ผู้ป่วยหวัด 2009 เสียชีวิตเพิ่มอีก 16 ยอดสะสมรวม 97 ศพ เผย 11 รายมีโรคประจำตัว นักเรียน ป.6 สุราษฎร์ฯ เซ่นอีก 1 สธ.ชี้แนวโน้มระบาดใน กทม.-ปริมณฑลลดลง รพ.โคราชเฝ้าระวัง 2 หญิงตั้งครรภ์ ผ่าตัดทำคลอดให้หญิงตั้งท้อง 6 เดือนครึ่ง ทารกปลอดภัย ไม่ติดเชื้อจากแม่
ยอดตาย"หวัด 09" เพิ่มอีก 16 รวมสะสม 97 ราย ระบุ 11 รายมีโรคประจำตัว นักเรียน ป.6 สุราษฎร์ฯเซ่นอีก 1
ผู้ป่วยหวัด 2009 เสียชีวิตเพิ่มอีก 16 ยอดสะสมรวม 97 ศพ เผย 11 รายมีโรคประจำตัว นักเรียน ป.6 สุราษฎร์ฯ เซ่นอีก 1 สธ.ชี้แนวโน้มระบาดใน กทม.-ปริมณฑลลดลง รพ.โคราชเฝ้าระวัง 2 หญิงตั้งครรภ์ ผ่าตัดทำคลอดให้หญิงตั้งท้อง 6 เดือนครึ่ง ทารกปลอดภัย ไม่ติดเชื้อจากแม่
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 11 สิงหาคม นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงยอดผู้เสียชีวิตและติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ประจำสัปดาห์ ว่า ตั้งแต่วันที่ 1-8 สิงหาคมที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 16 ราย เท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมีผู้เสียชีวิต 16 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 97 ราย โดยผู้เสียชีวิต 16 ราย มี 11 ราย ที่มีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน หัวใจหลอดเลือด โรคไต โรคปอด และตั้งครรภ์ 1 ราย โดยร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิตเริ่มป่วยก่อนที่จะมีนโยบายกระจายยาต้านสู่คลีนิค ทั้งนี้ เชื่อใจว่าในอีก 3-4 สัปดาห์ การระบาดจะชะลอตัวลดลง หากยังดำเนินการตามมาตรการป้องกันที่ สธ.กำหนดไว้ ทั้งนี้ แนวโน้มการระบาดในเขต กทม. และปริมณฑล ขณะนี้ลดลง
นพ.ไพจิตร์กล่าวว่า กลุ่มผู้ป่วยนักเรียน อายุ 6-20 ปี มีการติดเชื้อน้อยลง สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการคัดกรองและมาตรการต่างๆ เช่น หยุดอยู่บ้านเมื่อป่วย เริ่มเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป ส่วนกลุ่มเกษตรกร มีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แสดงให้เห็นว่า ต้องรีบป้องกันเชื้อในชุมชน และในสัปดาห์หน้า จะเร่งให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เร่งคัดกรองผู้ป่วยในพื้นที่ เพื่อป้องกันการระบาดและแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งจะเข้าร่วมเครือข่ายด้านสุขภาพอื่นๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่มีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพกว่า 1,000 องค์กร ร่วมรณณงค์กับ สธ.
"ส่วนการกระจายยาต้านไวรัสลงคลีนิคเอกชน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 15 โดยนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้เร่งรัดผู้ตรวจ 18 เขต ดำเนินการให้ความเข้าใจแพทย์เจ้าของคลีนิคแล้ว เชื่อว่าจะมีคลีนิคเข้าร่วมโครงการกระจายยามากขึ้น โดยจะปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการวันที่ 17 สิงหาคมนี้ ขณะที่คลีนิคบางส่วนได้แสดงความจำนงเป็นเครือข่ายในการคัดกรองผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และส่งต่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล" นพ.ไพจิตร์กล่าว
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ สธ. นายวิทยาเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือการเข้าถึงยาซานามิเวียร์ และการสำรองใช้ภายในประเทศ ระหว่าง นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กับนายเนมี่ ลิม กรรมการผู้จัดการบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (จีเอสเค) ทั้งนี้ นพ.วิทิตกล่าวว่า อภ.ได้รับเป็นผู้แทนในการจำหน่ายยาซานามิเวียร์ ให้เฉพาะโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศแต่เพียงผู้เดียว มีผลตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม เป็นต้นไป เนื่องจากยาซานามิเวียร์ เป็นยาควบคุมพิเศษเช่นเดียวกับยาโอเซลทามิเวียร์ ส่วนปริมาณการสั่งซื้อยานั้น ต้องมีการพิจารณาอีกครั้งว่า อภ.จะสั่งซื้อในปริมาณเท่าใด แต่เบื้องต้นขณะนี้ประเทศไทยมียาซานามิเวียร์สำรองอยู่แล้ว 20,000 ชุด โดยสำรองไว้ที่กรมควบคุมโรค
นพ.วิทิตกล่าวว่า มีการเบิกจ่ายยาซานามิเวียร์ไปใช้แล้วประมาณ 5 ชุดรักษา จากโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่จะยังไม่มีการกระจายยาชนิดนี้ ให้โรงพยาบาลรัฐต่างๆ เพราะยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ โดยจะให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่มี ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นผู้พิจารณาหลักเกณฑ์ในการกระจายยาให้กับโรงพยาบาลรัฐอย่างไร คาดว่าอาจจะมีการกระจายยาไปยังโรงพยาบาลศูนย์แห่งละประมาณ 3-5 ชุด
