หน่วยพันธุกรรม (Gene) ที่มีชื่อว่า “แบล็คค่า (BRCA)” กับการเกิดมะเร็งเต้านมของสตรี


900 ผู้ชม


มะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในสาเหตุที่สำคัญของการเสียชีวิตของสตรีทั่วโลก   

มะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในสาเหตุที่สำคัญของการเสียชีวิตของสตรีทั่วโลก (Jemal et al. 2011) โดยอาการที่ปรากฏได้บ่อยที่สุดของมะเร็งเต้านมไม่ว่าจะอยู่ในระยะก่อนลุกลามและระยะที่มีการลุกลามไปแล้วก็ตามทีคือ (Bhattacharya, Adhikary 2006, Mathis et al. 2010) การคลำได้ก้อนที่เต้านมโดยปราศจากอาการเจ็บปวดแต่ประการใด ซึ่งก้อนเนื้องอกมักจะถูกคลำได้ด้วยตนเองหรือโดยแพทย์ตรงบริเวณส่วนบนทางด้านนอกของเต้านม (Bhattacharya, Adhikary 2006, Lee 2005, MacLean 2004, Saber 2000, Sohn et al. 2008) ทั้งนี้การเกิดมะเร็งเต้านมของสตรีนั้นมีความเกี่ยวข้องทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบในแต่ละบุคคลนั่นเอง สำหรับปัจจัยเสี่ยงซึ่งมีหลักฐานอันเป็นที่แน่ชัดอย่างมีนัยสำคัญแล้วว่ามีความสัมพันธ์ในระดับสูงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมประกอบด้วย

  1. อายุมากกว่า 50 ปี

  2. มีความสูงตั้งแต่ 160 เซนติเมตร

  3. ดื่มสุราในปริมาณมากกว่า 150 กรัมต่อสัปดาห์

  4. ได้รับการฉายรังสีในปริมาณที่สูงบริเวณทรวงอก

  5. ในช่วงก่อนวัยหมดประจำเดือนมีรูปร่างผอมสมส่วนหรือมีดัชนีมวลกาย [Body mass index (BMI) คำนวณได้จากสูตรคือ น้ำหนักเป็นกิโลกรัม/(ส่วนสูงเป็นเมตร)2] ตั้งแต่ 22.5– 24.9 กิโลกรัม/ตารางเมตร

  6. เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกขณะอายุน้อยกว่า 14 ปี

  7. ไม่เคยตั้งครรภ์เลย

  8. รับประทานยาคุมกำเนิดอยู่เป็นประจำ

  9. คลอดบุตรแบบครบกำหนดเมื่อมีอายุตั้งแต่ 30 ปี

  10. ไม่เคยเลี้ยงดูบุตรจากน้ำนมของตนเอง (Breast feeding)

  11. ประจำเดือนหมดเมื่ออายุ 54 ปีเป็นต้นไป

  12. ได้รับฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยหมดประจำเดือนเป็นระยะเวลานานกว่า 5 ปี

  13. ในช่วงหลังวัยหมดประจำเดือนมีรูปร่างอ้วนหรือมีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร

  14. ผลการตรวจทางเนื้อเยื่อของก้อนที่เต้านม (Breast biopsy) พบความผิดปกติในการเพิ่มจำนวนของเซลล์เยื่อบุผิว (Atypical epithelial hyperplasia) ของท่อ/ต่อมน้ำนม

  15. มีประวัติของการเกิดมะเร็งเต้านมในญาติสายตรง (First-degree relatives) อันได้แก่ มารดา, น้องสาว และ ลูกสาว อย่างน้อย 1 คน; และ (16) มีความผิดปกติแบบการกลายพันธุ์ (Mutations) ของหน่วยพันธุกรรม (Gene) ที่มีชื่อว่า “แบล็คค่า 1 [BRCA1 (breast cancer susceptibility gene 1)]” และ “แบล็คค่า 2 [BRCA2 (breast cancer susceptibility gene 2)]” (https://info.cancerresearchuk.org/cancerstats/types/breast/riskfactors/#source1, Amir et al. 2010, Evans, Howell 2007, Iwasaki, Tsugane 2011, Lee, Park & Park 2008, Parsa, Parsa 2009, Trichopoulos et al. 2008, Warren, Devine 2004)

