“ดาวนิบิรุ” พุ่งชนโลกดับ กวาดล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์หายเกลี้ยงในปี 2012
เคลียร์“ดาวนิบิรุ” พุ่งชนโลกดับ กวาดล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์หายเกลี้ยงในปี 2012
1. บทนำ
ข่าวเรื่องโลกจะถึงจุดจบเมื่อถูกดาวเคราะห์ “นิบิรุ” (Nibiru) พุ่งชนแพร่กระจายอยู่ในโลกออนไลน์มาระยะหนึ่ง
ผู้คนสนใจสอบถามไปยัง เดวิด มอร์ริสัน (David Morrison) นักดาราศาสตร์ดาวเคราะห์จากศูนย์วิจัยเอมส์ (Ames Research Center) องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และนักวิทยาศาสตร์อาวุโสประจำสถาบันชีววิทยาอวกาศ (Astrobiology Institute) ของนาซา เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเด็กๆถึงขนาดเตรียมฆ่าตัวตาย มอร์ริสันกล่าวว่าเรื่องวันโลกแตกเนื่องจากถูกดาวเคราะห์พุ่งชนนี้น่าจะเสนอขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1995 โดย แนนซี ไลเดอร์ (Nancy Lieder) ที่ขนานนามตัวเองว่า “ผู้รับการติดต่อ” (contactee) ซึ่งอ้างว่าเธอสมองของเธอสามารถรับข้อความของมนุษย์ต่างดาวจากระบบดาวเซตาเรติคูลิ (Zeta Reticuli) ได้ ได้นำข่าวโลกแตกมาเผยแพร่ใน ในเว็บไซต์ของไลเดอร์ชื่อ “เซตาทอล์ก” (ZetaTalk)
นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์แล้วว่า ดาวนิบิรุ ไม่มีในระบบสุริยะดังความเชื่อ ดาวนิบิรุ ที่กล่าวถึงอาจเป็นดาวหางขนาดเล็กที่ชื่อ “อีเลนิน” (Elenin) ซึ่งจะผ่านใกล้โลกที่สุดในเดือน ต.ค.2011 แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคนระบุว่า ดาวหางอีเลนินจะไม่เข้าใกล้โลกเกินกว่าระยะ 100 เท่าของระยะทางระหว่างโลกและดวงจันทร์ แต่บางคนเชื่อว่าดาวหางนี้ทำให้แกนโลกเอียงไป 3 องศา และกระตุ้นให้เกิดแผนดินไหวที่ชิลี จากนั้นทำให้ขั้วโลกขยับมากพอที่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา แท้จริงแล้ว ดาวหางอีเลนินเป็นเพียงดาวหางน้ำแข็งก้อนกลมๆ ที่มีความกว้างประมาณ 5 กิโลเมตร ไม่มีสนามแม่เหล็กที่พอจะทำให้สนามแม่เหล็กโลกเปลี่ยนแปลงได้
ที่มา:Science - Manager Online - เคลียร์ความเชื่อ “ดาวนิบิรุ” พุ่งชนโลกดับ.mht
2.ประเด็นสำคัญ
ระบบสุริยะมีดาวเคราะห์เป็นบริวาร 8 ดวง นักดาราศาสตร์ไม่ยอมรับว่า นิบิรุเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ดาวเคราะห์ต้องมีสถานะครบถ้วนตามนิยามของดาวเคราะห์ ของสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากล
ส่วนดาวหางเป็นเพียงก้อนน้ำแข็งไม่มีอำนาจพอที่จะทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง
3. สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 2-3 สาระที่ 7
4. สาระสำคัญ
4.1 ระบบสุริยะ เป็นระบบการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ ระบบสุริยะที่มีโลกของเราเป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่เป็นบริวารของดวงอาทิตย์ อยู่ในกาแลกซีทางช้างเผือก มีดาวเคราะห์ทั้งหมด 8ดวง เรียงตามลำดับ จากในสุดคือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัส ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน
และวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ ซึ่ง ประกอบด้วยดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง และอุกกาบาต รวมไปถึงฝุ่นและก๊าซ ที่ล่องลอยระหว่าง ดาวเคราะห์ แต่ละดวง
ที่มา: จาก ระบบสุริยะ คลังปัญญาไทย https://www.panyathai.or.th/wiki/index.php
สถานะของดาวเคราะห์
