ประวัติศาสตร์ ตอน 3 อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์


926 ผู้ชม


นำเสนอราละเอียดของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์   

อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์

ประวัติศาสตร์ ตอน 3 อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์

นักประวัติศาสตร์แบ่งช่วงเวลาสามพันปีของอียิปต์ออกเป็นช่วงต่างๆ โดยเริ่มจาก

ปลายยุคก่อนราชวงศ์ (3100 ปี ก่อนค.ศ.) เป็นยุคที่ยังไม่ได้ตั้งเป็นอาณาจักร

ยุคอาณาจักรเก่า เริ่มตั้งแต่ 2950 - 2150 ปีก่อน ค.ศ. ประกอบด้วยราชวงศ์ที่หนึ่งถึงราชวงศ์ที่แปด

ยุครอยต่อของอาณาจักร (2125 - 1975 ปี ก่อน ค.ศ.) ประกอบด้วยราชวงศ์ที่เก้าถึงสิบเอ็ด

ยุคอาณาจักรกลาง เริ่มตั้งแต่ 1975 - 1520 ปีก่อน ค.ศ. ประกอบด้วยราชวงศ์ที่สิบสองถึงสิบเจ็ด

ยุคอาณาจักรใหม่ เริ่มตั้งแต่ 1539 - 1075 ปี ก่อน ค.ศ. ประกอบด้วยราชวงศ์ที่สิบแปดถึงยี่สิบ

ยุคปลายของอาณาจักร เริ่มตั้งแต่ 1075 - 332ปี ก่อน ค.ศ. ราชวงศ์ที่ยี่สิบเอ็ดถึงสามสิบเอ็ด ยุคนี้อียิปต์ถูกปกครองโดยชาวต่างชาติ ตั้งแต่พวกลิเบีย นูเบีย และพวกเปอร์เซีย ปีที่ 332 ก่อนคริสตกาล อียิปต์ถูกปกครองโดยราชวงศ์ปโตเลมี อดีตขุนศึกของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช จนมาถึงความพ่ายแพ้ของพระนางคลีโอพัตราที่แอคติอุม (Actium) ในราว ก่อน คริสตกาล อียิปต์ก็สิ้นสุดความเป็นอาณาจักรโดยสิ้นเชิง

ประวัติศาสตร์ ตอน 3 อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์

1.ปลายยุคก่อนราชวงศ์ (3100 ปี ก่อนค.ศ.) เป็นยุคที่ยังไม่ได้ตั้งเป็นอาณาจักร เริ่มแรกย้อนไปเมื่อราว หนึ่งหมื่นปีก่อน ทะเลทรายซาฮารายังเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยสัตว์ป่าและพืชพรรณนานาชนิด ในท้องทุ่งอุดมไปด้วยสัตว์ป่าอย่างช้างและแอนทีโลป มนุษย์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ในช่วงแรกดำรงชีวิตโดยการล่าสัตว์ และทำปศุสัตว์จวบจนกระทั่งเมื่อราวเจ็ดพันปีก่อนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้ซาฮารา ค่อยๆแห้งแล้ง และกลายเป็นทะเลทรายในท้ายที่สุดก็เหลือแต่เพียงพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำไนล์เท่านั้นที่ยังคงความสมบูรณ์อยู่ และเนื่องจากทุกปีแม่น้ำไนล์จะพัดเอา ตะกอนหน้าดินมาถมฝั่ง ทำให้พื้นดินแห่งนี้มีความอุดม สมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ผู้คนเริ่มอพยพจากพื้นที่รอบนอกเข้ามาจับจองพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำและเริ่มมีการเพาะปลูกขึ้น เผ่าชนเหล่านี้มาอาศัย รวมกันตามริมฝั่งแม่น้ำไนล์และแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ เรียกว่าโนมส์