หน่วยพันธุกรรม (Gene) ที่มีชื่อว่า “แบล็คค่า (BRCA)” กับการเกิดมะเร็งเต้านมของสตรี

อย่างไรก็ตามประมาณร้อยละ 75 ของการเกิดมะเร็งเต้านมในสตรีนั้นมีความเกี่ยวข้องอย่างเด่นชัดกับ “ปัจจัยภายนอกซึ่งรวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตที่มีผลกระทบในแต่ละบุคคล” สำหรับกรณีของ “กรรมพันธุ์” นั้นมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดมะเร็งเต้านมราวร้อยละ 25 เท่านั้น (Key, Verkasalo & Banks 2001, Lichtenstein et al. 2000) นอกจากนี้แล้วยังพบว่าแม้นสตรีรายใดจะมีประวัติของมะเร็งเต้านมที่เกิดขึ้นกับมารดา, น้องสาว และ/หรือ ลูกสาว ก็มิได้หมายความว่าสตรีผู้นั้นจักต้องมีการเกิดมะเร็งเต้านมด้วยทุกรายไป (Key, Verkasalo & Banks 2001, Collaborative Group on Hormonal Factors in Breast Cancer 2001) เพราะว่าเกือบร้อยละ 90 ของสตรีที่เกิดมะเร็งเต้านมก็มิได้มีประวัติครอบครัวเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมในญาติสายตรง (First-degree relatives) อันได้แก่ มารดา, น้องสาว และ ลูกสาว เลยก็ว่าได้ (Key, Verkasalo & Banks 2001, Collaborative Group on Hormonal Factors in Breast Cancer 2001) โดยทั่วไปแล้วการถ่ายทอดความผิดปกติแบบการกลายพันธุ์ของหน่วยพันธุกรรมที่มีชื่อว่า BRCA1 และ BRCA2 นั้นก็พบได้เพียงแค่ร้อยละ 2 – 6 ของมะเร็งเต้านม (Key, Verkasalo & Banks 2001, Esteves et al. 2009, Papelard et al. 2000, Peto 2001, Schwartz et al. 2008, Wooster, Weber 2003) ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่า มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่นั้นได้ถูกจัดว่าเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นเองและมักจะไม่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดความผิดปกติทางพันธุกรรมจากบรรพบุรุษหรือสายเลือดในครอบครัว (Sporadic cancer) หรืออีกนัยหนึ่งก็คือว่ามะเร็งเต้านมนั้นเป็นผลจากความผิดปกติแบบการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นเองของสารพันธุกรรม [Deoxyribonucleic acid (DNA)] ของเซลล์ร่างกาย (Sporadic somatic mutations) ตรงเยื่อบุผิวของท่อ/ต่อมน้ำนมของสตรีแต่ละบุคคลนั่นเอง โดยที่การเกิดมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับความผิดปกติแบบการกลายพันธุ์ของสารพันธุกรรมของเซลล์สืบพันธุ์ (ไข่และอสุจิ) ซึ่งการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในเซลล์ไข่หรืออสุจินี้แหละเป็นเหตุให้บรรพบุรุษสามารถถ่ายทอดความผิดปกติของสารพันธุกรรมที่มีอยู่สู่ลูกหลานต่อไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด (Germline mutations) (Didraga et al. 2011, Joosse et al. 2009, Olopade et al. 2008)