นิยามดาวเคราะห์ ของสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากล เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2549 ในเรื่องของการแบ่งประเภทของวัตถุในระบบสุริยะซึ่งเป็นบริวารของดวงอาทิตย์ ดังนี้
1.ดาวเคราะห์ (Planet) หมายถึงเทห์วัตถุที่มีสมบัติดังต่อไปนี้ครบถ้วน (ก) โคจรรอบดวงอาทิตย์ (ข) มีมวลมากพอที่จะแรงโน้มถ่วงของดาวสามารถเอาชนะความแข็งของเนื้อดาว ส่งผลให้ดาวอยู่ในสภาวะสมดุลไฮโดรสแตติก (hydrostatic equilibrium; เช่น ทรงเกือบกลม) (ค) สามารถกวาดเทห์วัตถุในบริเวณข้างเคียงไปได้
2.ดาวเคราะห์แคระ (Dwarf Planet) หมายถึงเทห์วัตถุที่มีสมบัติดังต่อไปนี้ครบถ้วน (ก) โคจรรอบดวงอาทิตย์ (ข) มีมวลมากพอที่จะแรงโน้มถ่วงของดาวสามารถเอาชนะความแข็งของเนื้อดาว ส่งผลให้ดาวอยู่ในสภาวะไฮโดรสแตติก (ค) ไม่สามารถกวาดเทห์วัตถุในบริเวณข้างเคียงไปได้ (ง) ไม่ใช่ดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์อื่นๆ
3.เทห์วัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ (Small Solar-System Bodies) หมายถึง วัตถุอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้ว
เนื่องจากเทคโนโลยีด้านอวกาศในยุคปัจจุบัน ก้าวหน้าไปมาก ทำให้มีการค้นพบวัตถุในแถบไคเปอร์ ที่มีขนาดใกล้เคียงกับดาวพลูโตอีกเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น ซีนา อีริส เซดนา วารูนา เป็นต้น อย่างไรก็ตามวัตถุเหล่านี้มิได้มีวงโคจรอยู่ในสุริยะวิถี
แต่กลับมีวงโคจรเป็นรูปวงรีเฉียงกับระนาบสุริยะวิถีดังเช่น วงโคจรของดาวพลูโตที่เอียงทำมุม 17 องศา กับระนาบสุริยะวิถี
4.2 ดาวหาง
ดาวหางเป็นวัตถุขนาดเล็กที่มีรูปร่างไม่แน่นอน โดยทั่วไปมีขนาดเล็กกว่า 10 กิโลเมตร ประกอบด้วยน้ำแข็ง คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และแอมโมเนีย ปะปนอยู่กับฝุ่นและหิน ขณะที่ดาวหางอยู่ห่างดวงอาทิตย์มันจะมีปฏิกิริยาเพียงเล็กน้อยและจางมาก แสงส่วนใหญ่ที่สังเกตได้เกิดจากการสะท้อนแสงอาทิตย์ เมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ รังสีความร้อนจะทำให้น้ำแข็งระเหิด นำพาฝุ่น แก๊ส และโมเลกุลต่าง ๆ พุ่งออกมา เกิดเป็นหัวดาวหางหรือโคม่า (coma) มีลักษณะเป็นทรงกลมล้อมรอบนิวเคลียส ฝุ่นและแก๊สเหล่านี้พุ่งออกมาจากพื้นผิวด้านที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์ จากนั้นลมสุริยะอาจทำให้เกิดหาง โดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 2 หาง คือหางแก๊สกับหางฝุ่น
ดาวหางเอเลนินเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2553
ที่มา: สมาคมดาราศาสตร์ไทยhttps://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/comets/2011comets.html
วงโคจรของดาวเคราะห์
ที่มาของภาพ : https://stloe.most.go.th/html/lo_index/LOcanada9/903/images/3_1.jpg
5. ประเด็นอภิปรายในห้องเรียน
5.1 ความเชื่อเรื่องโลกแตกเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร
5.2 หากโลกจะแตกจริงเราควรทำอย่างไร
5.3 การโคจรของดาวเคราะห์มีโอกาสพุ่งชนโลกหรือไม่
5.4 ดาวหางทำอันตรายแก่โลกได้หรือไม่อย่างไร
6. กิจกรรมเสนอแนะ
สืบค้นเพิ่มเติม เกี่ยวกับจักรวาลและอวกาศ
ฝึกคิดหาเหตุผล และมีวิจารณญาณ ในการรับฟังข่าวสาร
7. บูรณาการกับสาระการเรียนรู้อื่น
- เทคโนโลยี การสืบค้นข้อมูล
8.เอกสารอ้างอิง
- www.atom.rmutphysics.com
- วิกิพีเดีย
- คลังปัญญาไทย https://www.panyathai.or.th/wiki/index.php
- Science - Manager Online
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4176