อากาศร้อน!!! เสี่ยงเกิดภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน


779 ผู้ชม


ช่วงนี้อากาศค่อนข้างร้อนในหลายพื้นที่่...ควรระวังสุขภาพกันด้วย   

เตือนอากาศร้อน!!! กระทบเด็กเล็ก-ผู้สูงอายุ-ผู้มีโรคประจำตัว 
เสี่ยงเกิดภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน


นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ขณะนี้สภาพอากาศในหลายภูมิภาคค่อนข้างร้อนอบอ้าว ดังนั้นจึงเป็นห่วงอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่สืบเนื่องจากความร้อน คือปกติร่างกายคนเรามีอุณหภูมิประมาณ 36 - 37 องศาเซลเซียส ถ้าอากาศร้อนมากจนร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ไม่ถึง 40 องศาเซลเซียส อาจเกิดอาการเพลียแดดได้ แต่หากอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส อาจก่อให้เกิดอันตราย และเกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินอย่างฉับพลันได้ เช่น โรคลมแดด หรือเริ่มมีอาการทางสมอง เช่น ซึม สับสน ชักเกร็งหรือหมดสติ หรือมีอัตราการหายใจและชีพจรไม่สม่ำเสมอคือ ชีพจรเต้นเร็วกว่า 140 ครั้งต่อนาที มีความดันโลหิตสูง
ทั้งนี้ผู้ที่พบเห็นผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว หรือพบว่ามีอาการน่าสงสัยว่าจะมีภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินให้รีบโทรแจ้งที่สายด่วนเจ็บป่วยฉุกเฉินโทร 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือและให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
โดยเบื้องต้น ให้ปฏิบัติดังนี้
1. ให้นำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่อากาศร้อน ไปในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท 
2. ตรวจดูการหายใจ คือต้องดูให้แน่ใจว่าไม่มีอะไรค้างอยู่ในปากหรือจมูกหรือไม่ 
3. จัดศีรษะให้เงยขึ้น โดยมือหนึ่งจับที่หน้าผากและอีกมือหนึ่งชันคางขึ้นจะทำให้ช่องทางเดินหายใจเปิด 
4. หากเกรงว่าจะมีอาการสำลักให้ผู้ป่วยนอนในตะแคงกึ่งคว่ำ งอสะโพก งอเข่าพอสมควร 
5. ถ้าผู้ป่วยหมดสติและอาเจียน ให้จับศีรษะผู้ป่วยหันไปด้านข้าง เพื่อลดการสำลัก

นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า ภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินจากสภาพอากาศร้อน เกิดได้กับทุกคนที่ถูกแดดจัดหรืออยู่ในที่ๆร้อนจัดเป็นเวลานาน แต่ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ได้ง่ายขึ้นได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ โรคปอด โรคทางสมองเป็นต้น ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นระยะเวลานาน และควรดื่มน้ำบ่อยๆ หรือหาผ้าชุบน้ำประคบเพื่อลดความร้อนของร่างกาย
ที่มา : คลังความรู้สู่ความเป็นเลิศ 
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
ทุกระดับชั้น
สาระที่ 6
   กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก
มาตรฐาน  ว 6.1  เข้าใจกระบวนการต่าง ๆ   ที่เกิดขึ้นบนผิวโลกและภายในโลก   ความสัมพันธ์ของกระบวนการต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ  ภูมิประเทศ และสัณฐานของโลก  มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์  
สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
 
         Heat Stroke โรคฮิตที่มากับหน้าร้อน
        "โรคฮีท สโตรก" หรือ "โรคลมแดด" (Heat Stroke) โรคลมแดดเริ่มมีรายงานผู้ป่วยในประเทศไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2530 จัดได้ว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์อย่างแท้จริง เนื่องจากหากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัย และรักษาได้อย่างทันท่วงที ก็จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิต และ ความพิการลงได้อย่างมาก


ที่มาของภาพ : https://www.pattayadailynews.com/th/wp-content/uploads/2010/04/calor_int610.jpg

         
        ลักษณะสำคัญของโรคลมแดด
  ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมแดดมักมาด้วยอาการสามอย่างคือ 
1. มีไข้สูง อุณหภูมิแกนสูงกว่า 40.5 องศาเซลเซียส 
2. ระบบประสาทกลางทำงานผิดปกติ 
3. ไร้เหงื่อ หรืออาจพบอาการโซเซได้ ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียแดดทั่ว ๆ ไป ที่จะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย หากเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที
         การช่วยเหลือเบื้องต้น  นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อนเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดย เร็วที่สุด แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล

  

                                                (a)                                                               (b)

ที่มาของภาพ : 
(a)  https://www.pattayadailynews.com/th/wp-content/uploads/2010/04/33.jpg
(b) https://www.pattayadailynews.com/th/wp-content/uploads/2010/04/41.jpg