"สำหรับยอดการกระจายยาโอเซลทามิเวียร์ ขณะนี้ได้กระจายไปแล้ว 9 ล้านเม็ด ขณะที่ยังสต๊อคยามีเหลืออยู่ที่ อภ. 6 ล้านเม็ด และกรมควบคุมโรค 6 แสนเม็ด วัตถุดิบพร้อมผลิต 30 ล้านเม็ด ขณะนี้ มีรายงานการใช้ยาจากโรงพยาบาลต่างๆ กลับมาจำนวน 600 แห่ง จาก 1,021 แห่ง ซึ่งกำลังเร่งรวบรวมปริมาณการใช้จริงให้สามารถทราบจำนวนการใช้รายวัน"
นพ.วิทิตกล่าว นางนาฎยา ไชยนาเคนทร์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)สุราษฎร์ธานี เขต 1 กล่าวว่า ล่าสุดได้รับรายงานจากโรงเรียนมานิตานุเคราะห์ ในสังกัด สพท.สุราษฎร์ธานี เขต 1 ว่า ด.ช.โชติรส รักษาเพชร อายุ 12 ปี นักเรียนชั้น ป.6 เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา โดย ด.ช.โชติรสมีโรคประจำตัวเป็นโรคหืด มีน้ำหนักตัว 80 กิโลกรัม และมีเลือดกำเดาออกเป็นประจำ ทั้งนี้ ในส่วนของโรงเรียนมานิตานุเคราะห์ได้สั่งปิดห้องเรียนดังกล่าว และรายงานให้ สพฐ.ทราบแล้ว
ด้าน นพ.วีรศักดิ์ เกียรติผดุงกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 2 ราย รักษาอยู่ที่โรงพยาบาล โดยรายแรกเป็นหญิงอายุ 32 ปี ตั้งครรภ์ที่สอง ระยะเวลา 27 สัปดาห์ หรือกว่า 6 เดือนครึ่ง และเพื่อความปลอดภัยของแม่และลูก แพทย์สูตินารีเวชกรรม ได้ผ่าตัดนำลูกออกมาได้อย่างปลอดภัย โดยเป็นทารกเพศหญิง น้ำหนัก 1,300 กรัม ซึ่งเราต้องนำเข้าตู้อบดูแลอย่างใกล้ชิด และผลการตรวจทารกเป็นลบ หมายถึงลูกไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดจากแม่ ส่วนอีกรายเป็นหญิงวัย 24 ปี ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ หรือกว่า 8 เดือน อาการทั่วไปไม่น่าเป็นห่วง ผู้ป่วยไม่หอบเหมือนรายอื่นๆ จึงไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ส่วนผลตรวจสัญญาณชีพจรของลูกในครรภ์ ยังได้ยินเสียงอยู่ แต่เด็กทารกจะรอดปลอดภัยหรือไม่ ยังไม่สามารถยืนยันได้
ที่มาของข้อมูล https://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1249988722&grpid=01&catid=no+
เนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์
ความหมายของข้อมูล
ข้อมูล คือ ข้อเท็จจริงของสิ่งที่เราสนใจ ข้อเท็จจริงที่เป็นตัวเลข ข้อความ หรือรายละเอียดซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ภาพ เสียง วีดิโอไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ข้อมูลเป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และต้องถูกต้องแม่นยำ ครบถ้วน ขึ้นอยู่กับผู้ดำเนินการที่ให้ความสำคัญของความรวดเร็วของการเก็บข้อมูล ดังนั้นการเก็บข้อมูลจึงเป็นการเก็บรวบรวมเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของสิ่งที่เราสนใจนั่นเอง ข้อมูลจึงหมายถึงตัวแทนของข้อเท็จจริง หรือความเป็นไปของสิ่งของที่เราสนใจ
ข้อมูลสถิติ หมายถึงข้อมูลที่เป็นตัวเลขหรือไม่เป็นตัวเลขเช่นเดียวกับ ข้อมูล แต่ข้อมูลสถิติจะมีจำนวนมากกว่า และสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ และจะแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นตัวเลขหรือไม่เป็นตัวเลขก็ได้ แบบเดียวกับข้อมูล แต่ต้องมีจำนวนมาก เพื่อแสดงลักษณะของกลุ่ม
ตัวอย่าง
ข้อมูล ที่เป็นตัวเลข จำนวนนักเรียนโรงเรียนระยองวิทยาคม มี 3853 คน
ข้อมูล ที่ไม่เป็นตัวเลข จากการสังเกตพบว่านักเรียนโรงเรียนระยองวิทยาคมส่วนใหญ่มาโรงเรียนสาย
ข้อมูลสถิติ ที่เป็นตัวเลข คะแนนโดยเฉลี่ยของนักเรียนระดับชั้น ม. 6 โรงเรียนระยองวิทยาคมคือ 2.64
ข้อมูลสถิติ ที่ไม่เป็นตัวเลข จากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ปกครองพบว่าร้อยละ 61.5 มีความเชื่อมั่นและไว้วางใจโรงเรียนในเรื่องของการดูแลระเบียบวินัย
ข้อมูล หมายถึง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่เราสนใจศึกษา จำแนกได้ดังนี้
1. ข้อมูลเชิงปริมาณ คือ ข้อมูลที่เป็นตัวเลขที่ใช้แสดงปริมาณของสิ่งต่างๆ
2. ข้อมูลเชิงคุณภาพ คือ ข้อมูลที่ใช้อธิบายลักษณะ สมบัติหรือสถานการณ์ของสิ่งต่างๆ
ข้อมูล (data) หรือ ข้อมูลดิบ หมายถึง ข้อเท็จจริง หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นตัวเลข ตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ก็ได้. ข้อมูลที่ดีจะต้องมีความถูกต้องแม่นยำ และเป็นปัจจุบัน เช่น ปริมาณ ระยะทาง ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์คะแนนของนักเรียน รายงาน บันทึก ฯลฯ
ข้อมูล คืออะไร
ข้อมูล คือข่าวสารรายละเอียดต่าง ๆ ที่ต้องการจัดเก็บ เพื่อที่จะเรียกข้อมูลมาอ้างอิงหรือแก้ไขได้ในภายหลังตามวัตถุประสงค์ของข้อมูล อาจจะมีทั้งชนิดที่เป็นข้อความ(Text) ตัวเลข(Numbers) วันที่(Dates) หรือแม้กระทั่งรูปภาพ (Pictures)
