้ประมาณ 1,200 กิโลเมตร กว้าง 650 กิโลเมตร กินพื้นที่ประมาณ 797,700 ตร.กม. มีความลึกเฉลี่ย 870 เมตร จุดที่ลึกที่สุดมีระดับความลึก 3,777 เมตร
โลกใต้ทะเลอันดามัน ที่มาจาก www.youtube.com
ลักษณะภูมิประเทศและภูมิสัณฐาน
ทะเลอันดามันเป็นแอ่งที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก (tectonic basin) ต่อเนื่องมาจากดินดอนสามเหลี่ยมของแม่น้ำอิระวดีในประเทศพม่า แผ่กว้างออกไปประมาณ 1,200 กิโลเมตร ลงไปทางใต้จนถึงทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราและช่องแคบมะละกา ความกว้างของท้องทะเลจากฝั่งตะวันตกของแหลมไทยไปจนถึงหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ (Nicobar) ประมาณ 650 กิโลเมตร หมู่เกาะเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสันใต้น้ำที่เป็นแนวแบ่งเขตแอ่งอันดามัน ออกจากอ่าวเบงกอล (Bay of Bengal)
ลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญในทะเลอันดามัน คือ ลาดทวีป (continental slope) ที่อยู่นอกชายฝั่งแหลมไทย - มาเลเซีย ลาดทวีปนี้เอียงลาดไปทางทิศตะวันตกจนกระทั่งไปต่อกับตะพักลุ่มน้ำที่ระดับความลึกประมาณ 2,435 เมตร ตะพักลุ่มน้ำนี้เอียงลาดไปทางทิศตะวันตกเช่นเดียวกัน โดยที่ความลาดเอียงจะค่อยๆ ลดลงไปจนกระทั่งถึงระดับความลึกประมาณ 2,670 เมตร ต่อจากนั้นจึงเป็นแอ่งที่ชันในระดับความลึกประมาณ 3,035 เมตร ซึ่งควรจะเป็นท้องแอ่งของทะเลอันดามันกลาง (Central Andaman Trough)
Sattayarak (1992) กล่าวถึง การสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติในทะเลอันดามันว่ามี แอ่งเทอร์เชียรีที่สําคัญ 2 แอ่งคือ
(1) แอ่งสิมิลัน ซึ่งอยู่ในบริเวณที่นํ้าทะเลลึกน้อยกว่า 200 เมตร แอ่งนี้เกิดจากการเคลื่อนตัวแบบทวนเข็มนาฬิกา (sinistral movement) ของเขตรอยเลื่อนระนอง (Ranong Fault Zone)
(2) แอ่งเมอร์กุย (Mergui Basin) ซึ่งอยู่ในบริเวณที่น้ำทะเลลึกมากกว่า 200 เมตร เป็นแอ่งชนิด transtensional back-arc basin อันเนื่องจากการมุดตัวของเปลือกโลก แนวแอ่งนี้จะเชื่อมต่อกับแอ่งสุมาตราของประเทศอินโดนีเซียแอ่งเทอร์เชียรีบริเวณทะเลอันดามัน วางตัวเป็นแนวในทิศทางประมาณเหนือ-ใต้ ในลักษณะของ half graben ตะกอนที่ทับถมอยู่ในแอ่งเป็นตะกอนจากทะเล (marine deposits) ซึ่งมีความหนาถึง 8,000 เมตร บริเวณใจกลางแอ่ง
ธรณีวิทยาบริเวณทะเลอันดามัน
บริเวณทะเลอันดามันเป็นส่วนนอกฝั่งตะวันตกของพม่า ไทยและมาเลเซีย ต่อเนื่องเข้าไปในมหาสมุทรอินเดียเข้าหาแอ่งทะเลอันดามัน และสิ้นสุดที่หมู่เกาะ อันดามันนิโคบาร์ ส่วนทางด้านทิศใต้เป็นฝั่งสุมาตราเหนือ และช่องแคบมะละกา บริเวณทะเลอันดามันของไทยเป็นเพียงขอบตะวันออกของแอ่งทะเลอันดามันเท่านั้น
แอ่งเทอร์เชียรีที่อยู่ในอาณาเขตของไทยได้แก่ แอ่งเมอร์กุยซึ่งเป็นแอ่งที่เกิดขึ้น ในช่วงปลายสมัยโอลิโกซีนอันเป็นผลมาจากการยกตัวของแผ่นเปลือกโลกพื้นทวีป ประกอบกับได้รับอิทธิพลจากกลุ่มรอยเลื่อนระนองและคลองมะรุ่ย ส่งผลให้แอ่งมีลักษณะเป็นแบบกึ่งกราเบนวางตัวในแนวเหนือใต้ (Polachan, 1988) ตะกอนในแอ่งเป็นพวกตะกอนที่สะสมตัวในทะเลน้ำลึกเพียงแอ่งเดียวในประเทศไทย มีความหนาถึง 8,000 เมตร แบ่งออกเป็นแอ่งย่อย ได้ 3 แอ่ง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 50,000 ตารางกิโลเมตร
