ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีค่ามหาศาล..สกัดทองคำได้


1,426 ผู้ชม


ขยะอิเล็กทรอนิกส์ สามารถนำกลับมารีไซเคิลและสกัดสินแร่ธรรมชาติที่มีอยู่ในขยะได้   

ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีค่ามหาศาล ......สกัดทองคำได้


ภาพ : ขยะอิเล็กทรอนิกส์
ที่มาภาพ :  https://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid


         รอยเตอร์รายงานว่า องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกาทุ่มงบเกือบ 75 ล้านบาท ตั้งโครงการตามรอยขยะอิเล็กทรอนิกส์  เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และโทรทัศน์ เพื่อนำกลับมารีไซเคิลใหม่เป็นการกำจัดขยะมีพิษไม่ให้ปนเปื้อนผืนดินและ  เพื่อสกัดสินแร่ธรรมชาติที่มีอยู่ในขยะมาใช้ด้วย เนื่องจากมีการรายงานแล้วว่า ในมือถือหนึ่งล้านเครื่องสามารถสกัดทองคำออกมาได้ 24 กิโลกรัม เงิน 250 กิโลกรัม ทองแดงเกือบ 10 ตัน รวมถึงแร่มีค่าอื่นๆ อีกเล็กน้อยด้วย ในขณะที่สินแร่ในขยะเหล่านี้มีมูลค่าพุ่งขึ้นอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะราคาทองคำ      
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  ทุกระดับชั้น
สาระที่ 6   กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก
มาตรฐาน  ว 6.1  เข้าใจกระบวนการต่าง ๆ   ที่เกิดขึ้นบนผิวโลกและภายในโลก   ความสัมพันธ์ของกระบวนการต่าง ๆ
ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ  ภูมิประเทศ และสัณฐานของโลก  มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์  สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์