      ในแต่ละโนมส์จะปกครองโดยกลุ่มนักบวชซึ่งพัฒนามาจากหมอผีในสมัยหินใหม่ ต่อมาความจำเป็นในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ทำให้ต้องมีการจัดระบบชลประทานขึ้น หัวหน้ากรรมกรผู้ควบคุมการ ชลประทานเหล่านี้ได้ถูกยกย่องให้เป็นหัวหน้านักรบของโนมส์ เมื่อขนาดของชุมชนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆก็มีการพัฒนาเป็นนครรัฐขนาดเล็กกระจัดกระจายตาม ริมฝั่งแม่น้ำดินแดนของแม่น้ำไนล์ถูกแบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์เป็น อียิปต์บนและอียิปต์ล่าง 
       ดินแดนของแม่น้ำไนล์ถูกแบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์เป็น อียิปต์บนและอียิปต์ล่าง เนื่องจากแม่น้ำไนล์ไหลจากทางใต้ขึ้นสู่ทางเหนือ ดังนั้นอียิปต์บนจะตั้งอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำไนล์อันเป็นทิศที่แม่น้ำไหลมาพื้นที่ส่วนนี้มี ทุ่งหญ้าและเขตป่าละเมาะที่เหมาะแก่การล่าสัตว์และทำปศุสัตว์ ส่วนอียิปต์ล่างจะตั้งบริเวณทิศเหนือซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำไหลลงทะเลและมีพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ที่สมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกในช่วงเวลานั้นอียิปต์ล่างมีเมืองการค้าและศูนย์กลางที่สำคัญชื่อว่า บูโท ส่วนทางอียิปต์บนพลเมืองจะอาศัยอยู่หนาแน่นบริเวณเมืองนากาดา และเฮียราคอนโพลิส ในราวสี่พันปีก่อนคริสตกาลชาวอียิปต์เริ่มพัฒนารูปแบบอักษรจากรูปภาพ และกลายเป็นอักษรเฮียโรกลิฟฟิคในเวลาต่อมา 

ประวัติศาสตร์ ตอน 3 อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์

          กำเนิดแห่งอาณาจักร ในราว 3200ปีก่อนคริสตกาล ราชาแมงป่อง (Scorpion king) ผู้ครองนครธีส (This) อันตั้งอยู่บริเวณตอนกลางแห่งลุ่มน้ำไนล์ได้กรีฑาทัพ เข้ายึดครองนครรัฐต่างๆในอียิปต์บนและตั้งตนเป็นฟาโรห์แห่งอาณาจักรบน ราชาแมงป่องปรารถนาจะรวมอียิปต์เข้าด้วยกันแต่พระองค์สิ้นพระชนม์เสียก่อน โอรสของพระองค์(ข้อนี้นักประวัติศาสตร์ยังไม่แน่ใจนักแต่จากหลักฐานที่มีแสดงว่าทั้งสองพระองค์น่าจะเกี่ยวดองกัน)นามว่า นาเมอร์(Namer)ได้สานต่อนโยบายและกรีฑาทัพเข้าโจมตีอียิปต์ล่าง จนกระทั่งมาถึงสมัยของ ฟาโรห์เมเนส(Menese)พระองค์สามารถผนวกทั้งสองอาณาจักรเข้าด้วยกันได้สำเร็จและ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นฟาโรห์พระองค์แรกของอียิปต์โดยตั้งเมืองหลวงที่ เมมฟิส (Memphis) ซึ่งอยู่ตอนกลางของลุ่มน้ำไนล์ ฟาโรห์เมเนสเป็นฟาโรห์องค์แรกแห่งราชวงศ์ที่หนึ่งของอียิปต์โบราณ

  2.ยุคอาณาจักรเก่า เริ่มตั้งแต่ 2950 - 2150 ปีก่อน ค.ศ. ประกอบด้วยราชวงศ์ที่หนึ่งถึงราชวงศ์ที่แปด

ยุคนี้เมืองหลวงของอียิปต์คือ นครเมมฟิส (Memphis) โดยมีพระเจ้าเมเนส (Menes) เป็นฟาโรห์พระองค์แรกที่ปกครองอียิปต์ทั้งหมด ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า องค์ฟาโรห์คือร่างประทับของสุริยเทพ ที่ลงมาปกครองมนุษย์

การเมืองการปกครอง: ในสังคมอียิปต์มีการแบ่งออกเป็นสามชนชั้น คือ ชนชั้นสูงได้แก่ เชื้อพระวงศ์ นักบวช ขุนนาง ชนชั้นกลางได้แก่ พ่อค้า เสมียน ช่างฝีมือ และชนชั้นล่างคือพวกชาวนาและผู้ใช้แรงงาน นอกจากฟาโรห์แล้ว บุคคลที่มีอำนาจมากที่สุดคือหัวหน้านักบวชของสุริยเทพ รา ซึ่งเป็นจอมเทพสูงสุด ในการบริหารงาน ฟาโรห์จะมีคณะเสนาบดีที่นำโดย วิเซียร์ (Vizier) ซึ่งเป็นตำแหน่งขุนนางสำคัญ เป็นผู้ช่วย และส่งข้าหลวง (Nomarch) ไปทำหน้าที่ปกครองหัวเมืองต่างๆ โดยขึ้นตรงต่อองค์กษัตริย์ ในยุคอาณาจักรเก่านี้ อียิปต์ไม่มีกองทหารประจำการ แต่จะเกณฑ์พลเมืองเข้ากองทัพเมื่อเกิดสงคราม

