นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะภูมิอากาศ พืชพรรณธรรมชาติ สภาพสังคมและวัฒนธรรมของทวีปแฟริกา
ทวีปแอฟริกา
ทวีปแอฟริกาเป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่เป็นที่ 2 ของโลก รองจากทวีปเอเชีย มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า " ทวีปมืด " หรือ " กาฬทวีป " ทั้งนี้เพราะความล้าหลังทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ประกอบกับประชากรส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำ สมัยก่อน ชาวยุโรปจะให้ความสนใจทวีปเอเชีย เนื่องจากเป็นแหล่งทรัพยากร และตลาดการค้า ในปัจจุบัน ความคิดเช่นนั้นเปลี่ยนแปลงไป ชาวยุโรปได้เริ่มเห็นความสำคัญของทวีปแอฟริกา เช่น ใช้เป็นเส้นทางเดินเรือติดต่อระหว่างทวีปยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งผลิตแร่ธาตุที่สำคัญ เป็นต้น
ที่ตั้ง
ทวีปแอฟริกา ตั้งอยู่ระหว่างละติจูดที่ 37 ํ เหนือ ถึง 35 ํ ใต้ โดยประมาณ คือ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปยุโรป และทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย มีเส้นละติจูดที่ 0 ํ หรือเส้น ศูนย์สูตร ลากผ่านกลางทวีป
ทิศเหนือ ติดต่อกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ด้านตะวันตกมีทางออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติกทางช่องแคบยิบรอลตาร์
ทิศตะวันออกเฉียงใต้มีทางออกสู่ทะเลแดงโดยผ่านทาง
คลองสุเอซ
ทิศตะวันออก ติดต่อกับทะเลแดง และมหาสมุทรอินเดีย
ทิศใต้ ติดต่อกับมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแอตแลนติก
ทิศตะวันตก ติดต่อกับมหาสมุทรแอตแลนติก
ทวีปแอฟริกา ประกอบด้วยประเทศต่างๆ 54 ประเทศ แบ่งออกเป็น 5 ภูมิภาค ได้แก่
1. แอฟริกาเหนือ
2. แอฟริกาตะวันตก
3. แอฟริกาตะวันออก
4. แอฟริกากลาง
5. แอฟริกาใต้
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศทวีปแอฟริกา
ทวีปแอฟริกา เป็นทวีปที่ไม่ค่อยมีคาบสมุทร และอ่าว พื้นที่ประมาณ 2 ใน 3 เป็นที่ราบสูง ส่วนพื้นที่ ที่เป็นที่ราบอย่างแท้จริงนั้น มีอยู่น้อย มักจะเป็นที่ราบแคบๆ บริเวณขอบทวีป
จำแนกลักษณะภูมิประเทศเป็น 4 เขต ดังนี้
1. เขตภูเขาโก่งตัวยุคใหม่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ได้แก่บริเวณเทือกเขา แอตลาสที่ราบสูง หุบเขา และที่ราบชายฝั่งทะเลที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนบริเวณด้านใต้ของเทือกเขา
แอตลาสคือทะเลทรายสะฮารา
2. เขตที่ราบสูง ภูเขาภาคตะวันออกและภาคใต้
2.1 เขตที่ราบสูงและภูเขาสูงทางภาคตะวันออก เป็นเขตที่มีความ สูงมาก เต็มไปด้วยภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นและดับแล้ว มียอดเขา คิลิมานจาโร เป็นยอดเขาสูงสุดในทวีป ทางตะวันออกมีแอ่งแผ่นดิน ที่ทรุดต่ำกลายเป็นทะเลสาบอยู่หลายแห่ง เช่นทะเลสาบวิกตอเรีย ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่เป็นที่ 2 ของโลก เป็นต้น (ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของโลก คือ ทะเลสาบสุพีเรียในทวีปอเมริกาเหนือ)
