"การคาดคะเน"เป็นเนื้อหาหนึ่งในบทเรียนคณิตศาสตร์ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พศ. 2544 ที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( สสวท.)จัดทำและใช้สอนอยู่ในระดับประถมศึกษาช่วงชั้นที่ 1 โดยจัดกิจกรรมการสอนที่เชื่อมโยงกับการนำไปใช้ประโยชน์ใน
เรื่อง ยก “ตลาดสด ”มาไว้ในห้องเรียน “คณิตกับชีวิตประจำวัน” เรื่องมันส์ๆของ “การคาดคะเน”
"การคาดคะเน"เป็นเนื้อหาหนึ่งในบทเรียนคณิตศาสตร์ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พศ. 2544 ที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( สสวท.)จัดทำและใช้สอนอยู่ในระดับประถมศึกษาช่วงชั้นที่ 1 โดยจัดกิจกรรมการสอนที่เชื่อมโยงกับการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน กระตุ้นให้นักเรียนแลเห็นคุณค่าและความสำคัญของวิชาคณิตศาสตร์ ให้รู้จักสังเกต คิด วิเคราะห์ ให้เหตุผล จนนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆในชีวิตได้
ดิฉันเจอบทความหนึ่งของอาจารย์นงลักษณ์ ศรีสุวรรณ ผู้ชำนาญ สาขาคณิตศาสตร์ประถมศึกษา ของสสวท. อ่านแล้วก็นึกสนุกตามไปด้วยก็ลองนำมาใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3ซึ่งดิฉันเป็นครูประจำชั้นสอนคณิตศาสตร์เนื้อหาการคาดคะเนอยู่ในบทที่ 5 นำมาเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนสอดแทรกกับเนื้อหาในคู่มือครูของสสวท.หน้า 107-127แล้วนำกิจกรรมของอาจารย์นงลักษณ์มาประยุกต์ใช้ตามสภาพความเป็นจริงของนักเรียนในห้องเรียน เป็นไปได้นักเรียนเกิดความสนุกสนานจากประสบการณ์จริงในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว
จากเนื้อหาที่เราใช้สอนและจากประสบการณ์ที่นักเรียนได้ปฏิบัติในชั้นเรียนมาสู่
ประเด็นคำถาม
1.เวลานักเรียนซื้อของที่ตลาดก่อนจะซื้อต้องหยิบมาแล้วคาดคะเนว่าน่าจะมีน้ำหนักตามที่คิดก่อนชั่งหรือไม่
2.นักเรียนจะต้องใช้วิธีการอะไรจึงจะได้ของตามที่เราต้องการ
3. นักเรียนค้นพบอะไรบ้างที่ได้รับจากประสบการณ์จริง
แล้วเด็กนักเรียนได้อะไร
1. ความสนุกสนาน
2. รู้จักสังเกต คิดวิเคราะห์ ให้เหตุผล
3. นำไปใช้แก้ปัญหาต่างๆในชีวิตได้
ลองดูนะคะว่าบทความที่ดิฉันหยิบยกมาใช้เป็นตัวอย่างของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในครั้งนี้จะได้ผลเหมือนกับดิฉันหรือไม่
บทความ ยก "ตลาดสด" มาไว้ในห้องเรียน " คณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน" เรื่องมันส์ๆของ "การคาดคะเน"ของอาจารย์นงลักษณ์ ศรีสุวรรณ ผู้ชำนาญ สาขาคณิตศาสตร์ประถมศึกษาของ สสวท. มาพร้อมกับ เครื่องชั่งน้ำหนักและสารพัดผัก ผลไม้ในวันนี้ โดยได้เริ่มอุ่นเครื่องด้วยการอธิบายความรู้เรื่องหน่วยมาตรฐานของการชั่งน้ำหนักให้นักเรียนเข้าใจประกอบแผนภาพก่อน
จากนั้นในรอบแรกได้จัดนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละ 3 คน แล้วแจกใบงานซึ่งมีรายละเอียดของผัก ผลไม้ประจำชั่วโมงนี้ครบครัน แล้วจึงเลือกผักและผลไม้ 3 ชนิดที่มีขนาดและรูปทรงต่างกัน ส่งให้แต่ละกลุ่มได้สัมผัสและทดลองคาดคะเนน้ำหนักจากประสบการณ์จริงของแต่ละคน ก่อนจะให้เด็กๆ ลงคำตอบในใบงานพร้อมกับเรียงลำดับน้ำหนักจากมากไปหาน้อยจากนั้นอาจารย์ก็เฉลยโดยนำเอาผัก ผลไม้ในรอบแรกมาชั่งพิสูจน์จากเครื่องชั่งของจริงหน้าชั้น นักเรียนกลุ่มไหนตอบผิด ถูก หรือคลาดเคลื่อนไปมากน้อยแค่ไหน ก็ได้มีโอกาสตรวจสอบผล "การคาดคะเน" ของตนไปพร้อมๆ กับตั้งข้อสังเกต และ คิดวิเคราะห์
