กรุงรัตนโกสินทร์ ยุคการปฎิรูปประเทศ


785 ผู้ชม


นำเสนอการปฎิรูปประเทศในด้านต่างๆ ในรัชกาลที่ 4-6   

ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
( รัชกาลที่ 4 - รัชกาลที่ 6 )

กรุงรัตนโกสินทร์ ยุคการปฎิรูปประเทศ


1. ด้านการปกครอง
                    แม้ว่ารัชกาลที่ 4 จะทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดตามแบบพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่พระองค์ก็ได้ทรงเริ่มปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติบางอย่าง เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาราษฎร์ โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างองค์พระมหากษัตริย์กับประชาชน รัชกาลที่ 4 ทรงพิจารณาว่าประเพณีบางอย่างที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เดิม เช่น ห้ามราษฎรเข้าใกล้ชิดรวมทั้งมีการยิงกระสุนเวลาเสด็จพระราชดำเนินและบังคับให้ราษฎรปิดประตูหน้าต่างบ้านเรือน เป็นประเพณีที่ล้าสมัย ประเทศตะวันตกที่มีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ไม่มีประเพณีตัดสิทธิราษฎรแบบนี้ จึงโปรดให้ยกเลิกประเพณีดังกล่าว อนุญาตให้ราษฎรเข้าเฝ้าโดยสะดวกและเปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนถวายฎีการ้องทุกข์ในขณะที่เสด็จพระราชดำเนินด้วย
                  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะใน พ.ศ.2416 และทรงว่าราชการด้วยพระองค์เอง จึงทรงเริ่มปรับปรุงการปกครองซึ่งเรียกว่า “การปฏิรูปการปกครอง”
            1. การปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 แบ่งเป็น 2 ระยะคือ
                    1.1 การปรบปรุงการปกครองประเทศในตอนต้นรัชกาล ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน หรือเรียกว่า “เคาน์ซิล ออฟ สเตท” (Council of State) และสภาที่ปรึกษาในพระองค์ หรือเรียกว่า “ปรีวี เคาน์ซิล” (Privy Council) สภาทั้งสองนี้มีหน้าที่ในการออกกฎหมายและยกเลิกกฎหมาย รวมทั้งยกเลิกประเพณีโบราณต่างๆ ที่เห็นว่าไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมในสมัยนั้น ปรากฏว่าสภาทั้ง 2 ดำเนินงานไปได้ไม่นาน ก็ต้องหยุดชะงักเพราะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่เรียกว่า“วิกฤตการณ์วังหน้า” (เป็นความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ซึ่งดำรงตำแหน่งวังหน้า อันเนื่องมาจากความหวาดระแวงซึ่งกันและกันจนเกือบจะมีการประทะกันระหว่างกัน) ขึ้นในปลาย พ.ศ.2417 แต่ก็สามารถยุติลงได้
                    1.2 การปฏิรูปการปกครองในช่วงหลัง รัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักถึงภยันตรายจากการแสวงหาอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจตะวันตก และทรงเห็นว่าลักษณะการปกครองของไทยใช้มาแต่เดิมล้าสมัยไม่สอดคล้องกับความเจริญก้าวของบ้านเมือง ดังนั้นใน พ.ศ.2430 ทรงเริ่มการปฏิรูปการปกครองแผนใหม่ตามแบบตะวันตก โดยเฉพาะในส่วนกลางมีการจัดแบ่งหน่วยงานการปกครองออกเป็น 12 กรม ซึ่งต่อมาเปลี่ยนไปใช้คำว่า “กระทรวง” แทนโดยประกาศสถาปนากรมหรือกระทรวงต่างๆ ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2435 และยังได้ประกาศตั้งเสนาบดีเจ้ากระทรวงต่างๆ ขึ้น ยุบตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีและเสนาบดีจตุสดมภ์ทุกตำแหน่ง มีสิทธิเท่าเทียมกันในที่ประชุม ต่อจากนั้นได้ยุบกระทรวงและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเสียใหม่เหลือไว้เพียง 10 กระทรวง คือ

