การประเมินผลการปฏิบัติงานนั้นจะประเมินเฉพาะผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนไม่ต้องประเมินผลงานทางวิชาการ โดยคะแนนแต่ละด้านต้องได้ด้านละไม่ต่ำกว่า 65%
เกณฑ์วิทยฐานะใหม่ใช้ 1 ต.ค.
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ https://www.thairath.co.th/content/edu/16566
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะใหม่ ซึ่งปรับมาจากเกณฑ์ ว 25/2548 และ ว 2/2551 และได้มอบหมายให้ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการวิสามัญเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีและเลื่อนวิทยฐานะไปจัดทำรายละเอียด เพื่อให้ประกาศใช้ได้ในวันที่ 1 ต.ค. 2552 สำหรับเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะใหม่จะมีการพิจารณาใน 3 ด้าน คือ
1. ด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ
2. ด้านความรู้ความสามารถ
3. ด้านผลการปฏิบัติงาน ซึ่งจะมี 2 ส่วน คือผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และผลงานทางวิชาการ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ในส่วนของเกณฑ์การตัดสินวิทยฐานะชำนาญการจะมีการประเมินทั้ง 3 ด้าน
ด้านที่ 3 คือการประเมินผลการปฏิบัติงานนั้นจะประเมินเฉพาะผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนไม่ต้องประเมินผลงานทางวิชาการ โดยคะแนนแต่ละด้านต้องได้ด้านละไม่ต่ำกว่า 65%
วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ
ด้านที่ 1 และ 2 ต้องได้คะแนนแต่ละด้านไม่ต่ำกว่า 70%
ด้านที่ 3 ต้องได้คะแนนในส่วนผลการพัฒนาผู้เรียนไม่ต่ำกว่า 65% คะแนนผลงานทางวิชาการไม่ต่ำกว่า 65%
เมื่อรวมคะแนน 2 ส่วนนี้ต้องเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 70%
วิทยฐานะเชี่ยวชาญ
ด้านที่ 1 และ 2 ต้องได้คะแนนแต่ละด้านไม่ต่ำกว่า 75%
ด้านที่ 3 ต้องได้คะแนนในส่วนผลการพัฒนาผู้เรียน ไม่ต่ำ กว่า 70% และคะแนนผลงานทางวิชาการไม่ต่ำกว่า 70%
โดยคะแนน 2 ส่วนต้องรวมกันเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 75%
วิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ
ด้านที่ 1 และ 2 ต้องได้คะแนนแต่ละด้านไม่ต่ำกว่า 80%
ด้านที่ 3 ต้องได้คะแนนในส่วนผลการพัฒนาผู้เรียนไม่ต่ำกว่า 75% และคะแนนผลงานทางวิชาการไม่ต่ำกว่า 75%
และต้องได้คะแนน 2 ส่วนเฉลี่ยรวมไม่ต่ำกว่า 80%
รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต่างจากเกณฑ์เดิมโดยให้ค่าน้ำหนักผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนถึง 60% ส่วนผลงานทางวิชาการเพียง 40% และต้องเป็นผลงานทางวิชาการที่เน้นทำวิจัยในห้องเรียนเป็นหลัก ในส่วนของเงินวิทยฐานะชำนาญการได้รับเดือนละ 3,500 บาท ส่วนวิทยฐานะตั้งแต่ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเป็น 2 เท่าจากอัตราเดิมตามมติ ครม.โดยชำนาญการพิเศษได้รับเดือนละ 12,000 บาท เชี่ยวชาญเดือนละ 19,800 บาท และเชี่ยวชาญพิเศษ เดือนละ 26,000 บาท ขณะเดียวกัน หากร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้เงินวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 31,000 บาท
คำถามในห้องเรียน
ให้กลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 4 ระดมสมองในสถานการณ์ที่ 1
1. ถ้าให้คะแนนเต็มจากเกณฑ์วิทยฐานะชำนาญการพิเศษเป็น 300 คะแนน จากข้อความ "เมื่อรวมคะแนน 2 ส่วนนี้ต้องเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 70% " นักเรียนควรใช้สูตรใดในการคิดคำนวณ แล้วคะแนนเท่าไรจึงจะผ่านเกณฑ์
ให้กลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 6 ระดมสมองในสถานการณ์ที่ 2
2. ถ้าให้คะแนนเต็มจากเกณฑ์วิทยฐานะเชี่ยวชาญเป็น 200 คะแนน จากข้อความ "เมื่อรวมคะแนน 2 ส่วนนี้ต้องเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 75% " นักเรียนควรใช้สูตรใดในการคิดคำนวณ แล้วคะแนนเท่าไรจึงจะผ่านเกณฑ์
ให้กลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 5 ระดมสมองในสถานการณ์ที่ 3
3. ถ้าให้คะแนนเต็มจากเกณฑ์วิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษเป็น 500 คะแนน จากข้อความ "เมื่อรวมคะแนน 2 ส่วนนี้ต้องเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 80% " นักเรียนควรใช้สูตรใดในการคิดคำนวณ แล้วคะแนนเท่าไรจึงจะผ่านเกณฑ์
กิจกรรมเสนอแนะ
จากเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะมีการพิจารณาใน 3 ด้าน คือ 1) ด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ 2) ด้านความรู้ความสามารถ 3) ด้านผลการปฏิบัติงาน ซึ่งจะมี 2 ส่วน คือผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และผลงานทางวิชาการ
ให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นว่าการพิจารณาทั้ง 3 ด้าน ด้านใดจำเป็นที่สุดและมีผลต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาและยกระดับผลสัมฤทธิ์ได้ดีทั้งระบบ
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
1. สาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
สาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม
มาตรฐาน ส 2.1 เข้าใจและปฏิบัติตนตามหน้าที่ของการเป็นพลเมืองดี มีค่านิยมที่ดีงาม และธำรงรักษาประเพณีและวัฒนธรรมไทย ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมไทย และสังคมโลกอย่างสันติสุข
2. สาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
สาระที่ 1 การดำรงชีวิตและครอบครัว
มาตรฐาน ง 1.1 เข้าใจการทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะกระบวนการทำงาน ทักษะการจัดการ ทักษะกระบวนการแก้ปัญหา ทักษะการทำงานร่วมกัน และทักษะการแสวงหาความรู้ มีคุณธรรมและลักษณะนิสัยในการทำงาน มีจิตสำนึกในการใช้พลังงาน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเพื่อการดำรงชีวิตและครอบครัว
อ้างอิงที่มาของข้อมูล https://www.thairath.co.th/content/edu/16566
ภาพประกอบ https://www.thairath.co.th/media/content/2009/07/01/300/16566.jpg
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1126