ว่าจะเริ่มใช้ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 73/2555
เปิดโครงการจบ ม.6 ได้ภายใน 8 เดือน
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการยกระดับการศึกษาประชาชนให้จบ ม.6 ภายใน 8 เดือน
รมว.ศธ.กล่าวว่า ศธ.ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถฟังและสนทนาภาษาอังกฤษได้ มีความรู้ด้านกฎหมาย สามารถคิดเลขได้ เพื่อจะยกระดับคุณภาพแรงงานไทย อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มทักษะเพื่อให้สามารถเดินทางไปทำงานในต่างประเทศได้ และต้องการให้นักเรียน นักศึกษามาเข้าโครงการจำนวนมาก ซึ่ง ศธ.ได้จัดสถานที่เรียนให้ใน กศน.ตำบลทุกตำบล โดยรัฐบาลได้อุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว โดยมีนายบุญทัน ดอกไธสง เป็นประธานคณะกรรมการ มีผู้แทนจากองค์กรหลักและภาคเอกชน เป็นกรรมการ เพื่อร่วมพัฒนากรอบแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อสร้างสมรรถภาพความสามารถของผู้ที่ขาดหรือพลาดโอกาสทางการศึกษา และพัฒนาวิธีเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ทางอาชีพ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555 นี้ โดยมีเส้นทางให้เลือก 3 เส้นทาง ดังนี้
เส้นทางที่ 1 เทียบ/เรียนจบ ม.6 ภายใน 8 เดือน
โดยเรียนรู้จาก 4 Module ได้แก่
1) เครื่องมือสร้างความสำเร็จใน 3 รายวิชา วิชาการใช้คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ธรรมชาติ และการผลิต การตลาด การบริโภคสู่ชุมชน SME
2) พัฒนาองค์กร-ชุมชนเข้มแข็งใน 2 รายวิชา วิชาระบอบประชาธิปไตยและการบริหารจัดการชุมชน
3) การบริหารจัดการชุมชนและพัฒนาสังคมแบบยั่งยืน วิชาการสนทนาภาษาอังกฤษ
4) ทั่วไปและวิจัยชุมชนใน 2 รายวิชา วิชาการวิจัยชุมชนและการจัดการอาหารเพื่อครอบครัวและชุมชน ซึ่งผู้เข้าเรียนจะต้องมีสัญชาติไทย มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ มีอาชีพการทำงานเป็นหลักแหล่ง มีความชำนาญในงานและมีหลักฐานเชิงประจักษ์
เส้นทางที่ 2 เทียบระดับการศึกษา สามารถเทียบความรู้และประสบการณ์ให้จบ ป.6 หรือ ม.ต้น หรือ ม.ปลาย โดยการประเมินประสบการณ์ เสนอผลงาน ประเมินจากสภาพจริงและสัมภาษณ์ ด้านการพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต สังคมและชุมชน และประเมินด้านความรู้ความคิด ด้านการสื่อสาร การคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ และตัดสินใจ การแสวงหาความรู้และการใช้เทคโนโลยี การดูแลสุขภาพกายและจิตของตน ความเป็นไทย สากล และพลเมืองดี และความรู้เกี่ยวกับทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและการดำรงชีพ ซึ่งผู้ขอเทียบต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่น้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาที่กำลังอยู่ในระบบ และเป็นผู้มีประสบการณ์ในอาชีพ และประกอบอาชีพอยู่ในเขตบริการเทียบระดับการศึกษา ให้สามารถไปเทียบระดับการศึกษาที่ กศน. อำเภอหรือเขต ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พฤษภาคม สิงหาคม และพฤศจิกายน โดยจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
