แมงมันสามารถนำมาบริโภคเป็นอาหารจานโปรดนั้น มีอยู่ด้วยกัน 2 อย่าง คือไข่แมงมันและอย่างที่สองคือ ตัวโตเต็มวัยของมันได้แก่แมงมันแม่ ดังนั้นกรรมวิธีที่จะได้แมงมันมาทำเป็นอาหารได้จึงมี 2 วิธีตามชนิดของมัน
เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และผู้ที่สนใจทั่วไป
วิธีการหาแมงมัน การหาแมงมันเพื่อมาทำเป็นอาหารนั้นมี 2 แบบ คือ
1. การขุดหาไข่แมงมัน
ชาวบ้านมักจะขุดหาแมงมันประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน การหาแหล่งรังหรือโพรงที่อยู่ของแมงมันที่ง่ายที่สุดก็คือ ชาวบ้านจะขุดบริเวณที่แมงมันเคยออก ขุดเพื่อหารูเล็กๆโดยสังเกตจากการพบแม่แมงมัน จากนั้นจึงขุดตามรูไปเรื่อยๆ จนกระทั่งพบโพรงไข่สำรองที่เรียกว่า "โผ้งเผาะ" ซึ่งเป็นรังขนาดเล็กแต่ก็มีไข่แมงมันอยู่บ้าง จากนั้นค่อยๆ ขุดลงไปจะพบโพรงจริงที่เรียกว่า "โผ้งใหญ่" จะพบไข่เป็นจำนวนมาก ค่อยๆตักไข่แมงมันทั้งหมด หากพบนางพญามักจะปล่อยไปเพื่อให้ออกไข่ต่อไป นำไข่ทั้งหมดมากรองด้วยผ้าขาวบางค่อยๆเทน้ำล้าง เรียกว่า "ถะหลอง" เพื่อคัดเอารัง เศษดิน เศษรากไม้ออก ส่วนหลุมเดิมตามความเชื่อบางคนจะเอาใบไม้หรือเศษกระดูกสัตว์ใส่ไว้ก่อนกลบดินโดยเชื่อว่าแมงมันจะไม่ย้ายไปไหน การขุดแมงมันโดยวิธีนี้ เพื่อต้องการ ไข่ ตัวอ่อน และดักแด้ มาทำเป็นอาหาร แต่การหาแมงมันด้วยวิธีนี้ แมงมันมักจะไม่มีให้ขุดหรือเก็บในปีต่อไป ดังนั้นชาวบ้านมักจะไม่ขุดในที่บ้านของตัวเอง แต่มักไปขุดตามป่าหรือนอกบ้าน
การขุดหาไข่แมงมัน
รังแมงมัน หรือโพรงที่อยู่ ชาวบ้านเรียกว่า "โผ้งแมงมัน"
ไข่แมงมันที่ขุดได้
2. การเก็บแมงมัน
แมงมันจะเจริญเติบโตเต็มวัยของมันเมื่อฝนเริ่มตกในเดือนพฤษภาคม ผืนดินมีความเปียกชื้นพอสมควร หลังจากฝนตกวันแรกไปแล้วประมาณ 1 วัน ช่วงตอนเย็นเวลาประมาณ 16.00-20.00 น.เป็นช่วงเวลาที่แมงมันจะออกจากรู แต่ถ้าเย็นวันนั้นฝนตกแมงมันก็จะไม่ออกจากรูและรอวันถัดไปที่ไม่มีฝนตก แมงมันที่เก็บมาเป็นอาหารคือแมงมันหลวง หรือแมงมันแม่ หรือแมงมันก่ำตามแต่ละท้องถิ่นจะเรียกกัน ชาวบ้านจะเตรียมขวดเปล่า ขี้เถ้า แล้วเดินหารูแมงมันตามบริเวณที่แมงมันเคยออกเมื่อปีก่อนๆ สังเกตแม่แมงมันจะขุดรูขึ้นมาก่อนและขยายรูให้ใหญ่ขึ้นเพื่อจะให้ลูกแมงมันออกมาจากรูได้ เมื่อเห็นจะเอาไม้ปักใกล้ๆบริเวณนั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นเจ้าของไว้ก่อนเรียกว่า "หมายรู" เป็นการจับจอง แล้วเดินหาตามบริเวณนั้น เผื่อจะมีรูอื่นๆให้จับจองอีก เมื่อมีลูกแมงมันเริ่มออกรูคนที่เก็บจะใช้ขี้เถ้าที่เตรียมมาโรยเป็นทางเพื่อกันไม่ให้แม่แมงมันมากัดได้ เพราะหากโดนกัดจะคันมาก แมงมันบางรูจะมีแมงมันออกมาเป็นจำนวนมากและรวดเร็วจนเก็บแทบไม่ทันเรียกกันว่า "แมงมันกึน" วิธีการเก็บมักจะรอให้สลัดปีกก่อนแล้วจึงเก็บโดยการจับที่ปีก หากจับช้าไปแมงมันก็จะบินหนีไปอย่างรวดเร็ว ช่วงเวลาที่เก็บไม่ควรส่งเสียงดังหรือเดินจนหน้าดินสะเทือน ทั้งนี้เป็นเพราะถ้ามันรู้ตัวว่าจะมีภัยแมงมันจะไม่ออกมา การเก็บบางครั้งก็ค่ำมืดต้องหาตะเกียงหรือไฟฉายมาส่อง แต่ในบางครั้งมีแมงมันเป็นจำนวนมากที่ไม่มีคนพบเห็นก็จะบินมาเล่นไฟเหมือนแมลงทั่วไป ชาวบ้านมักจะเอาน้ำใส่กาละมังวางไว้ใต้หลอดไฟก็จะสามารถเก็บเอาแมงมันมาเป็นอาหารได้เหมือนกัน