2.2 เขตภูเขาและที่ราบสูงภาคใต้ เป็นที่ราบสูงหินแกรนิต อยู่ระหว่าง แม่น้ำวาล และแม่น้ำลิมโปโป เรียกว่า เดอะแรนด์ มีเทือกเขาดราเกนสเบอร์ก เป็นบริเวณสูงสุดอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ ทิศตะวันตกมีทะเลทรายคาลาฮารี และทะเลทรายนามิบ
3. เขตที่ราบสูงภาคตะวันตก เป็นที่ราบสูงหินเก่า มีอาณาเขตจาก ทะเลทรายสะฮารา ไปจนถึงอ่าวกินี ภูเขาที่สำคัญคือ ภูเขาอะฮักการ์ และภูเขาทีเบสตี
4.เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ ระหว่างที่ราบสูงต่างๆ จะมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากที่สูงตอนในของทวีป และไหลลงสู่ทะเลโดยรอบ มีลักษณะเป็น ที่ราบแคบๆ ลุ่มแม่น้ำ และบางตอนเต็มไปด้วยแก่งหินและน้ำตก ทำให้กระแสน้ำ ไหลแรง ไม่มีประโยชน์ด้านการคมนาคม แต่สามารถใช้ประโยชน์ด้านการผลิต กระแสไฟฟ้า
4.1 ที่ราบลุ่มแม่น้ำไนล์ ทางตอนเหนือของทวีป ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ อียิปต์และซูดาน แม่น้ำไนล์ เป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในโลก เกิดจากภูเขาสูงด้านตะวันออกไหลลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
4.2 ที่ราบลุ่มแม่น้ำไนเจอร์ อยู่ทางตะวันตกของประเทศมาลี ไนเจอร์ ไนจีเรีย ไหลลงสู่อ่าวกินี
4.3 ที่ราบลุ่มแม่น้ำคองโก เกิดจากเทือกเขาด้านตะวันออก ไหลผ่าน ตอนกลางทวีปเขตศูนย์สูตร ประเทศซาอีร์ คองโก มีเกาะแก่ง และน้ำตกมาก เนื่องจากไหลผ่านที่ราบสูง หลายแห่งออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติก
4.4 ที่ราบลุ่มแม่น้ำแซมเบซี มีลักษณะเป็นที่ราบแคบๆ อยู่ทางตอนใต้ในประเทศซิมบับเว โมซัมบิก ไหลออกสู่มหาสมุทรอินเดีย
ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศทวีปแอฟริกา
ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อภูมิอากาศของทวีปแอฟริกา ได้แก่
1. ที่ตั้ง เนื่องจากทวีปแอฟริกามีที่ตั้งอยู่ทั้งในซีกโลกเหนือ และซีกโลกใต้ โดยมีเส้นศูนย์สูตรลากผ่านเกือบกลางทวีป จึงทำให้ดินแดนส่วนใหญ่มีอากาศร้อน ตอนเหนือสุดและตอนใต้สุดของทวีปมีอากาศอบอุ่น
2. ทิศทางลมประจำ เนื่องจากมีเส้นศูนย์สูตรลากผ่านกลางทวีป ทำให้เกือบทั้งทวีปตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมสินค้า คือลมสินค้าตะวันออกเฉียงเหนือ และ ลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะพาฝนเข้ามาทางด้านตะวันออกและปะทะกับขอบที่ราบสูง เป็นผลให้บริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้มีฝนตกชุก แต่พื้นที่ด้านเหนือ และด้านใต้ของทวีปเกิดเป็นทะเลทรายกว้างใหญ่
3.ลักษณะภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ทำให้พื้นที่บางแห่ง ทางด้านตะวันออกของทวีป มีอากาศไม่ร้อนจัดมากนัก
4.กระแสน้ำ กระแสน้ำที่มีอิทธิพลต่อลักษณะอากาศของทวีปแอฟริกา ได้แก่
