เมื่อถึงยุคปฏิวัติ


984 ผู้ชม


ใครๆ ก็พูดถึงการปฏิวัติ เรามารู้จักกับการปฏิวัติในสมัยอดีตว่ามีความเป็นมาอย่างไร   

การปฏิวัติอุตสาหกรรม ( industrial revolution)
         เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในบริเตนใหญ่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18 -19 โดยมีจุดเริ่มจากเทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำ (ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อ
เพลิงหลัก) ทำงานด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ (โดยเฉพาะอุตสาหกรรม  สิ่งทอ) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจถูกผลักดันด้วยการสร้างเรือ เรือกำปั่น รถยนต์ และทางรถไฟ ที่อาศัยเครื่องจักรไอน้ำ ความเจริญก้าวหน้าแผ่ขยายไปสู่ยุโรปตะวันตกและทวีปอเมริกาเหนือ และส่งผลกระทบทั่วโลกในที่สุด

เมื่อถึงยุคปฏิวัติ 

ที่มา:https://www.thaigoodview.com

 ความหมายของการปฏิวัติอุตสาหกรรม
         การปฏิวัติอุตสาหกรรม คือ การเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตจากเดิมที่เคยใช้แรงงานคนและสัตว์พลังงานธรรมชาติ หรือเครื่องมือง่าย ๆ ในสังคมเกษตรกรรมมาเป็นใช้เครื่องจักรกลผลิตสินค้าใน
ระบบโรงงานอุตสาหกรรมทำให้ได้ผลผลิตในปริมาณมาก 

สาเหตุของการปฏิวัติอุตสาหกรรม
• ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ จึงเกิดความสนใจที่จะประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ในการอุตสาหกรรม 
• การสำรวจทางทะเลและการแสวงหาอาณานิคม ทำให้มีแหล่งวัตถุดิบและตลาดระบายสินค้า เป็นการกระตุ้นให้การค้าขยายตัว จึงสนับสนุนให้คิดประดิษฐ์เครื่องจักร 
• ความมั่นคงและเสรีภาพทางการเมืองในยุโรป ทำให้พ่อค้า นายทุน และนักอุตสาหกรรม มีสิทธิมีเสียงในการปกครองประเทศ การอุตสาหกรรมจึงได้รับการสนับสนุนให้เจริญก้าวหน้า


 การปฏิวัติอุตสาหกรรม
        ช่วงเวลาที่ถือว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมดังกล่าวตกอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2293-2393 โดยเริ่มขึ้นก่อนในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมที่มีเมืองขึ้นรองรับผลิตภัณฑ์อยู่ทั่วโลกแล้วจึงได้ขยายไปทั่วยุโรป การปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มจากการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำขึ้นมาใช้ในการปั่นและทอผ้าฝ้ายและทอผ้าขนสัตว์ในแลงแคชเชียร์ที่ตั้งอยู่ตอนกลางของสก็อตแลนด์และที่บริเวณภาคตะวันตกของยอร์กเชอร์ (Yorkshire) โรงงานที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำเหล่านี้ เกือบทั้งหมดมักตั้งอยู่ในเมือง ทำให้ชุมชนเมืองเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งจากการอพยพของแรงานจากชนบทและจากการแต่งงานเร็วขึ้นของคนทำงานที่มีรายได้ประจำเพิ่ม นอกจากอุตสาหกรรมสิ่งทอแล้ว อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าก็เกิดขึ้น ซึ่งแม้จะขยายตัวช้ากว่า แต่ก็ได้กลายเป็นตัวสำคัญในการขับเศรษฐกิจแห่งการ

ปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคที่ 2 ประมาณ พ.ศ. 2373 เป็นต้นมา แต่นักประวัติศาสตร์กลับเห็นว่าบทบาทของการตลาด ความมั่นคงทางการเมืองและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการจัดการที่เริ่มขึ้นในสมัยนั้นเป็นหัวใจของการขยายตัวอย่างรุนแรงที่แท้จริงของอุตสาหกรรม และในกระบวนการปฏิวัติอุตสาหกรรมดังกล่าวยังทำให้เกิดนักประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นหลายคน เช่น อาร์คไรท์ โบลตัน โคร์ต ครอมพ์ตัน ฮาร์กรีฟส์ เคย์ และวัตต์ นอกจากนี้ กฎหมายเกี่ยวกับการผังเมือง รวมทั้งการจัดสร้างสวนสาธารณะก็เป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน

 คนแรกที่ใช้คำว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรม
        ผู้ใช้วลี “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” เป็นคนแรกคือทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเบอร์ลินชื่อหลุยส์ Guillaume เมื่อปี พ.ศ. 2342 แต่ผู้ที่นำมาใช้จนเริ่มแพร่หลายเป็นนักเขียนคอลัมน์หนังสือพิมพ์ชื่อ Auguste Blanqui เมื่อปี พ.ศ. 2380 รวมทั้ง ฟรีดริช เองเงิลส์ ในหนังสือเรื่อง “สภาพของชนชั้นกรรมกรในประเทศอังกฤษ” (พ.ศ. 2388) จากนั้นมาก็ได้มีผู้นำวลีนี้มาใช้แพร่หลายเป็นการถาวร

การปฏิวัติอุตสาหกรรม ระยะแรก
        1. การปฏิวัติอุตสาหกรรมระยะแรก ประมาณ ค.ศ.1760 เรียกว่า “สมัยแห่งพลังไอน้ำ” เนื่องจากมีการค้นพบพลังไอน้ำและนำเครื่องจักรไอน้ำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทอผ้า 

       ทั้งนี้ เป็นเพราะอังกฤษมีแหล่งถ่านหินและเหล็ก ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงและวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์รวมทั้งมีการประดิษฐ์เครื่องจักรกลใหม่ ๆ ซึ่งนำมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง     
       2. เครื่องจักรกลและอุตสาหกรรมที่สำคัญของการปฏิวัติอุตสาหกรรมระยะแรก มีดังนี้ 
                     (1) อุตสาหกรรมทอผ้า สิ่งประดิษฐ์ในระยะแรก ๆ เป็นเครื่องจักรกลที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมทอผ้า เช่น 
                                - เครื่องทอผ้า ที่เรียกว่า “กี่กระตุก” ของ จอห์น เคย์ (John Kay) 
                                - เครื่องปั่นด้าย “สปินนิง มูล” (Spinning Mule) ของแซมมวล ครอมป์ตัน (SamuelCrompton) ปั่นด้ายได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง 
                                - เครื่องทอผ้า ที่เรียกว่า หูกทอผ้า “พาเวอร์ ลูม” (Power Loom) ของเอ็ดมันด์ คาร์ตไรท์ (Edmund Cartwright) ทำให้อุตสาหกรรมทอผ้าขยายตัวอย่างรวดเร็ว 
                    (2) เครื่องจักรไอน้ำ เป็นผลงานของ เจมส์ วัตต์ (James Watt) นักประดิษฐ์ชาวสก็อต ในปี ค.ศ.1786 เป็นผลให้อุตสาหกรรมทอผ้าฝ้ายของอังกฤษประสบความสำเร็จอย่างงดงาม 
                    (3) อุตสาหกรรมเหล็ก มีการนำเหล็กมาใช้ในอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะด้านการคมนาคม เช่น ทำรางรถไฟ ตู้รถสินค้าของรถไฟ ฯลฯ จึงมีผู้เรียกการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงแรกว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคเหล็ก” (Age  of  Iron)


การปฏิวัติอุตสาหกรรม ระยะที่สอง 
                1. การปฏิวัติอุตสาหกรรมในระยะที่สอง ประมาณปี ค.ศ.1860-1914 มีการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง เป็นยุคที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียม และไฟฟ้า (ส่วนถ่านหินและเครื่องจักรไอน้ำลดความสำคัญลง) 
                2. อุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรกลที่ทำด้วยเหล็กกล้า (Steel) และอุตสาหกรรมเคมี จึงมีผู้เรียกการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงที่สองนี้ว่า“การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคเหล็กกล้า" (Age  of  Steel )

