เช้าวันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม 2555 จะเกิดอุปราคาครั้งแรกของปี เป็นสุริยุปราคาวงแหวน
ประเด็นข่าว : สมาคมดาราศาสตร์ไทย (วรเชษฐ์ บุญปลอด)
เช้าวันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม 2555 จะเกิดอุปราคาครั้งแรกของปี เป็นสุริยุปราคาวงแหวนที่เกิดขึ้นหลังจากดวงจันทร์เพิ่งจะผ่านตำแหน่งไกลโลกที่สุดมาเมื่อ 2 วันก่อนหน้านั้น เส้นทางคราสวงแหวนผ่านพื้นที่บางส่วนของประเทศจีน ญี่ปุ่น ทางเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก และสหรัฐอเมริกากลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
ทุกระดับชั้น
สาระที่ 7 ดาราศาสตร์และอวกาศ
มาตรฐาน ว 7.1 เข้าใจวิวัฒนาการของระบบสุริยะและกาแล็กซี ปฏิสัมพันธ์ภายในระบบสุริยะและผลต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
มาตรฐาน ว 7.2 เข้าใจความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศที่นำมาใช้ในการสำรวจอวกาศและทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการเกษตรและการสื่อสาร สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์อย่างมีคุณธรรมต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม
บน : ภาพจำลองสุริยุปราคาขณะดวงอาทิตย์ขึ้นในบางจังหวัด ซึ่งเป็นจังหวะที่ดวงอาทิตย์แหว่งเว้ามากที่สุด (ดวงอาทิตย์บนฟ้าจริงจะมีลักษณะเป็นทรงรี ขนาดในแนวตั้งน้อยกว่าขนาดในแนวนอน ซึ่งเกิดจากการที่แสงหักเหผ่านบรรยากาศ) หลังจากนั้น ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนสูงขึ้น ดวงจันทร์ค่อย ๆ เคลื่อนออกจากดวงอาทิตย์ แล้วสิ้นสุดปรากฏการณ์ โดยแต่ละสถานที่สิ้นสุดไม่พร้อมกัน – จากภาพจะเห็นว่าตอนบนสุดของภาคใต้และบริเวณเกาะพะงันอยู่ในเขตสุริยุปราคา บางส่วนด้วย แต่ดวงอาทิตย์แหว่งน้อยมาก และสิ้นสุดปรากฏการณ์เกือบจะทันทีหลังจากดวงอาทิตย์ขึ้น
ในตารางแสดงผลการคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเมื่อสังเกตที่กรุงเทพฯ และอำเภอเมืองของจังหวัดที่เห็นสุริยุปราคาในวันนี้ โดยดวงอาทิตย์จะถูกบังลึกที่สุดขณะดวงอาทิตย์ขึ้น ขนาดยิ่งมีค่ามาก ยิ่งถูกบังลึกมาก เมื่อสิ้นสุดสุริยุปราคา ดวงอาทิตย์จะทำมุมสูงจากขอบฟ้าไม่มาก จึงมีเวลาสังเกตสุริยุปราคาในวันนี้ได้ไม่นาน
ขั้นตอนการเกิดสุริยุปราคา 21 พฤษภาคม 2555 | |||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
สถานที่ | ดวงอาทิตย์ขึ้น | สิ้นสุดสุริยุปราคา | |||||||||
เวลา | ขนาดของสุริยุปราคา | เวลา | มุมเงย | ||||||||
กรุงเทพฯ | 05:53 น. | 0.212 | 06:06 น. | 3.1° | |||||||
ขอนแก่น | 05:39 น. | 0.451 | 06:09 น. | 6.5° | |||||||
จันทบุรี | 05:48 น. | 0.254 | 06:05 น. | 3.7° | |||||||
เชียงใหม่ | 05:51 น. | 0.330 | 06:12 น. | 4.6° | |||||||
นครพนม | 05:30 น. | 0.601 | 06:10 น. | 8.7° | |||||||
นครราชสีมา | 05:44 น. | 0.350 | 06:07 น. | 5.1° | |||||||
ประจวบคีรีขันธ์ | 05:58 น. | 0.094 | 06:05 น. | 1.5° | |||||||
สุโขทัย | 05:50 น. | 0.306 | 06:10 น. | 4.3° | |||||||
อุบลราชธานี | 05:33 น. | 0.511 | 06:07 น. | 7.5° |
การสังเกตสุริยุปราคา
โดยทั่วไป การดูดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า ไม่ว่าในยามปกติหรือขณะเกิดสุริยุปราคาบางส่วน ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง เนื่องจากแสงอาทิตย์ที่สว่างเจิดจ้าสามารถทำอันตรายต่อดวงตาของเราได้ แต่เราอาจสังเกตดวงอาทิตย์ได้เป็นเวลาสั้น ๆ ขณะที่ดวงอาทิตย์เพิ่งขึ้นเหนือขอบฟ้าหรือใกล้ตกลับขอบฟ้า ซึ่งเป็นช่วงที่แสงอาทิตย์ต้องเดินทางผ่านบรรยากาศเป็นระยะทางไกลกว่าเมื่อ อยู่สูงบนท้องฟ้า