ความเชื่อเดิมทีก่อนการรวมแผ่นดิน หัวเมืองต่างๆทั้งในอียิปต์บน และ ล่าง ต่างนับถือเทพต่างๆกันต่อมาเมื่อรวมแผ่นดินแล้วก็ยังคงความเชื่อแบบพหุเทวนิยม อยู่ โดยมี รา (RA) เป็นเทพสูงสุด ชาวอียิปต์เชื่อว่าพระองค์เป็นผู้สร้างโลกและสวรรค์รวมทั้งสิ่งมีชีวิตทั้งปวง นอกจาก รา แล้ว เทพที่ชาวอียิปต์นับถือกันมากได้แก่ โอซิริส เทพแห่งยมโลกผู้มีหน้าที่ตัดสินดวงวิญญาณ , เทพีไอซิสเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ,เซ็ท เทพแห่งสงคราม ,ฮาธอร์เทพีแห่งความรัก และฮอรัส เทพผู้เป็นตัวแทนของฟาโรห์ทุกพระองค์ นอกจากนี้ยังมีเทพอื่นๆที่ถือเป็นเทพเจ้าประจำแต่ละเมือง

วิถีชีวิต:ชาวอียิปต์โบราณดำรงชีวิตด้วยการกสิกรรม โดยเฉพาะในเขตที่ราบน้ำท่วมถึงหรือที่เรียกว่าเขตดินสีดำที่ชื่อว่า เคเมต เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ การเพาะปลูกได้ผลดี พืชผลที่ได้จะถือเป็นสมบัติของฟาโรห์และจะมีการแจกจ่ายแก่ประชาชนอย่างเหมาะสม พืชที่นิยมปลูกกันคือข้าวสาลีและข้าวบาเล่ย์ โดยพวกเขาจะใช้ข้าวสาลีทำขนมปังและทำเบียร์จากข้าวบาเล่ย์ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นอาหารหลัก ของชาวอียิปต์โบราณ และพืชผลเหล่านี้ยังใช้เป็นสินค้าส่งออกไปยังดินแดนอื่นๆอีกด้วยนอกจากการเพาะปลูกแล้วชาวอียิปต์ยังทำการจับปลา ล่านกน้ำและฮิปโปโปเตมัสในแม่น้ำไนล์โดยใช้เรือที่ผูกจากต้นกก ส่วนในเขตดินสีแดงที่เรียกว่า เชเครต ซึ่ง อยู่ในเขตอียิปต์บนพวกเขาจะทำการล่าสัตว์ป่าอย่าง แอนทีโลป และแพะป่า ซึ่งมีอยู่มากมาย บ้านเรือนของชาวอียิปต์สร้างจากอิฐตากแห้งและใช้ไม้ทำส่วนประกอบอย่างกรอบประตูเนื่องจากในอียิปต์ไม้ค่อนข้างหายาก บ้านแต่ละหลังจะมีบันไดขึ้นดาดฟ้าเนื่องจากชาวอียิปต์จะใช้ดาดฟ้าเป็นที่ทำงานต่างๆเช่นการทำขนมปัง หรือแม้แต่เป็นที่พักผ่อนนั่งคุย

ประวัติศาสตร์ ตอน 3 อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์

อักษรอียิปต์:      ชาวอียิปต์ใช้อักษรภาพที่เรียกว่าเฮียโรกลิฟฟิค (Hieroglyphic) ซึ่งมีทั้งแบบที่เป็นรูปภาพและแบบที่เป็นสัญลักษณ์ประกอบเป็นคำ โดยจะบันทึกลงในแผ่นหินและม้วนกระดาษปาปิรัสซึ่งทำจากต้นกก ตัวอักษรอียิปต์มีประมาณ 1000 ตัว ในสมัยก่อน ผู้ที่สามารถอ่านเขียนอักษรเฮียโรกลิฟฟิคได้คล่องแคล่วจะมีโอกาสได้ทำงานเป็นอาลักษณ์ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสที่จะเลื่อนขึ้นเป็น  ขุนนาง หรือนักบวชสำคัญได้ สำหรับอักษรของอียิปต์นั้น นับแต่อารยธรรมล่มสลายลงไปก็ไม่มีใครสามารถตีความได้ จนกระทั่งได้มีการค้นพบ ศิลาจารึก โรเซทต้า (ROSETTA) ในปี ค.ศ. 1799 ที่มีจารึกอักษรเฮียโรกลิฟฟิคกับอักษรกรีกโบราณเอาไว้ ฟรองซัวส์ ชองโพลียอง ใช้วิธีการค้นคว้าโดยอ่านเทียบกับอักษรกรีกโบราณ และสามารถตีความได้สำเร็จในปี 1822