ข้อมูล หมายถึง ข้อมูลที่ยังไม่ได้ผ่านการประมวลผล ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับผู้ดำเนินงานที่ให้ความสำคัญของความรวดเร็วและเก็บข้อมูล ข้อมูลจะต้องมีความถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็วและเป็นปัจจุบัน มีความสมบูรณ์ในระดับที่เหมาะสม อาจมีทั้งประเภทตัวเลข ข้อความ วันที่ รูปภาพ เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ คะแนนของนักเรียน เป็นต้น
ข้อมูล หมายถึง ข้อความจริงที่อาจเป็นตัวเลขหรือข้อความก็ได้ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. ข้อมูลปฐมภูมิ คือ ข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องเก็บรวบรวมจากผู้ให้ข้อมูลหรือแหล่งที่มาของข้อมูลโดยตรง โดยไม่มีผู้ใดเคยเก็บมาก่อน
2. ข้อมูลทุติยภูมิ คือ ข้อมูลที่ผู้ใช้ไม่ต้องเก็บรวบรวมจากผู้ให้ข้อมูลหรือแหล่งที่มาของข้อมูลโดยตรง ได้จากผู้ที่เก็บรวบรวมไว้แล้ว
ข้อมูล (Data) คือ ข้อความ หรือ ตัวเลขที่เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ข้อมูลจะบอกเกี่ยวกับสภาพการณ์หรือสิ่งที่ปรากฏขึ้นข้อมูลจะมีสภาพความเป็นข้อมูลอยู่เช่นนั้น ไม่ว่าจะมีการนำไปใช้หรือไม่ (สุชาดา กีระนันทน์, 2541)
ลักษณะของข้อมูล คือ เป็นข้อมูลดิบ และยังไม่มีเนื้อหา ข้อมูลอาจจะปรากฏในรูปแบบใดก็ได้ อาจจะใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ก็ได้ (Groff & Jones, 2003) ข้อมูลอาจจะเป็นสัญลักษณ์ รูปภาพ หรือเสียง นอกจากนั้น สัลยุทธ์ สว่างวรรณ (2546) ได้อธิบายว่า ข้อมูล เป็นข้อเท็จจริงที่ได้รับการรวบรวม หรือป้อนเข้าสู่ระบบ อาจใช้แทนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในองค์การ หรือใช้แทนลักษณะสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะถูกนำไปดำเนินการให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจและใช้ประโยชน์ได้
ข้อมูล (data) คือ ข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งต่อไปก็จะถูกนำมาประมวลผลนั่นเอง หรืออาจจะเรียกว่าเป็นวัตถุดิบ เมื่อข้อมูลถูกนำมาประมวล เช่น การจัดเรียง การแยกกลุ่ม จัดกลุ่ม การเชื่อมโยง หรือการคิดคำนวณ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์
ข้อมูล (data) หมายถึง ข้อเท็จจริง (facts) ที่เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ซึ่งอาจเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นตัวเลข เช่น จำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ในหมู่บ้าน ราคาของพืชผักและผลไม้ต่างๆ ในหมู่บ้าน เป็นต้น หรืออาจเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ใช่ตัวเลข เช่น การศึกษา หรือ อาชีพของคนในหมู่บ้าน เป็นต้น
ข้อมูล (Data) คือ ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเป็นตัวเลขหรือไม่เป็นตัวเลขก็ได้ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องที่เราสนใจศึกษา เช่น ความสูง น้ำหนัก รายได้ ฯลฯ ตัวอย่าง เด็กหญิงนิดาสูง 150 เซนติเมตร นายพีระพลหนัก 65 กิโลกรัม นายวุฒิชัยมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท เด็กชายบุญมาสอบได้คะแนนวิชาคณิตศาสตร์ 15 คะแนน จากคะแนนเต็ม 20 คะแนน เป็นต้น
ในทางสถิติ ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงจะต้องมีจำนวนมาก เพื่อเป็นการแสดงถึงลักษณะของกลุ่มหนึ่งหรือส่วนรวม สามารถนำไปเปรียบเทียบและตีความหมายได้ ข้อเท็จจริงเพียงหน่วยเดียวไม่ถือว่าเป็นข้อมูลสถิติ เช่น ความสูงของนักเรียนคนหนึ่งเป็น 160 เซนติเมตร ไม่ถือว่าเป็นข้อมูลสถิติ แต่ถ้าเป็นการวัดความสูงของนักเรียนทั้งชั้นหรือทั้งกลุ่มเป็นข้อมูลสถิติ (Statistical Data) ถ้าเป็นตัวเลขหรือข้อความของหน่วยเดียว แต่บันทึกติดต่อกันเอาไว้เป็นระยะหนึ่ง ซึ่งสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ถือว่าเป็นข้อมูลสถิติ เช่น รายได้ของนางสาววิภาพรในสัปดาห์หนึ่งหรือเดือนหนึ่งถือว่าเป็นข้อมูลสถิติ
ความหมายของข้อมูล
เมื่อจำแนกตามลักษณะของข้อมูล สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative Data) หมายถึง ข้อมูลที่ไม่สามารถบอกได้ว่า มีค่ามากหรือน้อย แต่จะสามารถบอกได้ว่าดีหรือไม่ดี หรือบอกลักษณะความเป็นกลุ่มของข้อมูล เช่น เพศ ศาสนา สีผม คุณภาพสินค้า ความพึงพอใจ ฯลฯ
2. ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative Data) หมายถึง ข้อมูลที่สามารถวัดค่าได้ว่ามีค่ามากหรือน้อย ซึ่งสามารถวัดค่าออกมาเป็นตัวเลขได้ เช่น คะแนนสอบ อุณหภูมิ ส่วนสูง น้ำหนัก ปริมาณต่างๆ ฯลฯ
นอกจากนี้ข้อมูลเชิงปริมาณยังสามารถแบ่งออกได้เป็นอีก 2 ลักษณะคือ
2.1 ข้อมูลเชิงปริมาณแบบต่อเนื่อง (Continues Data) หมายถึง ข้อมูลที่เป็นจำนวนจริง ซึ่งสามารถบอกหรือระบุได้ทุกค่าที่กำหนดเช่น จำนวน 0 – 1 ซึ่งมีค่ามากมายนับไม่ถ้วน และเป็นเส้นจำนวนแบบไม่ขาดตอน
2.2 ข้อมูลเชิงปริมาณแบบไม่ต่อเนื่อง (Discrete Data) หมายถึงข้อมูลที่เป็นจำนวนเต็มหรือจำนวนนับ เช่น 0 , 1 , 2 , … ,…, 100 ฯลฯ หรือ 0.1 , 0.2 , 0.3 , … , … ซึ่งในช่องว่างของแต่ละค่าของข้อมูลจะไม่มีค่าอื่นใดมาแทรก