โดยปกติแล้ว BRCA1 และ BRCA2 เป็นหน่วยพันธุกรรมซึ่งมีหน้าที่ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ เพื่อมิให้เซลล์นั้นมีการเพิ่มจำนวนที่มากเกินไปจนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด ฉะนั้นจึงเรียกหน่วยพันธุกรรมที่มีหน้าที่ดังกล่าวนี้ว่า “หน่วยพันธุกรรมต้านมะเร็ง (Tumour suppressor genes)” ซึ่งหากเกิดความผิดปกติแบบการกลายพันธุ์ชนิดด้อย (Recessive) ของสารพันธุกรรม (DNA) ใน BRCA1 และ/หรือ BRCA2 ของเซลล์ร่างกายตรงเยื่อบุผิวของท่อ/ต่อมน้ำนมของสตรีแต่ละบุคคลหรือของเซลล์สืบพันธุ์ (ไข่และอสุจิ) ก็จะยังผลให้สตรีผู้ที่มีความผิดปกติของหน่วยพันธุกรรมนั้นเกิดความเสี่ยงอย่างมากที่จะพัฒนามะเร็งของเต้านมขึ้นมาได้ ทั้งนี้ความผิดปกติแบบการกลายพันธุ์ชนิดด้อยจนก่อให้เกิดมะเร็งนั้นจะต้องเกิดความผิดปกติของหน่วยพันธุกรรมต้านมะเร็ง ณ ตำแหน่งเดียวกันของทั้งโครโมโซม [Chromosome (โครงสร้างอันเป็นที่อยู่ของสารพันธุกรรม)] ข้างที่ได้รับจากมารดาและข้างที่ได้รับจากบิดา ซึ่งเรียกตำแหน่งเดียวกันนี้ว่า “อัลลีล (Allele)” แม้กระนั้นก็ตามความผิดปกติของ BRCA1 และ/หรือ BRCA2 เพียงอย่างเดียวก็มิได้หมายความว่าสตรีผู้นั้นต้องเกิดมะเร็งเต้านมอย่างแน่นอน เพราะการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุผิวของท่อ/ต่อมน้ำนมจนกระทั่งกลายเป็นมะเร็งนั้นต้องมีความผิดปกติของหน่วยพันธุกรรมตัวอื่นเข้ามาร่วมด้วยเสมอ (Welcsh, King 2001, Yanatatsaneejit, Khowutthitham 2012) อนึ่งความผิดปกติแบบการกลายพันธุ์ของ BRCA1 และ/หรือ BRCA2 นี้ก็ยังมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งของรังไข่อีกด้วย (Welcsh, King 2001)

ดังนั้นสตรีรายใดก็ตามที่มีประวัติของคนในครอบครัวโดยเฉพาะญาติสายตรงอันได้แก่ มารดา, น้องสาว และ ลูกสาว เกิดการเจ็บป่วยด้วยมะเร็งของเต้านมและ/หรือมะเร็งของรังไข่ สมควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจคัดกรอง (Screening test) จากเลือดว่ามีความผิดปกติของ BRCA1 และ BRCA2 หรือไม่ ทั้งยังช่วยประเมินความเสี่ยงและวางแผนระวังป้องกันสำหรับการเกิดมะเร็งดังกล่าวต่อไปในภายหน้าอีกด้วย (Balmana et al. 2011, Pal, Vadaparampil 2012, Patmasiriwat et al. 2002)

เอกสารอ้างอิง

  1. Breast cancer - risk factors 2010, 19th January-last update [Homepage of Cancer Research UK], [Online]. Available:https://info.cancerresearchuk.org/cancerstats/types/breast/riskfactors/#source1 [2011, December/15th].

  2. Amir, E., Freedman, O.C., Seruga, B. & Evans, D.G. 2010, "Assessing women at high risk of breast cancer: a review of risk assessment models", Journal of the National Cancer Institute, vol. 102, no. 10, pp. 680-691.

  3. Balmana, J., Diez, O., Rubio, I.T., Cardoso, F. & ESMO Guidelines Working Group 2011, "BRCA in breast cancer: ESMO Clinical Practice Guidelines", Annals of Oncology: Official Journal of the European Society for Medical Oncology / ESMO, vol. 22 Suppl 6, pp. vi31-4.

  4. Bhattacharya, S. & Adhikary, S. 2006, "Evaluation of risk factors, diagnosis and treatment in carcinoma breast--a retrospective study", Kathmandu University medical journal (KUMJ), vol. 4, no. 1, pp. 54-60.