กระแสน้ำอุ่นโมซัมบิก ไหลเลียบชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้อากาศ อบอุ่นชุ่มชื้น
กระแสน้ำเย็นคานารี ไหลเลียบชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้อากาศเย็นและแห้งแล้ง
กระแสน้ำเย็นเบงเกลา ไหลเลียบชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ทำให้อากาศเย็นและแห้งแล้ง
เขตอากาศของทวีปแอฟริกา แบ่งออกได้ดังนี้
1.เขตภูมิอากาศแบบป่าเมืองร้อน หรือป่าดิบชื้น ได้แก่บริเวณลุ่มแม่น้ำคองโก ชายฝั่งรอบอ่าวกินี ชายฝั่งตะวันออกของเกาะมาดากัสการ์ มีอากาศร้อน ฝนตกชุก พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าดงดิบ
2.เขตภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าเมืองร้อน หรือสะวันนา คือบริเวณตอนเหนือและใต้แนวศูนย์สูตร มีฝนตกชุกในฤดูร้อน และแห้งแล้งในฤดูหนาว พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าโปร่งสลับกับทุ่งหญ้า
3.เขตภูมิอากาศแบบทะเลทราย ตอนเหนือของทวีปได้แก่ทะเลทราย สะฮารา และทะเลทรายลิเบีย ตอนใต้ของทวีปได้แก่ ทะเลทรายนามิบ และคาลาฮารี มีอากาศร้อน และแห้งแล้ง เป็นเขตที่มีปริมาณน้ำฝนต่ำมาก พืชพรรณธรรมชาติคือตะบองเพชร บริเวณโอเอซีสมีอินทผลัม
4.เขตภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย บริเวณตอนกลางทวีปและเขตรอบทะเลทราย เชื่อมต่อกับเขตทุ่งหญ้าสะวันนา อากาศไม่แห้งแล้งมาก ฝนตกน้อย พืชพรรณธรรมชาติคือหญ้าสั้นเป็นกระจุก หรือทุ่งหญ้าสเตปป์
5. เขตภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน บริเวณชายฝั่งประเทศโมร็อกโก ตูนิเชีย หรือที่เรียกว่า ชายฝั่งบาร์บารี และภาคใต้ของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ มีอากาศอบอุ่น ฝนตกชุกในฤดูหนาว พืชพรรณธรรมชาติเป็นไม้พุ่มมีหนาม และไม้ผล เมดิเตอร์เรเนียน
6.เขตภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น บริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ซึ่งได้รับความชุ่มชื้นจากลมสินค้าตะวันตกเฉียงใต้ และกระแสน้ำอุ่นโมซัมบิก มีอากาศอบอุ่น ฝนตกชุกในฤดูร้อน พืชพรรณธรรมชาติเป็นทุ่งหญ้าใบยาว
ลักษณะทางเศรษฐกิจ และอาชีพของประชากร
ลักษณะเศรษฐกิจและอาชีพของประชากรในทวีปแอฟริกา
ทรัพยากร
แหล่งน้ำจืดที่สำคัญของทวีปนี้ คือทะเลสาบในเขตแนวเขาหินทรุดภาคตะวันออก ทะเลสาบที่สำคัญคือทะเลสาบวิกตอเรีย
ป่าไม้ในทวีปแอฟริกา บริเวณลุ่มแม่น้ำคองโกเป็นป่าดงดิบ มีไม้เนื้อแข็ง
แร่ธาตุ ทวีปแอฟริกามีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในโลก เช่น เพชร ทองคำ ถ่านหิน น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ เหล็ก และทองแดง เป็นต้น
อาชีพของประชากรในทวีปแอฟริกา
อาชีพที่สำคัญของประชากรในทวีปแอฟริกาคือ
1. อาชีพเพาะปลูก ทวีปแอฟริกา มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ดินขาดความอุดมสมบูรณ์จะสามารถใช้ประโยชน์ ในด้านการเกษตรได้เฉพาะบริเวณที่ราบดินตะกอนปากแม่น้ำสายต่างๆ ดังนั้นผลผลิตจึงไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงประชากรภายในทวีป เขตเกษตรกรรมที่สำคัญคือ
