มารู้จัก...ไม้จันทร์หอมที่ถูกใช้ทำพระโกศ


932 ผู้ชม


ไม้จันทน์หอม ถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระบรมราชวงศ์ชั้นสูงและในงานเกี่ยวเนื่องกับพระศาสนาเท่านั้น   
       


       ไม้จันทน์หอม ถือเป็นไม้มงคล มีกลิ่นหอม เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน เสี้ยนตรง เนื้อละเอียด แห้งนำมาเลื่อยไส้กบ ตกแต่งง่าย ต้นจันทน์ยืนต้นตายเองโดยธรรมชาติผิวนอกผุเปื่อยแล้วเหลือแก่นไม้จะมี กลิ่นหอมจัด นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระบรมราชวงศ์ชั้นสูงและในงานเกี่ยวเนื่องกับพระศาสนาเท่านั้น ซึ่งพระโกศ ที่จะใช้ในพระราชพิธี พระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราช นครินทร์และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี นั้นก็จะจัดสร้างโดย ใช้ ไม้จันทน์หอม 
     
       ความเป็นมา
       จันทน์หอม เป็นพันธุ์ไม้ที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า 
Mansonia gagei Drumm. มีชื่อวงศ์ว่า STERCULIACEAE มีชื่อสามัญว่า Kalamet และยังมีชื่อ เรียกอื่นอีกไม่ว่าจะเป็น จันทน์ จันทน์ชะมด จันทน์ขาว จันทน์พม่า จันทน์หอม(เต็ม สมิตินันท์, 2523) 
ไม้จันทน์หอมเป็นไม้คนละชนิดกับจัน หรือจันอิน-จันโอ (Diospyros decendra Lour.) และเป็นคน
 ละชนิดกับไม้กฤษณา (Aquilaria malaccensis) ซึ่งบางท่านก็เรียกว่า ไม้หอมเช่นกัน จึงควรมีการศึกษาและพิจารณาให้ถ่องแท้ เพราะการใช้ประโยชน์แตกต่างกัน โดยเฉพาะในรูปของสมุนไพรซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อสุขภาพ 
    
       ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
      ไม้ต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แบบผลัดใบ สูง 10-20 เมตรเปลือก ลักษณะค่อนข้างเรียบ มีสีเทาอมขาว เรือนยอดเป็นพุ่มกลมค่อนข้างโปร่ง กิ่งอ่อนมีขนประปราย ลักษณะเนื้อไม้ มีสีน้ำตาลอ่อน 
เสี้ยนตรง เนื้อละเอียด เป็นไม้เนื้อแข็ง เลื่อย ไสกบ ตบแต่งง่ายส่วนแก่นสีน้ำตาลเข้ม มีความถ่วง จำเพาะ ประมาณ 0.93 (กรมป่าไม้, 2526) 
        ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ติดเรียงสลับทรงใบรูปรีๆ แกมรูปขอบขนาน หรทอรูปรีๆ แกมรูปไข่กลับ กว้าง 3-6 ซม. ยาว 8-14 ซม. โคนใบตัดหรือหยักเว้าเข้าเล็กน้อย ปลายใบสอบแหลมทู่ๆ เนื้อใบค่อนข้างหนา มีขนประปราย แต่พอใบแก่จะเกลี้ยง ใบแห้งออกสีเขียวอ่อนๆ เส้นใบออกจากจุดโคนใบ 3 เส้น เส้น แขนงใบมี 4-6 คู่ ขอบใบเป็นคลื่นห่างๆ ทางส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบ ก้านใบยาว 5-10 มม. มีขน ประปรายและจะออกสีคล้ำเมื่อใบแห้ง 
        ดอก ดอกเล็กสีขาว ออกรวมกันเป็นช่อตามปลายกิ่งและตามง่ามใบใกล้ๆ ปลายกิ่ง ช่อยาวประมาณ 15 ซม. โคนกลีบฐานดอกติดกันเป็นรูปเหยือกน้ำ ปลายแยกเป็นแฉกแหลมๆ 5 แฉก ทั้ง หมดยาว 10-13 มม. มีขนแน่นทางด้านนอก ส่วนด้านในเกลี้ยง กลีบดอกมี 5 กลีบไม่ติดกัน ทรงกลีบ รูปซ้อนเกลี้ยง ยาว 10-13 มม. เกสรผู้มี 10 อัน และในจำนวนนี้จะเป็นเกสรผู้เทียมเสีย 5 อัน รังไข่มี 5 พู รวมเบียดกันอยู่เป็นรูปเหยือกน้ำมีขนคลุมแน่น แต่ละพูเป็นอิสระแก่กัน และต่างก็มีหลอดท่อรังไข่ หนึ่งหลอด ในแต่ละพูมีช่องเดียว และมีไข่อ่อนหนึ่งหน่วย 
         ผล ผลเป็นชนิดผลแห้ง มักติดเป็นคู่ๆ แต่ไม่ติดเป็นเนื้อเดียวกัน ผลมีรูปทรงเหมือนกระสวยเล็กๆ กว้าง 5-7 มม. และยาว 10-15 ซม. แต่ละผลมีปีกทรงรูปสามเหลี่ยมติดที่ปลายผลหนึ่งปีก ปีกกว้าง 1-15 ซม. ยาว 2.5-3 ซม. ก้านผลยาวประมาณ 5 มม. 



