บั้งไฟคนโก้...ยโสพฤษภา


581 ผู้ชม


สวัสดีค่ะ...คราวนี้เราจะพาไปเรียนรู้คณิตศาสตร์กับการชมงานประเพณีบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธรกัน...ถ้าเรานึกถึงสงกรานต์ก็ต้องเชียงใหม่นึกถึงบั้งไฟต้องที่ยโสธรค่ะ งานบุญบั้งไฟยโสธรปีนี้จะมีในวันเสาร์-อาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ปีนี้ทางจังหวัดยโสธรและเท   

บั้งไฟคนโก้...ยโสพฤษภา

  เมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิต แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ

    คณิตศาสตร์กับการชมงานประเพณีบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธร...ถ้าเรานึกถึงสงกรานต์ก็ต้องเชียงใหม่นึกถึงบั้งไฟต้องที่ยโสธรค่ะ งานบุญบั้งไฟยโสธรปีนี้จะมีในวันเสาร์-อาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคมของทุกปี  ปีนี้ทางจังหวัดยโสธรและเทศบาลเมืองยโสธรได้กำหนดจัดงาน 5 - 9 พฤษภาคม 2553 คนท้องถิ่นจะบอกว่า...เซิ้ง...แห่...จุด... ก็คือวันแรก จะมีขบวนเซิ้งไปตามบริษัทห้างร้านภายในตัวเมือง เพื่อขอเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายในการทำบั้งไฟแต่ ในปัจจุบันการทำบั้งไฟจะมีสปอนเซอร์หลักๆอยู่แล้ว  การเซิ้งในปัจจุบันนี้จึงเป็นการเซิ้งเพื่อความสนุกสนานกันมากกว่าที่จะเน้นหาเงิน

เนื้อหาสาระสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์   ระดับชั้นมัธยมศึกษา  ช่วงชั้นที่ 2,3,4 

<<ดูประเพณีบุญบั้งไฟที่ยังหวัดยโสธร 3-9 พฤษภาคม 2553>>

รายละเอียดเพิ่มเติม  ทั้งสามวันในงานประเพณีบ้านเฮา

     งานประเพณีครั้งนี้ท่านที่ไปนอกจากจะได้ชมนิทรรศการตำนานบั้งไฟ ที่พิพิธภัณฑ์บั้งไฟ การจำหน่าย  สินค้า OTOP และผลิตภัณฑ์ต่าง ที่บริเวณการจัดงาน คณะบั้งไฟสวยงาม จากคุ้มวัด / ชุมชน และคณะบั้งไฟโบราณจากอำเภอต่างๆ นำบั้งไฟมาโชว์ ตามแนวถนนแจ้งสนิทจาก หน้าศาลากลาง จังหวัดยโสธร ถึงหน้าศาล จังหวัดยโสธร การประกวดกาพย์เซิ้งบั้งไฟ โดยสำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดและสภาวัฒนธรรมจังหวัดที่กองอำนวยการจัดงานหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองยโสธร  ขบวนบั้งไฟสวยงาม ขบวนบั้งไฟโบราณ เตรียมความพร้อมก่อนจะเริ่มประกวดตามจุดที่กำหนด