จำแนกตามแหล่งที่มาของข้อมูล สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ
1. ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) หมายถึง ข้อมูลที่ผู้ใช้เป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูล ขึ้นเอง เช่น การเก็บแบบสอบถาม การทดลองในห้องทดลอง
2. ข้อมูลทุติยภูมิ (Second Data) หมายถึง ข้อมูลที่ผู้ใช้นำมาจากหน่วยงานอื่น หรือผู้อื่นที่ได้ทำการเก็บรวบรวมมาแล้วในอดีต เช่น รายงานประจำปีของหน่วยงานต่างๆ ข้อมูลท้องถิ่นซึ่งแต่ละอบต.เป็นผู้รวบรวมไว้ ฯลฯ
จำแนกตามระดับการวัด สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิดคือ
1. ข้อมูลระดับนามบัญญัติ (Nominal Scale) หมายถึง ข้อมูลที่แบ่งเป็นกลุ่มเป็นพวก เช่น เพศ อาชีพ ศาสนา ผิวสี ฯลฯ ไม่สามารถนำมาจัดลำดับ หรือนำมาคำนวณได้
2. ข้อมูลระดับอันดับ (Ordinal Scale) หมายถึง ข้อมูลที่สามารถแบ่งเป็นกลุ่มได้ แล้วยังสามารถบอกอันดับที่ของความแตกต่างได้ แต่ไม่สามารถบอกระยะห่างของอันดับที่แน่นนอนได้ หรือไม่สามารถเปรียบเทียบได้ว่าอันดับที่จัดนั้นมีความแตกต่างกันของระยะห่างเท่าใด เช่น อันดับที่ของการสอบของนักศึกษา อันดับที่ของผู้เข้าประกวดนางสาวไทย ฯลฯ
3. ข้อมูลระดับช่วงชั้น,อันตรภาค (Interval Scale) หมายถึง ข้อมูลที่มีช่วงห่าง หรือระยะห่างเท่าๆกัน สามารถวัดค่าได้แต่เป็นข้อมูลที่ไม่มีศูนย์แท้ เช่น อุณหภูมิ คะแนนสอบ GPA คะแนน I.Q. ฯลฯ
4. ข้อมูลระดับอัตราส่วน (Ratio Scale) หมายถึง ข้อมูลที่มีมาตราวัดหรือระดับการวัดที่สูงที่สุด คือ นอกจากสามารถแบ่งกลุ่มได้ จัดอันดับได้ มีช่วงห่างของข้อมูลเท่าๆกันแล้ว ยังเป็นข้อมูลที่มีศูนย์แท้ เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง ระยะทาง รายได้ จำนวนต่างๆ ฯลฯ
ข้อมูล หมายถึง ข้อความจริงที่อาจเป็นตัวเลขหรือข้อความ ข้อมูลจะต้องมีจำนวนมากพอที่จะเปรียบเทียบกันได้
ข้อมูล หมายถึง ข้อเท็จจริงใดๆที่อาจเป็นตัวเลขหรือวัตถุ ข่าวสาร สารสนเทศ ความคิดเห็น หรือความนิยม
ข้อมูล หมายถึง ข้อเท็จจริงหรือสิ่งที่ยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริงของเรื่องที่สนใจศึกษา
ข้อมูล หมายถึง ข้อความจริงที่อาจเป็นตัวเลขหรือข้อความที่ได้
จำแนกประเภทของข้อมลตามวิธีการเก็บรวบรวม มี 2 ประเภท
1. ข้อมูลเชิงปริมาณ
2. ข้อมูลเชิงคุณภาพ
ข้อมูล หมายถึง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เราสนใจศึกษา ซึ่งอาจเป็นตัวเลขหรือข้อความก็ได้
ข้อมูล หมายถึง ข้อเท็จจริง หรือสิ่งที่ยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริงของเรื่องที่สนใจศึกษาข้อมูลที่เป็นตัวเลข
ข้อมูล หมายถึง ตัวเลขหรือวัตถุดิบที่ได้จากการรวบรวมข้อเท็จจริง เพื่อนำตัวเลขนี้ไปใช้งานสถิติ
ที่มาของข้อมูล https://301math.exteen.com/20080116/entry-1
ประเภทของข้อมูล
ข้อมูลปฐมภูมิ คือข้อมูลที่เก็บจากแหล่งโดยตรง ทำได้โดยการสัมภาษณ์ การนับ มีวิธีเก็บได้ 2 วิธี
1. จากสำมะโน คือการเก็บข้อมูลจากทุกหน่วยงานด้วยการสัมภาษณ์ การนับ ซึ่งไม่ค่อยนิยม เพราะใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูง เช่น การเก็บสถิติผู้ใช้รถโดยสารประจำทาง
2. จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างโดยเลือกตัวแทนกลุ่มที่เหมาะสม ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับที่ต้องการศึกษา เช่น สำรวจความนิยมของวัยรุ่นเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถือ กลุ่มตัวอย่างที่จะศึกษาก็ต้องเป็นพวกวัยรุ่น
ข้อมูลทุติยภูมิ เป็นข้อมูลที่ผู้แต่งเก็บรวบรวมไว้แล้ว ซึ่งอาจเก็บไว้ใช้ในการบริหารหน่วยงานนั้นๆ สามารถนำมาใช้ได้เลย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องศึกษาว่า ข้อมูลนั้นเก็บรวบรวมมาเหมาะสมหรือไม่
ประเภทของข้อมูลสถิติ แบ่งได้ 2 ลักษณะดังนี้
ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative data) หมายถึงข้อมูลที่แสดงถึงสถานภาพ คุณลักษณะ หรือคุณสมบัติ เช่น เพศ เชื้อชาติ สถานภาพสมรส ศาสนา กลุ่มเลือด เป็นต้น
ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative data) หมายถึงข้อมูลที่อยู่ในรูปตัวเลข (numerical data) ที่แสดงถึงปริมาณ อาจเป็นค่าที่ไม่ต่อเนื่อง (discrete) คือค่าที่เป็นจำนวนเต็มหรือจำนวนนับ เช่น จำนวน รถยนต์ในกรุงเทพมหานคร
ที่มาของข้อมูล https://301math.exteen.com/20080116/entry-3
คุณสมบัติของข้อมูลที่ดี
ข้อมูลที่ดีจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติที่สำคัญๆ ดังนี้คือ
1. ความถูกต้องแม่นยำ (accuracy) ข้อมูลที่ดีควรจะมีความถูกต้องแม่นยำสูง หรือถ้ามีความคลาดเคลื่อน (errors) ปนอยู่บ้าง ก็ควรที่จะสามารถควบคุมขนาดของความคลาดเคลื่อนที่ปนมาให้มีความคลาดเคลื่อน น้อยที่สุด