แนวเขาอันดามันนิโคบาร์ ทางขอบตะวันตกของแอ่งทะเลอันดามันประกอบด้วยหินเซอร์เพนทิไนต์-โอฟิโอไลต์-เรดิโอลาไรต์ หินภูเขาไฟยุคครีเทเชียส มีหินเกรย์แวกและหินดินดานอายุสมัยพาลีโอซีน-ไมโอซีน หนาไม่น้อยกว่า 3 กิโลเมตร ทับอยู่ด้านบน เมื่อต่อแนวเขาอันดามัน-นิโคบาร์ ขึ้นไปทางเหนือจะตรงกับแนวทิวเขาอารากันโยมา และต่อเลยขึ้นไปยังส่วนตะวันออกของภูเขาหิมาลัย ทางด้านใต้ลงมาเป็นด้านตะวันออกของเกาะสุมาตรา ตะกอนหินยุคเทอร์เชียรีที่สะสมตัวอยู่ในแอ่งตอนปลายสมัยโอลิโกซีนถูกพัดมาจากทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งในปัจจุบันเป็นบริเวณที่มีลักษณะภูมิประเทศสูงๆ ต่ำๆ และลดระดับไปเป็นที่ราบของไหล่ทวีปมาลายู หลังจากนั้นขอบทวีปหรือไหล่ทวีปได้แยกออกจากทิวเขาอันดามัน-นิโคบาร์ประมาณช่วงปลายสมัยไมโอซีนถึงปัจจุบัน ส่งผลทำให้แอ่งทะเลอันดามันมีลักษณะรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน (Ridd, 1971)
การเกิดแอ่งทะเลอันดามันมีประวัติการเกิด ร่วมกับโครงสร้างอื่นๆ ในอาเซียอาคเนย์ในการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนขนาดใหญ่ เช่น รอยเลื่อนสุมาตรา ในเกาะสุมาตรา รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ในประเทศไทย และการเปิดของอ่าวไทย (Bunopas and Vella, 1983) ตั้งแต่ช่วงปลายของยุคครีเทเชียส
ข้อมูลเพิ่มเติม
ชื่ออังกฤษ: Pebble crab
ชื่อวิทยาศาสตร์: Leucosia longifrons
Family: Leucosiidae
ลักษณะทั่วไป
ลำตัวเป็นรูปไข่เกือบกลมด้านบนโค้งนูนมาก ด้านหน้าระหว่างตามีส่วนยื่นออกไปคล้ายหน้าจั่วและมีแถบสีขาวตามความยาวด้นบนกระดอง พื้นผิวเรียวมันสีเทา และมีจุดสีส้ม 2 จุด บริเวณด้านท้ายของกระดอง ขนาดความกว้างของกระดองประมาณ 3 เซนติเมตร ก้ามทั้งสองมีขนาดใกล้เคียงกัน ขอบด้นในของข้อที่ 3 มีตุ่มเรียงกันเป็นแถว ข้อที่ 5 ของก้ามบิดแบนคล้ายช้อนตักดิน ปลายก้ามมีสีส้มและขาว ขาเดินทุกคู่สั้นมาก
ปูกระดุมอาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินทรายโดยคลานไปมาอย่างเชื่องช้าหรือฝังตัวอยู่ในพื้นทรายใช้ก้ามขุดคุ้ยหาหนอนครัสเตเชียนและหอยในดินเป็นอาหาร
2. ปูหนุมาน (PAINTED STONE CRAB)
ชื่อภาษาอังกฤษ : Matuta planipes , PAINTED STONE CRAB
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Grapsus albiliniatus
ลักษณะทั่วไป
กระดองมีรูปร่างค่อนข้างกลม ชายกระดองมีหนามแหลม มีขาเดิน 4 คู่ และก้ามหนีบ 1 คู่ ก้ามสั้นและแข็งแรงเหมาะกับการพับเข้าแนบชิดกับลำตัว พื้นกระดองมีสีเหลืองหรือตองอ่อนมีลวดลายสีม่วงเข้มอมดำอยู่ทั่วไปทั้งกระดอง ด้านล่างมีสีขาว ปลายขาเดินและกรรเชียงมีขอบสีขาว
ถิ่นอาศัย
อยู่ตามชายหาดพื้นท้องทรายมากกว่าอย่างอื่น ชอบอาศัยอยู่ในระดับที่น้ำทะเลขึ้นลงตามหาดทรายพบมากที่เกาะไผ่ เกาะคราม เกาะเสม็ด หาดสุรินทร์ สงขลา อ่าวไทยตอนนอกและแหลมญวน
อาหาร
กินซากพืชและสัตว์ที่ตายแล้ว
ขนาด
ความยาวประมาณ 3-5 ซ.ม.
