วิธีง่าย ๆ ในการทำให้น้ำสะอาดเพื่อนำมาอุปโภค
ในสภาวะเกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่อยู่ขณะนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีความเดือดร้อนทั้งที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ ขาดแคลนอาหาร และน้ำดื่มน้ำใช้ ในการอุปโภคบริโภค วันนี้มีขั้นตอนในการผลิตน้ำสะอาดสำหรับอุปโภค (น้ำใช้เท่านั้น) ด้วยตนเอง โดยกลุ่มนักศึกษาและอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อุปกรณ์ที่จำเป็น ประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่
- 1. โอ่ง ถังพลาสติก หรือภาชนะรองรับน้ำ จำนวน 2 ใบ
- 2. สารส้มก้อน
- 3. สารฆ่าเชื้อโรคคลอรีนชนิดน้ำ 2% (หยดทิพย์)
ขั้นตอนการผลิตน้ำสะอาด ประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอน คือ
- 1. เตรียมน้ำลงในภาชนะรองรับน้ำใบที่ 1 โดยเลือกใช้น้ำจากแหล่งน้ำในบริเวณที่สะอาด ห่างจากแหล่งสุขาหรือโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ และไม่ผ่านการปนเปื้อนจากสารเคมี จากนั้นตักใบไม้หรือเศษไม้ที่อาจลอยอยู่บนผิวน้ำออก
ภาวะน้ำท่วม โดยกลุ่มนักศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. แกว่งสารส้มในน้ำ แกว่งสารส้มในน้ำจนกระทั่งสังเกตเห็นตะกอนเริ่มจับตัว ซึ่งอาจใช้เวลามากน้อยต่างกันไปตามปริมาตรและลักษณะของน้ำ โดยทำการแกว่งที่ความลึกประมาณ 2/3 ส่วนของความลึกน้ำจากผิวน้ำ
3. การตกตะกอนเพื่อให้ได้น้ำใส หลังจากขั้นตอนการแกว่งสารส้ม จะต้องทิ้งน้ำไว้จนกระทั่งตะกอนตกลงสู่ก้นถัง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาทีหรืออาจตั้งทิ้งไว้ข้ามคืน จากนั้นจึงตักหรือถ่ายน้ำส่วนใสเข้าสู่ภาชนะบรรจุใบที่ 2 น้ำที่ผ่านขั้นตอนนี้จะมีลักษณะใสแต่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อโรค
4. การเติมสารเพื่อฆ่าเชื้อโรคลงในภาชนะรองรับน้ำใบที่ 2 โดยเติมสารฆ่าเชื้อโรคคลอรีนชนิดน้ำ 2% (หยดทิพย์) ในปริมาณ 1 หยด ต่อน้ำ 1 ลิตร กวนผสมและปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที เพื่อให้สารฆ่าเชื้อโรคออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาชนะรองรับน้ำใบที่ 2 จึงควรทราบปริมาตรน้ำโดยคร่าว หากใช้ถังซึ่งแจกโดยทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีขีดบอกปริมาตรน้ำภายในถัง
ในภาวะอุทกภัยที่เกิดขึ้น การประยุกต์ใช้กรรมวิธีอย่างง่ายในการผลิตน้ำสะอาดที่สามารถนำไปใช้อุปโภค (น้ำใช้เท่านั้น) ได้อย่างปลอดภัยนับว่ามีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน อย่างไรก็ตาม น้ำใสที่ได้อาจยังไม่เหมาะสมต่อการบริโภคเนื่องจากน้ำที่ผ่านการผลิตขึ้นเองอาจไม่มีการควบคุมคุณภาพที่ดีเพียงพอ ด้วยความปรารถนาดีจากกลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา https://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=zvc7xT1Mj0k
https://www1.eng.chula.ac.th/?q=node/3821
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4427