โรคที่มากับฤดูหนาว ตอนที่ 4: โรคไข้สุกใส


877 ผู้ชม


เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าหนาว   
นอกเหนือจากโรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคหัด โรคหัดเยอรมันแล้ว โรคสุกใสเป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าหนาวนี้เช่นกัน บางท่านอาจไม่คุ้นว่าโรคสุกใสคืออะไร แต่ถ้าพูดว่า “อีสุกอีใส” ก็คงพอจะคุ้นหูกันมากกว่า สมัยก่อนโรคนี้ยังไม่มีทางป้องกัน แต่ปัจจุบันมีวัคซีนช่วยป้องกันให้เราปลอดภัยจากโรคนี้ได้ เรามาทำความรู้จักโรคสุกใสกันนะครับ

โรคไข้สุกใส (Chickenpox หรือ Varicella)

โรคอีสุกอีใสหรือไข้สุกใส ส่วนใหญ่เกิดกับเด็กเล็ก วัยรุ่น จนถึงวัยหนุ่มสาว แต่ถ้าเป็นในผู้ใหญ่แล้วมักจะมีอาการรุนแรงและมีโรคแทรกซ้อนมากกว่าในเด็ก เมื่อปี พ.ศ. 2553 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานโรคสุกใสจำนวน 49,189 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 77.22 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมามีรายงานผู้เสียชีวิตปีละ 1 ถึง 3 ราย สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากมีโรคแทรกซ้อนเช่น ปอดอักเสบ และ/หรือ ตับอักเสบรุนแรง การระบาดมักพบในช่วงต้นปีตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน

โรคไข้สุกใสเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ วาริเซลลา (Varicella virus) หรือ ฮิวแมนเฮอร์ปี่ไวรัส ชนิดที่ 3 (Human herpes virus type 3) ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด ไวรัสชนิดนี้ติดต่อโดยการหายใจ ไอ จามรดกัน หรือการสัมผัสถูกตุ่มแผลสุกใสหรืองูสวัดโดยตรง หรือสัมผัสถูกของใช้ เช่น ที่นอน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่เปื้อนตุ่มแผลของผู้ป่วย

โรคที่มากับฤดูหนาว ตอนที่ 4: โรคไข้สุกใส

อาการ

เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้วจะใช้เวลาประมาณ 10 ถึง 20 วันจึงจะเริ่มมีอาการ เช่น ไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน ต่อมาจึงเริ่มมีผื่นแดงที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังจากมีไข้ จะเป็นผื่นแดงราบก่อนแล้วจึงเปลี่ยนกลายเป็นตุ่มนูนมีน้ำใสอยู่ภายในและมี อาการคัน ตุ่มน้ำใสนี้มักเริ่มขึ้นที่หนังศีรษะตามไรผมก่อนแล้วจึงลามไปที่ใบหน้า แผ่นหลัง ลำตัว แขนและขา ทยอยขึ้นเต็มที่ภายใน 4 วัน บางคนอาจมีตุ่มแผลขึ้นในช่องปาก ทำให้เจ็บคอ ลิ้นเปื่อย ปากเปื่อย อีกลักษณะที่สำคัญคือตุ่มนูนใสนี้มักจะไม่ขึ้นพร้อมกันทั่วร่างกาย ดั้งนั้นจึงพบว่าบางที่ขึ้นเป็นผื่นแดงราบ ในขณะที่อวัยวะส่วนอื่นขึ้นเป็นตุ่มนูนใส หรือบางที่เป็นตุ่มหนอง หรือบางที่ผื่นสุกที่เริ่มตกสะเก็ด เป็นที่มาของชื่ออีสุกอีใส

การรักษาและวิธีปฏิบัติตัว

  1. ผู้ที่เป็นโรคไข้สุกใสส่วนมากจะหายเองได้ แต่ต้องระวังอย่าให้เกิดโรคแทรกซ้อน
  2. โรคไข้สุกใสไม่มียาต้านไวรัส ดังนั้นการดูแลรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอกินยาลดไข้เฉพาะพาราเซตามอลเท่านั้น ห้ามกินยาลดไข้ชนิดแอสไพริน เนื่องจากทำให้ตับอักเสบรุนแรงได้
  3. ควรตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการแกะเกาตุ่มคันสุกใส เพราะนอกจากจะกลายเป็นแผลเป็นที่รักษายากแล้ว ยังทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในเล็บและผิวหนังจนเกิดโรคผิวหนังแทรกซ้อน ได้ นอกจากนี้เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวอาจแพร่เข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ เช่นที่ปอดจนเกิดฝีในปอดได้
  4. รับประทานอาหารได้ตามปกติ ทั้งเนื้อนมไข่ เพื่อให้ร่างกายเสริมสร้างภูมิต้านทานต่อโรค แต่ควรลดอาหารรสจัดถ้ามีแผลในปาก
  5. โดยทั่วไปอาการไข้สุกใสจะค่อยๆ ทุเลาได้เองภายใน 1 ถึง 3 อาทิตย์ ในระยะนี้ให้ระวังโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เช่น แก้วหูอักเสบ ปอดอักเสบ ตับอักเสบ หรือ ติดเชื้อในสมอง ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดหู หรือไอ หายใจเหนื่อย เจ็บหน้าอก หรือ ตาเหลืองตัวเหลือง (ดีซ่าน) หรือ ปวดศีรษะมาก ซึมลง ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาเพิ่มเติม

โรคที่มากับฤดูหนาว ตอนที่ 4: โรคไข้สุกใส

การป้องกัน

1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยโรคสุกใสโดยตรง 
2. ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ช้อน จาน ชาม ฯลฯ
3. ควรทำร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
4. ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคสุกใส โดยสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และฉีดกระตุ้นซ้ำอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 4 ถึง 6 ขวบ ปัจจุบันมีวัคซีนรวมของสุกใสและหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR) ทำให้ถูกฉีดวัคซีนน้อยครั้งลง

ที่มา: ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ

ขอขอบคุณ
ที่ปรึกษาบทความ : นายแพทย์พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4568

อัพเดทล่าสุด