2. ความทันเวลา (timeliness) เป็นข้อมูลที่ทันสมัย (up to date) และทันต่อความต้องการของผู้ใช้ ถ้าผลิตข้อมูลออกมาช้า ก็ไม่มีคุณค่าถึงแม้จะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำก็ตาม
3. ความสมบูรณ์ครบถ้วน (completeness) ข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาต้องเป็นข้อมูลที่ให้ข้อเท็จจริง (facts) หรือข่าวสาร (information) ที่ครบถ้วนทุกด้านทุกประการ มิใช่ขาดส่วนหนึ่งส่วนใดไปทำให้นำไปใช้การไม่ได้
4. ความกะทัดรัด (conciseness) ข้อมูลที่ได้รับส่วนใหญ่จะกระจัดกระจาย ควรจัดข้อมูลให้อยู่ใน รูปแบบที่กระทัดรัดไม่เยิ่นเย้อ สะดวกต่อการใช้และค้นหา ผู้ใช้มีความเข้าใจได้ทันที
5. ความตรงกับความต้องการของผู้ใช้ (relevance) ข้อมูลที่จัดทำขึ้นมาควรเป็นข้อมูลที่ผู้ใช้ ข้อมูลต้องการใช้ และจำเป็นต้องรู้ / ทราบ หรือเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผน กำหนดนโยบายหรือตัดสินปัญหาในเรื่องนั้นๆ ไม่ใช่เป็นข้อมูลที่จัดทำขึ้นมาอย่างมากมาย แต่ไม่มีใครต้องการใช้หรือไม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ข้อมูล
6. ความต่อเนื่อง (continuity) การเก็บรวบรวมข้อมูล ควรอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องในลักษณะของอนุกรมเวลา (time-series) เพื่อจะได้นำไปใช้ประโยชน์ในด้านการวิเคราะห์วิจัยหรือหาแนวโน้มในอนาคต
ที่มาของข้อมูล https://301math.exteen.com/20080118/entry-1
การนำเสนอข้อมูลสถิติ (Statistical Presentation)
การนำเสนอข้อมูลสถิติแบ่งออกเป็น 2 แบบใหญ่ ๆ คือ
1) การนำเสนอข้อมูลสถิติโดยปราศจากแบบแผน (Informal Presentation)
1.1 การนำเสนอข้อมูลสถิติเป็นบทความ
1.2 การนำเสนอข้อมูลสถิติเป็นบทความกึ่งตาราง
2) การนำเสนอข้อมูลสถิติโดยมีแบบแผน (Formal Presentation)
2.1 การเสนอข้อมูลสถิติด้วยตาราง (Tabular Presentation)
2.2 การเสนอข้อมูลสถิติด้วยกราฟและรูป (Graphic Presentation)
เทคนิคการนำเสนอข้อมูลสถิติด้วยกราฟและรูป
1. เมื่อต้องการเสนอข้อมูลสถิติโดยข้อมูลที่จะนำเสนอนั้นมีเพียงชุดเดียว
1.1 แผนภูมิแท่งเชิงเดียว (Simple Bar Chart)
1.2 ฮิสโตแกรม (Histogram)
2. เมื่อต้องการนำเสนอข้อมูลสถิติในเชิงเปรียบเทียบ เมื่อต้องการนำเสนอในเชิงเปรียบเทียบข้อมูลตั้งแต่ 2 ชุดขึ้นไป ควรนำเสนอข้อมูลด้วยกราฟดังนี้
2.1 แผนภูมิแท่งเชิงซ้อน (Multiple Bar Chart) ข้อมูลสถิติที่จะนำเสนอด้วยแผนภูมิแท่งต้องเป็นข้อมูลประเภทเดียวกันหน่วยของตัวเลขเป็นหน่วยเดียวกันและควรใช้เปรียบเทียบข้อมูลเพียง 2 ชุดเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นแผนภูมิในแนวตั้งหรือแนวนอน ก็ได้สิ่งที่สำคัญต้องมีกุญแจ (Key) อธิบายว่าแท่งใดหมายถึงข้อมูลชุดใดไว้ที่กรอบล่างของกราฟ ดูตัวอย่างจากรูปที่ 1.6
2.2 แผนภูมิเส้นหลายเส้น (Multiple Line Chart) ถ้าต้องการเปรียบเทียบข้อมูลสถิติหลายประเภทพร้อมๆกันควรจะนำเสนอด้วยแผนภูมิเส้นซึ่งสามารถนำเสนอข้อมูลที่มีหน่วยเหมือนกันหรือมีหน่วยต่างกันได้ดูรูปที่1.7
3.เมื่อต้องการนำเสนอข้อมูลสถิติในเชิงส่วนประกอบ การนำเสนอข้อมูลในเชิงส่วนประกอบมีวิธีเสนอได้ 2 แบบ คือ
3.1 แผนภูมิวงกลม (Pie Chart)
3.2 แผนภูมิแท่งเชิงประกอบ(Component Bar Chart) แผนภูมิแท่งเชิงประกอบเหมาะจะนำไปใช้เสนอข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ วิธีทำคือเมื่อคิดองค์ประกอบต่างๆเป็นร้อยละของทั้งหมดแล้วจะให้ความสูงของแผนภูมิแท่ง แทนองค์ประกอบทั้งหมดความสูงขององค์ประกอบแต่ละส่วนเป็นไปตามสัดส่วนขององค์ประกอบนั้นๆจะเรียงลำดับองค์ประกอบที่มีความสำคัญมากให้อยู่ข้างล่าง
4.การนำเสนอข้อมูลสถิติด้วยแผนภูมิภาพ (Pictograph) การนำเสนอข้อมูลสถิติด้วยวิธีนี้จึงเป็นการเสนอสถิติที่เข้าใจง่ายที่สุด
5.การเสนอข้อมูลสถิติด้วยแผนที่สถิติ เป็นการนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิศาสตร์หรือสถานที่ เช่นสถิติเกี่ยวกับความหนาแน่นของประชากรตามภูมิภาคต่างๆ สถิติจำนวนผู้ป่วยเป็นไข้ทรพิษที่ระบาดในประเทศบังกลาเทศ เป็นต้น
ที่มาของข้อมูล https://301math.exteen.com/20080116/entry-4
วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติ ในทางปฏิบัติอาจทำได้หลายวิธี คือ