กรุงรัตนโกสินทร์ ยุคการปฎิรูปประเทศ


                              1. กระทรวงมหาดไทย
                              2. กระทรวงกลาโหม
                              3. กระทรวงการต่างประเทศ
                              4. กระทรวงวัง
                              5. กระทรวงเมือง (นครบาล)
                              6. กระทรวงเกษตราธิการ
                              7. กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
                              8. กระทรวงยุติธรรม
                              9. กระทรวงธรรมการ
                            10.กระทรวงโยธาธิการ
                            11.(กระทรวงยุทธนาธิการ) ต่อมาไปอยู่กระทรวงกลาโหม เนื่องจากมีหน้าที่คล้ายคลึงกัน
                            12.(กระทรวงมุรธาธิการ) ต่อมาไปอยู่กระทรวงวัง เนื่องจากมีหน้าที่คล้ายคลึงกัน
                    ส่วนภูมิภาค ได้ยกเลิกการจัดเมืองเป็นชั้นเอก โท ตรี จัตวา เปลี่ยนเป็นการปกครองแบบเทศาภิบาล คือ รวมหัวเมืองหลายเมืองเข้าด้วยกันเป็นมณฑลๆ หนึ่ง โดยมีข้าหลวงเทศาภิบาล เป็นผู้ปกครองมณฑล ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลนี้เป็นการรวมอำนาจการปกครองทั้งด้านการเมือง และเศรษฐกิจเข้าสู่ส่วนกลาง ทำให้การปกครองหัวเมืองเป็นแบบเดียวกันและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการแบ่งเขตการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็นเมือง(จังหวัด) อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ตามลำดับ
                    แต่เนื่องจากระยะนี้บรรดาประเทศมหาอำนาจต่างกำลังแสวงหาอาณานิคม ประเทศไทยก็ถูกฝรั่งเศสคุกคามอย่างหนัก จนทำให้การพัฒนาประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ดำเนินไปไม่ดีเท่าที่ควรและเกิดความล่าช้า เนื่องจากพื้นฐานทางด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของไทยขัดต่อการพัฒนาประเทศตามแบบแผนใหม่ หรือตามแบบประเทศตะวันตก
                    2. การวางฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ไทยได้เริ่มมีการวางราฐานการปกคารองระบอบประชาธิปไตย มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยใช้แบบแผนการปกครองตามอย่างสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วนำมาปรับปรุงใหม่ คือ ในส่วนกลาง ตั้งกระทรวงทหารเรือ กระทรวงพาณิชย์ ในส่วนภูมิภาค รวมมณฑลต่างๆ เข้าเป็นภาค มีอุปราชและ สมุหเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครอง กรุงเทพฯ ก็นับเป็นมณฑลหนึ่งมีสมุหพระนครปกครองให้เรียกเมืองต่างๆว่า จังหวัด และ พ.ศ.2461 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองจำลองขึ้นในบริเวณพระราชวังดุสิต ชื่อว่า “ดุสิตธานี” และจัดการปกครองเป็นแบบเทศบาล แบ่งเขตการปกครองออกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ตามกฎหมายลักษณะการปกครองท้องที่ มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครอง เรียกว่า “ธรรมนูญลักษณะการปกครองคณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี) พุทธศักราช 2461” รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำการทดลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยให้ข้าราชการบริพารได้เข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการปกครองในระบอบนี้ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นโดยผ่านทางหนังสือและอออกพระราชาบัญญัติประถมศึกษาอีกด้วย

กรุงรัตนโกสินทร์ ยุคการปฎิรูปประเทศ


                    3. การปฏิรูประบบกฎหมายและการศาล สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นระยะเวลาที่ชาวยุโรปเริ่มแสวงหาอาณานิคมและแผ่อิทธิพลเข้ามาในเมืองไทย พระองค์จึงได้ทรงตรากฎหมายและประกาศต่างๆ ขึ้นใช้บังคับมากมาย เพื่อให้ทันสมัยเหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองในขณะนั้น เช่น พระราชบัญญัติมรดกสินเดิมและสินสมรส ใน พ.ศ. 2394 พระราชบัญญัติพระสงฆ์สามเณร และศิษย์วัด พ.ศ. 2402
                    ในการติดต่อกับต่างประเทศ ทำให้ไทยเสีย “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” โดยต่างชาติอ้างว่ากฎหมายไทยป่าเถื่อนและรังเกียจวิธีการพิจารณาคดีแบบจารีตนครบาล (คือวิธีการไต่สวนคดีของตุลาการอย่างทารุณ เช่น การตอกเล็บ บีบขมับ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯยกเลิก เมื่อ พ.ศ.2439) จึงไม่ยอมให้ใช้บังคับคนต่างชาติหรือคนในบังคับบัญชา ทำให้ไทยต้องทำการปฏิรูปกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ 5
                    การปฏิรูปกฎหมายไทย การปฏิรูปกฎหมายไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มเมื่อ พ.ศ.2440 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชุรีดิเรกฤทธิ์ พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาตลับ ได้ทรงศึกษาวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมและได้รับยกย่องว่าเป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายและการศาลไทย” ทรงตั้งโรงเรียนสอนวิชากฎหมายขึ้น โดยดำเนินการสอนเอง โรงเรียนกฎหมายแห่งนี้ต่อมาได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจชำระและร่างกฎหมาย ได้แก่ กฎหมายลักษณะอาญา ประกาศใช้ใน พ.ศ.2451 จัดเป็นกฎหมายฉบับใหม่และทันสมัยที่สุดฉบับแรกของไทย ต่อมาได้ประกาศใช้กฎหมายอีกหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 พระราชบัญญัติสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ.120 กฎหมายว่าด้วยการเลิกทาส พ.ศ2448 ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการปฏิรูปภาษากฎหมายไทยให้รัดกุม ชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น
                    สมัยรัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯให้ดำเนินงานร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อจากที่ทำไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5 และ พ.ศ.2466 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมร่างกฎหมายขึ้น
                    การศาล ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้ตั้งกระทรวงยุติธรรมใน พ.ศ.2434 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ตุลาการขาดความยุติธรรม ทุจริตตัดสินคดีความล่าช้า เป็นต้น โดยแยกตุลาการออกจากฝ่ายธุรการ และรวมศาลที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ มาไว้ที่กระทรวงยุติธรรมเพียงแห่งเดียว และใน พ.ศ.2435 ได้มีการเปลี่ยนแปลงงานด้านการศาล คือ รวมศาลอุทธรณ์คดีราษฎร์ ตั้งศาลราชทัณฑ์พิเฉทขึ้น ยกเลิกกรมรับฟ้องโดยตั้งจ่าศาลเป็นพนักงานรับฟ้องประจำศาลต่างๆ ต่อมารวมศาลราชทัณฑ์พิเฉทกับศาลอาญา รวมศาลแพ่งเกษมกับศาลแพ่งไกรศรีเป็นศาลแพ่ง ใน พ.ศ.2441 จัดแบ่งศาลออกเป็น 3 แผนก ได้แก่ ศาลฎีกา ศาลกรุงเทพฯ และศาลหัวเมือง

