คณิตศาสตร์กับประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี


1,190 ผู้ชม


การทำเทียนพรรษา มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ จากการนำรังผึ้งมาต้มเอาขี้ผึ้งไปฟั่น เป็นเทียนนำไปถวายพระภิกษุ เอาเทียนเล่มเล็ก ๆ หลาย ๆ เล่ม มามัดรวมกันเป็นลำต้นคล้ายกับ ต้นกล้วย หรือลำไม้ไผ่ แล้วนำไปติดกับฐาน ซึ่งการมัดรวมกันแบบนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่   
  

วิวัฒนาการของเทียนพรรษา

เทียนพรรษา คือ เทียนขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น สำหรับจุดใน โบสถ์ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา(พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525)
            การทำเทียนพรรษา มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ จากการนำรังผึ้งมาต้มเอาขี้ผึ้งไปฟั่น เป็นเทียนนำไปถวายพระภิกษุ เอาเทียนเล่มเล็ก ๆ หลาย ๆ เล่ม มามัดรวมกันเป็นลำต้นคล้ายกับ ต้นกล้วย หรือลำไม้ไผ่ แล้วนำไปติดกับฐาน ซึ่งการมัดรวมกันแบบนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่นิยมเรียกว่า ต้นเทียน หรือต้นเทียนพรรษา

ภาพขบวนแห่เทียนไปถวายพระที่วัดในอดีต

ต้นเทียนพรรษาประเภทแรก คือ "มัดรวมติดลาย" เป็นการเอาเทียนเล่มเล็ก ๆ มามัด รวมกันบนแกนไม้ไผ่ให้เป็นต้นเทียนขนาดใหญ่ แล้วตัดกระดาษเงิน กระดาษทองเป็นลายต่าง ๆ ติดประดับโดยรอบต้นเทียน ต่อมามีการคิดทำต้นเทียนเป็นต้นเดี่ยว เพื่อใช้จุดให้ได้นาน โดย การใช้ลำไม้ไผ่ที่ทะลุปล้องเป็นแบบหล่อ เมื่อหล่อเทียนเป็นต้นเสร็จแล้วจึงนำมาติดที่ฐานและจัดขบวนแห่เทียนไปถวายพระที่วัด
            การตกแต่งต้นเทียน เริ่มมีขึ้นโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ขี้ผึ้งลนไฟหรือตากแดดให้อ่อน แล้วปั้นเป็นรูปดอกลำดวนติดต้นเทียน หรือเอาขี้ผึ้งไปต้มให้ละลาย แล้วใช้ผลมะละกอ หรือ ผล ฟักทองนำมาแกะเป็นลวดลาย ใช้ไม้เสียบนำไปจุ่มในน้ำขี้ผึ้ง แล้วนำไปจุ่มในน้ำเย็น แกะขี้ผึ้งออก จากแบบ ตัดและตกแต่งให้สวยงามนำไปติดที่ต้นเทียน

พ.ศ. 2482 มีช่างทองชื่อ นายโพธิ์   ส่งศรี   เริ่มทำลายไทยไปประดับบนเทียน โดยมี การทำแบบพิมพ์ลงในแผ่นปูนซีเมนต์ซึ่งถือว่าเป็นแบบพิมพ์ หรือแม่พิมพ์ แล้วเอาขี้ผึ้งที่อ่อนตัว ไปกดลงบนแม่พิมพ์จะได้ขี้ผึ้งเป็นลายไทยนำไปติดกับลำต้นเทียน
            ต่อมา นายสวน คูณผล ได้คิดทำลายให้นูนและสลับสี จนเห็นได้ชัด เมื่อส่งเทียนเข้า ประกวดจึงได้รับรางวัลชนะเลิศ และในปี พ.ศ. 2497นายประดับ ก้อนแก้ว คิดประดิษฐ์ทำหุ่นเป็น เรื่องราวพุทธประวัติ และเอาลวดลายขี้ผึ้งติดเข้าไปที่หุ่น ทำให้มีลักษณะแปลกออกไป จึงทำให้ เทียนพรรษาได้รับรางวัลชนะเลิศ และชนะเลิศมาทุกปี ในเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์

