คะแนนเฉลี่ยสะสม กับการปรับแอดมิสชั่นส์ ปี 54


721 ผู้ชม


ลดสัดส่วน GPAX เหลือร้อยละ 10 ชี้ ร.ร.ปล่อยเกรด-มาตรฐานต่างกัน   

ลดสัดส่วน GPAX จากร้อยละ  20  เหลือร้อยละ 10

คะแนนเฉลี่ยสะสม กับการปรับแอดมิสชั่นส์ ปี 54

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในการจัดงานเตรียมอุดมฟอรั่ม ครั้งที่ 4 "ก้าวทันแอดมิสชั่นส์" ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาว่า การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิสชั่นส์ยังเป็นระบบคัดเลือกเด็กที่มีความเป็นธรรมและโปร่งใสจนถึงปัจจุบัน ระยะหลังมีผู้วิจารณ์ว่าเป็นคอขวดทางการศึกษาและมีคำถามว่าสามารถสนองตอบต่อการเรียนรู้ของเด็กได้หรือไม่ อีกทั้งคณะต่างๆ รับเด็กโดยวิธีรับตรงมากขึ้นเหมือนเป็นการประท้วงระบบแอดมิสชั่นส์กลาง ระบบแอดมิสชั่นส์ในปีการศึกษา 2553 ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ในปีการศึกษา 2554 องค์ประกอบและค่าน้ำหนักต่างๆ เปลี่ยนแปลงได้ ระบบแอดมิสชั่นส์ที่มีเกณฑ์ในการรับนักศึกษาอย่างรอบด้าน ไม่เน้นเฉพาะวิชาการ แต่ควรพิจารณาด้านอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ความสามารถพิเศษ กิจกรรม กีฬา คุณธรรมจริยธรรม และเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น โดยเชื่อว่าที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนระบบแอดมิสชั่นส์ให้ตอบสนองต่อคนส่วนใหญ่และคณะวิชามากที่สุดรวมทั้งปัญหาการสละสิทธิด้วย

นางละออศรี เสนาะเมือง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ประธานที่ประชุมสภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ทวท.) กล่าวว่า ปัญหาเด็กกวดวิชาไม่ได้อยู่แค่เด็กระดับมัธยมศึกษา แต่ขณะนี้ได้ระบาดเข้ามาสู่ในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ต้องไปเรียนกวดวิชาเพื่อให้สอบผ่าน จึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องเด็กกวดวิชา  ส่วนระบบแอดมิสชั่นส์ปีการศึกษา 2554 ทาง ทวท.มีมติเสนอ ทปอ.ให้แยกสอบวิชาวิทยาศาสตร์ออกเป็น 3 วิชา ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยารวมทั้งลดจำนวนผลคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย (GPAX) จากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เพราะปัจจุบันยังมีปัญหาโรงเรียนในต่างจังหวัดปล่อยเกรดอยู่

นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพทางการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่าเห็นด้วยกับมติ ทวท.ที่เสนอให้ปรับสัดส่วนแอดมิสชั่นส์ปีการศึกษา 2554 โดยให้ลด GPAX เหลือร้อยละ 10 เนื่องจากในรอบ 10 ปีคุณภาพโรงเรียนและคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ไม่ดีขึ้นแต่กลับต่ำลง ขณะที่ GPAX ของเด็ก ม.ปลายกลับเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ระบุว่า โรงเรียนมีคุณภาพมักกดเกรด และโรงเรียนที่ไม่ได้คุณภาพมักปล่อยเกรด ดังนั้น จึงเห็นด้วยกับข้อเสนอของ ทวท.เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างตราบาปทางวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็ก เนื่องจากมาตรฐาน GPAX ยังไม่เท่ากัน ต้องมีการยกเครื่องขนานใหญ่ในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน และปรับปรุงมาตรฐานการวัดและประเมินผลเพราะ GPAX ไม่สามารถบอกได้ถึงมาตรฐานของผู้เรียนอย่างแท้จริง ขณะที่ผลสอบโอเน็ตกลับบ่งบอกถึงมาตรฐานเด็กได้ดีกว่าจึงควรวัดมาตรฐานการจบของเด็ก ม.3 และ ม.6 และเห็นว่าสัดส่วนโอเน็ต 8 กลุ่มสาระ ร้อยละ 30 นั้นเหมาะสมแล้วแต่ควรเพิ่มการวัดมาตรฐานให้ครบ 10 มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยสอบวัดในเรื่องของคุณธรรม สุขภาพกายและจิต และศักยภาพ ซึ่งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ยังไม่ได้ทำในเรื่องนี้ หากดำเนินการในเรื่องต่อไปอาจจะปรับเพิ่มสัดส่วนโอเน็ตเป็นร้อยละ 50 ได้

ที่มาของข้อมูล  หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11440 หน้า 22
https://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01edu01060752&sectionid=0107&day=2009-07-06

เนื้อหาวิชา  คะแนนเฉลี่ย  คะแนนเฉลี่ยสะสม
https://aster.spu.ac.th/file/user/81/81/upload/psy/point.doc

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
https://ezad.eduzones.com/gpa_index.php

https://campus.sanook.com/admission/technique/read_04249.phpคะแนนเฉลี่ยสะสม กับการปรับแอดมิสชั่นส์ ปี 54

คำถามในห้องเรียน
1. สัดส่วนคืออะไร
2. คะแนนเฉลี่ยและคะแนนเฉลี่ยสะสมมีขั้นตอนการคิดคำนวณอย่างไร
3. นักเรียนเห็นด้วยกับการสอบวัดในเรื่องของคุณธรรม สุขภาพกายและจิต และศักยภาพของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)  หรือไม่

กิจกรรมเสนอแนะ  
1. ให้นักเรียนคำนวณคะแนนเฉลี่ยรายวิชาคณิตศาสตร์ 4 ภาคเรียน
2. ให้นักเรียนคำนวณคะแนนเฉลี่ยสะสม 4 ภาคเรียน ทุกรายวิชา 
 

การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ  
สาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี   
สาระที่ 1 การดำรงชีวิตและครอบครัว  
มาตรฐาน ง 1.1 เข้าใจการทำงาน  มีความคิดสร้างสรรค์  มีทักษะกระบวนการทำงาน ทักษะการจัดการ ทักษะกระบวนการแก้ปัญหา  ทักษะการทำงานร่วมกัน   และทักษะการแสวงหาความรู้    มี
คุณธรรมและลักษณะนิสัยในการทำงาน  มีจิตสำนึกในการใช้พลังงาน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเพื่อการดำรงชีวิตและครอบครัว

แหล่งข้อมูล   https://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01edu01060752&sectionid=0107&day=2009-07-06

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1142

อัพเดทล่าสุด