 วันแรก
            ขบวนรถที่เข้าประกวดบั้งไฟ ประเภทสวยงามหลายคันมาจอดริมถนนบริเวณหน้า ศาลากลางจังหวัดเพื่อลงมือตกแต่งรถโชว์ให้บรรดานักท่องเที่ยวและชาวยโสธรได้ชมกัน รวมทั้งกำลังมีการติดตั้งเวทีและเครื่องเสียงกันมากมายหลายเจ้าตามริมถนนเหมือนกับว่าจะมีวงดนตรีมาประชันกันสามสิบวง...สอบถามชาวยโส เราจึงทราบมาว่าปกติแล้วรถ ที่ส่งเข้าประกวดบั้งไฟประเภทสวยงามนี้ จะทำกันอยู่ที่คุ้มหรือที่บ้านใครบ้านมันไม่มีการเอามาทำโชว์ กันอย่างที่เห็นวันนี้หรอก  แต่เมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงมักจะถามกันว่า "ไหนๆๆๆบั้งไฟยโสธร ไม่เห็นมีเลย" ทางเทศบาลเลยจัดให้นำรถมาตกแต่งกันริมถนนโชว์ซะเลย  แต่เท่าที่สังเกตรถทุกคันจะเอาผ้า หรือกระสอบปกปิดส่วนที่เป็นบั้งไฟเอาไว้ เพื่อไม่ให้คู่แข่งได้เห็นก่อนวันประกวด  ว่ากันว่าศิลปะการตกแต่งบั้งไฟประกวดนั้น  นายช่างจะต้องลับและตัดลวดลายต่างๆนี้ไว้เป็นเวลาแรมเดือน  แล้วจึงนำมาทากาวติดกับลูกบั้งไฟ และส่วนหัวของบั้งไฟจะนิยมทำเป็นรูปหัวพญานาค อ้าปาก แลบลิ้น  หันหน้าและพ่นน้ำได้...ตัวบั้งไฟจะติดตั้งอยู่บนรถที่ถูกตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามด้วยลวดลายไทยสีทอง ค่าใช้จ่ายในการตกแต่งรถแต่ละคันก็เป็นหลักแสน ส่วนเวทีที่กำลังติดตั้งกันอยู่ก็เช่นเดียวกันกับรถบั้งไฟ  คือเมื่อก่อนตามคุ้มหรือบ้านต่างๆ นิยมจัดหาเวทีและเครื่องเสียงมาให้ความสนุกสนานในวันงานบุญบั้งไฟ ทางเทศบาลเลยจัดให้มีการประกวดและจัดให้ ทุกคุ้มมาตั้งเวทีกันริมถนนเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมกันด้วย  เสียงเพลงหลายหลากแนวดังกระหึ่ม ไปทั้งเมืองพร้อมได้ชมการเต้นแบบสนุกสนาน และอาจมีการเต้นรูปแบบแปลกๆบ้างเล็กน้อย ( เพราะเมา ) ในตอนเย็นมีการจัดงานเลี้ยงข้าวพาแลงและการแข่งขันบั้งไฟไทย มีบั้งไฟพระเนียง พลุดาวกระจาย ตะไลแฟนซี

วันที่สอง.... 
จะเป็นพิธีเปิดงานบุญบั้งไฟ ประกวดธิดาบั้งไฟโก้ และขบวนแห่บั้งไฟสวยงาม โดยทางเทศบาลจะตั้งกองอำนวยการ ที่นั่งชมขบวนแห่อยู่ตรงข้ามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง วันนี้มีผู้คนมาเที่ยวชมขบวนแห่บั้งไฟกันมากมายอากาศก็ร้อนมากและแดดแรง เรามาปักหลักถ่ายทอดกันที่บริเวณหน้ากองอำนวยการ เพราะที่นี่ขบวนแห่บั้งไฟและขบวนรำ จะหยุดเพื่อทำการแสดงต่อหน้าประธานงาน ขบวนแห่ของแต่ละคุ้มจะประกอบไปด้วย ผู้ถือป้ายชื่อคณะ( ผู้ที่เข้าประกวดธิดาบั้งไฟโก้ )  มีดนตรีพื้นเมืองเล่นเพื่อสร้างจังหวะและความสนุกสนานโดยขนลำโพงไว้บนรถสามล้อแล้วปั่นตาม บางคณะก็จะมีกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัด แต่ละขบวนตกแต่งบั้งไฟได้สวยงามไม่แพ้กัน ระหว่างที่มีขบวนแห่อยู่กลางถนน ทางฝ่ายเวทีก็เปิดเพลงและเต้นกันแบบสุดๆไปเลย วันนี้จะเป็นวันที่ชาวยโสธรสนุกสนานกันมาก ขบวนแห่จบประมาณบ่าย4โมง แต่บนเวทียังไม่เลิกราเราไปทานข้าวมื้อเย็นกันในตลาดตอนสามทุ่ม บางคณะยังเต้นกันอยู่เลย

วันที่สาม....
จะเป็นวันจุด หมายถึงจุดบั้งไฟครับ ทางเทศบาลได้จัดสถานที่จุดบั้งไฟไว้ที่สวนสาธารณะพญาแถน อยู่แถวชานๆเมืองบริเวณที่จุด  อยู่ที่กลางท้องนาเราต้องเดินบนคันนาเข้าไปดูเหมือนๆ กับผู้ที่อยากชมอย่างใกล้ชิดทุกคน   ประเพณีการจุดบั้งไฟชาวอีสานมีความเชื่อว่าเมื่อจุดบั้งไฟ แล้วเทวดาหรือสิ่งศักดิสิทธิ์ทั้งหลายรวมทั้งพญาแถน ซึ่งเป็นเทพแห่งฝนจะดลบันดาล ให้มีฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์   มีผู้คนมากมายมาชมการจุดบั้งไฟ  อากาศร้อนและแดดแรงเช่นเคย บั้งไฟที่จุดในวันนี้มีประมาณ 50-100 ลูกแบ่งเป็น  บั้งไฟหมื่นและบั้งไฟแสน

   ความหมายเพิ่มเติม        บั้งไฟมีหลายชนิดแบ่งไปตามน้ำหนักของดินประสิวที่บรรจุในบั้งไฟกระบอกนั้นๆ

 บั้งไฟกิโล หมายถึงน้ำหนักของดินประสิว 1 ก.ก.