1. วิธีการสัมภาษณ์จากผู้ให้คำตอบโดยตรง (Personal interview หรือ Face to face interview) เป็นวิธีการที่ส่งเจ้าหน้าที่หรือพนักงานออกไปสัมภาษณ์ผู้ให้คำตอบ และบันทึกคำตอบลงในแบบข้อถาม วิธีนี้นิยมใช้กันมากในการทำสำมะโนและสำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภาพการณ์ของประเทศไทย เป็นวิธีการที่จะทำให้ได้ข้อมูลที่ละเอียด พนักงานสัมภาษณ์สามารถชี้แจงหรืออธิบายให้ ผู้ตอบเข้าใจในคำถามได้ ทำให้ได้รับคำตอบตรงตามวัตถุประสงค์ แต่การที่จะให้ได้คำตอบที่ดี ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เช่น วิสัยสามารถของผู้ตอบที่จะเข้าใจคำถาม ความตั้งใจของผู้ตอบและความสุจริตใจที่จะให้คำตอบ ความสามารถของพนักงาน ที่จะสัมภาษณ์ได้อย่างละเอียดครบถ้วน และบันทึกคำตอบอย่างถูกต้อง และที่สำคัญที่สุดคือ ความซื่อสัตย์สุจริตของพนักงานสัมภาษณ์ที่จะไม่กรอกข้อมูลเอง ซึ่งในทางปฏิบัติก่อนที่จะส่งเจ้าหน้าที่หรือพนักงานออกไปปฏิบัติงาน จะต้องทำการอบรมชี้แจงให้เข้าใจถึงขั้นตอนการสัมภาษณ์ ตลอดจนวัตถุประสงค์ของโครงการ คำจำกัดความหรือความหมายของคำต่างๆ ที่ใช้ในแบบข้อถาม การกรอกแบบข้อถาม ซึ่งรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ ได้กำหนดไว้ในคู่มือการปฏิบัติงานเก็บรวบรวมข้อมูล
2. วิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (Enumeration by telephone) เป็นวิธีการที่อาจทำได้อย่างรวดเร็ว และทุ่นค่าใช้จ่าย เพราะไม่ต้องเดินทาง แต่มีขอบเขตจำกัด คือใช้ได้เฉพาะผู้ที่มีโทรศัพท์เท่านั้น คำถามที่ถามจะต้องสั้นและเข้าใจง่าย วิธีนี้จึงใช้ในการเก็บรวบรวมที่รายการข้อถามไม่มากนัก ประมาณ 1 – 2 รายการ จึงมักใช้ร่วมกับวิธีอื่น หรือใช้ในการทวงถามใบแบบข้อถาม หรือสอบถามเพิ่มเติมเมื่อมีข้อสงสัย เกี่ยวกับคำตอบ หรือไม่ได้รับคำตอบในบางรายการ หรืออาจใช้ในการตรวจสอบการทำงานของพนักงาน
3. วิธีการให้พนักงานไปทอดแบบไว้ให้ผู้ตอบกรอกข้อมูลเอง (Self enumeration) วิธีนี้พนักงานจะนำแบบข้อถามไปมอบไว้ให้กับผู้ตอบ โดยอธิบายถึงวิธีการกรอกเท่าที่จำเป็น ผู้ตอบจะต้องกรอกแบบ ข้อถามเอง พนักงานจะกลับไปรับแบบข้อถามที่กรอกข้อมูลแล้วในวันที่กำหนด ในขณะเดียวกันพนักงานจะต้องทำการตรวจสอบความถูกต้อง และความครบถ้วนของข้อมูลที่กรอกแล้ว ถ้าผิดพลาดหรือ ไม่ครบถ้วนจะต้องสัมภาษณ์เพิ่มเติม วิธีนี้เหมาะที่จะใช้กับผู้ที่ มีการศึกษาพอที่จะอ่าน เขียน เข้าใจคำถามได้ สำหรับประเทศไทยระดับการศึกษาและการให้ความร่วมมือของประชากรยังแตกต่างกันมาก ฉะนั้นจึงเหมาะสมที่จะใช้กับงานบางโครงการเท่านั้น แบบข้อถามที่จะใช้วิธีนี้จะต้องมีคำถามที่เข้าใจง่าย มีคำอธิบายอย่างชัดเจน และการกรอกแบบข้อถามต้องไม่ยุ่งยาก
4. วิธีการส่งแบบข้อถามให้ผู้ตอบทางไปรษณีย์ (Mailed questionnaire) เป็นวิธีที่ส่งแบบข้อถาม ให้ผู้ตอบทางไปรษณีย์ และให้ผู้ตอบส่งแบบข้อถามที่กรอกข้อมูลแล้วกลับคืนมาทางไปรษณีย์เช่นเดียวกัน วิธีนี้คล้ายกับการทอดแบบ แต่ต่างกันตรงที่ส่งแบบทางไปรษณีย์ เป็นวิธีการที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เพราะเสียเพียงค่าแสตมป์แทนค่าใช้จ่ายของพนักงานสนาม โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ที่จะให้คำตอบอยู่กระจัดกระจายกันมาก ซึ่งไม่อยู่ในวิสัยที่จะส่งพนักงานสนามไปทำการสัมภาษณ์ได้ ในกรณีที่ผู้ตอบเห็นความสำคัญของข้อมูล ข้อมูลที่ได้อาจมีคุณภาพดีกว่าข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เพราะผู้ตอบมีเวลาคิด ก่อนตอบ และไม่ต้องตอบภายใต้สภาวะการณ์เร่งรีบของพนักงานสัมภาษณ์ แต่วิธีนี้ก็มีข้อเสียที่มักจะมีอัตราการไม่ตอบ (non-response rate) สูง วิธีนี้มีข้อจำกัดในการใช้คือ
• แบบต้องไม่ยากและไม่ยาวเกินไป
• ใช้ในประเทศที่มีบริการไปรษณีย์ดี
• ผู้ตอบต้องสามารถอ่านคำถาม และข้อสั่งชี้แจงได้เข้าใจ
• ต้องใช้เวลาคอยจนกว่าจะได้รับแบบครบจำนวนที่ต้องการ และบางทีต้องมีการทวงถามหลายครั้ง
• ถ้าคำตอบไม่ชัดเจน ต้องเสียเวลาถามซ้ำโดยวิธีการอื่น
5. วิธีการสังเกตการณ์ (Observation) เป็นวิธีเก็บข้อมูลโดยการสังเกตโดยตรงจากปฏิกิริยา ท่าทาง หรือเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นในขณะใดขณะหนึ่ง และจดบันทึกไว้โดยไม่มีการสัมภาษณ์ วิธีนี้ใช้กันอย่างกว้างขวางในการวิจัย เช่น จะศึกษาดูปฏิกิริยาของผู้ขับรถยนต์บนท้องถนนภายใต้ สภาพการณ์จราจรต่าง ๆ กัน ก็อาจจะส่งเจ้าหน้าที่ไปยืนสังเกตการณ์ได้ การสังเกตจำนวนลูกค้าและบันทึกปริมาณการขายของสถานประกอบการ โดยพนักงานเก็บภาษีของกรมสรรพากร เพราะการไปสัมภาษณ์ผู้ประกอบการถึงปริมาณการขาย ย่อมไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริง
6. วิธีการบันทึกข้อมูลจากการวัดหรือนับ วิธีนี้จะมีอุปกรณ์เพื่อใช้ในการวัดหรือนับตามความจำเป็นและความเหมาะสม เช่น การนับจำนวนรถยนต์ที่แล่นผ่านที่จุดใดจุดหนึ่ง ก็อาจใช้เครื่องนับโดยให้รถ แล่นผ่านเครื่องดังกล่าว หรือ การเก็บข้อมูลด้วยการวัด เช่น การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับขนาดของ แปลงเพาะปลูก พืช ทำได้โดยการวัดความยาวของแต่ละด้าน เพื่อคำนวณหาพื้นที่ตามหลักเกณฑ์การหาพื้นที่ เป็นต้น
ที่มาของข้อมูล https://301math.exteen.com/20080118/entry-2
การดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติ
การดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อนำมาจัดทำเป็นข้อมูลสถิติมีวิธีการที่ใช้โดยทั่วไปมี 5 วิธี ดังนี้