แมงมันกำลังออกจากรู
การทำอาหารจากแมงมัน
1. อาหารที่ทำจากไข่แมงมัน ไข่แมงมันสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงใส่ไข่ ใส่ต้นหอม ต้มใส่ผักกาด เครื่องปรุงมี กะปิ หอมแดง พริกแห้ง นอกจากนี้ไข่แมงมันยังสามารถเก็บไว้รับประทานนานๆ ได้ โดยการดองไข่แมงมัน เรียกว่า “แมงมันจ่อม” วิธีการก็คือ นำน้ำแช่ข้าวเหนียว(น้ำข้าวมวก) ใส่เกลือเล็กน้อย ต้มน้ำให้สุก ใส่ไข่แมงมันลงไปดองในภาชนะที่มีฝาปิด ทิ้งไว้สัก 2-3 วัน จะมีรสเปรี้ยวนิดหน่อยวิธีรับประทานโดยการนำแมงมันจ่อมมาโรยด้วยพริกแห้งปิ้งที่โขลกหยาบๆ โรยหน้าพร้อมกับต้นหอมผักชีรับประทานกับสะเดาที่ลวกแล้ว
แมงมันจ่อมที่วางขายตามท้องตลาด
แกงไข่แมงมัน
2. อาหารจากลูกแมงมัน หรือแมงมันแม่ที่มีปีก ชาวบ้านนิยม นำมาคั่วใส่เกลือนิดหน่อย หรือบางคนใส่น้ำมันพืชลงไปเล็กน้อย ชาวบ้านเรียก "แมงมันคั่ว" รับประทานกับข้าวเหนียว แมงมันคั่วสามารถเก็บไว้ทานได้นานๆ และสามารถนำมาทำเป็น “น้ำพริกแมงมัน” โดยการนำแมงมันคั่ว เด็ดปีกออกโขลกกับพริกหนุ่ม พร้อมเครื่องปรุง เกลือป่น หอม กระเทียม
แมงมันคั่ว
วัฒนธรรมในการรับประทานอาหารของแต่ละภาคมักจะแตกต่างกันไปซึ่งมักจะขึ้นอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่น การรับประทานแมงมันก็เช่นกันเป็นอาหารที่โปรดปรานทางภาคเหนือซึ่งนับวันจะหายากเนื่องจากมีการขุดมารับประทานตั้งแต่เป็นไข่อยู่ในดิน เป็นการตัดตอนทำลายวงจรชีวิตของมันไป เหมือนดังเช่น กบ เขียด ปู ปลา แมงดา ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วแต่สัตว์พวกนี้ยังสามารถเพาะเลี้ยงได้ ส่วนแมงมันยังไม่มีใครสามารถเพาะเลี้ยงได้ ดังนั้นจึงสมควรที่อนุรักษ์เอาไว้ห้ามมิให้มีการขุดเพื่อจะได้มีให้รับประทานต่อไปนาน ๆ
ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
1. อธิบายลักษณะรังที่อยู่ของแมงมัน
2. อธิบายการหาแมงมันโดยวิธีการเก็บแมงมัน
3. อธิบายวิธีการทำอาหารจากไข่แมงมัน
4. อธิบายวิธีการทำอาหารจากแมงมันแม่
5. เสนอแนะวิธีการอนุรักษ์แมงมัน
กิจกรรมเสนอแนะ
1. สัมภาษณ์แม่ค้าหรือชาวบ้านถึงกรรมวิธีในการนำแมงมันมาทำเป็นอาหาร
2. ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
สามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาไทย
อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล / ภาพประกอบ
https://www.horapa.com/webboard/show.php?Category=&No=3330
https://www.dnp.go.th/FOREMIC/NForemic/this_month/Carebara%20castanea/carebara.htm
https://se7en.allblogthai.com/11
https://kanchanapisek.or.th/kp8/cem/cem704.html
https://www.banrongkhun.com/webboard/view.php?Qid=252&cat=2
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2677