ปัญหาทางเศรษฐกิจมหภาคอันเนื่องมาจากการไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ
มีหลายประการ เช่น ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาการว่างงาน ปัญหาเงินฝืด เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดูแลและหาทางแก้ไขหรือบรรเทาปัญหา เนื่องจากมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน สำหรับวันนี้เรามาดูกันว่าเงินเฟ้อมันเป็นปัญหาในระดับมหภาคอย่างไร
เงินเฟ้อ (inflation)
เงินเฟ้อ เป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าทั่วไปสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นว่าราคาสินค้าทุกชนิดทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจจะต้องสูงขึ้น แต่ระดับราคาทั่วไปหรือระดับราคาเฉลี่ยต้องเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
ระดับของการเกิดเงินเฟ้อ อาจแบ่งออกเป็น 3 ระดับด้วยกัน คือ
1) ภาวะเงินเฟ้ออย่างอ่อน คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นในอัตราต่ำๆ โดยทั่วไปไม่ควรเกินร้อยละ 5 ต่อปี นักเศรษฐศาสตร์มักจะมองภาวะเงินเฟ้อในขนาดนี้ว่าเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่าผลเสีย หรือเรียกว่าภาวะซื้อง่ายขายคล่อง ผู้ผลิตจะขยายการผลิตสินค้าเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่นั้น สาเหตุหนึ่งขึ้นอยู่กับราคาสินค้ากล่าวคือถ้าราคาสินค้าสูงขึ้นก็มีแนวคิดว่าน่าจะผลิตสินค้าออกขายมากขึ้น (ตามกฎของอุปทาน)
2) ภาวะเงินเฟ้อปานกลาง คือ ภาวะที่ระดับราคาเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงจนเริ่มเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากประชาชนเดือดร้อนด้านค่าครองชีพ โดยทั่วไปมีอัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 5-10 เป็นการเกิดเงินเฟ้อที่รัฐบาลต้องหาแนวทางแก้ไข เพื่อควบคุมมิให้เกิดผลเสียที่รุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ
3) ภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง คือ ภาวะที่ระดับราคาเพิ่มขึ้นในอัตราค่อนข้างสูง โดยทั่วไปมีอัตราเงินเฟ้อสูงมาก เช่น มากกว่าร้อยละ 20 ซึ่งจะเกิดผลเสียที่รุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะทำให้ทั้งผลผลิตและปัจจัยการผลิตมีราคาสูง หากลดอัตราเงินเฟ้อไม่ได้ เงินจะหมดความน่าเชื่อถือในมูลค่า
สาเหตุของการเกิดเงินเฟ้อ
การเกิดเงินเฟ้อ เกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุสำคัญ คือ
1) สาเหตุทางด้านอุปสงค์ หรือเงินเฟ้อเกิดขึ้นจากแรงดึงของอุปสงค์ เกิดจากการที่อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการมวลรวมเพิ่มสูงขึ้น จนเกินกว่าที่อุปทานของสินค้าและบริการมวลรวมจะ ตอบสนองได้ทัน ทำให้ราคาสินค้าและบริการโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น การที่ประชาชนในประเทศจะมีอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น ประเทศมีดุลการชำระเงินเกินดุล ประชาชนได้เงินมาได้ง่าย เช่น จากการขายทรัพย์สิน การเก็งกำไร เป็นต้น
2) สาเหตุทางด้านอุปทาน เป็นสาเหตุอันเนื่องมาจากแรงผลักดันของต้นทุนการผลิต สูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ปริมาณสินค้าและบริการในตลาดจะลดลง การที่ผู้ผลิตมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอาจเกิดจากค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้น หรือเกิดจากผู้ผลิตหรือผู้ขายบวกเพิ่มกำไรในราคาขายมากขึ้น
เงินเฟ้ออาจเกิดขึ้นได้ทั้งทางด้านอุปสงค์และอุปทานร่วมกัน คือ เมื่อมีอุปสงค์มวลรวมมากกว่าอุปทานมวลรวม จะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น เมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น บรรดาผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง พนักงานประจำจะมีค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงเรียกร้องขอค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอีก ผลผลิตจึงลดลง และผลักดันให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอีก ทำให้เงินเฟ้อมีอัตราสูงขึ้น จนอาจจะกลายเป็นภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงได้
ผลของเงินเฟ้อที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ
1) ผลที่มีต่อความต้องการถือเงิน เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง จะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือในเงินตรา เพราะเมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ค่าของเงินก็จะลดลงไปเรื่อยๆ กล่าวคือ สินค้าจำนวนเท่าเดิมต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นในการซื้อสินค้านั้น ดังนั้นเมื่อประชาชนคาดคะเนว่าภาวะเงินเฟ้อจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็จะพยายามไม่ถือเงิน แต่จะกักตุนสินค้ามากขึ้น
2) ผลต่อการกระจายรายได้ เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ บุคคลกลุ่มต่างๆ จะมีการได้เปรียบเสียเปรียบที่แตกต่างกันไป ดังนี้
− กลุ่มบุคคลที่ได้เปรียบจากการเกิดเงินเฟ้อ ได้แก่ พ่อค้า ซึ่งได้ประโยชน์จากการที่ราคาสินค้ามีราคาสูงขึ้น ลูกหนี้ได้ประโยชน์เพราะชำระหนี้ด้วยเงินที่มีค่าลดลง และผู้ถือสินทรัพย์หรือครอบครองสินค้าได้ประโยชน์เพราะสินค้ามีราคาสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ เช่น ที่ดิน บ้านเรือน หมู่บ้านจัดสรร
− กลุ่มบุคคลที่เสียเปรียบจากการเกิดเงินเฟ้อ ได้แก่ ผู้มีรายได้ประจำ เช่น ข้าราชการ ลูกจ้างรายวัน ซึ่งเสียเปรียบเพราะค่าครองชีพที่สูงขึ้น การที่ค่าของเงินลดลงทำให้เจ้าหนี้และผู้มีสินทรัพย์ในรูปเงินสดหรือเงินฝากประจำเสียเปรียบ หากอัตราดอกเบี้ยเป็นแบบตายตัว
3) ผลกระทบต่อรัฐบาล โดยทั่วไปรัฐบาลจะได้ประโยชน์เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ จากการเก็บภาษี ซึ่งขึ้นอยู่กับรายได้ที่เป็นตัวเงิน ทำให้รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้น ในขณะที่รายจ่ายของรัฐเป็นเงินเดือน ข้าราชการประจำ ค่าจ้างลูกจ้าง มีการจ่ายในรูปตัวเงินที่คงที่ และโดยทั่วไปรัฐบาลมักเป็นลูกหนี้มากกว่าจะเป็นเจ้าหนี้ (โดยเฉพาะรัฐบาลไทย) จึงได้เปรียบ รัฐบาลจะเสียเปรียบในกรณีที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น สำหรับค่าวัสดุ ครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้าง ที่มีราคาเพิ่มขึ้น
4) ผลต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เมื่อภาวะเงินเฟ้อมีระดับสูง อาจเกิดความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ การลงทุนอาจหยุดชะงักเพราะค่าของเงินขาดความน่าเชื่อถือและมีความไม่แน่นอนสูงในการประมาณการรายรับและรายจ่ายจากการลงทุน ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจชะงักงัน เกิดการลงทุนในกิจการที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น การเก็งกำไร การกักตุนสินค้า ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดการขยายการผลิต ดังนั้นอัตราการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนผลทางด้านสังคม เมื่อเกิดเงินเฟ้อทำให้ประชาชนมีค่าครองชีพสูงขึ้น เกิดความเดือดร้อน อาจเกิดกระแสการต่อต้านรัฐบาล มีการนัดหยุดงาน และอาจทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมา
5) ผลต่อดุลการค้าของประเทศ เนื่องจากราคาสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าจากต่างประเทศ อาจทำให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะที่มูลค่าการส่งออกของประเทศลดลง ประเทศมีแนวโน้มที่จะขาดดุลการค้า
แนวทางการแก้ไขภาวะเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อทางด้านอุปสงค์ แก้ไขได้โดยใช้นโยบายการคลังและนโยบายการเงิน การใช้นโยบายการคลังทำได้โดยรัฐบาลลดค่าใช้จ่ายลงหรือเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้น ส่วนนโยบายการเงิน ทำได้โดยลดปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจลง เพื่อให้การใช้จ่ายในการบริโภคและการลงทุนลดลง เงินเฟ้อทางด้านอุปทาน แก้ไขได้โดยใช้นโยบายต่างๆ เพื่อแก้ไขให้ตรงตามสาเหตุที่เกิดเงินเฟ้อ เช่น หากเกิดจากวิกฤติการณ์ทางพลังงาน รัฐบาลต้องใช้นโยบายประหยัดและใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ หากเกิดจากการกักตุนสินค้า รัฐบาลต้องใช้นโยบายห้ามกักตุนสินค้า และนโยบายควบคุมราคาสินค้าโดยตรง
คำถามเพื่อการอภิปราย
1. ทำไมผู้มีรายได้ประจำจึงมีผลกระทบมากเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ
2. ปัญหาเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อประเทศชาติอย่างไร
สาระเศรษฐศาสตร์
เหมาะสำหรับช่วงชั้นที่ 3-4
ข้อมูลเพิ่มเติมที่ : https://shiningjessica.wordpress.com
https://th.wikipedia.org/wiki
ที่มาของรูปภาพ: https://t2.gstatic.com/images?q=tbn:tjK6LyGSvOqQZM::&t=1&usg=__viyeRrvrMItkwFEmbHpTo0q4Zl8=
https://media.thaigov.go.th/Sitedirectory/471/1781/26157_MNewsImages_69039.jpg
https://www.uppicweb.com/x/i/it/depression_f.jpg
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3220