         ระยะการออกดอก-ผล ออกดอกระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ส่วนผลจะแก่ระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม 
         ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด
         ลักษณะทางนิเวศวิทยา ขึ้นในป่าดิบแล้ง ชอบขึ้นตามเขาหินปูน ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 200-400 เมตร
 
ประโยชน์ เนื้อไม้ กระพี้ สีขาว แก่นสีน้ำตาลเข้ม ไสกบตบแต่งง่าย ไม้ที่ตายเองจะมีกลิ่นหอม ใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก ทำหวี ดอกไม้จันทน์ ธูป น้ำมันหอมที่ได้จากการกลั่นชิ้นไม้ใช้
 ปรุงเครื่องหอม และเครื่องสำอาง ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ เนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้โลหิตเสีย แก้ กระหายน้ำและอ่อนเพลีย 
     
         การเจริญเติบโต
         ทางความสูงของกล้าไม้จันทน์หอมเมื่อเริ่มปลูกอายุประมาณ 1 เดือน จะมีความสูงเฉลี่ยเท่ากับ 0.26 เซนติเมตร มีอัตราการเจริญเติบโตทางความสูงเฉลี่ย เท่ากับ 0.564 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งจะมี
 อัตราการเจริญเติบโตสูงสุดในช่วงอายุ 3-4 ปี เท่ากับ 0.76 เมตร และอัตราการเจริญเติบโตต่ำสุดใน ช่วงอายุ 1-2 ปี เท่ากับ 0.29 เมตร เมื่อไม้จันทน์หอมมีอายุ 5 ปี จะมีความสูงเฉลี่ย เท่ากับ 2.82 เมตร 
         การเจริญเติบโตทางเส้นผ่าศูนย์กลางโคนต้นของไม้จันทน์หอมเมื่อเริ่มปลูกอายุประมาณ 1 เดือน จะมีการเจริญเติบโตโคนต้นเฉลี่ย เท่ากับ 0.42 เซนติเมตร มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยเท่ากับ 1.428 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งจะมีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุดในช่วงอายุ 4-5 ปี เท่ากับ 1.86 เซนติเมตร และอัตราการเจริญเติบโตต่ำสุดในช่วงอายุ 1-2 ปี เท่ากับ 1.01 เซนติเมตร เมื่อไม้จันทน์หอมมีอายุ 5 ปี มีการเจริญเติบโตทางเส้นผ่าศูนย์กลางโคนต้น เท่ากับ 7.14 เซนติเมตรการเจริญเติบโตทางเส้นผ่าศูนย์ 
กลางระดับอกของไม้จันทน์หอมจะเริ่มวัดข้อมูลได้เมื่อต้นไม้มีอายุ3 ปี ถึงจะมีความสูง เท่ากับ 1.47 เมตร จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ระดับอก เท่ากับ 1.04 เซนติเมตร มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย เท่ากับ 
1.13 เซนติเมตร ซึ่งจะมีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุดในช่วงอายุ 4-5 ปี เท่ากับ 1.55เซนติเมตร เมื่อไม้ จันทน์หอมอายุ 5 ปี จะมีการเจริญเติบโตทางเส้นผ่าศูนย์กลางที่ระดับอก เท่ากับ 3.39เซนติเมตร 
        เปอร์เซ็นต์การรอดตายของไม้จันทน์หอมเมื่อเริ่มปลูกในเดือนแรก จะรอดตายเฉลี่ย 89 เปอร์เซ็นต์และปลูกซ่อมให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ และเมื่ออายุ 1-5 ปีเปอร์เซ็นต์การรอดตายเฉลี่ยเท่ากับ 
95, 94, 90, 89 และ 89 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ (คงศักดิ์ มีแก้ว) 
       
