มีอะไรอยู่ในนั้น มนุษย์ สินค้า หรือยาเสพติด ? กลายเป็นความตื่นเต้นและตื่นตัวของ "ประชาชน" ที่รับทราบข้อมูลข่าวสารจากสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์รายวัน เมื่อพบ "ตู้คอนเทนเนอร์ปริศนา" จมอยู่กลางทะเลลึก บริเวณช่องแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ " ถึง เหตุการณ์รำลึกครบรอบ 17 ปี เหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่ครบรอบในวันนี้ ว่า ตามปกติทุกปีตนจะต้องเดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวเป็นประจำ แต่เนื่องจากวันนี้ตนต้องมาจัดรายการ เชื่อมั่นประเทศไทยฯ จึงไม่ได้ไปร่วมเดินทางไปร่วมงานดังกล่าวนี้ได้ อย่างไรก็ตามในเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุกาณ์พฤษาฯ ที่มีความเกี่นยวข้องกับรัฐบาล คือ การดำเนินการจัดก่อสร้างอนุสรณ์สถาน ซึ่งความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวนี้ได้มีความคืบหน้าไปมากพอสมควร ซึ่งขณะนี้ได้อยู่ในขั้นตอนของการปรับสถานที่ ส่วนแบบการก่อสร้างมีได้มีการจัดหาแบบมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าภายในครึ่งปีการดำเนินการต่างๆ น่าจะสามารถที่จะเริ่มการดำเนินการได้
นายกฯ ยังกล่าวถึงการดำเนินการค้นหาศพของผู้ที่สูญหายในเหตุกาณ์ทมิฬ ว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมีข่าวการค้นหาตู้คอนเทนเนอร์ ที่ไปพบในใต้ทะเลที่ถูกทิ้งบริเวณอ่าวแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จังหวัดระยอง ดังนั้นในเรื่องดังกล่าวนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ จึงให้หน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องลงไปทำการพิสูจน์ ซึ่งผลการตรวจสอบในเบื้องต้นทราบว่าตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวน่าจะมีอายุเกิน 20 ปี ดังนั้นหากข้อมูลที่ได้รับทราบเป็นจริงตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวก็น่าไม่มีเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 17 พฤษาทมิฬ แต่อย่างไรก็ตามจะต้องทำการพิสูจน์หาข้อเท็จจริงต่อไป อย่างไรก็ตามตนจึงให้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้คำเสนอแนะเข้ามาว่าจะต้องดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างไรต่อไป เพราะหากจะต้องมีการยกตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวขึ้นมาอาจจะต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก แต่การตรวจพิสูจน์ก้สามารถที่จะดำนเนินการได้หลายวิธี เช่น การเจาะตู้ หรือการเก็บปะการังขึ้นมาตรวจหาอายุ ได้เช่นกัน เรื่องนี้ตนอยากจะทำให้เรื่องนี้เป็นที่พอใจของญาติผู้ที่สูญหายเกิดความสบายใจ และทำให้เกิดข้อเท็จจริงมากที่สุด ที่มาของข่าว
เหตุการณ์ที่ตกเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ ได้แก่ เนื้อข่าวที่เชื่อโยงถึงเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ดังนั้นในวันนี้จะได้กล่าวถึง เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ดังนี้
พฤษภาทมิฬ
พฤษภาทมิฬ เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีและต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นการรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ชนวนเหตุ
เหตุการณ์ครั้งนี้ เริ่มต้นมาจากเหตุการณ์รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 หรือ 1 ปีก่อนหน้าการประท้วง ซึ่ง รสช. ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาล ซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็น นายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลหลักว่า มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างหนักในรัฐบาล และรัฐบาลพยายามทำลายสถาบันทหาร โดยหลังจากยึดอำนาจ คณะ รสช. ได้เลือก นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้น รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่
หลังจากร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จ ก็ได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 โดยพรรคที่ได้จำนวนผู้แทนมากที่สุดคือ พรรคสามัคคีธรรม (79 คน) ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีการรวมตัวกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ คือ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม และพรรคราษฎร และมีการเตรียมเสนอนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมในฐานะหัวหน้าพรรคที่มีผู้แทนมากที่สุด ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่า ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา นางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ ได้ออกมาประกาศว่า นายณรงค์ นั้นเป็นผู้หนึ่งที่ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด
ในที่สุด จึงมีการเสนอชื่อ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งเมื่อได้รับพระราชทานแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ก็เกิดความไม่พอใจของประชาชนในวงกว้าง เนื่องจากก่อนหน้านี้,ในระหว่างที่มีการทักท้วงโต้แย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่ว่า ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย, ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้ถูกประกาศใช้
การต่อต้านของประชาชน
พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตนและสมาชิกในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ แต่ภายหลังได้มารับตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งไม่ตรงกับที่เคยพูดไว้. เหตุการณ์นี้ จึงได้เป็นที่มาของประโยคที่ว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ" และเป็นหนึ่งในชนวนให้ฝ่ายที่คัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำการเคลื่อนไหวอีกด้วย
การรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา ดังกล่าว นำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านต่าง ๆ ของประชาชน รวมถึงการอดอาหารของ ร.ต. ฉลาด วรฉัตร และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง (หัวหน้าพรรคพลังธรรมในขณะนั้น) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่มีนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นเลขาธิการ ตามมาด้วยการสนับสนุนของพรรคฝ่ายค้านประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเอกภาพ พรรคความหวังใหม่และพรรคพลังธรรม โดยมีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และเสนอว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง
หลังการชุมนุมยืดเยื้อตั้งแต่เดือนเมษายน เมื่อเข้าเดือนพฤษภาคม รัฐบาลเริ่มระดมทหารเข้ามารักษาการในกรุงเทพมหานคร และเริ่มมีการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในบริเวณราชดำเนินกลาง ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อย ๆ
กระทั่งในคืนวันที่ 17 พฤษภาคม ขณะที่มีการเคลื่อนขบวนประชาชนจากสนามหลวงไปยังถนนราชดำเนินกลางเพื่อไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล ตำรวจและทหารได้สกัดการเคลื่อนขบวนของประชาชน เริ่มเกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในบางจุด และมีการบุกเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง จากนั้นเมื่อเข้าสู่วันที่ 18 พฤษภาคม รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพมหานครและให้ทหารทำหน้าที่รักษาความสงบ แต่ได้นำไปสู่การปะทะกันกับประชาชน มีการใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมในบริเวณถนนราชดำเนินจากนั้นจึงเข้าสลายการชุมนุมในเข้ามืดวันเดียวกันนั้น ตามหลักฐานที่ปรากฏมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน
ก่อนเที่ยงวันที่ 18 พฤษภาคม ทหารได้ควบคุมตัว พล.ต. จำลอง ศรีเมือง จากบริเวณที่ชุมนุมกลางถนนราชดำเนินกลาง และรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์หลายฉบับและรายงานข่าวทางโทรทัศน์ของรัฐบาลทุกช่องยืนยันว่าไม่มีการเสียชีวิตของประชาชน แต่การชุมนุมต่อต้านของประชาชนยังไม่สิ้นสุด เริ่มมีประชาชนออกมาชุมนุมอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมมีการตั้งแนวป้องกันการปราบปรามตามถนนสายต่าง ๆ ขณะที่รัฐบาลได้ออกประกาศจับแกนนำอีกเจ็ดคน คือ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล, น.พ. เหวง โตจิราการ, น.พ. สันต์ หัตถีรัตน์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ, น.ส. จิตราวดี วรฉัตร และนายวีระ มุสิกพงศ์ และยังปรากฏข่าวรายงานการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนในหลายจุดและเริ่มเกิดการปะทะกันรุนแรงมากขึ้นในคืนวันนั้นในบริเวณถนนราชดำเนิน
19 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่เริ่มเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินกลางได้ และควบคุมตัวประชาชนจำนวนมากขึ้นรถบรรทุกทหารไปควบคุมไว้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ย้ำว่าสถานการณ์เริ่มกลับสู่ความสงบและไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมอีก แต่ยังปรากฏการรวมตัวของประชาชนใหม่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในคืนวันเดียวกัน และมีการเริ่มก่อความไม่สงบเพื่อต่อต้านรัฐบาลโดยกลุ่มจักรยานยนต์หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร เช่นการทุบทำลายป้อมจราจรและสัญญาณไฟจราจร