         
        การป้องกัน
  เตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมใน กรณีที่จะต้องเผชิญสภาพอากาศร้อน โดยการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ๆ ละอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพให้เคยชินกับอากาศร้อน หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะช่วงเวลา 10-15 นาฬิกา ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน หรือออกกำลัง ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละประมาณ 1 ลิตร หรือ 4-6 แก้วต่อชั่วโมง แม้ไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี ใช้โลชั่นกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟตั้งแต่ 15 ขึ้นไป ก่อนออกจากบ้าน  อ่านเนื้อหาเพิ่มเติม
ที่มา : ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
www.bangkokhospital.com
          ปรากฏการณ์โลกร้อน (Global warming) หมายถึง การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศใกล้พื้นผิวโลกและน้ำในมหาสมุทร ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 และมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
          ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา นับถึง พ.ศ. 2548 อากาศใกล้ผิวดินทั่วโลกโดยเฉลี่ยมีค่าสูงขึ้น 0.74 ± 0.18 องศาเซลเซียส ซึ่งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ของสหประชาชาติได้สรุปไว้ว่า “จากการสังเกตการณ์การเพิ่มอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลาง คริสต์ศตวรรษที่ 20 (ประมาณตั้งแต่ พ.ศ. 2490) ค่อนข้างแน่ชัดว่าเกิดจากการเพิ่มความเข้มของแก๊สเรือนกระจกที่เกิดขึ้นโดย กิจกรรมของมนุษย์ที่เป็นผลในรูปของปรากฏการณ์เรือนกระจก” ปรากฏการณ์ธรรมชาติบางอย่าง เช่น ความผันแปรของการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์และการระเบิดของภูเขาไฟ อาจส่งผลเพียงเล็กน้อยต่อการเพิ่มอุณหภูมิในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมจนถึง พ.ศ. 2490 และมีผลเพียงเล็กน้อยต่อการลดอุณหภูมิหลังจากปี 2490 เป็นต้นมาข้อสรุปพื้นฐานดังกล่าวนี้ได้รับการรับรองโดยสมาคมและสถาบันการ ศึกษาทางวิทยาศาสตร์ไม่น้อยกว่า 30 แห่ง รวมทั้งราชสมาคมทางวิทยาศาสตร์ระดับชาติที่สำคัญของประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ แม้นักวิทยาศาสตร์บางคนจะมีความเห็นโต้แย้งกับข้อสรุปของ IPCC อยู่บ้าง แต่เสียงส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ของโลกโดยตรงเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้ 

  

                                                                (a)                                            (b)

ที่มาของภาพ : 


        แบบจำลองการ คาดคะเนภูมิอากาศที่สรุปโดย IPCC บ่งชี้ว่าอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยที่ผิวโลกจะเพิ่มขึ้น 1.1 ถึง 6.4 องศาเซลเซียส ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 21 (พ.ศ. 2544–2643)การที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และคาดว่าทำให้เกิดภาวะลมฟ้าอากาศสุดโต่ง (extreme weather) ที่รุนแรงมากขึ้น ปริมาณและรูปแบบการเกิดหยาดน้ำฟ้าจะเปลี่ยนแปลงไป ผลกระทบอื่นๆ ของปรากฏการณ์โลกร้อนได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของผลิตผลทางเกษตร การเคลื่อนถอยของธารน้ำแข็ง การสูญพันธุ์พืช-สัตว์ต่างๆ รวมทั้งการกลายพันธุ์และแพร่ขยายโรคต่างๆ เพิ่มมากขึ้น  
        แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง ได้แก่ปริมาณของความร้อนที่คาดว่าจะเพิ่มในอนาคต ผลของความร้อนที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบอื่นๆ ที่จะเกิดกับแต่ละภูมิภาคบนโลกว่าจะแตกต่างกันอย่างไร รัฐบาลของประเทศต่างๆ แทบทุกประเทศได้ลงนามและให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต ซึ่งมุ่งประเด็นไปที่การลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก แต่ยังคงมีการโต้เถียงกันทางการเมืองและการโต้วาทีสาธารณะไปทั่วทั้งโลก เกี่ยวกับมาตรการว่าควรเป็นอย่างไร จึงจะลดหรือย้อนกลับความร้อนที่เพิ่มขึ้นของโลกในอนาคต หรือจะปรับตัวกันอย่างไรต่อผลกระทบของปรากฏการณ์โลกร้อนที่คาดว่าจะต้องเกิด ขึ้น 
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติม

ที่มา
 : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
         
คำถามชวนคิด
1. คุณมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อนได้หรือไม่ มีวิธีการปฏิบัติอย่างไร
2. คุณมีวิธีการคลายร้อนอย่างไร
กิจกรรมเสนอแนะ
ให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตถึงผลกระทบที่เกิดจากการแปรปรวนของ อากาศ  สาเหตุที่ทำให้อากาศแปรปรวน และแนวทางการป้องกันและแก้ไข
การบูรณาการ
1. กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา  เกี่ยวกับโรคที่เกิดจากอากาศร้อนจัด
2. กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ 
แหล่งที่มา
https://thairecent.com
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4624

อัพเดทล่าสุด