กรุงรัตนโกสินทร์ ยุคการปฎิรูปประเทศ


                    ความสำเร็จในการปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลของไทยนั้น นอกจากจะเป็นผลงานของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการไทยที่มีความรู้ความสามารถ เช่นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม องค์แรก และขุนหลวงพระยาไกรสี ผู้พิพากษาไทยคนแรกที่เรียนวิชากฎหมายสำเร็จได้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษแล้ว ไทยยังได้จ้างนักกฎหมายชาวต่างประเทศที่มีความรู้มาเป็นที่ปรึกษากฎหมายอีกด้วย บุคคลสำคัญ ได้แก่ นายโรลัง ยัคมินส์ ขาวเบลเยี่ยม นายโตกิจิ มาซาโอะ ชาวญี่ปุ่น นายวิลเลียม อัลเฟรด ติลเลเก ชาวลังกา และนายยอร์ช ปาดู ชาวฝรั่งเศส


2. ด้านเศรษฐกิจ
                    ในสมัยรัชกาลที่ 4 ไทยได้ทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีการค้ากับอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.2398 เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “สนธิสัญญาเบาว์ริง” หลังจากทำสนธิสัญญาเบาว์ริงแล้วได้มีชาติอื่นๆ เข้ามาขอเจราจาทำสนธิสัญญาตามแบบอย่างอังกฤษอีกหลายชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส โปรตุเกส เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น เมื่อมีชาวต่างประเทศเดินทางมาค้าขายมากขึ้น สินค้าแปลกๆใหม่ๆ และวิทยาการต่างๆ ก็แพร่หลายสู่ประชาชนทั่วไป ทำให้มีการพัฒนาบ้านเมือง เพื่อให้ทันสมัยทัดเทียมกับต่างประเทศ เช่น มีการตัดถนนสายต่างๆ ได้แก่ ถนนเจริญกรุง หรือถนนใหม่ บำรุงเมือง เฟื่องนคร สีลม และมีการขุดคลองผดุงกรุงเกษม คลองดำเนินสะดวก ฯลฯ
                    ตามข้อความในสนธิสัญญาเบาว์ริงกำหนดให้ไทยเรียกเก็บภาษีขาเข้าไม่เกินร้อยละ 3 เท่านั้น แต่เนื่องจากมีเรือเข้ามาค้าขายมากกว่าแต่ก่อนถึงปีละ 103 ลำ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าทุกปี แต่การจัดเก็บภาษีในสมัยนี้ไม่รัดกุมพอ เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้นใน พ.ศ.2416 เพื่อรวบรวมภาษีอากรทุกชนิดจากทุกหน่วยงาน และได้ตรมพระราชบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรหลายฉบับ กำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่แบ่งงานในแต่ละกระทรวง กำหนดอัตราภาษีอากรที่แน่นอน ทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอีกมากมาย
                    เงินตรา ในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงกษาปณ์ขึ้นใน    พ.ศ.2403 ได้เปลี่ยนจากการใช้เงินพดด้วงเป็นเงินเหรียญ  
                    ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนมาตราเงินไทยมาใช้ระบบทศนิยมกำหนดให้ 1 บาท มี 100 สตางค์ สร้างเหรียญสตางค์ทำด้วยทองขาว และเหรียญทองแดง และได้โปรดเกล้าฯ ได้พิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้อย่างจริงจัง โดยตราพระราชบัญญัติธนบัตร ร.ศ.121 (พ.ศ.2445)และตั้งกรมธนบัตรขึ้น สังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ นอกจากนี้ยังประกาศใช้พระราชบัญญัติมาตราทองคำ ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) โดยใช้ทองคำเป็นมาตรฐานเงินตราแทนเงิน และในปีเดียวกันได้ประกาศยกเลิกการใช้เงินพดด้วง เหรียญ เฟื้อง เบี้ยทองแดงต่างๆ เบี้ยสตางค์ทองขาว โดยให้ใช้เหรียญบาท สลึง และเหรียญสตางค์อย่างไหมแทน
                    การธนาคารและคลังออมสิน 
                    สมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการจัดตั้งธนาคารขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ.2431 ดำเนินการโดยชาวต่างประเทศ ต่อมาใน พ.ศ.2449 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (พระองค์เจ้าไชยันตมงคล) ได้เป็นผู้ก่อตั้งธนาคารแห่งแรกที่ดำเนินการโดยคนไทย ชื่อว่า “บุคคลัภย์” (Book Club) ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้จดทะเบียนตั้งเป็นธนาคารได้ถูกต้องตามกฎหมาย ใช้ชื่อว่า “บริษัทแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด (Siam Commercial Co,) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด”
                    คลังออมสินจัดตั้งในสมัยรัชกาลที่ 6 ใน พ.ศ.2458 ตามพระราชบัญญัติออมสิน และได้วิวัฒนาการเป็นธนาคารออมสิน