รอบที่สองคึกคักยิ่งขึ้นเมื่ออาจารย์นงลักษณ์ให้นักเรียนออกมาสังเกตดูลักษณะ รูปร่างของพืช ผัก ผลไม้ ทุกชนิดหน้าชั้นโดยยังไม่อนุญาตให้สัมผัส แล้วให้นักเรียนใช้ประสบการณ์จริงของแต่ละคนทำการคาดคะเนน้ำหนักพืช ผัก ผลไม้ทุกชนิดโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยลงในใบงาน รอบนี้ทำเอาเด็กๆ หลายคนถึงกับเกาศีรษะด้วยความสงสัยกึ่งลังเลเพราะไม่แน่ใจในรูปร่างที่แตกต่างกันซึ่งมีทั้งยาวรี กลมใหญ่ กลมเล็ก กลมแป้น เรียวเป็นเสี้ยว หรือเป็นพวงโตแต่โปร่งแถมยังระดะไปด้วยกิ่งใบอีกต่างหาก หนำซ้ำมะม่วง ส้ม หรือ ฝรั่ง ที่มีอยู่ชนิดละ 3 - 4 ผล ซึ่งหากเปรียบเทียบกับกะหล่ำปลีหัวโตอวบอ้วนเพียงหัวเดียว ก็ไม่อาจตัดสินได้ถูกแล้วว่าอย่างไหนจะหนักกว่ากัน
เคล็ดลับของการคาดคะเนจึงอยู่ที่การใช้ประสบการณ์จริงของนักเรียน แต่ละคน รวมทั้งความช่างสังเกตสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวัน เป็นพื้นฐานเชื่อมโยงไปสู่กระบวนการคิดเพื่อพิชิตโจทย์นั่นเอง
รอบที่สามได้เปิดโอกาสให้เด็กๆ พิสูจน์และหาคำตอบเอง โดยลงมือชั่งน้ำหนักพืช ผัก ผลไม้ ทุกชนิดด้วยตนเองแล้วเปรียบเทียบกับคำตอบที่ลงไว้ล่วงหน้าในใบงาน จากนั้นจึงวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้ตอบผิด โดยมีคุณครูทำหน้าที่พี่เลี้ยงคอยกระตุ้นและชี้แนะให้นักเรียนใช้เหตุและผลในการทำความเข้าใจ ชั่วโมงนี้จึงเอื้อให้นักเรียนได้ "ค้นพบ" ความรู้จากการฝึกทักษะปฏิบัตินั่นเอง
อาจารย์นงลักษณ์ ได้อธิบายว่าชั่วโมงลับคมสมองของเราวันนี้เป็นการจัดการสอนโดยนำเรื่องใกล้ๆ ตัว เช่นการซื้อของใน"ตลาดสด" มาจัดเป็นกิจกรรมสอนที่พัฒนาทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ โดยกระตุ้นให้นักเรียนใช้ทักษะการสังเกต คิด วิเคราะห์ ในการคาดคะเนน้ำหนักจนสามารถแก้ปัญหาและให้เหตุผลได้ เช่นเหตุที่มะละกอลูกเรียวผอมบางมีน้ำหนักมากกว่าพริกแห้งถุงใหญ่ๆ ก็เพราะเนื้อของมะละกอแน่นตันมีช่องว่างแกนในเพียงเล็กน้อย ต่างกับพริกแห้งที่แม้จะใส่รวมกันอยู่ในถุงใบเขื่อง แต่ก็ดูลวงตาเพราะข้างในกลวงเบา นอกจากนี้ยังฝึกทักษะการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ เกิดความคิดสร้างสรรค์ ข้อสำคัญยังทำให้เด็กๆรู้จักเชื่อมโยงความรู้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้ด้วย
"สมมุติไปซื้อผลไม้ น้ำตาล หรือ ถั่วเขียว 1 กิโลกรัมที่ตลาด เด็กๆ ที่รู้จักนำความรู้ไปใช้เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันก็จะเลือกหยิบตักในปริมาณที่ใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุดก่อนนำขึ้นชั่ง เพราะหากหนักหรือเบาไปนิดหน่อยก็ยังสามารถเติมหรือตักออกเพียงเล็กน้อยก็จะพอดีแล้วคิดเงินได้เลย แต่ถ้าหยิบหรือตวงของแล้วหนักเกินไปคราวละมากๆ และบังเอิญไปเจอคนขายที่ไม่ซื่อสัตย์เขาก็อาจหยิบออกทีเดียวหลายๆ ผล หรือตักออกเยอะๆ จนที่เหลืออยู่ในถุงเบากว่า 1 กิโลกรัมทว่าขายเราในราคาเต็ม ดังนั้นเด็กๆจึงสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้เป็นประโยชน์ในชีวิต ฝึกทักษะ ความรอบคอบในการใช้วิจารณญาณป้องกันการถูกเอาเปรียบไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด"
ริมหน้าต่างชั้นเรียนของเราชั่วโมงนี้มีน้องๆ จากโรงเรียนดาราคาม กทม.
