การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ....สมาคมประชาชาติแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)


1,025 ผู้ชม


อาเซียนมีการจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม   

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ....สมาคมประชาชาติแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)

สมาคมประชาชาติแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
(The Association of South East Asian Nations : ASEAN)

ภูมิหลัง
           

          อาเซียนเป็นชื่อย่อในภาษาอังกฤษของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้       (The Association of South East Asian Nations : ASEAN)  ก่อตั้งขึ้นตามปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 (1967) โดยมีประเทศผู้ก่อตั้ง 5 ประเทศ คือ  อินโดนีเซีย  มาเลเซีย  ฟิลิปปินส์  สิงคโปร์  และไทย  ต่อมาบรูไน ดารุสซาราม เข้าเป็นสมาชิกในปี 2527 ตามด้วยเวียดนามในปี 2538 ลาวในปี 2540 และกัมพูชาซึ่งเป็นสมาชิกลำดับที่ 10 ในปี 2542 ทำให้ปัจจุบันอาเซียนเป็นกลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคขนาดใหญ่ มีประชากร รวมกันเกือบ 500 ล้านคน

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ....สมาคมประชาชาติแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งอาเซียน


            ในระยะเริ่มแรก อาเซียนมีการจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม  และเมื่อการค้าระหว่างประเทศในโลกมีแนวโน้มกีดกันการค้ารุนแรงขึ้น อาเซียนได้หันมามุ่งเน้นกระชับและขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้น ดังนี้
-          ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในภูมิภาค
-          รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งชาติ
-          ใช้เป็นเวทีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาค

กลไกการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียน


      1.      การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit Meeting) หรือการประชุมระดับผู้นำของ อาเซียน เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดของอาเซียน กำหนดให้มีการประชุมปีละครั้ง ประมาณเดือนพฤศจิกายน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แนวทางในการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือและริเริ่มกิจกรรมใหม่ๆของอาเซียน

    2. การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน  ประกอบด้วย

    2.1 การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers : AEM) กำหนดให้มีการประชุมอย่างเป็นทางการปีละครั้ง ในช่วงเดือนตุลาคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน รวมทั้ง พิจารณาการขยายกรอบ/ริเริ่มความร่วมมือใหม่ๆ
   2.2 การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) กำหนดให้มีการประชุมปีละครั้ง ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แนวทางและแก้ไขปัญหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องจำเป็น เร่งด่วน หรือเป็นพิเศษ

   3. การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Officials Economic Meeting : SEOM) ประชุมปีละ 4 ครั้งเป็นอย่างน้อย (ประมาณ 3 เดือนครั้ง) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดการดำเนินงาน/การขยาย/การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนในทุกด้าน และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศต่างๆ

  4. การประชุมคณะกรรมการ/คณะทำงานที่แต่งตั้งโดย SEOM อาทิ

  4.1 คณะกรรมการประสานงานการดำเนินการภายใต้ความตกลง CEPT (CCCA) ประชุมปีละ 4 ครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการลดภาษีและยกเลิกข้อกีดกันทางการค้าให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ภายใต้อาฟต้า และความตกลงอื่นที่เกี่ยวข้อง
  4.2 คณะทำงานความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน (Working Group on Industrial Cooperation : WGIC) ประชุมปีละ 3 ครั้ง   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน (AICO)
  4.3 คณะกรรมการประสานงานด้านการลงทุน (Coordinating Committee on Investment: CCI) ประชุมปีละ 4 ครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการจัดตั้งเขตการลงทุนอาเซียน และความร่วมมือด้านการลงทุนต่างๆ
  4.4 คณะทำงานระดับสูงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์อาเซียน      (e-ASEAN Task Force : EATF) และคณะทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์     อาเซียน (e-ASEAN Working Group : EAWG) ประชุมปีละ 3 ครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานภายใต้กรอบความตกลง e-ASEAN
  4.5 คณะกรรมการประสานงานด้านบริการ (Coordinating Committee on Services: CCS) ประชุมปีละ 4 ครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางการจัดทำข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการในอาเซียน และความร่วมมือด้านบริการอื่นๆ

  5. สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) เป็นหน่วยประสานงานและเสริมสร้างการดำเนินการตามนโยบาย โครงการและกิจกรรมขององค์กรต่างๆของอาเซียน รวมทั้งทำหน้าที่เลขานุการในการประชุมอาเซียน