กรุงรัตนโกสินทร์ ยุคการปฎิรูปประเทศ

3. สภาพสังคมและการศึกษา
                    การเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงดำริว่า การที่ประเทศไทยมีชนชั้นทาสมากเท่ากับเป็นการเสียเศรษฐกิจของชาติ และทำให้ต่างชาติดูถูกและเห็นว่าประเทศไทยป่าเถื่อนด้อยความเจริญ ซึ่งมีผลทำให้ประเทศมหาอำนาจต่างๆ คิดจะเข้าครอบครองไทย โดยอ้างว่า เพื่อช่วยพัฒนาประเทศไทยให้ทัดเทียมประเทศอื่นๆ ที่เจริญแล้วทั้งหลาย 
                    ดังนั้น ใน พ.ศ.2417 พระองค์จึงทรงเริ่มออกพระราชบัญญัติพิกัดกระเษียรอายุลูกทาสลูกไทขึ้น โดยกำหนดค่าตัวทาสอายุ 7-8 ปี มีค่าตัวสูงสุด 12-14 ตำลึง แล้วลดลงเรื่อยๆ เมื่อมีอายุ 21 ปี ค่าตัวจะเหลือเพียง 3 บาท ซึ่งทำให้ทาสมีโอกาสไถ่ตัวเป็นไทได้มากและใน พ.ศ.2420 พระองค์ทรงบริจาคเงินจำนวนหนึ่งเพื่อไถ่ตัวทาสที่อยู่กับเจ้านายมาครบ 25 ปี จำนวน 45 คน พ.ศ.2443 ทรงออกกฎหมายให้ทาสสินไถ่อายุครบ 60 ปี พ้นจากการเป็นทาสและห้ามขายตัวเป็นทาสอีก          พ.ศ.2448 ออกพระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124 บังคับทั่วประเทศ ห้ามมีการซื้อทาสต่อไป ให้ลดค่าตัวลงเดือนละ 4 บาท จนครบจำนวนเงิน และให้บรรดาทาสเป็นไททั้งหมด
                    การเลิกทาสของพระองค์ประสบความสำเร็จอย่างดี เป็นเพราะพระปรีชาญาณและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ทรงใช้ทางสายกลาง ค่อยๆดำเนินงานไปทีละขั้นตอน ทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงดังเช่นประเทศต่างๆ ที่เคยประสบมา
                การศึกษา
                ผู้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาสมัยใหม่ในระยะแรกของไทย คือ คณะมิชชันนารีอเมริกัน ซึ่งเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 แหม่มแมตตูน ภรรยามิชชันนารีอเมริกัน ได้ตั้งโรงเรียนขึ้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2395 ต่อมาได้รวมกับโรงเรียนของซินแส กีเอ็ง ก๊วยเซียน ซึ่งเป็นชาวจีนที่นับถือนิกายโปรเตสแตนส์ โรงเรียนนี้รับนักเรียนชายล้วน มีครูใหญ่เป็นคนไทย และสอนด้วยภาษาไทยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้ายาที่ตำบลสำเหร่ ชื่อว่า โรงเรียนสำเหร่บอยคริสเตียนไฮสกูล ต่อมาย้ายมาอยู่ที่ตำบลสีลม เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” นับเป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกของไทย
                ส่วนโรงเรียนสตรีแห่งแรกในประเทศไทย คือ โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลศิริราช ตั้งโดยแหม่มเฮาส์ ใน พ.ศ.2417  ในต่างจังหวัด พวกมิชชันนารีได้ตั้งโรงเรียนขึ้นหลายแห่ง เช่น โรงเรียนปริ๊นส์รอแยลวิทยาลัย และดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนผดุงราษฎร์ จังหวัดพิษณุโลก โรงเรียนอรุณประดิษฐ์ จังหวัดเพชรบุรี
                การปฏิรูปการศึกษาสมัยรัชกาลที่ 5
                สาเหตุที่ทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา คือ พระองค์ต้องการสร้างคนที่มีความรู้เพื่อเข้ารับราชการช่วยบริหารประเทศให้พัฒนามากขึ้น โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกคือ โรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2414 ทรงพระราชทานเสื้อผ้า อาหารกลางวันทุกวัน ครูก็ได้ค่าจ้าง ต่อมาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระตำหนักเดิมที่สวนกุหลาบ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพระบรมมหาราชวัง ให้ชื่อว่า โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ โดยมีพระยาสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) หรือหลวงสารประเสริฐเป็นอาจารย์ใหญ่ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในวัง มีฟรานซิส ยี แปตเตอร์สัน เป็นครู
                อีกสาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากการปลดปล่อยทาสให้เป็นไท พระองค์ทรงห่วงใยมาก เพื่อที่จะไม่ให้กลับมาเป็นทาสอีก จึงเป็นต้องให้คนเหล่านั้นได้รับการศึกษา เพื่อให้มีวิชาความรู้นำไปประกอบอาชีพได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรขึ้น ชื่อ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม ใน พ.ศ.2427
                แบบเรียนที่ใช้ในโรงเรียนขณะนั้นมีทั้งหมด 6 เล่ม ซึ่งเรียบเรียงโดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้แก่ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์และพิศาลกานต์ ต่อมาได้จัดตั้งกรมศึกษาธิการขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2430 ภายหลังยกฐานะเป็นกระทรวงธรรมการ มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการศึกษา (สมัยรัชกาลที่ 6 เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงศึกษาธิการ) และให้ใช้หนังสือแบบเรียนเร็วของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพแทนแบบเรียนทั้ง 6 เล่ม ต่อได้มีการประกาศใช้โครงการศึกษาชาติ    อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) ตามแบบแผนของอังกฤษ และโปรดเกล้าฯ ให้มีการสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงขึ้น เรียกว่า “คิงสกอลาชิป” ตั้งแต่ พ.ศ.2440 เป็นประจำทุกๆ ปี ปีละ 2 คน ส่งไปศึกษายังทวีปยุโรปหรืออเมริกา
                การศึกษาแบบแผนใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการแบ่งการศึกษาออกเป็นสามัญศึกษาเกี่ยวกับการศึกษาทั่วไปและวิสามัญศึกษาเกี่ยวกับวิชาชีพโดยเฉพาะ โดยขยายไปทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบการศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กตามแบบอังกฤษแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียน “วชิราวุธวิทยาลัย”
                พ.ศ.2464 ได้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้นใช้ กำหนดให้เด็กชาย-หญิงทั่วพระราชอาณาจักรที่มีอายุตั้งแต่ 7-14 ปี เข้าเรียนในโรงเรียนโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ทุกคนต้องจบชั้น ป.4 เมื่ออายุ 15 ปี ถ้าผู้ปกครองคนใดฝ่าฝืนจะมีโทษ (ครั้นถึง พ.ศ.2503 จึงได้มีขยายการศึกษาภาคบังคับออกเป็น 7 ปี และ 12 ปีในปัจจุบัน) สำหรับการศึกษาประชาบาลในแต่ละท้องถิ่น กำหนดได้โดยอาศัยทุนทรัพย์ของคนในท้องถิ่น ซึ่งเรียกว่า “เงินศึกษาพลี”และคนในท้องถิ่นเป็นผู้ตั้งโรงเรียนขึ้นเอง แต่อยู่ในการควบคุมดูแลของรัฐบาล
                การตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รัชกาลที่ 6 ทรงยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเดิม ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษา ให้ชื่อว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย ใน พ.ศ.2459 เพื่อจะได้ผลิตผู้มีความรู้ความสามารถสูงสำหรับเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ โดยไม่ต้องจ้างชาวต่างประเทศด้วยค่าจ้างแพง บางคนทำงานไม่ค่อยได้ผล เพราะขาดความรู้ความเข้าใจ สภาพแวดล้อมและปัญหาที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่


4. การศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี

กรุงรัตนโกสินทร์ ยุคการปฎิรูปประเทศ


                การศาสนา รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดต่างๆ ได้แก่ วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดโสมนัสวิหาร วัดปทุมวนาราม และวัดราชประดิษฐ์
                รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งสถานศึกษาสำหรับสงฆ์ คือ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย หรือมหาธาตุวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาฝ่ายมหานิกาย และมหามกุฏราชวิทยาลัย ตั้งขึ้นใน พ.ศ.2436 เป็นสถานศึกษาฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สำหรับวัดที่ทรงสร้างในสมัยนี้ ได้แก่ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นต้น
                ขนบธรรมเนียมประเพณี การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเพณี วัฒนธรรมของชาติให้เป็นแบบอารยประเทศ ได้เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับกาลเวลาและเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรในเวลาเดียวกันด้วย เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มที่ราชสำนักก่อน แล้วจึงขยายไปสู่ระดับประชาชน แต่ผลกระทบของการรับประเพณีวัฒนธรรมแบบตะวันตกบางอย่างก็เห็นชัดเฉพาะในเมืองหลวงเท่านั้น เพราะประชาชนส่วนใหญ่ตามหัวเมือง และในชนบทยังคงยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิม
                นับแต่ต้นรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงประเพณีเดิมเป็นแบบตะวันตกหลายประการ คือ มีประกาศให้ข้าราชการสวมเสื้อเวลาเข้าเฝ้า ให้ชาวตะวันตกที่อยู่ในกรุงเทพฯ เข้าเฝ้าขณะเสด็จออกมหาสมาคมพร้อมกับข้าราชการไทยเป็นครั้งแรก ให้ชาวต่างประเทศถวายคำนับและนั่งเก้าอี้เวลาเข้าเฝ้าได้ ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการนับถือศาสนาและการประกอบอาชีพ ในด้านสิทธิเสรีภาพของสตรีรัชกาลที่ 4 ทรงพยายามยกฐานะของสตรีให้ดีขึ้น สำหรับข้าราชการฝ่ายในที่ไม่สมัครใจจะอยู่ในวังต่อไป ก็ทรงอนุญาตให้ลาออกจากราชการได้ ทรงริเริ่มให้สตรีในราชสำนักได้มีโอกาสเล่าเรียนวิชาภาษาอังกฤษจากสตรีในคณะมิชชันนารีอเมริกัน นับเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดทางการศึกษาของสตรีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นอกจากนี้ยังทรงเริ่มใช้ชาวต่างประเทศเป็นข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ เพื่อปรับปรุงประเทศเป็นแบบตะวันตกด้วย
                ประเพณี วัฒนธรรมของไทยได้มีการแก้ไขปรับปรุงครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเสด็จประพาสต่างประเทศทั้งในเอเชียและยุโรป คือให้ผู้ชายไทยในราชสำนักเลิกไว้ผมทรงมหาดไทยเปลี่ยนเป็นไว้ผมยาวทั้งศีรษะอย่างฝรั่ง ส่วนผู้หญิงให้เลิกไว้ผมปีก ให้ไว้ผมตัดยาวทรงดอกกระทุ่ม ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างออกแบบตัดแปลงจากเสื้อนอกของฝรั่งเรียกว่า “เสื้อราชประแตน” และสวมหมวกอย่างยุโรป ให้ข้าราชการทหารแต่งเครื่องแบบ นุ่งกางเกงอย่างทหารยุโรป แทนการนุ่งโจงกระเบนแบบเก่า 
                รัชกาลที่ 5 ทรงแก้ไขประเพณีการสืบราชสันตติวงศ์ ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลใน พ.ศ.2429 โปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งตำแหน่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” ตาแบบประเทศตะวันตก ที่เรียกองค์รัชทายาทว่า “Crown Prince” 
                รัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกประเพณีวัฒนธรรมที่ล้าสมัย ไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน ที่สำคัญคือ เลิกประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าและให้ยืนเข้าเฝ้าแทน ยกเลิกการโกนผมเมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคต คงให้มีการไว้ทุกข์เพียงอย่างเดียว เปลี่ยนวิธีการไต่สวนของตุลาการแบบเก่า ยกเลิกจารีตนครบาล เพราะเป็นวิธีลงโทษที่ชาวตะวันตกรังเกียจทารุณไร้อารยธรรม พระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ของรัชกาลที่ 5 ในการเปลี่ยนแปลงประเพณีและวัฒนธรรมของไทยให้เป็นไปตามคตินิยมตะวันตก คือ การเลิกทาสและเลิกระบบไพร่ อันเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่ประชาราษฎรโดยตรง
                ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ พระราชบัญญัตินามสกุล  พ.ศ.2455 ให้ใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) เป็นศักราชทางราชการ พ.ศ.2456 แทนการใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เพราะเป็นศักราชทางศาสนาที่ชาวไทยนับถือพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับประเทศตะวันตกที่ใช้ศักราชของศาสนาที่ชนส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศักราช (ค.ศ.) และเปลี่ยนแปลงการนับเวลาทางราชการเสียใหม่ให้สอดคล้องกับสากลนิยม โดยถือเวลาหลังเที่ยงคืนเป็นเวลาเปลี่ยนวันใหม่ กำหนดคำนำหน้าสตรีที่ยังเป็นโสดว่า “นางสาง” ผู้ที่มีสามีแล้ว ใช้คำว่า “นาง” และกำหนดคำนำหน้านามเด็กว่า “เด็กชาย” และ “เด็กหญิง” ขึ้นด้วย 
                นอกจากนี้เมื่อไทยส่งกองทหารอาสาไปสมทบกับกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในยุโรป พ.ศ. 2460 รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯให้ประดิษฐ์ธงชาติขึ้นใหม่ใช้ 3 สี คือ สีน้ำเงิน สีขาว และสีแดง ตามแบบสีธงชาติของอารยประเทศส่วนใหญ่ใช้กันอยู่ และพระราทานนามธงชาติแบบสามสีห้าริ้วที่ประกาศใช้ขึ้นใหม่ว่า “ธงไตรรงค์” ซึ่งยังคงใช้เป็นประจำชาติมาจนทุกวันนี้ 
                พ.ศ.2461 โปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ตามแบบประเทศยุโรปที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  วางลำดับผู้ที่จะทรงได้ราชสมบัติไว้โดยละเอียด
                ในด้านการแต่งกาย การเปลี่ยนแปลงการแต่งกายแบบตะวันตก ส่วนใหญ่เป็นไปเฉพาะราชสำนักและในหมู่ข้าราชการชั้นสูงเท่านั้น ในสมัยรัชกาลที่ 7 สตรีไทยหันไปแต่งกายแบบตะวันตกมากขึ้น นิยมนุ่งซิ่นแค่เข่า สวมเสื้อทรงกระบอกตัวยาวแขนสั้น ไว้ผมบ๊อบ ส่วนการแต่งกายของชายที่เป็นข้าราชการพลเรือนยังคงนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน สวมเสื้อราชปะแตน รองเท้า สวมหมวกสักหลาดมีปีก หรือหมวกกะโล่