สุริยุปราคาบางส่วนในเช้าวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 ดวงอาทิตย์จะแหว่งตั้งแต่ปรากฏขึ้นเหนือขอบฟ้า ช่วงนั้นดวงอาทิตย์เป็นสีแดงหรือสีส้ม อาจสังเกตด้วยตาเปล่าได้ แต่เมื่อดวงอาทิตย์ลอยสูงขึ้นจนเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือขาว และมีความเข้มแสงมากขึ้น ให้ระมัดระวัง อย่าจ้องดูดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า และอย่าดูผ่านกล้องที่ไม่มีแผ่นกรองแสงปิดหน้ากล้อง ให้ใช้แผ่นกรองแสง เช่น แว่นสุริยะ หน้ากากหรือแว่นตาที่ช่างเชื่อมโลหะใช้ (ต้องทึบมากพอ ดูแล้วสบายตา) ช่วยลดแสงของดวงอาทิตย์
แว่นสุริยะของสมาคมดาราศาสตร์ไทย
วัสดุกรองแสงที่ไม่ปลอดภัยและควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ กระจกรมควัน (เป็นวิธีหนึ่งที่แนะนำกันในอดีต แต่ในทางปฏิบัติ การรมควันอาจไม่สม่ำเสมอ หรือเสี่ยงต่อการแตก) แว่นกันแดด กระดาษห่อลูกอม แผ่นดิสเก็ตต์ ฟิล์มเอกซ์เรย์ ฟิล์มถ่ายรูป ฯลฯ แนะนำว่าอย่านำมาใช้ดูดวงอาทิตย์ แม้ว่าวัสดุเหล่านี้จะมีความสามารถในการกรองแสงย่านแสงขาว แต่รังสีอินฟราเรดสามารถทะลุผ่านได้ และไม่ปลอดภัยต่อดวงตา
นอกจากการสังเกตทางตรง ยังมีวิธีสังเกตทางอ้อม คือการให้แสงอาทิตย์ส่องผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาไปตกที่ฉากรับภาพ หากไม่มีกล้องโทรทรรศน์ สามารถสังเกตได้ด้วยหลักการของกล้องรูเข็ม โดยนำกระดาษมาเจาะเป็นรูขนาด 1 เซนติเมตร แล้วเอาไปประกบกับกระจกเงาด้วยเทปกาว จากนั้นนำกระจกที่ปิดให้เหลือช่องขนาดเล็กนี้ไปรับแสงอาทิตย์ ให้แสงสะท้อนไปที่ผนัง ดวงกลมที่ปรากฏบนผนังคือภาพดวงอาทิตย์ มีลักษณะแหว่งเว้าตามสุริยุปราคาที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้า
ขนาดของภาพดวงอาทิตย์บนฉากแปรผันตามระยะห่างระหว่างกระจกกับฉากรับภาพ โดยที่ระยะ 1 เมตรจะได้ภาพดวงอาทิตย์ขนาดประมาณ 9 มิลลิเมตร ดังนั้นที่ระยะห่าง 10 เมตร จะได้ภาพดวงอาทิตย์ขนาด 9 เซนติเมตร วิธีนี้ทำให้เราสามารถสังเกตสุริยุปราคาได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นอันตราย ต่อดวงตา แต่พึงระวังอย่าให้ใครที่เดินผ่านไปมามีโอกาสหันมามองแสงอาทิตย์ที่สะท้อน ออกมาจากกระจก
สุริยุปราคาวันนี้เกิดขณะดวงอาทิตย์ขึ้น และสิ้นสุดลงไม่นานหลังดวงอาทิตย์ขึ้น จึงต้องแน่ใจว่าสังเกตจากสถานที่ที่ขอบฟ้าด้านทิศตะวันออก เยื้องไปทางซ้ายเล็กน้อย เปิดโล่ง ไม่มีสิ่งใดบดบัง หรือสังเกตจากอาคารสูงที่ไม่มีอาคารใกล้เคียงตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของ จุดสังเกต
หลังจากสุริยุปราคาในปีนี้ ประเทศไทยจะว่างเว้นจากสุริยุปราคาไปอีกนานถึง 4 ปี สุริยุปราคาครั้งถัดไปสำหรับประเทศไทยเกิดขึ้นในเช้าวันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559 วันนั้นเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงพาดผ่านเกาะต่าง ๆ ของประเทศอินโดนีเซีย ภาคใต้จึงมีโอกาสเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากกว่าภาคอื่น ๆ
ดูเพิ่ม
- ตารางเวลาสำหรับอำเภอเมืองของทุกจังหวัดทั่วประเทศ
- อุปราคาและดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในปี 2555
- จันทรุปราคาบางส่วน : 4 มิถุนายน 2555
เว็บถ่ายทอดสด
- สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ - จากโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (เริ่มถ่ายทอดเวลา 04:19 น.)
- SLOOH Space Camera - จากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา (เริ่มถ่ายทอดเวลา 04:30 น.)
- Eclipse Live from Fujiyama - จากภูเขาฟูจิ ประเทศญี่ปุ่น (เริ่มถ่ายทอดเวลา 05:00 น.)
- Live-eclipse - [1] [2] - จากญี่ปุ่น (เริ่มถ่ายทอดเวลา 04:00 น.)
- Hong Kong Observatory Webcast - จากฮ่องกง ประเทศจีน (เริ่มถ่ายทอดเวลา 03:41 น.)
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4649