 บั้งไฟหมื่น  หมายถึงมีน้ำหนักของดินประสิว 12 ก.ก.

 บั้งไฟแสนใช้ดินประสิว 10 หมื่นหรือ 120  ก.ก.ราคาประมาณอยู่ที่1-2หมื่นบาท

บั้งไฟล้านอีกด้วย  ซึ้งมีขนาดใหญ่มากต้องใช้คนติดตั้งร่วมร้อยคน   

            แค่บั้งไฟแสนเรานับคนที่ติดตั้งดูเล่นๆก็ได้สิบกว่าคนแล้ว  แต่ปีนี้ไม่มีบั้งไฟล้านมาจุด ให้เราได้ดูกันเพราะอันตรายมากแต่ทราบๆ 

         อันตรายก็มีมากอยู่เหมือนกัน กับขั้นตอนประจุดินประสิว ในการคำนวณผสมดินประสิวกับถ่านไม้ เพราะถ้าสูตรไม่ถูกบั้งไฟก็จะแตกคือไม่ขึ้นสู่ท้องฟ้าถ้าบั้งไฟของใครจุดแล้วยิงไม่ขึ้น คนที่ทำจะถูกจับโยนลงในโคลน แต่เท่าที่เห็นๆไม่ว่าจะจุดขึ้นหรือไม่ขึ้นก็โดนโยนลงบ่อโคลนกันหมดเกือบทุกคน  การตัดสินการแข่งขันการจุดบั้งไฟอยู่ที่ว่าบั้งไฟ ของใครลอยอยู่ในอากาศได้นานที่สุด      

กิจกรรมที่เห็นเขาทำกันในแต่ละปี อาทิ
 แบกบั้งไฟสู่แท่นยิงชาวบ้านแบกบั้งไฟเพื่อขึ้นสู่แท่น สำหรับจุด
 บั้งไฟพร้อมยิง บั้งไฟ นำขึ้นแท่น ต้องใช้หลายคน 
 จุดเพื่อยิงขึ้นฟ้า ควันโขมงแบบนี้ น่าลุ้น ระเบิดก็ตายแน่ๆ
 ขึ้นฟ้าแล้ว  ก็ขึ้นเหมือนจรวด   บึ้ม....
           

  เนื้อหาสาระคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง

   1.  อันดับในการจัดประกวดขบวนเซิ้ง     ขบวนแห่    และเวลาในการจุดบั้งไฟ 

   2.  คะแนนในการจัดอันดับ  ประกวด และการนำเสนอข้อมูล  นำเสนอผลของการประกวดในงานประเพณี

ตั้งประเด็นคำถามในชั้นเรียน

1. นักเรียนมีเกณฑ์ในการจัดอันดับการประกวดอย่างไรบ้าง  ใช้สิ่งใดเป็นเกณฑ์ในการประกวด

2. นักเรียนสามารถนำเสนอผลการประกวดประเพณ๊บั้งไฟยโสธรของเรา แบบใด  อาทิ นำเสนอทางคณิตศาสตร์ให้นำเสนอข้อมูลโดยใช้แผนภูมิรูปวงกลม นักเรียนจะนำเสนอข้อมูลรายงานผลการประกวดอย่างไร

3. นักเรียนคิดว่างานประเพณีบุญบั้งไฟชาวยโสธรของเราจะมีส่วนใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการนำคณิตศาสตร์มาใช้และ นำมาใช้อย่างไร จงอธิบายมาพอเข้าใจ

กิจกรรมเสนอแนะ

1.  เพิ่มเติมในส่วนผสมของบั้งไฟเป็นข้อมูลการเรียนการสอนในเรื่องอัตราส่วน

2. นำเสนอข้อมูลเป็นปริมาณ จำนวนคนมาเที่ยงงานประเพณีในแต่ละปี เป็นภูมิภาค และชาวต่างชาติ นำเสนอเป็นภาพรวม คิดเป็นร้อยละ หรือเปรียบเทียบกับข้อมูลปีก่อน ๆ ที่ผ่านมาแล้ว

การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ

ภาษาไทย

สังคมศึกษา  ศาสนา และวัฒนธรรม

การงานอาชีพ

ประวัติศาสตร์

ภาษาต่างประเทศ

วิทยาศาสตร์

อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล /ภาพประกอบ

   สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดและสภาวัฒนธรรมจังหวัด อำเภอเมืองยโสธร 

<<ดูประเพณีบุญบั้งไฟที่ยังหวัดยโสธร 5-9 พฤษภาคม 2553>>

parrot 27/04/2553

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2171

อัพเดทล่าสุด