ประโยชน์
นำมาปรุงเป็นอาหารได้
3. ปูทะเล หรือ ปูดำ(serrated mud crab,mangrove crab, black crab)
ปูทะเล หรือ ปูดำ(serrated mud crab,mangrove crab, black crab)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Scylla serrata
เป็นปูชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในทะเล มีกระดองกลมรีเป็นรูปไข่ สีดำปนแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่นิยมนำ
มาปรุงสดเป็นอาหาร
ลักษณะทั่วไป
มีลักษณะกระดองกลมรีเป็นรูปไข่ สีดำปนแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม ขอบระหว่างนัยน์ตามีหนาม 4 อัน ส่วนด้านข้างนัยน์ตาแต่ละข้างมีหนามข้างละ 8-9 อัน ก้ามจะมีหนามแหลม ส่วนขาอื่น ๆ ไม่มีหนาม ตัวผู้จะมีก้ามขนาดใหญ่แข็งแรงกว่าตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด เจริญเติบโตด้วยวิธีการลอกคราบ โดยตรงขอบหลังของกระดองจะเผยออกให้เห็นกระดองใหม่ยังเป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ ซึ่งเรียกว่า ปูสองกระดอง ถ้าหากเป็นตัวเมียที่มีความสมบูรณ์เพศจะมีไข่อยู่ในกระดอง ซึ่งพบมากในเดือนพฤศจิกายน ปลายสุดของขาคู่ที่ 2-4 มีลักษณะแหลมเรียกว่า "ขาดิน" ทำหน้าที่ในการเดินเคลื่อนที่ ส่วนขาคู่ที่ 5 เป็นคู่สุดท้ายเรียกว่า "ขาว่ายน้ำ"ตอนปลายสุดของขาคู่นี้มีลักษณะแบนคล้ายใบพาย ใช้สำหรับว่ายน้ำ
ปูที่เกิดใหม่ จะใช้เวลาลอกคราบจนกระทั่งกระดองแข็งแรงแล้วออกมาหากินได้ ใช้เวลาประมาณ 7 วัน การเจริญเติบโตจนถึงวัยเจริญพันธุ์ใช้เวลาประมาณ 1.5 ปี ตัวผู้ขนาดโตเต็มที่อาจหนักได้ถึง 3.5 กิโลกรัม ขนาดกระดองกว้างกว่า 24 เซนติเมตร
ปูทะเลในบางแหล่งจะมีสีสันที่แตกต่างกันออกไปมากมาย ทั้ง สีเขียวหม่น, สีฟ้า, สีขาวอ่อน ๆ หรือสีเหลือง ซึ่งปูเหล่านี้จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ปูทองโหลง, ปูทองหลาง, ปูขาว เป็นต้น
การขยายพันธุ์
ฤดูกาลวางไข่ผสมพันธุ์ของปูทะเลอยู่ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม แม่ปูจะมีไข่ในระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม
สามารถ วางไข่ได้ตลอดทั้งปี โดยจะวางไข่ชุกชุมในระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม ไข่ของปูทะเลจะมีสีส้มแดง เมื่อไข่แก่ขึ้น
จะเป็นสีน้ำตาลเกือบดำ ซึ่งจะถูกปล่อยออกมานอกกระดองบริเวณใต้จับปิ้ง
การกระจายพันธุ์และความสำคัญต่อมนุษย์
พบกระจายพันธุ์อยู่ตามแถบชายฝั่งของแอฟริกา, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงออสเตรเลีย โดยอาศัยอยู่ในโคลนตมตามป่าชายเลนหรือปากแม่น้ำที่น้ำท่วมถึง กินอาหารจำพวกสัตว์น้ำขนาดเล็ก ซากพืช ซากสัตว์ต่าง ๆ สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน
ปูทะเลนั้นมีความสำคัญต่อมนุษย์ในฐานะของสัตว์เศรษฐกิจที่นิยมนำมาปรุงสดเป็นอาหาร เช่น ปูผัดผงกะหรี่, ปูนึ่ง เป็นต้น โดยทางการ ได้แก่ กรมประมง สนับสนุนให้เกษตรกรเพาะเลี้ยง โดยมักจะเลี้ยงในตะกร้าใกล้กับทะเล
ปูทะเลเป็นที่นิยมรับประทานอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเวลาที่กำลังลอกคราบเพราะเนื้อปูจะนิ่ม กระดองยังไม่แข็งเท่าไหร่ ซึ่งเรียกว่า "ปูนิ่ม"
ชายหาดกะตะ-กะรน ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต ที่มาจาก www.youtube.com
ชายหาดกะตะ - กะรน ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต
** จากปรากฎการณ์พบสัตว์ทะเลขนาดจิ๋วเกยหาดกะตะ - กะรน แถบทะเลอันดามันนับล้าน ๆ ตัว คงจะพบคำตอบแล้วนะคะว่า เกิดจากสัตว์น้ำทะเลลดลงจนทำให้เสียสมดุลย์ธรรมชาติ สัตว์ทะเลขนาดเล็กจึงมีชีวิตรอดมากขึ้นค่ะ **
คำถาม VIP ชวนคิด
1. ทะเลอันดามัน เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรใด
2. ชายหาดใดของทะเลอันดามันที่พบสัตว์ทะเลขนาดจิ๋วเกยหาดในครั้งนี้
3. ทะเลอันดามันเกิดจากสาเหตุใด
4. ปูกระดุมมีลักษณะพิเศษอย่างไร
5. ปูหนุมานต่างจากปูทะเลอย่างไร
กิจกรรมเสนอแนะ
1. สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับทะเลอันดามันเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น ห้องสมุด อินเตอร์เน็ต
2. ค้นคว้าและนำเสนอแนวทางในการอนุรักษ์ทัพยากรธรรมชาติ
3. กิจกรรมทัศนศึกษาชม " ชายหาดทะเลอันดามัน " และสัตว์ทะเลชนิดต่าง ๆ ในประเทศไทย /ต่างประเทศ
การบูรณาการ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ฯ
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ
กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
ขอขอบคุณ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แหล่งข้อมูลอ้างอิงเนื้อหาและรูปภาพประกอบ ดังนี้
1. https://www.thairath.co.th/content/region/166754
2. https://th.wikipedia.org/wiki/ทะเลอันดามัน
3. https://www.dmr.go.th/ewt_news.php?nid=6831&filename=index
4. www.ku.ac.th/AgrInfo/thaifish/aquatic/aq264.html
5. https://www.school.net.th/library/create-web/10000/science/10000-4982.html
6. https://www.rakbankerd.com/agriculture/open.php?id=639&s=tblanimal
7. https://th.wikipedia.org/wiki/ปูทะเล
8. https://learners.in.th/blog/seatick2012/359859
9. https://learners.in.th/blog/15134/262721
10. https://www.factzoo.com/crazy-stuff-invertebrates-spineless-creatures.html
11. https://tidechaser.blogspot.com/2008/08/exploring-semakau.html
12. https://www.technicchan.ac.th/index.php?name=news&file=readnews_dep&id=533
13.https://sakid.com/2006/10/28/4532/
14. https://www.rawfish.com.au/mighty-mud-crab/
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3662