5. วรรณกรรรมและศิลปกรรรม

กรุงรัตนโกสินทร์ ยุคการปฎิรูปประเทศ

              1. วรรณกรรม
                        1.1 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นทั้งกวี มีความสามารถในด้านศาสนา โบราณคดี โหราศาสตร์ และภาษาอังกฤษ   กวีและวรรณกรรมที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 4 มีดังนี้
                             1) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ประกาศและพระบรมราชาธิบายต่างๆ
                            2) หม่อมราโชทัย ได้แก่ จดหมายเหตุของหม่อมราโชทัย        นิราศลอนลอน
                        1.2 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยนี้มีการปรับปรุงบ้านเมืองหลายอย่างที่ช่วยสนับสนุนให้งานวรรณกรรมก้าวหน้า คือ การตั้งโรงเรียน การพิมพ์หนังสือ การตั้งหอสมุดแห่งชาติและเกิดโบราณคดีสโมสรที่ช่วยส่งเสริมงานด้านการประพันธ์ การศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี ประกอบกับได้รับอารยธรรมตะวันตกเผยแพร่เข้ามาอีกด้วย
                        กวีและวรรณกรรมที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 มีดังนี้
                                1) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน ไกลบ้าน พระราชวิจารณ์ทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ลิลิตนิทราชาคริต บทละครเรื่องเงาะป่า กวีนิพนธ์เบ็ดเตล็ด
                                2) พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้แก่ แบบเรียนภาษาไทย 6 เล่ม
                        1.3 สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นระยะที่วรรณกรรมได้รับอิทธิพลของตะวันตกมากที่สุด วรรณกรรมทั้งร้อยแก้วและร้องกรองเจริญถึงขีดสุด ทรงพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์และพระราชทานเสรีภาพในการประพันธ์อย่างกว้างขวาง และยังทรงตั้งวรรณคดีสโมสรขึ้น เพื่อส่งเสริมการแต่งหนังสือไทยให้ดีขึ้น
                        กวีและวรรณกรรมที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 6 มีดังนี้
                                1) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วรรณกรรมที่ทรงพระราชนิพนธ์ ได้แก่ 
                                    ประวัติศาสตร์และโบราณคดี เช่น เที่ยวเมืองพระร่วง สงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์ เที่ยวเมืองไอยคุปต์ นารายณ์สิบปาง ตำนานชาติฮั่น  
                                    บทละคร มีอยู่หลายเรื่อง เช่น หัวใจนักรบ มัทนะพาธา พระร่วง วิวาห์ พระสมุทร ความเสียสละ เวนิสวานิช ตามใจท่าน เห็นแก่ลูก ท้าวแสนปม ศกุนตลา ฯลฯ  
                                    ปาฐกถาและบทความ เช่น เทศนาเสือป่า ปลุกใจเสือป่า ยิวแห่งบูรพาทิศ โคลนติดล้อ   
                                    ร้อยกรอง เช่น พระนลคำหลวง ลิลิตพายัพ นิราศพระมะเหลเถไถ กาพย์เห่เรือ มงคลสูตรคำฉันท์
                                    สารคดี เช่น บ่อเกิดรายเกียรติ์
                                2) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ ทรงนิพนธ์หลายเรื่อง เช่น ไทยรับพม่า นิราศนครวัด เที่ยวเมืองพม่า นิทานโบราณคดี เสด็จประพาสต้น จดหมายเหตุ เป็นต้น
                                3) กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เรื่องเด่นๆ ที่นิพนธ์ เช่น จดหมายจางวางหร่ำ ตลาดเงินตรา นิทานเวตาล พระนางฮองไทเฮา กนกนคร พระนลคำฉันท์ เป็นต้น
                                4) พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนชีวะ) ได้แก่ ตำราไวยากรณ์ อักขรวิธี วจีวิภาค วายกสัมพันธ์ ฉันทลักษณ์ สงครามภารตะคำกลอน รำพึงในป่าช้า
                            หลังรัชกาลที่ 6 วรรณประเภทร้อยแก้วเจริญขึ้นมาก เช่น นวนิกาย เรื่องสั้น บทความและสารคดี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากยุโรป มีการแปลวรรณคดีและเรียบเรียงวรรณคดีของต่างประเทศหลายเรื่อง เช่น สาวเครือฟ้า ละครเรื่องเจ้าหญิงแสนหวี ของหลวงวิจิตรวาทการ สี่แผ่นดินของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นต้น
                2. ศิลปกรรม