ภาพ  ขยะอิเล็กทรอนิกส์ จากคอมพิวเตอร์
ที่มาภาพ : https://bbznet.pukpik.com


ขยะอิเล็กทรอนิกส์(Electronic Waste)  
      ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีเวสต์" (e-waste) เป็นของเสียที่ประกอบด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหรือไม่มีคนต้องการแล้ว 
ธาตุที่มีอยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์
ธาตุที่มีมาก  ตะกั่ว ดีบุก ทองแดง ซิลิกอน คาร์บอน เหล็ก อะลูมิเนียม
ธาตุที่มีปริมาณน้อย  แคดเมียม ปรอท
ธาตุที่มีอยู่บ้างเล็กน้อย  เยอรมาเนียม แกลเลียม แบเรียม นิกเกิล แทนทาลัม อินเดียม วานาเดียม เทอร์เบียม แบริลเลียม ทองคำ   ยูโรเปียม ไทเทเนียม รัทเทอเนียม โคบอลต์ แพลลาเดียม แมงกานีส เงิน พลวง บิสมัธ ซีลีเนียม ไนโอเบียม ยิตเตรียม โรเดียม แพลทินัม สารหนู ลิเทียม โบรอน อเมริเซียม
ตัวอย่างอุปกรณ์ที่มีธาตุเหล่านี้
      อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทั้งหมดจะมีตะกั่วและดีบุก (จากการบัดกรี) และทองแดง (จากสาย และลายวงจรพิมพ์) แม้ว่าการบัดกรีแบบไม่ใช้ตะกั่วตะแพร่หลายรวดเร็วในปัจจุบันก็ตาม
•    ตะกั่ว : ลวดบัดกรี จอมอนิเตอร์ CRT (ตะกั่วในแก้ว) แบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด 
•    ดีบุก : ลวดบัดกรี 
•    ทองแดง : สายทองแดง ลายทองแดงบนแผ่นวงจรพิมพ์ 
•    อะลูมิเนียม : สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งหมดจะใช้กำลังไฟฟ้ามากกว่าสองสามวัตต์ จึงต้องใช้แผ่นครีบระบายความร้อน (heatsink) 
•    เหล็ก : โครงเหล็กกล้า, ตัวถัง ชิ้นส่วนภายนอก 
•    ซิลิกอน : แก้ว ทรานซิสเตอร์ ไอซี แผ่นวงจรพิมพ์ 
•    นิกเกิล แคดเมียม : แบตเตอรี่นิกเกิล-แคดเมียมแบบชาร์จได้ 
•    ลิเทียม : แบตเตอรีลิเทียม-ไอออน 
•    สังกะสี : ชุบส่วนเหล็กกล้า 
•    ทองคำ : ชุบขั้วต่อ, เดิมใช้ในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 
•    อเมริเซียม : เตือนควัน (แหล่งกัมมันตรังสี) 
•    เยอรมาเนียม : ในทศวรรษ 1950 – 1960 มีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ทรานซิสเตอร์มาก 
•    ปรอท : หลอดฟลูออเรสเซนต์ (มีการใช้งานที่หลากหลาย) สวิตช์เอียง (tilt switches), เกมพินบอลล์, ที่กดกริ่งประตูแบบเชิงกล 
•    กำมะถัน : แบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด 
•    คาร์บอน : เหล็กกล้า พลาสติก รีซิสเตอร์ ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกชิ้น 
      แม้ขยะเหล่านี้จะเป็นอันตราย แต่ต้องไม่ลืมว่าอีกด้านหนึ่งหากมีกระบวนการจัดการที่เหมาะสม จะสามารถสกัดแยกโลหะมีค่าออกจากซากขยะเหล่านี้ได้ อย่างกรณี ประเทศญี่ปุ่น ที่สามารถสกัดแยกทองคำ 1 กิโลกรัมได้จากโทรศัพท์มือถือจำนวน 2 แสนเครื่อง รวมทั้งการสกัดแยกทองคำ พาลาเดียม และทองแดง จากชิ้นส่วนตัวต้านทานในวงจรคอมพิวเตอร์   แต่ในปัจจุบัน ความสามารถในการสกัดแยกโลหะด้วยวิธีที่มีคุณภาพไม่ส่งกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น 
การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ 
          เมื่อมนุษย์เป็นผู้สร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระบวนการในการจัดการ ที่มีความเป็นธรรม เหมาะสม และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่ควรตระหนักอย่างที่สุด   หลากหลายรูปแบบในการจัดการขยะเหล่านั้น ผลกระทบที่ตามมาก็มีความแตกต่างกัน
การฝังกลบ  
          หากไม่มีการทำลายขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นให้มีฤทธิ์เป็นกลาง ก่อนที่จะใส่ในหลุมกลบที่มีคุณภาพ ไม่มีการรั่วซึมออกมาสู่ระบบน้ำใต้ดิน พร้อมการเฝ้าระวังต่อเนื่องที่ต้องใช้งบประมาณสูง สารพิษในขยะเหล่านั้นจะรั่วไหล ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมในชุมชนได้ 
การเผา
         การเผาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถูกต้องนับว่าเป็นอันตรายอย่างมาก ทำให้โลหะหนักอย่าง ตะกั่ว แคดเมียม และสารปรอท กลายเป็นเถ้าถ่านและแพร่กระจายเข้าสู่บรรยากาศได้   สารปรอท หากสะสมตัวอยู่ในห่วงโซ่อาหารหรือเมื่อตกค้างอยู่ที่สัตว์น้ำซึ่งเป็นอาหารของมนุษย์ ก็จะเป็นการแพร่สารปรอทมาสู่คนได้ รวมทั้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีส่วนประกอบของสารทนไฟซึ่งทำจากโบรมีน หากทำการเผาก็จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของสารโบรไมเนตไดอ๊อกซินและสารฟิวแรน หรือถ้ามีส่วนประกอบของของพลาสติก PVC ก็จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของสารไดอ๊อกซินคลอไรด์และสารฟิวแรนที่เป็นอันตรายอีกเช่นกัน
การนำมาใช้ใหม่ : วิธีนี้ช่วยยืดอายุของผลิตภัณฑ์ และลดทรัพยากรที่ต้องเสียไปหากมีการต้องทำขึ้นมาใหม่ แต่บ่อยครั้งการนำกลับมาใช้ใหม่กลับเป็นปัญหาให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา เมื่อเป็นผู้รับเอาสินค้าที่มีอายุการใช้งานเหลือน้อย ก็ต้องเจอกับปัญหาใหญ่ในการจัดการกับขยะเหล่านี้เมื่อหมดสภาพการใช้งาน 
รีไซเคิล : ช่วยประหยัดทรัพยากรและลดการเพิ่มขึ้นของขยะอันตรายได้ด้วยการนำของเก่าที่ยังดีมาใช้ใหม่ สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว การรีไซเคิลจะทำในโรงงานที่มีออกแบบมาโดยเฉพาะ ภายใต้การควบคุมตามมาตรฐาน แต่ในประเทศที่ยังไม่พัฒนากลับพบการแยกขยะที่ทำกันที่แหล่งแยกขยะตามมีตามเกิด รวมทั้งการรีไซเคิลโดยปราศจากความรู้และการป้องกันอันตรายที่ดี  กระบวนการที่ไม่ถูกต้องย่อมนำผลที่ไม่ดีตามมา  คนงานจะได้รับสารพิษโดยตรง อีกทั้งยังส่งผลไปถึงสิ่งแวดล้อมในชุมชนอีกด้วย
ส่งออก : ต้องยอมรับว่าต้นทุนในการกำจัดขยะในประเทศกำลังพัฒนาถูกมากเมื่อเทียบกับการที่ประเทศพัฒนาเหล่านั้นต้องจัดการกับขยะอันตรายเอง จึงเกิดการส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศพัฒนาแล้วไปสู่ปลายทางยังตะวันออกไกล  อินเดีย อัฟริกา ที่ที่มีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อมไม่รัดกุม  และหลายครั้งเป็นการละเมิดอนุสัญญาบาเซล  หรือทำไปด้วยความเห็นแก่ตัวไม่คำนึงถึงศีลธรรม ซึ่งการรีไซเคิลในประเทศเหล่านี้มักกระทำกันโดยประชาชน ที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับอันตรายในการคัดแยกชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์  จึงทำกันโดยปราศจากอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากขยะเหล่านั้น
คำถาม VIP ชวนคิด
        1. ขยะอิเล็กทรอนิกส์เกิดจากสาเหตุใด
        2. เรามีแนวทางการป้องกันไม่ให้มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ในโลกได้อย่างไร
         