เส้นทางที่ 3 พบกลุ่ม/ทางไกล โดยการพบกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง และการเรียนทางไกล ศึกษาจากสื่อของสถานศึกษา และมีครูที่ปรึกษาให้คำปรึกษาในการเรียน ซึ่งระดับประถม เรียนภาคเรียนละ 14 หน่วยกิต ตลอดหลักสูตรรวม 48 หน่วยกิต ระดับ ม.ต้น เรียนภาคเรียนละ 17 หน่วยกิต ตลอดหลักสูตรรวม 56 หน่วยกิต และระดับ ม.ปลาย เรียนภาคเรียนละ 23 หน่วยกิต ตลอดหลักสูตรรวม 76 หน่วยกิต โดยจะใช้เวลาเรียนปกติ 2 ปี แต่ถ้าเทียบโอนผลการเรียน ความรู้ และประสบการณ์ใช้เวลา 1-1.5 ปี โดยการเทียบโอนส่วนหนึ่ง แล้วเรียนเพิ่มส่วนที่เหลือ
ที่มาของข้อมูล https://www.moe.go.th/websm/2012/mar/073.html
คณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
โครงสร้างของวิชาคณิตศาสตร์ ประกอบด้วย
1. อนิยาม หมายถึง คำที่มีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวเองเป็นคำที่ทุกคนสามารถเข่ใจตรงกันว่าหมายถึงสิ่งใด และสามารถใช้สื่อสารได้โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายหรือใช้คำจำกัดความ หากพยามอธิบายหรือให้คำจำกัดความในคำนั้นๆ ว่าหมายถึงสิ่งใด ก็จะพบกับปัญหาในการอธิบายหรือสื่อสารให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เช่น จุด เส้นตรง ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น
2. นิยาม หมายถึง คำที่มีการอธิบายหรือให้คำจำกัดความไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกคนทราบความหมายอย่างถูกต้องและมีความเข้าใจในสิ่งนั้นตรงกัน เช่น
มุมฉาก หมายถึง มุมที่มีขนาด 90 องศา
รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หมายถึง รูปสี่เหลี่ยมที่มีด้านเท่ากันทั้งสี่ด้านและมีมุมทุกมุมเป็นมุมฉาก
3. สัจพจน์ หมายถึง ข้อความที่ทุกคนยอมรับว่าข้อความนั้นเป็นจริงโดยไม่ต้องพิสูจน์ ซึ่งข้อความนั้นอาจจะเป็นจริงโดยธรรมชาติเช่นดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก เป็นต้น
4. ทฤษฎี หมายถึง ข้อความที่ทุกคนยอมรับว่าข้อความนั้นเป็นจริง โดยมีการพิสูจน์ข้อความนั้นอย่างมีเหตุผล มีระบบทางคณิตศาสตร์อย่างชัดเจน โดยอาศัย อนิยาม นิยาม และสัจพจน์ เช่นผลบวกของมุมภายในของรูปสามเหลี่ยมเท่ากับ 180 องศา เป็นต้น
การพิสูจน์ทางตรรกศาสตร์ เป็นการพิสูจน์การให้เหตุผลโดยใช้ภาษาแสดงเหตุผล ซึ่งภาษาที่ใช้เขียนเป็นข้อกำหนด หรือข้อสมมติที่ตั้งขึ้น หรือเป็นข้อสนับสนุน เรียกว่า เหตุ สำหรับภาษาที่ใช้เขียนเป็นข้อสรุปหรือผลลัพธ์ที่ได้จากการกระทำ หรือเป็นข้อความความที่ถูกสนับสนุน เรียกว่า ผล ซึ่งผลที่ได้จากการพิสูจน์ทางตรรกศาสตร์หรือการให้เหตุผล มี 2 ลักษณะ คือ สมเหตุสมผล กับ ไม่สมเหตุสมผล
มนุษย์รู้จักใช้การให้เหตุผล เพื่อสนับสนุนความเชื่อหรือเพื่อหาความจริง หรือข้อสรุปในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาแต่ครั้งโบราณ ในการสร้างความรู้ใหม่ต้องอาศัยสมมติฐานบางอย่าง โดยที่สมมติฐานนี้อาจจะได้มาจากการสังเกตจาปรากฎการณ์ธรรมชาติ หรือประเพณีวัฒนธรรมที่ปฏิบัติติดต่อกันมาตลอดจนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป
ซึ่งสมมติฐานดังกล่าวสามารถจำแนกได้อย่างกว้าง ๆ 2 ลักษณะ คือ
1. สมมติฐานกรณีทั่วไป (เหตุใหญ่) เช่น
พลเมืองของประเทศไทยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจะมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนเต็มคู่ทุกจำนวนต้องหารด้วย 2 ลงตัวเมื่อโยนวัตถุขึ้นไปในอากาศ วัตถุนั้นจะตกลงสุพื้นโลกเสมอ
2.สมมติฐานกรณีเฉพาะ (เหตุย่อย)
นายสุเทพมีอายุ 19 ปี มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
8 หารด้วย 2 ลงตัว
โยนก้อนหินขึ้นไปในอากาศก้อนหินจะตกลงสู่พื้นโลก
เมื่อมีการกำหนดสมมติฐานขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นแบบใดและจะมีกี่สมมติฐาน เราถือว่าสมมติฐานดังกล่าวเป็นเหตุ นำสมมติฐานหรือเหตุดังกล่าวมาแจกแจงสดงความสัมพันธ์ถึงความต่อเนื่องเกี่ยวโยงกันจนทำให้เกิดความรู้หรือปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นมา ซึ่งเราเรียกว่า ผลหรือผลสรุป
ที่มาของข้อมูล https://www.phokwit.ac.th/maths/reason1.htm
การให้เหตุผล
การให้เหตุผลแบ่งได้ 2 แบบ ดังนี้
1. การให้เหตุผลแบบอุปนัย
2. การให้เหตุผลแบบนิรนัย
1. การให้เหตุผลแบบอุปนัย
การให้เหตุผลแบบอุปนัย เป็นการให้เหตุผลโดยอาศัยข้อสังเกตหรือผลการทดลองจากหลาย ๆ ตัวอย่าง มาสรุปเป็นข้อตกลง หรือข้อคาดเดาทั่วไป หรือคำพยากรณ์ ซึ่งจะเห็นว่าการจะนำเอาข้อสังเกต หรือผลการทดลองจากบางหน่วยมาสนับสนุนให้ได้ข้อตกลง หรือ ข้อความทั่วไปซึ่งกินความถึงทุกหน่วย ย่อมไม่สมเหตุสมผล เพราะเป็นการอนุมานเกินสิ่งที่กำหนดให้ ซึ่งหมายความว่า การให้เหตุผลแบบอุปนัยจะต้องมีกฎของความสมเหตุสมผลเฉพาะของตนเอง นั่นคือ จะต้องมีข้อสังเกต หรือผลการทดลอง หรือ มีประสบการณ์ที่มากมายพอที่จะปักใจเชื่อได้ แต่ก็ยังไม่สามารถแน่ใจในผลสรุปได้เต็มที่ เหมือนกับการให้เหตุผลแบบนิรนัย ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการให้เหตุผลแบบนิรนัยจะให้ความแน่นอน แต่การให้เหตุผลแบบอุปนัย จะให้ความน่าจะเป็น
ตัวอย่างการให้เหตุผลแบบอุปนัย เช่น เราเคยเห็นว่ามีปลาจำนวนมากที่ออกลูกเป็นไข่เราจึงอนุมานว่า "ปลาทุกชนิดออกลูกเป็นไข่" ซึ่งกรณีนี้ถือว่าไม่สมเหตุสมผล ทั้งนี้เพราะ ข้อสังเกต หรือ ตัวอย่างที่พบยังไม่มากพอที่จะสรุป เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วมีปลาบางชนิดที่ออกลูกเป็นตัว เช่น ปลาหางนกยูง เป็นต้น
โดยทั่วไปการให้เหตุผลแบบอุปนัยนี้ มักนิยมใช้ในการศึกษาค้นคว้าคุณสมบัติต่าง ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์ เช่น ข้อสรุปที่ว่า สารสกัดจากสะเดาสามารถใช้เป็นยากำจัดศัตรูพืชได้ ซึ่งข้อสรุปดังกล่าวมาจากการทำการทดลอง ซ้ำ ๆ กันหลาย ๆ ครั้ง แล้วได้ผลการทดลองที่ตรงกันหรือในทางคณิตศาสตร์จะใช้การให้เหตุผลแบบอุปนัย ในการสร้างสัจพจน์ เช่น เมื่อเราทดลองลากเส้นตรงสองเส้นให้ตัดกัน เราก็พบว่าเส้นตรงสองเส้นจะตัดกันเพียงจุด ๆ เดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะทดลองลากกี่ครั้งก็ตาม เราก็อนุมานว่า "เส้นตรงสองเส้นตัดกันเพียงจุด ๆ เดียวเท่านั้น"