ประวัติศาสตร์ ตอน 3 อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์

การทำมัมมี่:ถูกทำขึ้นในสมัยราชวงศ์ที่4และมีเรื่อยมาจนถึงค.ศ.641 ชาวอียิปต์เชื่อว่าหลังจากที่มนุษย์ ตายไปแล้วดวงวิญญาณจะกลับมาเกิดใหม่ในร่างเดิมจึงต้องเก็บร่างเอาไว้เพื่อรอรับการเกิดใหม่ในยุค อาณาจักรเก่าเชื่อว่ามีเพียงฟาโรห์เท่านั้นที่จะกลับมาคืน ร่างเดิมแต่ในสมัยต่อมาการทำมัมมี่ได้แพร่หลายสู่ขุนนางและสามัญชนแม้กระทั่งสัตว์ที่เป็นสัญลักณ์ ของเทพเจ้าในการทำมัมมี่ชาวอียิปต์จะนำสมองและอวัยวะภายในออกจากศพและนำศพไปชำระล้างใน แม่น้ำไนล์จากนั้นจะนำไปแช่ในน้ำยานาตรอน(Natron)ซึ่งเป็นสารพวกsodium Carbonate โดยเปลี่ยนน้ำยาทุกสามวันและแช่ประมาณหกสิบวันจนศพแห้งและนำมาพันด้วยผ้าลินิน ส่วนอวัยวะภายในและสมองจะนำไปผสมกับเครื่องหอมและทำให้แห้งด้วยสมุนไพรจากนั้น จึงนำไปดองในน้ำยานาตรอนประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนจะนำมาเก็บในโถคาโนปิก (Canopic) สี่ใบและนำไปเก็บรวมกับหีบศพในสุสานพร้อมข้าวของเครื่องใช้และสมบัติเพื่อรอการกลับมาของวิญญาณ

ประวัติศาสตร์ ตอน 3 อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์

พีระมิดยักษ์: เป็นสิ่งก่อสร้างที่มหัศจรรย์ที่สุด เดิมทีฟาโรห์จะสร้างห้องเก็บพระศพขนาดใหญ่เป็น สุสาน ต่อมาในสมัยของฟาโรห์โซเซอร์ แห่งราชวงศ์ที่สาม (2650ปีก่อน ค.ศ.) อิมโฮเทปที่ปรึกษาของฟาโรห์ ซึ่งเป็นนักปราชญ์และสถาปนิกที่มีความสามารถ ได้ทำการออกแบบ พีระมิดขั้นบันไดที่เรียกว่า มาสตาบา (Mastaba) ที่เมืองซักคาราขึ้น นอกจากเป็นผู้ออกแบบพีระมิดแล้ว อิมโฮเทปยังมีผลงานประพันธ์ต่างๆมากมายทั้งวรรณคดีและตำราเภสัชศาสตร์ ชาวอียิปต์รุ่นหลังนับถือเขาในฐานะเทพแห่งความรู้ หลังจากยุคของฟาโรห์โซเซอร์ ก็ได้มีการสร้างพีระมิดขั้นบันไดต่อมาและค่อยๆพัฒนากลายเป็นแบบสามเหลี่ยม โดยพีระมิดที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ พีระมิดยักษ์ของฟาโรห์คูฟูที่เมืองกีซา ซึ่งมีความสูงถึง 147 เมตรและได้ชื่อว่า เป็นพีระมิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

การต่างประเทศ:ในยุคอาณาจักรเก่าอียิปต์มีการค้าขายกับเพื่อนบ้านทั้งในเมโสโปเตเมีย (อยู่ในตะวันออกกลาง)และอาณาจักรนูเบียทางภาคใต้(ปัจจุบันคือซูดาน)ในยุคนี้ไม่มีการใช้เงิน การค้าจะทำในแบบของแลกของ โดยสินค้าออกสำคัญของอียิปต์คือพืชผลทางการเกษตร แลกกับสินค้าพวกไม้หอม งาช้าง เครื่องแกะสลัก เป็นต้น แทบไม่มีหลักฐานของการสงครามขนาดใหญ่ในยุคนี้นอกจากหลักฐานการรบกับพวกเรร่อนเบดูอิน ในพรมแดนปาเลสไตน์สมัยฟาโรห์เปปิที่1 แห่งราชวงศ์ที่6 กล่าวได้ว่าสงครามใหญ่เพียงครั้งเดียวของยุคนี้คือสงครามรวมชาติตอนต้นราชวงศ์ที่หนึ่งเท่านั้น

3.ยุครอยต่อของอาณาจักร (2125 - 1975 ปี ก่อน ค.ศ.) ประกอบด้วยราชวงศ์ที่เก้าถึงสิบเอ็ด