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ....สมาคมประชาชาติแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
             ความร่วมมือ                                                                 ก่อตั้ง

            - เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)                                          2535
            - การเปิดเสรีการค้าบริการในอาเซียน (AFAS)                        2538
            - ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอาเซียน (AICO)                      2539
            - เขตการลงทุนอาเซียน (AIA)                                             2541
            - กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวก          2541

ในการขนส่งสินค้าผ่านแดน

(ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit )
    
            - วิสัยทัศน์อาเซียนและแผนปฎิบัติการฮานอย                          2540-2541
            - ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (e-ASEAN)                2543
            - การริเริ่มการกระชับการรวมกลุ่มอาเซียน (IAI)                        2544
 
1. เขตการค้าเสรีอาเซียน

            ประเทศสมาชิกตกลงที่จะร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมให้การค้าระหว่างกันในอาเซียนเป็นไปอย่างเสรี จึงได้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) ขึ้นในปี 2535 เพื่อให้มีการดำเนินการเพื่อลด/เลิกอุปสรรคทางการค้า ทั้งด้านภาษีและมิใช่ภาษี โดยมี CEPT (Common Effective Preferential Tariff : อัตราภาษีที่เท่ากัน) เป็นกลไกหลักในการลดภาษีระหว่างกันให้อยู่ในระดับ 0-5%  การลดภาษีภายใต้ CEPT ประเทศสมาชิกได้มีการเร่งการดำเนินการลดภาษีมาโดยตลอด  
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 6 ในปี 2541 ผู้นำประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ ได้ตกลงร่วมกันที่จะเร่งการลดภาษีทุกรายการให้อยู่ในระดับ 0-5%  ภายในปี 2545 โดยสินค้าอ่อนไหวบางรายการสามารถที่จะชะลอการลดภาษีไปได้ จนถึงปี 2546 และสำหรับสมาชิกใหม่ (CLMV) จะเร่งการลดภาษีทุกรายการให้อยู่ในระดับ 0-5%  ภายในปี 2549 สำหรับเวียดนาม  ภายในปี 2551 สำหรับลาวและพม่า และภายในปี 2553 สำหรับกัมพูชา

            ในการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2542 ผู้นำอาเซียนได้ตกลงให้อาเซียนลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0 ทุกรายการ ภายในปี 2553 สำหรับสมาชิกเดิม และปี 2558 สำหรับสมาชิกใหม่ ยกเว้นสินค้าบางรายการของสมาชิกใหม่ที่ให้ลดภาษีเหลือ 0 ภายในปี 2561 ได้ ทั้งนี้ สมาชิกเติมต้องลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0 ให้ได้ร้อยละ 60 ของจำนวนรายการในบัญชีลดภาษีภายในวันที่ 1 มกราคม 2546 
            ปัจจุบัน ประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ ได้ลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0-5 แล้วประมาณร้อยละ 96.2 ของจำนวนรายการทั้งหมด  และเมื่อพิจารณาจากแผนการลดภาษีของเวียดนาม  ลาว  และพม่า  ปรากฏว่าในปี 2546 เวียดนามจะมีรายการที่มีอัตราภาษีร้อยละ 0-5 จำนวนร้อยละ 76.79 ของรายการทั้งหมด  ในปี 2548 ลาวและพม่า  จะลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0-5 จำนวนร้อย 86.9 และ 83.43 ของรายการทั้งสิ้น  และในปี 2550 กัมพูชาจะมีรายการที่มีอัตราภาษีร้อยละ 0-5 จำนวนร้อยละ 91.94 ของรายการที่นำเข้ามาลดภาษี
            สำหรับสินค้าประเทศไทย ในปี 2545 ได้นำสินค้าเข้ามาลดภาษีในอาฟต้าเหลือร้อยละ 0-5 แล้วประมาณร้อยละ 95 ของรายการในบัญชีลดภาษี  และในปี 2546 จะลดภาษีสินค้าให้เหลือร้อยละ 0-5 เพิ่มอีกจำนวน 472 รายการ และลดภาษีให้เหลือ 0 จำนวนร้อยละ 60 ของรายการในบัญชีลดภาษี รวมทั้งต้องนำสินค้าเกษตรไม่แปรรูปที่อ่อนไหว 4 ชนิด คือ กาแฟ  หอมหัวใหญ่  มะพร้าวแห้ง  และไม้ตัดดอก เข้ามาลดภาษีด้วย