ปี พ.ศ. 2502 มีช่างแกะสลักลงในเทียนพรรษาคนแรก คือ นายคำหมา แสงงาม และ คณะกรรมการตัดสินให้ชนะการประกวด ทำให้เกิดการประท้วงคณะกรรมการตัดสิน ทำให้ในปี ต่อๆ มามีการแยกประเภทต้นเทียนออกเป็น2ประเภทชัดเจนคือ
               1.ประเภทติดพิมพ์(ตามแบบเดิม)
               2.ประเภทแกะสลัก
            การทำเทียนพรรษามีวิวัฒนาการเรื่อยมาไม่หยุดนิ่ง ในปี พ.ศ. 2511 ผู้คนได้พบเห็น ต้นเทียนพรรษาขนาดใหญ่และสูงขึ้น มีการแกะสลักลวดลายในส่วนลำต้นอย่างวิจิตรพิสดาร ใน ส่วนฐานก็มีการสร้างหุ่นแสดงเรื่องราวทางศาสนา และความเป็นไปในสังคมขณะนั้น กลายเป็น ประติมากรรมเทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งช่างผู้ริเริ่มในการทำต้นเทียนยุคหลังคือ นายอุตส่าห์ และ นายสมัย จันทรวิจิตร สองพี่น้องนับเป็นงานสร้างสรรค์ทางศิลปะอันเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง

เนื้อหา   การบวก  ลบ จำนวนเต็ม  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6

เนื้อเรื่อง

งานประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นประเพณีทางพุทธศาสนา ซึ่งจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 และแรม 1 ค่ำเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ตรงกับเดือนกรกฏาคมของทุกปี
งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2552 เริ่มวันที่ 1 กรกฏาคม นี้ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้ชมขบวนเทียนพรรษาที่สวยงามทั้งภาคกลางวันและกลางคืน พร้อมกิจกรรมที่น่าสนใจตลอดเดือนกรกฎาคม 2552 งานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นงานที่ส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาล ในปีนี้กำหนดจัดขึ้นตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม ภายใต้ชื่องาน ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม บุญล้ำเทียนพรรษา ประชาพอเพียง นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงความพิเศษสุดของการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาปีนี้ ที่มีความหลากหลาย ในชื่อกิจกรรมว่า รวมพลศิลปินนานาชาติ รวมศาสตร์สานศิลป์ถิ่นอุบล รวมพลคนศิลปะ รวมใจนาฏศิลป์นานาชาติ รวมเชิดชูปราชญ์อีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี เริ่มขึ้น เมื่อ พ.ศ.2470 ชาวบ้านทำต้นเทียนแบบโบราณแห่รอบเมือง ก่อนจะนำไปถวายวัด ต่อมา พ.ศ. 2482 นายโพธิ์ ส่งศรี เป็นช่างเทียนเมืองอุบล คนแรกที่นำลายไทยประดับบนต้นเทียน เรียกว่า เทียนติดพิมพ์ และนายคำหมา แสงงาม เป็นช่างผู้คิดแกะสลักลวดลายลงบนต้นเทียน เมื่อ พ.ศ. 2502 เรียกว่าเทียนแกะสลัก ปัจจุบันชาวอุบลราชธานีมีความภาคภูมิใจร่วมสืบสานภูมิปัญญาอันล้ำค่าของบรรพบุรุษ ในการทำเทียนโบราณ เทียนติดพิมพ์ เทียนแกะสลัก ซึ่งมีความสวยงาม ถ่ายทอดสู่สายตาชาวโลก

บูรณาการ เข้า กับ วิชา สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม,วิชาภาษาไทย,วิชาศิลปศึกษา

ประเด็นคำถาม

1.              ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีมีมากี่ปี

2.              ประเพณีแห่เทียนเริ่มมีตั้งแต่ พ.ศ. อะไร

3.              เมื่อปี  พ.ศ. 2482  เริ่มมีการทำลายไทยไปประดับต้นเทียนจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากี่ปี

หมายเหตุ  ใครยังไม่ได้มาเที่ยวรีบมานะค่ะ  เขาจะแห่ขบวนวันที่   8   กรกฏาคม  2552  ค่ะห้ามพลาดนะค่ะ

 

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1100

อัพเดทล่าสุด