     นับแต่ก่อตั้งอาณาจักร ดินแดนอียิปต์มีแต่ความสงบสุขและรุ่งเรือง ปราศจากจากสงครามและการคุกคามจากชนต่างชาติ แม่น้ำไนล์พัดพาความอุดมสมบูรณ์มาพร้อมกับดินตะกอนสีดำ ความสงบสุขดำเนินมาจนถึงปีที่2200ก่อนคริสตกาล อันเป็นปีเริ่มต้นของยุคแห่งความวุ่นวายและการนองเลือด สาเหตุของความวุ่นวายในดินแดนไอยคุปต์มีที่มาจากประเพณีของฟาโรห์ใน การพระราชทานรางวัลแก่ขุนนางที่มีความชอบเนื่องจากในยุคนั้นไม่มีการ ใช้เงินตราและสิ่งที่มีค่าที่สุดก็คือ ที่ดิน

          กล่าวคือฟาโรห์จะพระราชทานที่ดินให้แก่ขุนนางที่ทำความดีความชอบ โดยที่ดินดังกล่าวจะต้องกลับคืนเป็นของราชสำนักอีกครั้ง เมื่อขุนนางสิ้นชีวิตลงแต่ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ขุนนางเริ่มท้าทายอำนาจฟาโรห์ โดยการแอบโอนถ่ายที่ดินให้แก่ลูกหลาน จนในที่สุดก็กลายเป็นธรรมเนียมว่า ขุนนางสามารถโอนถ่ายที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์สู่ลูกหลานได้ และนำไปสู่การสร้างเขตอิทธิพลของแต่ละตระกูลเหล่าขุนนางต่างสะสมที่ดินและกำลังคนมากขึ้น อำนาจของฟาโรห์ถูกกัดกร่อนลงเรื่อยๆและกลุ่มอิทธิพลที่ทรงอำนาจมากที่สุดก็คือเหล่าหัวหน้านักบวชในอาราม สุริยเทพ-รา

         ปีที่ 2180 ก่อน ค.ศ. อำนาจรัฐของฟาโรห์ที่เมมฟิส สิ้นสุดลง บรรดานครรัฐต่างตั้งตนเป็นอิสระและทำสงครามรบพุ่งกันเอง ดินแดนแม่น้ำไนล์ที่เคยอุดมสมบูรณ์เกิดภัยแล้งติดต่อกันเป็นเวลานาน ฟาโรห์อ่อนแอเกินกว่าที่จะสร้างระบบชลประทานขึ้นมา แก้ปัญหาได้ความอดอยากและภัยสงครามแพร่กระจายทั่วแผ่นดินในที่สุดอิยิปต์ถูกแบ่งเป็นสองเขต คืออิยิปต์ต่ำ ซึ่งอยู่ทางเหนือของเมมฟิสถูกปกครองโดยตระกูลหนึ่งจากเมืองเฮรักลีโอโพลิส(Herakleopolis) ส่วนอีกเขตหนึ่งคืออียิปต์สูงที่อยู่ทางใต้ของเมมฟิสถูกปกครองโดยตระกูลจากเมืองธีบีส(Thebes) และแล้วในปีที่ 1975ก่อนค.ศ.เจ้าชายนักรบจากธีบีสได้ทำสงครามผนวกอียิปต์ทั้งหมด และ ขึ้นครองราชย์เป็นฟาโรห์ ทรงพระนามว่า มอนตูโฮเทปที่ 2 (Montuhotep)

4.ยุคอาณาจักรกลาง เริ่มตั้งแต่ 1975 - 1520 ปีก่อน ค.ศ. ประกอบด้วยราชวงศ์ที่สิบสองถึงสิบเจ็ด

        พระเจ้ามอนตูโฮเทป ที่2 ได้สร้างเมืองหลวงใหม่ที่ ธีบีส ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงสร้างโบสถ์ใหญ่อันสวยงามที่ เดียร์ เอล-บาฮารี (Deir el-Bahari) โบสถ์นี้ยังเป็นที่ฝังพระศพของพระองค์อีกด้วย ต่อมาในสมัยของมอนตูโฮเทปที่ 4 พระองค์ถูกแย่งชิงราชสมบัติ โดยขุนศึกนาม อาเมเนมฮัท(Amenamhat) ซึ่งได้ตั้งราชวงศ์ที่12 ขึ้น ราชวงศ์ที่12นี้ได้นำความมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรืองกลับมา สู่อียิปต์อีกครั้ง มีการทำเหมืองแร่และอู่ต่อเรือ นอกจากนี้มีการสร้างพีระมิดขนาดใหญ่ขึ้น หลายแห่งการเพาะปลูกอุดมสมบูรณ์