ตัวอย่าง 1 เมื่อเรามองไปที่ห่านกลุ่มหนึ่งพบว่า
ห่านตัวนี้สีขาว
ห่านตัวนั้นก็สีขาว
ห่านตัวโน้นก็สีขาว
ห่านนั้นก็สีขาว
ดังนั้น ห่านทุกตัวคงจะต้องมีสีขาว
ตัวอย่าง 2 ในการบวกเลข 2 จำนวน เราพบว่า
1+2 = 2+1
2+3 = 3+2
…………
…………
เราอาจสรุปได้ว่าทุกๆจำนวน a และ b จะได้ว่า a + b = b + a
ตัวอย่าง 3 จากการสร้างรูปสามเหลี่ยมในระนาบ พบว่า
เส้นมัธยฐานของสามเหลี่ยมรูป A พบกันที่จุดๆหนึ่ง
เส้นมัธยฐานของสามเหลี่ยมรูป B พบกันที่จุดๆหนึ่ง
เส้นมัธยฐานของสามเหลี่ยมรูป C พบกันที่จุดๆหนึ่ง
ดังนั้น เส้นมัธยฐานของสามเหลี่ยมใดๆ พบกันที่จุดๆหนึ่งเสมอ
ข้อสังเกต
1.ข้อสรุปของการให้เหตุผลแบบอุปนัยอาจจะไม่จริงเสมอไป
2. การสรุปผลของการให้เหตุผลแบบอุปนัยอาจขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้สรุป
3. ข้อสรุปที่ได้จากการให้เหตุผลแบบอุปนัยไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
ตัวอย่าง กำหนด จำนวน 2, 4, 6 , a จงหา จำนวน a จะได้ a = 8
กำหนด จำนวน 2, 4, 6 , a จงหา จำนวน a จะได้ a = 10 เพราะว่า 4 + 6 = 10
กำหนด จำนวน 2, 4, 6 , a จงหา จำนวน a จะได้ a = 22 เพราะว่า 6 = (2 x 4)-2 และ 22 = (4 x 6)-2
2. การให้เหตุผลแบบนิรนัย
เป็นการนำความรู้พื้นฐานที่อาจเป็นความเชื่อ ข้อตกลง กฏ หรือบทนิยาม ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้มาก่อนและยอมรับว่าเป็นจริง เพื่อหาเหตุผลนำไปสู่ข้อสรุป
ตัวอย่าง 1 มนุษย์ทุกคนเป็นสิ่งมีชีวิต และ นายแดงเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เพราะฉะนั้น นายแดงจะต้องเป็นสิ่งมีชีวิต
ตัวอย่าง 2 ปลาโลมาทุกตัวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทุกตัวมีปอดดังนั้น ปลาโลมาทุกตัวมีปอด
ตัวอย่าง 3 แมงมุมทุกตัวมี 6 ขา และสัตว์ที่มี 6 ขา ทุกตัวมีปีก ดังนั้น แมงมุมทุกตัวมีปีก
ตัวอย่าง 4 ถ้านายดำถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง นายดำจะมีเงินมากมาย แต่นายดำไม่ถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง ดังนั้น นายดำมีเงินไม่มาก
ถ้าผลสรุปตามมาจากเหตุที่กำหนดให้ เรียกว่า ผลสรุปสมเหตุสมผล แต่ถ้าผลสรุปไม่ได้มาจากเหตุที่กำหนดให้ เรียกว่า ผลสรุปไม่สมเหตุสมผล
ตัวอย่าง ผลสรุปสมเหตุสมผล
เหตุ ปลาวาฬทุกตัวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกตัวมีปอด
ผล ดังนั้นปลาวาฬทุกตัวมีปอด
ข้อสังเกต เหตุเป็นจริง และ ผลเป็นจริง
เหตุ แมงมุมทุกตัวมี 6 ขา และสัตว์ที่มี 6 ขา ทุกตัวมีปีก
ผล ดังนั้นแมงมุมทุกตัวมีปีก
ข้อสังเกต เหตุเป็นเท็จ และ ผลเป็นเท็จ
เหตุ ถ้านายดำถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง นายดำจะมีเงินมากมายแต่นายดำไม่ถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง
ผล ดังนั้นนายดำมีเงินไม่มาก
ข้อสังเกต เหตุอาจเป็นจริงและผลอาจเป็นเท็จ
ผลสรุปสมเหตุสมผลไม่ได้ประกันว่าข้อสรุปจะต้องเป็นจริงเสมอไป
