ไข้หวัดหมูไอโอวา เชื้อหวัดสายพันธุ์ใหม่


728 ผู้ชม


ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือ CDC (Centers for Disease Control and Prevention) ประเทศ สหรัฐอเมริกา แจ้งเตือนทั่วโลกให้ระวัง “ไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่” คือสายพันธุ์ S-OtrH3N2 ที่สามารถติดต่อสู่คนได้ เนื่องจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 7 รายโดยพบที่มลรัฐเพนซิลวาเนีย 3 ราย มลรัฐเมน 2 ราย และมลรัฐอินเดียนา 2 ราย ผู้ป่วยทุกรายเคยสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดหมูก่อนที่จะป่วย และเมื่อเดือนพฤศจิกายนพบเด็กที่ติดเชื้อเพิ่มอีก 3 รายที่มลรัฐไอโอวา โดยเด็กทั้งสามไม่เคยสัมผัสกับหมูมาก่อน จึงเป็นไปได้ว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ นอกจากนี้มีแนวโน้มที่จะพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดหมูไอโอวาเพิ่มขึ้น

ไข้หวัดหมูไอโอวา เชื้อหวัดสายพันธุ์ใหม่

“เชื้อไข้หวัดหมูไอโอวา” คืออะไร?

เชื้อไข้หวัดหมูไอโอวา หรือไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่ เกิดจากการรวมตัวของไวรัสไข้หวัดสองสายพันธุ์ คือสายพันธุ์ Influenza H3N2 ที่ทำให้เกิดโรคหวัดในหมู กับสายพันธุ์ Influenza H1N1 ที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ในคนและเคยแพร่ระบาดมาแล้วทั่วโลกเมื่อปี พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา จากการรวมตัวของไวรัสสองสายพันธุ์นี้ ทำให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่คือสายพันธุ์ S-OtrH3N2 ซึ่งร่างกายมนุษย์ไม่เคยมีภูมิคุ้มกันเชื้อโรคนี้มาก่อน ทำให้เสี่ยงที่จะป่วยจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้

“ไข้หวัดหมูไอโอวา” มีอาการอย่างไร?

รายละเอียดอาการของเด็กทั้งสามคนที่ติดเชื้อไข้หวัดหมูไอโอวา มีดังนี้

รายที่ 1 เป็นเด็กผู้หญิงที่แข็งแรงมาตลอด ไม่เคยมีโรคประจำตัว เริ่มมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ 
รายที่ 2 เป็นเด็กผู้ชาย เริ่มมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่หลังจากที่เด็กรายที่ 1 ป่วยได้สองวัน 
รายที่ 3 เป็นพี่ชายของเด็กรายที่ 2 เริ่มมีอาการหลังจากน้องชายป่วยได้หนึ่งวัน

ผลการตรวจเสมหะทั้งสามรายพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ S-OtrH3N2 เหมือนกัน

ไข้หวัดหมูไอโอวา เชื้อหวัดสายพันธุ์ใหม่

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้ติดเชื้อน่าจะเกิดจากการที่เด็กทั้งสาม คนเคยไปร่วมงานเลี้ยงเดียวกัน และอยู่ใกล้ชิดกัน ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงที่เด็กรายที่ 1 เริ่มมีอาการนั่นเอง นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กทั้งสามคนรวมถึงสมาชิกทุกคนในครอบครัวไม่เคยมีประวัติ สัมผัสใกล้ชิดกับหมูมาก่อน จึงเป็นไปได้ว่าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้น่าจะแพร่ติดต่อจากคนสู่คนได้

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ใช้ป้องกันโรคไข้หวัดหมูไอโอวาได้หรือไม่?

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิด นี้ในเด็กได้ แต่สามารถป้องกันการติดเชื้อในผู้ใหญ่ได้บางส่วนเท่านั้น ขณะนี้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา เตรียมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดหมูไอโอวา และกำลังผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสสายพันธุ์ S-OtrH3N2 นี้โดยตรง

โรคนี้รักษาได้หรือไม่?

เชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ดื้อต่อยาต้านไวรัสที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันคือ ยาไรแมนตาดีน (rimantadine) และยาอะแมนตาดีน (amantadine) แต่สามารถรักษาได้ด้วยยาโอเซลทามิเวียร์ (osteltamivir หรือ Tamiflu®) และ ยาซานามิเวียร์ (zanamivir หรือ Relenza®)

กรณีที่สงสัยการติดเชื้อไข้หวัดหมูหรือไข้หวัดหมูไอโอวา ให้ส่งเสมหะตรวจเพื่อยืนยันสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส และพิจารณารักษาด้วยยาโอเซลทามิเวียร์ตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา และต้องรายงานจำนวนผู้ป่วยไปยังศูนย์ควบคุมโรคทุกราย นอกจากนี้ยังแนะนำให้ประชาชนที่สัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดหมู เมื่อมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยยืนยันการติดเชื้อทุกราย

ประเทศไทยเตรียมรับมือโรคนี้อย่างไร?

ไข้หวัดหมูไอโอวา เชื้อหวัดสายพันธุ์ใหม่

สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้เฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่อย่างใกล้ ชิด รวมถึงเตรียมยาต้านไวรัสให้เพียงพอในกรณีที่เกิดการระบาด และแนะนำให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะในช่วงหน้าหนาวจะมีผู้ป่วยเป็นไข้หวัดตามฤดูกาลจำนวนมากอยู่แล้ว สำหรับพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังหลังจากอุทกภัย ให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำหรือแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน และควรรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ ไม่สวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ปฏิบัติตามสุขอนามัยพื้นฐาน เช่นรับประทานอาหารที่สุกสะอาด ล้างมือเป็นประจำก่อนที่จะรับประทานอาหาร ตามแนวทางป้องกันโรคด้วยวิธี “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” อยู่เสมอ

แหล่งอ้างอิง

Center for Disease Control and Prevention (CDC), Morbidity and Mortality Weekly Report (MMWR), Limited Human-to-Human Transmission of Novel Influenza A (H3N2) Virus-Iowa, November 2011, December 2, 2011:60(47);1615-1617.

ที่มา : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
ผู้เรียบเรียง : ร้อยเอก นายแพทย์ พันเลิศ ปิยะราช 
ที่ปรึกษา : นายแพทย์ไพฑูรย์ บุญมา อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4567

อัพเดทล่าสุด