2. การเปิดเสรีบริการ

            รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการบริการของอาเซียน  (ASEAN Framework Agreement on Services : AFAS) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2538 โดยมีสาระสำคัญเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านบริการของอาเซียน เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันในการบริการที่หลากหลายทั้งในและนอกอาเซียน  ยกเลิกข้อจำกัดสำคัญในการค้าบริการในอาเซียน  เปิดเสรีการค้าบริการทั้งในทางลึกและกว้างมากกว่าที่ประเทศสมาชิกได้ผูกพันไว้ในความตกลงการค้าบริการภายใต้ WTO (GATS)ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 33 เมื่อเดือนกันยายน 2544 เห็นชอบให้อาเซียนเปิดการเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการรอบที่สาม ระหว่างปี 2545-2547 และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนปรับปรุงวิธีเจรจาเปิดเสรีเพื่อให้มีผลการเจรจาที่มีความคืบหน้ามากขึ้น

3. ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอาเซียน
            รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยโครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม (ASEAN Industrial Cooperation : AICO) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2539 โดยเป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อทดแทนโครงการร่วมลงทุนทางอุตสาหกรรม (ASAEN Investment Joint Venture : AIJV) และโครงการแบ่งผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เฉพาะยี่ห้อและรุ่นของอาเซียน (Brand-to-Brand Complementation Scheme : BBC) ที่ยกเลิกไป  โดย AICO มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของอาเซียน  เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันสินค้าอุตสาหกรรมของอาเซียน สินค้าที่อยู่ในโครงการจะได้รับการลดภาษีลงเหลือ 0-5% ทันที โดยไม่ต้องเป็นไปตามแผนการลดภาษีภายใต้อาฟต้า  ทั้งนี้ ในปี 2541 สมาชิกอาเซียนได้เห็นชอบที่จะให้มีการยกเว้นกฎเกณฑ์ในเรื่องการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นโดยนักลงทุนในประเทศที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30  ซึ่งปัจจุบันได้มีการขยายระยะเวลาการยกเว้น ไปจนถึงปี 2545

4. เขตการลงทุนอาเซียน

            มีการลงนามเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2541 หลักการสำคัญ คือ ให้เปิดเสรีการลงทุนในอุตสาหกรรม และให้มีการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติแก่นักลงทุนอาเซียน  และในปี 2542 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ตกลงที่จะขยายขอบเขตของข้อตกลงให้ครอบคลุมภาคบริการ เกษตร ประมง ป่าไม้ และเหมืองแร่  ทั้งนี้ประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ และประเทศสมาชิกใหม่ จะต้องดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวภายในปี 2553 และปี 2558 ตามลำดับ  ล่าสุด ในปี 2543  ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ได้ตัดสินใจเร่งโครงการให้ครอบคลุมถึงนักลงทุนจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกอาเซียนด้วยในทุกสาขาที่กล่าวมาแล้วจากเดิมภายในปี 2563 เป็นภายในปี 2553 สำหรับประเทศสมาชิกเดิม และปี 2558 สำหรับประเทศสมาชิกใหม่ ตามลำดับ

5. การอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน

            รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามในความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน เมื่อเดือนธันวาคม 2541 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดนในอาเซียน  สนับสนุนการดำเนินการของอาฟต้า และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของอาเซียน  หลักการสำคัญคือ ประเทศสมาชิกสามารถขนส่งสินค้าผ่านแดน (Transit) จากประเทศหนึ่งไปยังประเทศที่สาม โดยไม่มีการเปิดเจรจาตรวจสินค้าโดยไม่จำเป็น ไม่มีการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสินค้าผ่านแดนและไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนพาหนะในการขนส่งสินค้า
            ปัจจุบัน ประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันกรอบความตกลงฯ แล้ว  และได้ลงนามในพิธีสารฯ แนบท้าย 4 ฉบับ ได้แก่ พิธีสารฉบับที่ 3 ประเภทและปริมาณของรถ (Types and Quantity of Road Vehicles) และ พิธีสารฉบับที่ 4 ข้อกำหนดทาเทคนิคของรถ (Technical Requirement of Vehicles) ในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน (ASEAN Transport Ministers Meeting : ATM) ครั้งที่5 เมื่อเดือนกันยายน 1999 พิธีสารฉบับที่ 5 ในการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers Meeting : AFMM) ครั้งที่ 5 ในวันที่ 8 เมษายน 2001 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์  และพิธีสารฉบับที่ 8 มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures) ในการประชุมรัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้อาเซียน (AMAF) ครั้งที่ 22 เมื่อเดือนตุลาคม 2000 ส่วนที่เหลืออีก 5 ฉบับ อยู่ระหว่างดำเนินการร่างของหน่วยงานต่างๆ ของอาเซียนที่เกี่ยวข้อง