มาร่วมกิจกรรมกันคึกคักที่เห็นกำลังขะมักเขม้นอยู่กับลำใยและตาชั่งก็คือ ด.ญ.มัชฌิมาพร ประจำถิ่น หรือ น้องจูงใจ ซึ่งตอบอย่างฉาดฉานว่าชอบเรียนคณิตศาสตร์แบบนี้เพราะได้สัมผัสกับของจริง สนุกและทำให้ไม่เครียด เพลิดเพลินจนไม่เหมือนอยู่ในห้องเรียนเลย ความรู้ที่ได้วันนี้สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิต เช่นเวลาไปซื้อของที่ตลาดก่อนจะซื้อจริงก็หยิบมาชั่งดูก่อน แล้วคาดคะเนเองว่าน่าจะได้น้ำหนักตามที่คิดจะซื้อจากนั้นถึงค่อยไปชั่งอีกที
ด.ญ.พันธวดี ยังจรูญ หรือน้องแพร ซึ่งปกติชอบเรียนคณิตศาสตร์อยู่แล้วเผยว่า
ชอบให้คุณครูสอนโดยให้นักเรียนได้จับ สัมผัสของจริง รู้สึกสนุกที่สุดตอนได้ทดลองชั่งผักผลไม้ด้วยตัวเองและทำให้พบข้อผิดพลาด โดยตั้งแต่แรกก่อนชั่งฟักเขียวประมาณว่าน่าจะหนักสัก 2 กิโลกรัม แต่หลังทดลองชั่งแล้วพบว่าหนัก 1.5กิโลกรัม หรือ พริกแห้งซึ่งก่อนหน้าคิดว่าหนักตั้ง 300 กรัมแต่พอชั่งจริงได้เพียงแค่ 60 กรัมเท่านั้น ต่อไปนี้เวลาไปซื้อพริกแห้งหรือของแห้งในครัวก็คิดว่าน่าจะกะเองได้ใกล้เคียงแล้วค่ะ ข้อสำคัญทำให้มองเห็นว่าในชีวิตจริงเรานำคณิตศาสตร์ไปใช้นอกห้องเรียนได้ค่ะ
ด.ญ.บุญญิศา บัวเผื่อน หรือน้องอายส์ เล่าว่าชอบเรียนคณิตศาสตร์เพราะสนุก ได้คิดเยอะ ยิ่งเรียนแบบนี้แล้วยิ่งสนุกใหญ่เพราะได้ทดลองคาดคะเนน้ำหนักด้วยตัวเอง ที่น้องอายส์คาดคะเนถูกได้แก่พริกแห้ง 200 กรัม เพราะเคยตามคุณพ่อไปตลาดซื้อพริกมาก่อนเลยนำเอาประสบการณ์ตรงนั้นมาใช้ในการสังเกต ส่วนที่คาดผิดก็มีเช่นมะระ เพราะคิดว่าต้องหนัก800 กรัม แต่พอชั่งจริงๆหนัก 1 กิโลกรัม มากกว่าที่คาดไว้ 200 กรัม จุดนี้ทำให้จำได้ว่า 1 กิโลกรัมมี 1,000 กรัมหรือเท่ากับ 10ขีด ส่วน 800 กรัม ก็เท่ากับ 8 ขีด
ส่วน ด.ช.อธิวัฒน์ วรศักดิ์สิริกุล หรือน้องโอ๊ค ที่เห็นกำลังป้วนเปี้ยนใช้มือป้อมๆซ้อมชั่งน้ำหนักฝรั่งลูกโต เจ้าตัวยิ้มร่ายืนยันว่าห้องเรียนวันนี้สนุกและไม่น่าเบื่อเลยแม้ว่าจะคาดคะเนน้ำหนักของผัก ผลไม้ ไม่ถูกสักชนิดเดียว แต่ก็ทำให้ได้รู้หลายเรื่องเช่น กระหล่ำปลีคาดว่าหนักแค่ 500 กรัม ทว่าพอลงมือชั่งจริงกลับหนักถึง 1 กิโลกรัมกับอีก 1 ขีด "ผมคิดออกแล้วว่าเป็นเพราะกระหล่ำปลีมีความหนาแน่นมากครับ" น้องโอ๊ค เผยหลังวิเคราะห์หาเหตุผลได้สำเร็จด้วยตัวเอง
การเรียนคณิตศาสตร์ยุคใหม่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในตำราอย่างเดียว แต่สอดแทรกอยู่ในทุกๆ สิ่งรอบตัวเรา จุดสำคัญจึงอยู่ที่คุณครูจะต้องรู้จักกระตุ้นให้นักเรียนรู้จักสังเกต คิด วิเคราะห์ สร้างองค์ความรู้ให้ได้ด้วยตนเองจนสามารถนำความรู้นั้นมาใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆได้ เช่นเดียวกับกิจกรรมการสอนเรื่อง "การคาดคะเน" ซึ่งเริ่มจากเรื่องใกล้ๆ ตัว ทั้งยังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมติดตัวเด็กๆ ไปจนถึงอนาคตด้วย
อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล
https://202.29.77.139/primath/articles/articles_home.asp
https://202.29.77.139/primath/e-book/TG_PDF/TG3/TG3_6.pdf
โดย สุวารี โสมาบุตร ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านเกาะรัง สพท.ลบ.2
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=43