         ชาวอียิปต์ได้ฟื้นฟูเส้นทางการค้าต่างประเทศขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่หยุดชะงักไปมีการส่งกองเรือสินค้า ไปค้าขายกับชาวต่างชาติเช่น ครีทและเลบานอน ในยุคนี้ อียิปต์ยังทำศึกกับพวกนูเบียทางใต้(ปัจจุบันคือ ซูดาน)และแผ่อิทธิพลไปทางภาคตะวันตกเพื่อป้องกันเส้นทางการค้า นอกจากนี้เครื่องบรรณาการเช่นทองคำและทาสเชลย ที่ชาวอียิปต์ได้จากการทำสงคราม ก็ทำเศรษฐกิจของอียิปต์เจริญรุ่งเรืองขึ้น อำนาจของฟาโรห์กลับมายิ่งใหญ่และมั่งคั่งอีกครั้งหนึ่ง

ประวัติศาสตร์ ตอน 3 อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์

นักรบนูเบีย: พวกนูเบียนเป็นกลุ่มชนผิวดำ ดินแดนนูเบียนั้น ตั้งอยู่ดินแดนทางตอนเหนือของแม่น้ำไนล์ (ทางใต้ของอียิปต์) แต่เดิมทีอียิปต์ ทางอียิปต์ได้ส่งคณะเดินทางไปยังนูเบีย เพื่อนำงาช้าง หินสำหรับก่อสร้างและสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ กลับมาอียิปต์ ในสายตาของชาวอียิปต์นั้นถือว่าพวกนูเบียเป็นชนป่าเถื่อนที่มีอารยธรรมด้อยกว่าตน ในช่วงยุคมืด พวกนูเบียคุกคามพรมแดนด้านใต้ของอียิปต์

ต่อมาในยุคอาณาจักรกลางและได้เกณฑ์เชลยศึกชาวนูเบียเข้ามาเป็นทหารในกองทัพ นอกจากนี้ยังมีนักรบนูเบียบางที่มีความสามารถ ได้รับตำแหน่งนายพลของกองทัพอียิปต์ด้วย ชาวนูเบียนรับอารยธรรมต่างๆของอียิปต์มาใช้ รวมทั้งความเชื่อทางศาสนาและการสร้างพีระมิดด้วย

การรุกรานของชนต่างชาติ {The invasion from Asia} 1630 - 1520 ก่อน ค.ศ.

ในช่วงเวลานี้ได้เกิดเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้น นั่นคือการรุกรานของพวก ฮิกโซส (Hyksos) ซึ่งในภาษาอียิปต์แปลว่า " กษัตริย์ต่างชาติ " ชนเผ่านี้อพยพมาจากทุ่งหญ้าในเอเชียและทำสงครามโค่นล้มราชวงศ์อียิปต์ พวกฮิกโซสมีชัยชนะเหนืออียิปต์ได้ด้วย รถศึกและม้า ซึ่งชาวอียิปต์ไม่เคยรู้จักมาก่อน

รถศึกเป็นการผสมผสานระหว่างความเร็วกับอานุภาพการยิง โดยมือธนูจะอยู่บนรถศึกและยิงทำลายแนวรบของศัตรู ทหารอียิปต์ที่มีเพียงพลเดินเท้าเป็นหลักไม่อาจต้านทานอานุภาพของ รถศึกได้ ในที่สุดพวกฮิกโซสจึงสามารถก่อตั้งราชวงศ์ปกคริงอียิปต์ได้สำเร็จ โดยตั้งเมืองหลวงชื่อ อวารีส(Avaris) ขึ้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ และครอบครองดินแดนส่วนเหนือของประเทศ พวกฮิกโซสนำอียิปต์สู่โลกภายนอกและนำวิทยาการใหม่ๆมาสู่อียิปต์ พวกฮิกโซสได้ปรับวัฒนธรรมและศาสนาของชาวอียิปต์เข้าด้วยกัน แม้จะใช้วัฒนธรรมอียิปต์ แต่ในสายตาชาวอียิปต์

พวกฮิกโซสก็ยังเป็นผู้รุกรานที่น่ารังเกียจ ในเวลาที่พวกฮิกโซสตั้งราชวงศ์นั้น พวกอียิปต์ก็ได้ตั้งราชวงศ์ที่17 อยู่ที่ธีบีส โดยยอมอ่อนข้อให้พวกฮิกโซส ในตอนแรก แต่หลังจากนั้นธีบีสก็ลุกขึ้นทำสงครามกับฮิกโซสในการสงครามฟาโรห์สอง พระองค์ของ ธีบีสคือฟาโรห์เซเกนองแร(Sequenenre) และฟาโรห์กาโมส(Kamose) สิ้นพระชนม์ในสนามรบและในที่สุดฟาโรห์อาห์โมซิส(Amosis) ก็สามารถขับไล่พวกฮิกโซสออกไปได้สำเร็จ และก่อตั้งราชวงศ์ที่18ขึ้น

   5.ยุคอาณาจักรใหม่ (New kingdom) 1539 - 1075 ปีก่อน ค.ศ.