         ไม้ชั้นสูง
         จากข้อมูลที่เรียบเรียงโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เทคโนธานี แจกแจงถึงเรื่อง "ไม้จันทน์หอม" ไว้ สรุปได้ว่า... เป็นไม้ที่คนโบราณถือว่าเป็น
 ไม้ชั้นสูง เนื้อไม้มีกลิ่นหอม นิยมใช้ในพระราชพิธีต่างๆ พิธีสำคัญๆ ของราษฎรที่จัดเป็นวาระพิเศษ  อย่าง "ดอกไม้จันทน์" ที่ใช้ในงานเผาศพ ในอดีตเกือบทั้งหมดจะทำจากไม้จันทน์หอม เพราะถือว่ามีสี ขาวบริสุทธิ์ และมีกลิ่นหอม เป็นการให้เกียรติกับผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย แต่ในยุคปัจจุบันมีการใช้วัสดุ อื่นๆ ทำด้วย   และจากประโยชน์ของไม้จันทน์หอม ทำให้ชาวกะเหรี่ยงและชาวพม่าใช้เนื้อไม้ซึ่งเรียก กาละแมะ มาฝนกับฝาหม้อดินจนเป็นน้ำข้นๆ ใช้ทาหน้าจะมีกลิ่นหอมแก้สิวฝ้า ทำให้หน้านวล ละเอียด ซึ่งในด้านสมุนไพรนั้น น้ำมันที่กลั่นจากเนื้อไม้ใช้เข้ายาบำรุงหัวใจ เนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้โลหิตเสีย แก้กระหายน้ำและอ่อนเพลีย 
        ในอดีตเคยมีรายงานว่าในเมืองไทยมีจันทน์หอมขึ้นอยู่ทั่วไปทั้งในภาคตะวันออก และในภาคตะวันตกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันถูกตัดฟันไปจนเกือบหมด จนคนรุ่นใหม่แทบไม่รู้จักว่าจันทน์หอมมีรูปร่าง
 หน้าตาเป็นอย่างไร ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง เพียงรู้จักกันก็เพราะเคยได้ยินชื่อเสียง หรือค้นหาเอามา จากตำรากันเท่านั้น 
        ซึ่งดร.ปิยะ ได้ระบุไว้ว่า "จันทน์หอมเป็นไม้ที่เติบโตได้ในเกณฑ์ปานกลางถึงค่อนข้างเร็ว ถ้าได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และปลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งมีโอกาสจะเป็นไม้เศรษฐกิจ ใช้
 ประโยชน์ในด้านไม้หอมและน้ำมันหอม อาจปลูกลงแปลงขนาดใหญ่เหมือนไม้กฤษณาที่แพร่หลาย ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัด นครปฐมอีกด้วย(https://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/จันทน์หอม)
ขอขอบคุณ
เนื้อหาอ้างอิงจาก https://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/จันทน์หอม)
 
                 พรศักดิ์ มีแก้ว, 2542. รายงานความก้าวหน้าโครงการวิจัย ปี 2542.
                                       ส่วนวนวัฒนวิจัย         สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้.
                 เต็ม สมิตินันท์, 2523. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ.
                 นายคงศักดิ์ มีแก้ว สถานีวนวัฒนวิจัยประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมือง จังหวัด
                                        ประจวบคีรีขัน
ภาพอิงจาก
 
1. ภาพลำต้น(b)จาก บล็อกชีวิตบางเบา ดังสายลม
2. ภาพใบ(c)และภาพลำต้นรวม(a)จาก https://www.gotoknow.org/blog/palmseed/365811
3. ภาพดอก (d) จาก https://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/จันทน์หอม)
4. ภาพผลและไม้จันทน์หอมยืนต้นตายจาก นายคงศักดิ์ มีแก้ว สถานีวนวัฒนวิจัยประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
 
 
คำถามเร้าความสนใจ
 
1. เหตุใดไม้จันทน์หอมจึงถูกนำมาใช้ทำพระโกศ
2. นักเรียนรู้จักไม้หอมชนิดอื่นหรือไม่
กิจกรรมนำเสนอ
 
1. ให้นักเรียนศึกษาพันธุ์ไม้ที่มีกลิ่นหอมในโรงเรียน
2. ให้นักเรียนจำแนกลักษณะดอก ใบ ทางพฤกษาศาสตร์ของไม้จันทน์หอม
ความรู้ คู่บูรณาการ
 
1. วิชาเคมี เรื่องอโรมาติกกับกลิ่นของไม้้จันทน์หอม

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4262

อัพเดทล่าสุด