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ....สมาคมประชาชาติแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)

ประโยชน์ที่จะได้รับ

สนับสนุนการขยายการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาค
           

            ลดต้นทุนและเวลาในการขนส่งสินค้าผ่านแดน เนื่องจากไม่มีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสินค้าผ่านแดน  และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนพาหะในการขนส่งสินค้า และปรับประสานกฎระเบียบด้านการขนส่งของประเทศสมาชิกอาเซียนให้สอดคล้องกัน ได้แก่ข้อกำหนดทางเทคนิคของรถ ระบบศุลกากรในการผ่านแดน การประกันรถยนต์ภาคบังคับ  และมาตรการด้านสุขอนามัย เป็นต้น

6. วิสัยทัศน์อาเซียนและแผนปฏิบัติการฮานอย

            ผู้นำอาเซียนประกาศวิสัยทัศน์ปี 2020 เพื่อใช้เป็นเป้าหมายของการดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียนในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยแนวทางความร่วมมือที่สำคัญ 2 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมืองและสังคม
            สาระสำคัญของแผนปฏิบัติการฮานอยในส่วนของเศรษฐกิจ ได้แก่ เสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจมหภาคและการเงิน  ส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาอาเซียนให้เป็นภูมิภาคเศรษฐกิจที่มั่นคง รุ่งเรือง และมีความสามารถในการแข่งขันสูง โดยมีระบบการค้า การบริการ และการลงทุนที่เสรี มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ทัดเทียม

7. ความตกลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอาเซียน
           
 ในการประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อปลายปี 2542 ผู้นำของอาเซียนได้ประกาศการริเริ่มที่เรียกว่า “e-ASEAN Initiative” หรือ “อาเซียนอิเล็กทรอนิกส์” เพื่อที่จะส่งเสริมให้ภูมิภาคอาเซียนมีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในตลาดโลก โดยจะทำให้เป็นเขตเดียวกันในเรื่องของ การสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะต้องเชื่อมโยงกันโดยไม่มีตะเข็บ เหมือนกับว่าเป็นเขตหรือประเทศเดียวกันในเรื่องของอิเล็กทรอนิกส์
            สาระสำคัญของกรอบความตกลงด้านอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ได้แก่ การกำหนดมาตรการที่จะพัฒนาอาเซียนให้เข้าสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างแท้จริงใน 5 ด้านหลัก คือ
(1)        การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
(2)        การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
(3)        การเปิดเสรีด้านการค้า การบริการ และการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ
 และการสื่อสาร
 (4)       การพัฒนาสังคมแห่งเทคโนโลยี
 5)        การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริการของรัฐ

            ปัจจุบัน อาเซียนได้เริ่มขยายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไปสู่ประเทศจีน ญี่ปุ่นและเกาหลี สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา  สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย ได้เคยแสดงความสนใจที่จะให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีเช่นกัน แต่ยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร และล่าสุดประเทศอินเดียได้แสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการ e-ASEAN ในส่วนของ e-Governance,

IT education, Training, Multimedia industry

8. การริเริ่มการกระชับการรวมกลุ่มอาเซียน

            ในการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2543 ณ ประเทศสิงคโปร์  ผู้นำอาเซียนเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาค ด้วยการส่งเสริมกระชับการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ (Initiative ASEAN Integration : IAI)  เพื่อลดช่องว่างระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิกเดิมและสมาชิกใหม่ (CLMV) และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของทั้งภูมิภาคโดยรวม เพื่อเผชิญหน้ากับ     สิ่งท้าทายต่าง ๆ อันเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัฒน์  และมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน (ASEAN Integration System of Preferences : AISP) ในลักษณะการให้ฝ่ายเดียว (Unilateral)  เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2545