  5. Collaborative Group on Hormonal Factors in Breast Cancer 2001, "Familial breast cancer: collaborative reanalysis of individual data from 52 epidemiological studies including 58,209 women with breast cancer and 101,986 women without the disease", Lancet, vol. 358, no. 9291, pp. 1389-1399.

  6. Didraga, M.A., van Beers, E.H., Joosse, S.A., Brandwijk, K.I., Oldenburg, R.A., Wessels, L.F., Hogervorst, F.B., Ligtenberg, M.J., Hoogerbrugge, N., Verhoef, S., Devilee, P. & Nederlof, P.M. 2011, "A non-BRCA1/2 hereditary breast cancer sub-group defined by aCGH profiling of genetically related patients", Breast cancer research and treatment, .

  7. Esteves, V.F., Thuler, L.C., Amendola, L.C., Koifman, R.J., Koifman, S., Frankel, P.P., Vieira, R.J. & Brazilian Network of Breast and Ovarian Familial Cancer Aggregation 2009, "Prevalence of BRCA1 and BRCA2 gene mutations in families with medium and high risk of breast and ovarian cancer in Brazil", Brazilian journal of medical and biological research = Revista brasileira de pesquisas medicas e biologicas / Sociedade Brasileira de Biofisica ...[et al.], vol. 42, no. 5, pp. 453-457.

  8. Evans, D.G. & Howell, A. 2007, "Breast cancer risk-assessment models", Breast cancer research : BCR, vol. 9, no. 5, pp. 213.

  9. Iwasaki, M. & Tsugane, S. 2011, "Risk factors for breast cancer: epidemiological evidence from Japanese studies", Cancer science, vol. 102, no. 9, pp. 1607-1614.

  10. Jemal, A., Bray, F., Center, M.M., Ferlay, J., Ward, E. & Forman, D. 2011, "Global cancer statistics", CA: a cancer journal for clinicians, vol. 61, no. 2, pp. 69-90.

  11. Joosse, S.A., van Beers, E.H., Tielen, I.H., Horlings, H., Peterse, J.L., Hoogerbrugge, N., Ligtenberg, M.J., Wessels, L.F., Axwijk, P., Verhoef, S., Hogervorst, F.B. & Nederlof, P.M. 2009, "Prediction of BRCA1-association in hereditary non-BRCA1/2 breast carcinomas with array-CGH", Breast cancer research and treatment, vol. 116, no. 3, pp. 479-489.

  12. Key, T.J., Verkasalo, P.K. & Banks, E. 2001, "Epidemiology of breast cancer", The lancet oncology, vol. 2, no. 3, pp. 133-140.

  13. Lee, A.H. 2005, "Why is carcinoma of the breast more frequent in the upper outer quadrant? A case series based on needle core biopsy diagnoses", Breast (Edinburgh, Scotland), vol. 14, no. 2, pp. 151-152.

  14. Lee, S.M., Park, J.H. & Park, H.J. 2008, "Breast cancer risk factors in Korean women: a literature review", International nursing review, vol. 55, no. 3, pp. 355-359.

  15. Lichtenstein, P., Holm, N.V., Verkasalo, P.K., Iliadou, A., Kaprio, J., Koskenvuo, M., Pukkala, E., Skytthe, A. & Hemminki, K. 2000, "Environmental and heritable factors in the causation of cancer--analyses of cohorts of twins from Sweden, Denmark, and Finland", The New England journal of medicine, vol. 343, no. 2, pp. 78-85.

  16. MacLean, J. 2004, Breast Cancer in California: A Closer Look, California Breast Cancer Research Program, USA.

  17. Mathis, K.L., Hoskin, T.L., Boughey, J.C., Crownhart, B.S., Brandt, K.R., Vachon, C.M., Grant, C.S. & Degnim, A.C. 2010, "Palpable presentation of breast cancer persists in the era of screening mammography", Journal of the American College of Surgeons, vol. 210, no. 3, pp. 314-318.