1. การเก็บรวบรวมข้อมูลจากรายงาน (Reporting System) เป็นผลพลอยได้จากระบบการบริหารงาน เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากรายงานที่ทำไว้หรือจากเอกสารประกอบการทำงาน ซึ่งการเก็บรวบรวมข้อมูลจากรายงานส่วนมากใช้เพียงครั้งเดียว จากรายงานดังกล่าว อาจมีข้อมูลเบื้องต้น บางประเภทที่สามารถนำมาประมวลเป็นยอดรวมข้อมูลสถิติได้ วิธีเก็บรวบรวมข้อมูลจากรายงานของหน่วยบริหาร นับว่าเป็นวิธีการรวบรวมข้อมูลสถิติโดยไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมากนัก ค่าใช้จ่ายที่ใช้ส่วนใหญ่ก็เพื่อการประมวลผล พิมพ์แบบฟอร์มต่างๆ ตลอดจนการพิมพ์ รายงาน วิธีการนี้ใช้กันมากทั้งในหน่วยงาน รัฐบาลและเอกชนหน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลสถิติที่รวบรวมจากรายงาน ได้แก่ กรมศุลกากรมีระบบ การรายงานเกี่ยวกับ การส่งสินค้าออก และการนำสินค้าเข้า ใบสำคัญหรือเอกสารที่ใช้ในการแจ้งการนำเข้าและ ส่งออกนั้น จะเป็นแหล่งของข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งสามารถจะประมวลยอดรวมข้อมูลสถิติ แสดงปริมาณการค้าระหว่างประเทศได้ กรมสรรพากร มีแบบรายงาน ยื่นเสียภาษี ที่เรียกว่า ภงด . 9 ซึ่งสามารถรวบรวมข้อมูลสถิติเกี่ยวกับรายได้ของประชากร และกระทรวงศึกษาธิการ มีรายงานผลการปฏิบัติงานของโรงเรียนภายในสังกัดของกรมต่างๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการประมวลผลสถิติทางการศึกษาได้ นอกจากนี้ ก็มีแบบรายงานของหน่วยราชการส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับรายได้ - รายจ่าย รายจ่ายเกี่ยวกับการลงทุน งบแสดงฐานะทางการเงิน และแบบรายงานผู้ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้าง ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลสถิติต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการคำนวณบัญชีต่างๆ ในบัญชีประชาชาติได้ สำหรับหน่วยงานเอกชนนั้น ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิต การใช้วัตถุดิบ ซึ่งรวบรวมได้จากรายงานของฝ่ายผลิต สถิติแสดงปริมาณการขายสินค้าก็รวบรวมได้จากรายงานของพนักงานขายแต่ละคน เป็นต้น
2. การเก็บรวบรวมข้อมูลจากทะเบียน (Registration) เป็นข้อมูลสถิติที่รวบรวมจากระบบทะเบียน มีลักษณะคล้ายกับการรวบรวมจากรายงานตรงที่เป็นผลพลอยได้เช่นเดียวกัน จะต่างกันตรงที่ แหล่งเบื้องต้นของข้อมูลเป็นเอกสารการทะเบียนซึ่งการเก็บมีลักษณะต่อเนื่อง มีการปรับแก้หรือเปลี่ยนแปลง ให้ถูกต้องทันสมัย ทำให้ได้สถิติที่ต่อเนื่องเป็นอนุกรมเวลา ข้อมูลที่เก็บโดยวิธีการทะเบียน มีข้อรายการไม่มากนัก เนื่องจากระบบทะเบียนเป็นระบบข้อมูลที่ค่อนข้างใหญ่ มีพระราชบัญญัติคุ้มครอง หรือบังคับ การที่จะเปลี่ยนระบบทะเบียนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ ย่อมไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ง่ายนัก คุณภาพของข้อมูลสถิติที่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของการทะเบียนซึ่งข้อมูลบางอย่างอาจจะไม่ถูกต้องทันสมัย ตามความเป็นจริง
ตัวอย่างข้อมูลสถิติที่รวบรวมจากระบบทะเบียน ได้แก่ สถิติจำนวนประชากรที่กรมการปกครอง ดำเนินการเก็บรวบรวมจากทะเบียนราษฎร์ ประกอบด้วย จำนวนประชากร จำแนกตามเพศเป็นรายจังหวัด อำเภอ ตำบล นอกจากทะเบียนราษฎร์แล้วก็มีทะเบียนยานพาหนะของกรมตำรวจที่จะทำให้ได้ข้อมูลสถิติจำนวน รถยนต์ จำแนกตามชนิดหรือประเภทของรถยนต์ ทะเบียนโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ทราบจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม จำแนกตามประเภทของโรงงาน เป็นต้น
3. การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีสำมะโน (Census) เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติของทุกๆ หน่วยของประชากรที่สนใจศึกษาภายในพื้นที่ที่กำหนด และภายในระยะเวลาที่กำหนด การเก็บรวบรวม ข้อมูลสถิติด้วยวิธีนี้ จะทำให้ได้ข้อมูลในระดับพื้นที่ย่อย เช่น หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และทำให้ได้ ข้อมูลที่เป็นค่าจริง
ตามพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ.2508 ได้บัญญัติไว้ว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นหน่วยงานเดียวที่สามารถจัดทำสำมะโนได้ และการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติด้วยวิธีการสำมะโน เป็นงานที่ต้องใช้เงิน งบประมาณ เวลาและกำลังคนเป็นจำนวนมาก สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงไม่สามารถจัดทำสำมะโนได้ในทุกๆ ปี ส่วนใหญ่จะจัดทำสำมะโนทุกๆ 10 ปี หรือ 5 ปี สำมะโนที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำ คือ สำมะโนประชากรและเคหะ ( ปีล่าสุด พ . ศ . 2543) สำมะโนการเกษตร ( ปีล่าสุด พ . ศ . 2546) สำมะโน ประมงทะเล ( ปีล่า สุด พ . ศ . 2538) สำมะโนอุตสาหกรรม ( ปีล่าสุด พ . ศ . 2540) และสำมะโนธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ ( ปีล่า สุด พ . ศ . 2545)
4. การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีสำรวจ (Sample Survey) เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติ จากบางหน่วยของประชากรด้วยวิธีการเลือกตัวอย่าง การเก็บรวบ รวมข้อมูลสถิติด้วยวิธีนี้ จะทำให้ได้ ข้อมูลในระดับรวม เช่น จังหวัด ภาค เขตการปกครอง และรวมทั่วประเทศ และข้อมูลที่ได้จะเป็นค่าโดยประมาณ การสำรวจเป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ใช้งบประมาณ เวลา และกำลังคนไม่มากนักจึงสามารถจัดทำได้เป็นประจำทุกปี หรือ ทุก 2 ปี ปัจจุบันการสำรวจเป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติที่มีความสำคัญ และใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด ทั้งในวงการราชการและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น การสำรวจ เพื่อหาข้อมูลทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรม สาธารณสุข การคมนาคม การศึกษา และ ข้อมูล ทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ รวมทั้งการหยั่งเสียงประชามติ การวิจัยตลาด ฯลฯ สำหรับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการสำรวจที่สำคัญๆ หลายโครงการ เช่น การสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ( การสำรวจแรงงาน ) การสำรวจการย้ายถิ่นของประชากร การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของ ครัวเรือน การสำรวจการใช้พลังงานของครัวเรือน การสำรวจการเปลี่ยนแปลงของประชากร การสำรวจวิทยุ - โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ การสำรวจอนามัยและสวัสดิการ การสำรวจากข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน การสำรวจภาวะการครองชีพของข้าราชการพลเรือนสามัญ การสำรวจข้อมูลระดับหมู่บ้าน เป็นต้น
5. วิธีการทดลอง (Experimental Design) การเก็บรวบรวมข้อมูล โดยวิธีนี้จะต้องอาศัยวิชาสถิติในเรื่องการวางแผนการทดลองมาช่วย การวิจัยทางสังคมส่วนใหญ่จะใช้วิธีนี้ไม่ได้ โดยมากจะใช้กับการทดลองทางด้านเกษตร วิทยาศาสตร์ การแพทย์ เช่น ทดสอบผลของการใช้ปุ๋ยชนิดต่างๆ ต่อ การเจริญเติบโตของพืช เป็นต้น ในการทดลองจะพยายามควบคุมปัจจัยอื่นที่ไม่ต้องการทดสอบให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ให้ปัจจัยที่จะทดสอบนั้นเปลี่ยนแปลงได้แล้วคอยติดตามบันทึกข้อมูล ซึ่งเป็นผลของการทดลองจากหน่วยทดลองของแต่ละกลุ่มตามแผนการทดลองนั้นๆ
ที่มาของข้อมูล https://301math.exteen.com/20080118/entry
คำถามในห้องเรียน
1. จากข้อความ "ผู้ป่วยหวัด 2009 เสียชีวิตเพิ่มอีก 16 ยอดสะสมรวม 97 ศพ เผย 11 รายมีโรคประจำตัว " นักเรียนคิดว่าควรนำเสนอข้อมูลด้วยรูปแบบใด เพราะเหตุใด
2. จากข้อความ "สำหรับยอดการกระจายยาโอเซลทามิเวียร์ ขณะนี้ได้กระจายไปแล้ว 9 ล้านเม็ด ขณะที่ยังสต๊อคยามีเหลืออยู่ที่ อภ. 6 ล้านเม็ด และกรมควบคุมโรค 6 แสนเม็ด วัตถุดิบพร้อมผลิต 30 ล้านเม็ด ขณะนี้ มีรายงานการใช้ยาจากโรงพยาบาลต่างๆ กลับมาจำนวน 600 แห่ง จาก 1,021 แห่ง" ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มอภิปรายที่มาของข้อมูล
กิจกรรมเสนอแนะ
1. ครูให้ความรู้นักเรียนแล้วช่วยกันสรุปวิธีป้องกันการติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1
2. ให้นักเรียนบอกสมุนไพรแก้ไข้หวัดใหญ่มา กลุ่มละ 1 - 2 ชนิด
สาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
สาระที่ 5 การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น
มาตรฐาน ค 5.1 เข้าใจและใช้วิธีการทางสถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล
มาตรฐาน ค 5.2 ใช้วิธีการทางสถิติและความรู้เกี่ยวกับความน่าจะเป็นในการคาดการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผล
มาตรฐาน ค 5.3 ใช้ความรู้เกี่ยวกับสถิติและความน่าจะเป็นช่วยในการตัดสินใจและแก้ปัญหา
บูรณาการกับสาระอื่น
กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
สาระที่ 4 การสร้างเสริมสุขภาพ สมรรถภาพและการป้องกันโรค
มาตรฐาน พ 4.1 เห็นคุณค่าและมีทักษะในการสร้างเสริมสุขภาพ การดำรงสุขภาพ การป้องกันโรคและการสร้างเสริมสมรรถภาพเพื่อสุขภาพ
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
สาระที่ 3 เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
มาตรฐาน ง 3.1 เข้าใจ เห็นคุณค่า และใช้กระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศในการสืบค้นข้อมูล การเรียนรู้ การสื่อสาร การแก้ปัญหา การทำงาน และอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีคุณธรรม
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1481