กรุงรัตนโกสินทร์ ยุคการปฎิรูปประเทศ

                        2.1 สมัยรัชกาลที่ 4
                                1) ด้านสถาปัตยกรรม เริ่มนิยมตามแบบตะวันตก เช่น พระราชวังสราญรมย์ สถาปัตยกรรมแบบไทย เช่น ปราสาทพระเทพบิดร เจดีย์สำคัญ เช่น พระปฐมเจดีย์ พระมหาเจดีย์ในวัดพระเชตุพนฯ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง)  พระสมุทรเจดีย์ เป็นต้น
                                2) ด้านจิตรกรรม เช่น ภาพเขียนฝาผนังในพระอุโบสถและวิหารวัดบวรนิเวศวิหาร ภาพเหมือนพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝีมือขรัวอินโข่ง
                        2.2 สมัยรัชกาลที่ 5
                                1) ด้านสถาปัตยกรรม ได้รับอิทธิพลของตะวันตกมากขึ้น เช่น พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งอนันตสมาคม พระรามราชนิเวศน์ จังหวัดเพชรบุรี ศาลว่าการกระทรวงกลาโหม วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
                                สถาปัตยกรรมแบบไทย เช่น วัดเบญจมบพิตรฯ วัดราชบพิตร วัดเทพศิรินทราวาส พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พระราชวังบางประอิน อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
                                2) ด้านประติมากรรม เช่น พระพุทธชิราชจำลอง พระสัมพุทธพรรณี พระบรมรูป เช่น พระบรมรูปหล่อพระมหากษัตริย์ 4 รัชกาล ในปราสาทพระเทพบิดร พระบรมรูปทรงม้า
                                3) ด้านนาฏกรรม เกิดละครแบบใหม่ เช่น ละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์ ละครร้อง ละครพูด
                                4) ด้านจิตรกรรม เช่น ภาพเขียนเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ในอุโบสถวัดราชาธิวาส
                        2.3 สมัยรัชกาลที่ 6
                                1) ด้านสถาปัตยกรรมสร้างตามแบบไทย เช่น หอประชุมโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ตึกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อนุสาวรีย์ทหารอาสา
                                สถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เช่น พระราชวังสนามจันทร์ พระราชวังพญาไท (ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า)
                                2) ด้านจิตรกรรม เช่น ภาพเขียนผนังวิหารทิศที่พระปฐมเจดีย์ ภาพเขียนที่ผังพระที่นั่งอนันตสมาคม
                                3) ด้านประติมากรรม เช่น พระแก้วมรกตน้อย พระนิพพาน แม่พระธรณีบีบมวยผม รูปปั้นหล่อด้วยปูนและโลหะ บริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งอัมพรสถาน พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
                                4) ด้านนาฏกรรม ในสมัยนี้ศิลปะด้านโขนและละครและดนตรีเจริญที่สุด มีการตั้งโรงเรียนหลวงสอนด้านนาฏศิลป์ ตั้งคณะละคร สร้างโรงละคร ทรงพระราชนิพนธ์บทละครพูด ฝึกหัดประชาชนทั่วไปให้เล่นโขน มีทั้งโขนสมัครเล่น โขนบรรดาศักดิ์และโขนเชลยศักดิ์

ประเด็นอภิปราย

       ให้นักเรียนอภิปรายสรุปสาระสำคัญของประเทศไทยในยุคปฎิรูปประเทศ(15-20บรรทัด)

แหล่งอ้างอิง  https://www.bp-smakom.org/BP_School/Social/King/History-R4-6.htm

  
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1569

อัพเดทล่าสุด