วันเดียวกันนั้นเริ่มมีการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชน ขณะที่สื่อของรัฐบาลยังคงรายงานว่าไม่มีการสูญเสียชีวิตของประชาชน แต่สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานภาพของการสลายการชุมนุมและการทำร้ายผู้ชุมนุม หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยบางฉบับเริ่มตีพิมพ์ภาพการสลายการชุมนุม ขณะที่รัฐบาลได้ประกาศให้มีการตรวจและควบคุมการเผยแพร่ข่าวสารทางสื่อมวลชนเอกชนในประเทศ
ลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ถึง พ.ศ. 2535
- 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 - คณะ รสช.ยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
- 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 - มีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ พรรคสามัคคีธรรม ของนายณรงค์ วงศ์วรรณ ได้รับเลือกตั้งมาเป็นลำดับหนึ่ง แต่ถูกขึ้นบัญชีดำผู้ค้ายาเสพย์ติดจากสหรัฐอเมริกา
- 7 เมษายน - พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
- 8 เมษายน - ร.ต.ฉลาด วรฉัตร เริ่มอดอาหารประท้วงวันแรก
- 17 เมษายน – มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
- 20 เมษายน - พรรคฝ่ายค้านเริ่มการปราศรัยที่ลานพระบรมรูปทรงม้า
- 4 พฤษภาคม - พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เริ่มอดอาหารและน้ำประท้วงวันแรก
- 6 พฤษภาคม - พล.อ.สุจินดา แถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่พรรคฝ่ายค้านไม่เข้าร่วม ขณะเดียวกันบริเวณหน้ารัฐสภามีผู้ชุมนุมร่วมประท้วง จนต้องมีการปิดประชุมโดยกระทันหัน
- 8 พฤษภาคม - พล.อ.สุจินดา แถลงถึงเหตุผลที่ต้องมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
- 9 พฤษภาคม - นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภาประสานให้พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านร่วมกันตกลงว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญบางประการ และ พล.ต.จำลอง ประกาศเลิกอดอาหาร แต่ต่อมาพรรคร่วมรัฐบาลได้ปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญในภายหลัง
- 11 พฤษภาคม - พล.ต.จำลอง ประกาศสลายการชุมนุมและประกาศชุมนุมใหม่อีกครั้งในวันที่ 17 พฤษภาคม
- 17 พฤษภาคม - รัฐบาลจัดคอนเสิร์ตต้านภัยแล้งสกัดม็อบที่สนามกีฬากองทัพบกและวงเวียนใหญ่ โดยขนรถสุขาของกรุงเทพ ฯ มาไว้ที่นี่หมด ช่วงเที่ยงคืนเริ่มเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับทหาร ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่
- 18 พฤษภาคม
- 18 พฤษภาคม - ก่อนรุ่งสาง รัฐบาลเริ่มจัดการกับผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เวลาบ่าย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และผู้ชุมนุมบางส่วนถูกจับกุม
- 19 พฤษภาคม - กลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ถูกจับกุมย้ายสถานที่ชุมนุมไปที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- 20 พฤษภาคม - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ผู้นำทั้งสองฝ่าย คือ พล.อ.สุจินดา และ พล.ต.จำลอง เข้าเฝ้า โดยผู้ที่นำเข้าเฝ้าคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
- 24 พฤษภาคม - พล.อ.สุจินดา และ พล.ต.จำลอง แถลงการณ์ร่วมกันผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยและ พล.อ.สุจินดา ลาออกจากตำแหน่ง
- 10 มิถุนายน - แกนนำจัดตั้งรัฐบาลเสนอชื่อ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นนายกรัฐมนตรี แต่นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร และรักษาการประธานรัฐสภา ตัดสินใจนำชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ ให้ กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
- 13 กันยายน - มีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วทั้งประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นลำดับหนึ่ง นายชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ : เนื้อหานี้เหมาะสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6
ประเด็นคำถาม : จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ดังกล่าวนักเรียนมีความคิดเห็นอย่างไรกับเหตุการณ์ จงวิเคราะห์ถึงสาเหตุและแนวทางการแก้ปัญหาโดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง
ที่มารูปภาพ และข้อมูล : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=405