ที่มาของข้อมูล https://www.thaigoodview.com/node/18026
คำถามในห้องเรียน
การพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อสร้างสมรรถภาพความสามารถของผู้ที่ขาดหรือพลาดโอกาสทางการศึกษา และพัฒนาวิธีเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ทางอาชีพ ที่จะใช้ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555 สำหรับเส้นทางมีให้เลือก 3 เส้นทางนั้น นักเรียนคิดว่าแต่ละเส้นทางสมเหตุสมผลหรือไม่ และเป็นการอ้างเหตุผลแบบได้ อย่างไร ให้นักเรียนร่วมกันอภิปราย
ข้อเสนอแนะ
3 เส้นทางเทียบ/เรียนจบ ม.6 ภายใน 8 เดือน นั้นจะทำได้หรือไม่เพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ สำหรับการประเมินประสบการณ์ ประเมินจากสภาพจริงและสัมภาษณ์ ควรมีเกณฑ์ที่เชื่อมั่นได้ สำหรับการพบกลุ่ม/ทางไกล โดยการพบกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สัปดาห์ละ 6 ชั่วโมงนั้นทำอย่างไร และการเทียบโอนวิชาเป็นอย่างไร ควรอธิบายให้ชัดเจน มิฉะนั้นอาจทำให้เสียความรู้สึกกันทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่ต้องการเรียนให้จบ ม.6 ในระยะเวลา 8 เดือนกันเปล่าๆ
การบูรณาการกับกลุ่มสาระอื่นๆ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
สาระที่ 1 ภาษาเพื่อการสื่อสาร
มาตรฐาน ต 1.1 เข้าใจและตีความเรื่องที่ฟังและอ่านจากสื่อประเภทต่างๆ และแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล
มาตรฐาน ต 1.2 มีทักษะการสื่อสารทางภาษาในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร แสดงความรู้สึก และความคิดเห็นอย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรฐาน ต 1.3 นำเสนอข้อมูลข่าวสาร ความคิดรวบยอด และความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ โดยการพูดและการเขียน
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
สาระที่ 3 เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
มาตรฐาน ง 3.1 เข้าใจเห็นคุณค่าและใช้กระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศในการสืบค้นข้อมูล การเรียนรู้ การสื่อสาร การแก้ปัญหา การทำงาน และอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีคุณธรรม
สาระที่ 4 การอาชีพ
มาตรฐาน ง 4.1 เข้าใจ มีทักษะที่จำเป็น มีประสบการณ์ เห็นแนวทางในงานอาชีพ ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอาชีพ มีคุณธรรม และมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพ
ที่มาของภาพ https://www.moe.go.th/websm/minister/suchart_t.jpg
ที่มาของภาพ https://www.sahavicha.com/UserFiles/Image/130854.gif
ที่มาของภาพ https://www.thaigoodview.com/files/u37791/2011-01-13_160322.gif
ที่มาของภาพ https://profile.ak.fbcdn.net/hprofile-ak-snc4/372993_314546911923480_479596415_n.jpg
ที่มาของภาพ https://education.tlcthai.com/wp-content/uploads/old_wb/headline87176.jpg
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4616