วันพืชมงคล เป็นวันสำคัญเพื่อระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร โดยพระราชพิธีที่มีในวันนี้เป็นพระราชพิธีเก่าแก่ที่มีมาแต่ครั้งโบราณกาล ประกอบไปด้วยพิธีกรรม 2 พิธีที่กระทำร่วมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
วันพืชมงคล
วันพืชมงคล เป็นวันสำคัญเพื่อระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร โดยพระราชพิธีที่มีในวันนี้เป็นพระราชพิธีเก่าแก่ที่มีมาแต่ครั้งโบราณกาล ประกอบไปด้วยพิธีกรรม 2 พิธีที่กระทำร่วมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ได้แก่ พิธีพืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ปราศจากโรคภัย และ ให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดี
พิธีแรกนาขวัญ เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว
ความหมายของ วันพืชมงคล
เป็นวันที่กำหนดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จัดขึ้นในวันใดนั้นขึ้นโดยกรมพระราชพิธีพราหมณ์ในสำนักพระราชวัง โดยส่วนใหญ่จะประมาณต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งถือว่าเป็นต้นฤดูของการทำนาและเพาะปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ เป็นพระราชพิธีเก่าแก่มาแต่สมัย โบราณ เพื่อเป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเกษตรกรของชาติ พระมหากษัตริย์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดพระราชพิธีนี้ขึ้น
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี แต่จะมีแต่เพียงพิธีทางพราหมณ์เท่านั้น ใช้ชื่อว่า พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พิธีแรกนา ซี่งในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เป็นเพียง องค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น ต่อมา
จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้มีการเปลี่ยนแปลงคือ พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จเป็นองค์ประธาน แต่จะ มอบอำนาจให้ผู้อื่นกระทำแทนพระองค์ ส่วนพระองค์นั้นจะทรงจำศีลเงียบ ๓ วัน และได้ถือปฏิบัติเรื่อยมา
ในครั้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการประกอบพิธีนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๑ (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)ได้ทรงเปลี่ยนแปลงพิธีกรรมบางอย่าง กล่าวคือ ผู้ทำการแรกนาเปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาพหลเทพ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ให้ถือว่าผู้ใดเป็นผู้ที่ยืนชิงช้าให้ถือครองตำแหน่งพระยาแรกนาอีกอย่าง
ประวัติความเป็นมา
เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้มีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงเป็น ๒ พระราชพิธี คือ พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีของสงฆ์ จะประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วน พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีของพราหมณ์ ในวันที่ ๒ จัดขึ้น ณ ลานพระราชพิธี ท้องสนามหลวง โดยพระมหากษัตริย์ จะเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี
โหรหลวงจะบูชาพระฤกษ์และลั่นฆ้องชัย ขบวนพระยาแรกนา ซึ่งประกอบด้วยพระยาแรกนา (ผู้ที่ทำหน้าที่นี้ คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) เทพีคู่หาบทอง คู่หาบเงิน รวม ๔ คน (ปัจจุบัน ผู้ที่ทำหน้าที่นี้ คือ ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขื้นไป และเป็นสตรีโสดสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ราชบัณฑิตเชิญเต้าเทวบิฐบรรจุน้ำ พระพุทธมนต์ ๑ ท่าน พราหมณ์เป่าสังข์ ๒ ท่าน พราหมณ์เชิญพระโคอุศุภราช ๑ ท่าน พราหมณ์ถือกรรชิง (เครื่องสูงสำหรับกันแดด มีลักษณะฉัตร) หน้า ๒ ท่าน หลัง ๒ ท่าน และพระโค ๑ คู่ โดยก่อนเริ่มเคลื่อนขบวนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระยาแรกนาขวัญจุดธูปเทียน ถวายสักการะเทวรูปสำคัญแล้วจะได้ตั้งสัตยาอธิษฐาน หยิบผ้านุ่งแต่งกาย นุ่งผืนนั้นทับผ้านุ่งเดิมอีกชั้นหนึ่ง นุ่งอย่างบ่าวขุนเตรียมออกแรกนา ในการหยิบผ้านุ่ง ก็จะมีการทำนายผลตามที่พระยาแรกนาขวัญหยิบ คือ ถ้าหยิบได้ผ้า ๔ คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่ ถ้าหยิบได้ผ้า ๕ คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์และผลาหาร(ลูกไม้) มังสาหาร(เนื้อสัตว์) จะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าหยิบได้ผ้า ๖ คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายไม่ได้ผลเต็มที่
หลังจากทำการเสี่ยงทายผ้านุ่งแล้ว ก็จะเริ่มเคลื่อนขบวนประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยพระยาแรกนาจับหางคันไถด้วยมือข้างหนี่ง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งก็จะถือพระแสงปฏัก เดินไถดะ เป็นจำนวนทั้งหมด ๓ รอบ ในระหว่างนั้นราชบัณฑิตจะพรมน้ำพระพุทธมนต์ลงบนพื้นดิน ในรอบที่ ๔ พระยาแรกนาจะเริ่มหว่านเมล็ดข้าวจนครบ ๓ รอบ ต่อจากนั้นจะทำการไถกลบอีก ๓ รอบ รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน ๙ รอบ พนักงานปลดแอกออกจากพระโค พระยาแรกนา พร้อมเทพี กลับไปโรงพิธีพราหมณ์ หลังจากนั้นจะเป็นพิธีตั้งเลี้ยงพระโค โดยจะเสี่ยงทาย ของกิน ๗ สิ่ง อันได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าโคกินสิ่งใด โหรหลวงก็จะทำนาย ตามที่พระโคกิน คือ
-
ถ้ากินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร (ข้าว) ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
-
ถ้ากินถั่วหรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร(อาหารที่กินประจำ) จะอุดมสมบูรณ์ดี
-
ถ้ากินน้ำหรือ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
-
ถ้ากินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
เมื่อโหรหลวงถวายคำพยากรณ์เสร็จแล้วก็จะแห่พระยาแรกนาขวัญเป็นกระบวนอิสริยยศออกจากโรงพิธีพราหมณ์ผ่านพลับพลาหน้าพระที่นั่ง พระยาแรกนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายบังคัลแล้วเข้าขบวนไปขึ้นรถยนต์หลวงกลับไปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินกลับ หลังจากนั้นข้าวเปลือกที่ใช้ในพระราชพิธี ที่ได้แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือส่วนหนึ่งบรรจุลงในพระเช้าทองและเงินของเทพี ส่วนที่ สองก็ให้แจกจ่ายกับเกษตรกรโดยทั่วไป
(ข้าวเปลือกดังกล่าวนำมาจากแปลงนาภายในพระราชวังสวนจิตรลดา) ที่มาของภาพ
ประเด็นคำถาม : พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับสังคมไทยอย่างไรบ้าง
แหล่งที่มาข้อมูลและรูปภาพ
: https://www.treasury.go.th/pop_up/11May/11MayDay_02.htm
: https://www.mthai.com/webboard/30/96182.html
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=326