  18. Olopade, O.I., Grushko, T.A., Nanda, R. & Huo, D. 2008, "Advances in breast cancer: pathways to personalized medicine", Clinical cancer research: an official journal of the American Association for Cancer Research, vol. 14, no. 24, pp. 7988-7999.

  19. Pal, T. & Vadaparampil, S.T. 2012, "Genetic risk assessments in individuals at high risk for inherited breast cancer in the breast oncology care setting", Cancer control: journal of the Moffitt Cancer Center, vol. 19, no. 4, pp. 255-266.

  20. Papelard, H., de Bock, G.H., van Eijk, R., Vliet Vlieland, T.P., Cornelisse, C.J., Devilee, P. & Tollenaar, R.A. 2000, "Prevalence of BRCA1 in a hospital-based population of Dutch breast cancer patients", British journal of cancer, vol. 83, no. 6, pp. 719-724.

  21. Parsa, P. & Parsa, B. 2009, "Effects of reproductive factors on risk of breast cancer: a literature review", Asian Pacific journal of cancer prevention : APJCP, vol. 10, no. 4, pp. 545-550.

  22. Patmasiriwat, P., Bhothisuwan, K., Sinilnikova, O.M., Chopin, S., Methakijvaroon, S., Badzioch, M., Padungsutt, P., Vattanaviboon, P., Vattanasapt, V., Szabo, C., Saunders, G.F., Goldgar, D. & Lenoir, G.M. 2002, "Analysis of breast cancer susceptibility genes BRCA1 and BRCA2 in Thai familial and isolated early-onset breast and ovarian cancer", Human mutation, vol. 20, no. 3, pp. 230.

  23. Peto, J. 2001, "Cancer epidemiology in the last century and the next decade", Nature, vol. 411, no. 6835, pp. 390-395.

  24. Saber, R.A. 2000, "Assessment of Breast Carcinoma by 99mTC-Sestamibi Scintimammography: Effect of Lesion Site, Size and Histopathological Characteristics", Journal of the Egyptian National Cancer Institute, vol. 12, no. 3, pp. 183-189.

  25. Schwartz, G.F., Hughes, K.S., Lynch, H.T., Fabian, C.J., Fentiman, I.S., Robson, M.E., Domchek, S.M., Hartmann, L.C., Holland, R., Winchester, D.J. & Consensus Conference Committee The International Consensus Conference Committee 2008, "Proceedings of the international consensus conference on breast cancer risk, genetics, & risk management, April, 2007", Cancer, vol. 113, no. 10, pp. 2627-2637.

  26. Sohn, V.Y., Arthurs, Z.M., Sebesta, J.A. & Brown, T.A. 2008, "Primary tumor location impacts breast cancer survival", American Journal of Surgery, vol. 195, no. 5, pp. 641-644.

  27. Trichopoulos, D., Adami, H.O., Ekbom, A., Hsieh, C.C. & Lagiou, P. 2008, "Early life events and conditions and breast cancer risk: from epidemiology to etiology", International journal of cancer.Journal international du cancer, vol. 122, no. 3, pp. 481-485.

  28. Warren, B.S. & Devine, C.M. 2004, Understanding Breast Cancer Risk and Risk Factors Associated With Diet and Lifestyle, Cornell University Program on Breast Cancer and Environmental Risk Factors, USA.

  29. Welcsh, P.L. & King, M.C. 2001, "BRCA1 and BRCA2 and the genetics of breast and ovarian cancer", Human molecular genetics, vol. 10, no. 7, pp. 705-713.

  30. Wooster, R. & Weber, B.L. 2003, "Breast and ovarian cancer", The New England journal of medicine, vol. 348, no. 23, pp. 2339-2347.

  31. Yanatatsaneejit, P. & Khowutthitham, S. 2012, "Cancer: Secret in genetic code", Thai Journal of Genetics, vol. 5, no. 1, pp. 1-20.

ที่มา : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ

ผู้เรียบเรียงบทความ : พันโท นายแพทย์ ดร.เจตนา เรืองประทีป พยาธิแพทย์ / ปริญญาเอกสาขามะเร็งศึกษาและอณูเวชศาสตร์
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4871

อัพเดทล่าสุด