1.1 แหล่งปลูกพืชเมืองร้อนในเขตร้อนชื้น บริเวณลุ่มแม่น้ำคองโก ชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก แอฟริกาตะวันตก ปลูกโกโก้มากที่สุด นอกจากนี้มี ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ถั่วลิสง อ้อย ยางพารา เผือก มัน
1.2 ลุ่มแม่น้ำไนล์ เขตนี้มีอากาศร้อน แห้งแล้งสามารถปลูกฝ้าย ชา อินทผลัม ข้าวฟ่าง
1.3 เขตเมดิเตอร์เรเนียน คือชายฝั่งบาร์บารี ตอนเหนือสุดของทวีป และตอนใต้สุดของทวีปปลูกส้ม องุ่น มะกอก ข้าวสาลี
1.4 เขตอบอุ่นชื้น ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของทวีป ปลูกผลไม้ ข้าวสาลี ข้าวโพด
2. อาชีพเลี้ยงสัตว์และล่าสัตว์ สัตว์เลี้ยงที่สำคัญในแอฟริกาคือ
2.1 โคเขายาว พันธุ์พื้นเมือง เลี้ยงทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของทวีป เพื่อใช้แรงงาน ใช้เนื้อเป็นอาหารและเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคม
2.2 โคเนื้อ และโคนมพันธุ์ต่างประเทศ เลี้ยงในเขตอบอุ่นชื้น
2.3 แพะ แกะ เลี้ยงแบบเร่ร่อนในเขตทะเลทราย
2.4 อูฐ ใช้เนื้อเป็นอาหาร และใช้เป็นพาหนะในเขตทะเลทราย
2.5 ลา ใช้เป็นพาหนะในเขตทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย
2.6 อาชีพล่าสัตว์โดยชาวพื้นเมืองเช่น ปิ๊กมี และบุชแมน เป็นต้น สินค้าที่เป็นที่สนใจของชาวต่างชาติคือ งาช้าง นอแรด
3. อาชีพการทำเหมืองแร่ ทวีปแอฟริกามีแหล่งแร่อยู่เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือ เพชร มีปริมาณมากกว่าทุกทวีป แหล่งผลิตแร่ธาตุที่สำคัญคือ
3.1 ถ่านหิน แหล่งใหญ่ที่สุด อยู่ในรัฐทรานสวาล และนาตาล ประเทศ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้
3.2 น้ำมันปิโตรเลียม พบในแอฟริกาเหนือเขตทะเลทรายสะฮารา ประเทศลิเบีย แอลจีเรีย อียิปต์ ไนจีเรีย
3.3 ก๊าซธรรมชาติ มีมากบริเวณที่ลุ่มของแอฟริกาเหนือ และ แอฟริกาตะวันตก แอลจีเรียมีปริมาณก๊าซธรรมชาติมากที่สุด แห่งหนึ่งของโลก
3.4 เพชร มีแหล่งใหญ่อยู่ในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ นามิเบีย บอตสวานา ซิมบับเว โมซัมบิก
3.5 ทองคำ ที่วิตวอเตอร์สแรนด์ ในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้
3.6 ทองแดง พบมากในประเทศซาอีร์
4. การอุตสาหกรรม ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมของทวีปนี้ คือสาธารณรัฐแอฟริกาใต้
5. การค้าขาย ตลาดคู่ค้าที่สำคัญคือ กลุ่มตลาดร่วมยุโรป กลุ่มโอเปค สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น
5.1 สินค้าออกที่สำคัญของทวีปแอฟริกาคือ วัตถุดิบต่างๆ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ
5.2 สินค้าเข้า ได้แก่ เครื่องจักรกล ยานยนต์
ประเด็นอภิปราย
นักเรียนคิดว่าเพราะสาเหตุใดที่ทำให้ประเทศในทวีปแอฟริกา ล้าหลัง ยากจน และไร้การพัฒนา
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=564