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ....สมาคมประชาชาติแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)

บทบาทของอาเซียนในเวทีโลก

 

ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับอาเซียน

            อาเซียนเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย นอกเหนือไปจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น  การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนมีปริมาณเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา  สัดส่วนการค้าของไทยกับอาเซียนได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.7 ในปี 2535 เป็นร้อยละ 17.8 ในปี 2544 
            ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2540-2544) การค้ารวมของไทยกับอาเซียนมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 20,490.6ล้านเหรียญสหรัฐฯ  โดยในปี 2544 การค้ารวมมีมูลค่าทั้งสิ้น 22,656.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  และในปี 2545 (ม.ค.-พ.ค.) การค้ารวมมีมูลค่า 9,564.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.61 ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของไทย เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.5  ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยในอาเซียน (ปี 2544) ได้แก่ สิงคโปร์  มาเลเซีย  และอินโดนีเซีย โดยการค้าระหว่างกันมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.9  25.6  และ 12.0 ตามลำดับ

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ....สมาคมประชาชาติแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)

โครงสร้างการส่งออกของไทยไปอาเซียน (ปี 2544)

ประกอบด้วย  สินค้าอุตสาหกรรม

       ร้อยละ 72.7  สินค้าแร่และเชื้อเพลิง ร้อยละ 8.3  สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ร้อยละ 7.5  สินค้าเกษตรกรรม ร้อยละ 6.7  และสินค้าอื่นๆ ร้อยละ 4.7  โดยสินค้าออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ  แผงวงจรไฟฟ้า  น้ำมันสำเร็จรูป  น้ำตาลทราย  และเคมีภัณฑ์  เป็นต้น  
      โครงสร้างการนำเข้าของไทยจากอาเซียน (ปี 2544) ประกอบด้วย  สินค้าทุน ร้อยละ 45.0  สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ร้อยละ 26.2  สินค้าเชื้อเพลิง ร้อยละ 17.6  สินค้าอุปโภคบริโภค ร้อยละ 8.4  สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง ร้อยละ 1.7  และสินค้าอื่นๆ ร้อยละ 1.0  โดยสินค้าเข้าสำคัญ  เช่น  เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ  เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ  แผงวงจรไฟฟ้า  เคมีภัณฑ์  น้ำมันดิบ  และเป็นต้น 

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ....สมาคมประชาชาติแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)

ขอบเขตความร่วมมือของอาเซียนในอนาคต
            ผู้นำอาเซียนกับผู้นำจีนได้ตกลงจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกันโดยในการประชุม เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 1/33 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2545 ณ กรุงเทพฯ  เห็นชอบให้จัดตั้งคณะเจรจาการค้าอาเซียน (ASEAN Trade Negotiating Group) โดยมอบหมายให้ประเทศไทยหัวหน้าคณะเจรจาของอาเซียนในการเจรจาจัดทำความตกลงดังกล่าว เพื่อเป็นข้อผูกพันทางการเมืองของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะประกอบด้วยขอบเขตการเจรจา รูปแบบ และกรอบเวลา  รวมทั้งการเจรจาให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างกันก่อนการเปิดเสรี (Early Harvest)  ทั้งนี้ ให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ภายในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งจะมีผลให้เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นการเพิ่มความสำคัญของอาเซียนในเวทีโลก
            นอกจากนี้  ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (CER) ได้เห็นชอบการจัดทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น (Closer Economic Partnership : CEP) ระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์  และที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้เห็นชอบการจัดทำ CEP ระหว่างกันเช่นกัน

แหล่งอ้างอิง : กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์.2545. การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ.[Online]. Available: URL :   

1. เป็นกลุ่มการค้าภูมิภาคที่มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ ทั้งในระดับ ภูมิภาคและระดับโลก
2. มีบทบาทในการผลักดันประเด็นที่เป็นประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา
3. สร้างอำนาจการเจรจาต่อรองทางการค้าของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศกับประเทสมหาอำนาจ โดยเจรจาในนามอาเซียน
 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3169

อัพเดทล่าสุด