นักประวัติศาสตร์ต่างยอมรับกันว่ายุคนี้เป็นยุคที่อียิปต์รุ่งเรืองที่สุด โดยหลังจากพวกฮิกโซสถูกขับไล่ไปแล้ว อำนาจของฟาโรห์ เหนือนครต่างๆในลุ่มน้ำไนล์กลับคืนมาอย่างสมบูรณ์ ในยุคของฟาโรห์ทุตโมซิสที่ 1 (Thutmosis) แห่งราชวงศ์ที่ 18 ในยุคนี้เมืองหลวงของอียิปต์คือนครธีบส์(Thebes) และฝั่งตรงข้ามของเมืองหลวงคือ หุบเขาแห่งกษัตริย์อันเป็นสถานที่ฝังพระศพฟาโรห์

      ในยุคอาณาจักร ใหม่นี้ ทั้งนี้ชาวอียิปต์ได้ยกเลิกประเพณีการสร้างพีระมิดไปตั้งแต่ตอนปลาย ของอาณาจักรเก่าเนื่องจากสิ้น เปลืองวัตถุดิบและหันมาใช้วิธีเจาะหน้าผาเป็นสุสานแทน นอกจากธีบส์แล้วทุตโมซิสที่1 ยังได้สร้างนครอบีดอส (Abidos)ให้เป็นเมืองสำคัญในสมัยของฟาโรห์ทุตโมซิสที่ 1 นี้เมืองหลวงคือ กรุงธีบส์เจริญรุ่งเรืองมากมีการสร้างวิหารขนาดใหญ่เพื่อบูชาแด่เทพเจ้า ซึ่งก็รวมทั้งมหาวิหารคาร์นัค นอกจากนี้ อียิปต์ยังได้เริ่มการแผ่อำนาจเข้าไปในดินแดนเอเชียตะวันออกใกล้และนูเบีย อีกด้วย

ประวัติศาสตร์ ตอน 3 อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์

        การเสื่อมและการล่มสลายของอียิปต์ (ปีที่1075 - 332 ก่อน ค.ศ.)

หลังการสวรรคตของรามเสสที่2 และโอรสของพระองค์มเนปตาห์ ขึ้นครองราชย์ จักรวรรดิอียิปต์เริ่มส่อเค้าวุ่นวาย บรรดาเมืองขึ้นต่างๆ เช่นนูเบียและลิเบียได้ก่อกบฎขึ้นแต่โชคดีที่ทางอียิปต์สามารถปราบปรามลงได้ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองทางฝ่ายฮิตไตท์ประสบภาวะ แห้งแล้งขาดแคลนอาหารทำให้ทางอียิปต์ต้องส่งอาหารไปช่วยตามข้อตกลงที่มีในสมัยรามเสสที่2 หลังการสิ้นพระชนม์ของฟาโรห์มเนปตาห์อียิปต์ต้องพบกับปํญหาการเมืองภายในฟาโรห์แต่ละองค์ครองราชย์เพียงช่วงสั้นๆ จนมาถึงปีที่1186ก่อนค.ศ.ฟาโรห์รามเสสที่3ขึ้นครองราชย์พระองค์ทรงได้รับการยอมรับจากทุกกลุ่ม ทำให้ปัญหาการเมืองภายในหมดไป แต่ในช่วงที่อียิปต์เริ่มจะฟื้นตัวนั้นเหตุการณ์สำคัญก็ได้เกิดขึ้น

การมาถึงของชนทะเล (Sea people)

หลังการครองราชย์ของรามเสสที่3 ทางด้านเมดิเตอเรเนียนได้เกิดความวุ่นวาย เนื่องจากภาวะแห้งแล้ง ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการรุกรานและการอพยพจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ประชาชนจากเมดิเตอเรเนียนต้องอพยพออกจากถิ่นฐานเดิม กลุ่มชนเหล่านี้ถูกเรียกว่าชาวทะเล(sea people) นักรบชาวทะเลเหล่านี้ประกอบด้วยคนเชื้อชาติต่างๆ เช่นไมซีเน่ อีเจียน ฟิลิสทีนแม้กระทั่งชาวซีเรียโดยพวกเขาได้เข้ารุกรานและทำลายบ้านเมืองต่างๆเรื่อยมา

สิ่งที่พวกนี้ต้องการ คือดินแดนใหม่ที่ อุดมสมบูรณ์ซึ่งพวกเขาจะตั้งถิ่นฐานได้ นอกจากนี้ชาวทะเลเหล่านี้ยังได้เข้าโจมตีและทำลายนครฮัตตูซัสเมืองหลวงของจักรวรรดิฮิตไตท์จน ราบคาบจากนั้นชาวทะเลจึงมุ่งหน้ามายังอียิปต์ดินแดนอู่ข้าวอู่น้ำของโลกโบราณ และในปีที่1179 ก่อน ค.ศ. สงครามระหว่างชาวทะเลกับอียิปต์ก็เกิดขึ้น