กิจกรรมเสนอแนะ
       1. สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น ห้องสมุด อินเตอร์เน็ต
       2. ค้นคว้าและนำเสนอแนวทางในการป้องกัน และแนวปฏิบัติเมื่อเกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์
การบูรณาการ
        กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย      นักเรียนเขียนเรียงความเกี่ยว ขยะอิเล็กทรอนิกส์
        กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์  ทำสถิติสาเหตุที่ทำให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์         
        กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ฯ นักเรียนศึกษาผลกระทบที่เกิดจากขยะอิเล็กทรอนิกส์
        กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  นักเรียนนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มารีไซต์เคิล
        กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพละศึกษา   นักเรียนเล่นกีฬาเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง
        กลุ่มสาระการเรียนรู้ ศิลปะ            นักเรียนวาดภาพผลกระทบจากขยะอิเล็กทรอนิกส์
        กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  นักเรียนเขียนชื่อภาษาอังกฤษคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับขยะอิเล็กทรอนิกส์
 ขอขอบคุณ                       
แหล่งข้อมูลอ้างอิงเนื้อหาและรูปภาพประกอบ  ดังนี้
    
      1. https://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid
      2. https://th.wikipedia.org/wiki/ขยะอิเล็กทรอนิกส์
    
      ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3739

อัพเดทล่าสุด