ฟาโรห์รามเสสที่3 สามารถพิชิตกองทัพชาวทะเลได้ทั้งทางบกและทางน้ำ ทำให้สามารถปกป้องจักรวรรดิได้สำเร็จชื่อเสียงของพระองค์เลื่องระบือ หลังสงครามพระองค์ยังปราบปรามพวกลิเบียที่ก่อกบฎลงได้ ทำให้จักรวรรดิเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งแต่ทว่าสงครามที่ยาวนานทำให้อียิปต์สูญเสียกำลัง คนไปมากการค้าก็หดหายไปทำให้อียิปต์ขาดรายได้และท่ามกลาง ปัญหานี้เองรามเสสที่3 ก็สวรรคตลง

ประวัติศาสตร์ ตอน 3 อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์

บทสุดท้าย แห่งอาณาจักร

วาระแห่งความเสื่อมสูญ:หลังการสวรรคตของรามเสสที่3 อียิปต์กลับสู่ความวุ่นวายอีกครั้ง ทั้งจากปัญหาการเมืองและความอดอยาก ในที่สุดอียิปต์ก็แตกแยกกลายเป็นก๊กเป็นเหล่า บรรดาเมืองต่างๆตั้งตนเป็นอิสระ ชาวลิเบียซึ่งเป็นนักโทษสงครามของรามเสส ถือโอกาสตั้งตนเป็นอิสระผู้นำของพวกเขานามว่าโชชอง(Chochong) ได้เป็นฟาโรห์และรวบรวมแผ่นดินได้สำเร็จ แต่ก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆและบ้านเมืองก็เข้าสู่สภาพแตกแยกอีกครั้ง

จนกระทั่งในปีที่663 ก่อน ค.ศ. กษัตริย์อัสซูบานิปาลแห่ง อัสสิเรีย ได้ยกกองทัพเข้ารุกรานอียิปต์ เมืองต่างๆถูกทำลาย ทรัพย์สมบัติถูกปล้นชิง และอียิปต์ก็ไม่อาจฟื้นตัวได้อีกต่อมาในปีที่525 ก่อนค.ศ. อียิปต์ก็ถูกปกครองโดยชาวเปอร์เซียและเมื่ออเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาซีโดเนีย ซึ่งเป็นชนเชื้อชาติกรีกพิชิตเปอร์เซียลง อียิปต์ก็ตกเป็นของมาซีโดเนียในปีที่335 ก่อน ค.ศ.

หลังการสวรรคตของอเล็กซานเดอร์จักรวรรดิมาซิโดเนียของพระองค์ล่มสลายลง เหล่าขุนศึกมาซีโดเนียต่างตั้งตนเป็นใหญ่ในดินแดนต่างๆที่พระองค์พิชิตมา นายพลปโตเลมีขุนศึกของพระองค์ก็ตั้งตนเป็นฟาโรห์และ ตั้งราชวงศ์ปโตเลมีซึ่งถือเป็นราชวงศ์สุดท้าย ขึ้นปกครองอียิปต์โดยมีเมืองหลวงที่อเล็กซานเดรีย

จนกระทั่งมาถึงปีที่ 36 ก่อน ค.ศ. พระนางคลีโอพัตราแห่งราชวงศ์ปโตเลมีพ่ายแพ้กองทัพโรมันที่แอคติอุม(Actium) และได้ปลิดชีวิตตนเองลงจากนั้นจักรวรรดิโรมันจึงผนวกอียิปต์เข้าเป็นส่วน หนึ่งของโรมและ นั่นคือการล่มสลายลงโดยสิ้นเชิงจากนั้นมา อียิปต์กลายเป็นเพียงมณฑลหนึ่งของโรมและกลายเป็นของจักรวรรดิไบเซนไทน์ในเวลาต่อมา และได้ถูกพวกมุสลิมเข้ายึดครองในภายหลัง

วันเวลาของฟาโรห์และอาณาจักรของพระองค์จบลงไปแล้วและนั่นก็คือชะตากรรมที่ไม่ว่าอาณาจักรใดๆจะยิ่งใหญ่ สักเพียงไหนก็ไม่อาจจะหลีกพ้น

ประเด็นอภิปราย

     อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ส่งผลถึงอารยธรรมของโลกปัจจุบันอย่างไรบ้าง อภิปรายพร้อมอ้างอิงแหล่งข้อมูล

 แหล่งอ้างอิง
https://knowledge.eduzones.com/knowledge
 

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=596

อัพเดทล่าสุด