ความก้าวหน้าและการขยายตัวของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 
                1. การค้นพบวิธีการผลิตเหล็กกล้า ในปี ค.ศ.1856 และการใช้พลังงานใหม่ ๆ แทนที่ ถ่านหิน ได้แก่ พลังงานจากก๊าซ น้ำมันปิโตรเลียม และไฟฟ้า เป็นผลให้อุตสาหกรรมของทวีปยุโรปขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะเมื่อเหล็กกล้ามีราคาถูกลงทำให้อุตสาหกรรมหนัก เช่น การต่อเรือ การคมนาคม และการผลิตเครื่องจักรกลต่าง ๆ พัฒนาก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น 
                2. การขยายตัวของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในทวีปยุโรป ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีประเทศในภาคพื้นยุโรปหลายประเทศประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเยอรมนีกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าและเป็นคู่แข่งที่สำคัญของอังกฤษ 
                3. การเกิดประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมของโลก ก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 1(ค.ศ.1914-1918) อังกฤษยังคงมีฐานะเป็นประเทศผู้นำทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก โดยเยอรมนีเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงมากที่สุด จนกระทั้งในปี ค.ศ.1920 จึงเกิดประเทศคู่แข่งสำคัญเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และญี่ปุ่น 
                4. การเกิดระบบการบริหารและการจัดการทางอุตสาหกรรม การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดการบริหารงานในระบบโรงงานที่มีประสิทธิภาพ เช่น มีการแบ่งงานกันทำเป็นฝ่ายหรือแผนก 

เมื่อถึงยุคปฏิวัติ

 ที่มา:https://nissawan078.multiply.com

ผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรม
                1. การเพิ่มของจำนวนประชากร โดยเฉพาะประเทศอังกฤษและเยอรมนีมีอัตราการเพิ่มของประชากรสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม เกิดการขยายตัวของชุมชนเมือง และความเจริญก้าวหน้าด้านการแพทย์และสาธารณสุข 
                2. การขยายตัวของสังคมเมือง เกิดเมืองใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการอพยพของผู้คนในชนบทเข้ามาทำงานในเมือง ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา โดยเฉพาะปัญหาชุมชนแออัด และเกิดอาชีพใหม่ ๆ หลากหลาย 
                3. การแสวงหาอาณานิคมและลัทธิจักรวรรดินิยม ประเทศยุโรปที่มีการปฏิวัติการผลิตด้านอุตสาหกรรมีความจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรม และขยายตลาดระบายสินค้าที่ผลิตจึงเกิดการแข่งขันกันแสวงหาอาณานิคมในทวีปแอฟริกาและเอเชีย 
                 4. ความเจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 20 การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้โลกมีการพัฒนาการผลิตภาคอุตสาหกรรมก้าวหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง เช่น มีการนำวัสดุอื่น ๆ มาใช้ผลิตแทนวัสดุธรรมชาติ เช่น พลาสติก และโลหะที่มีน้ำหนักเบา ระบบใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงาน เป็นต้น 
  
ผลกระทบของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปต่อสังคมไทย
            การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นการเปลี่ยนสถานที่ประกอบการในครอบครัวมาเป็นโรงงานที่สร้างขึ้นสำหรับการผลิตโดยเฉพาะ และเปลี่ยนจุดประสงค์ของการผลิตจากการผลิตเพื่อนำมาเลี้ยงชีพเป็นการผลิตเพื่อส่งสินค้าออกจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ส่งผลกระทบต่อหลายด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สติปัญญาและวัฒนธรรม 
ผลดีของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 
      เกิดระบบโรงงานเพื่อผลิตสินค้าเพิ่มจำนวนขึ้น เกิดแรงงานเพิ่มขึ้นและมาอยู่รวมกันในเมืองใหญ่ มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น คุณภาพสินค้าและบริการมีคุณภาพขึ้น และมีการนำวิทยาการเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนาใช้เพื่อความก้าวหน้าของประเทศเพิ่มขึ้น 
ผลเสียของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 
      ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่พัฒนาและกำลังพัฒนา เป็นบ่อเกิดของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก เนื่องจากต้องการแหล่งวัตถุดิบและขยายการค้า และมีการแบ่งชนชั้นคือนายทุนที่มั่งคั่งกับลูกจ้างผู้ยากไร้ภายในประเทศ

ความก้าวหน้าของชาติตะวันตกกับผลกระทบต่อ ประเทศไทย 
         อิทธิพลของชาติตะวันตกมีผลกระทบต่อประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ 4 คือ ทรงยินยอมทำสนธิสัญญาบาว์ริง พ.ศ. 2398 กับประเทศอังกฤษ เพื่อแลกเอกราชของประเทศ มีการรับเอาวัฒนธรรมของชาติตะวันตกเข้ามา มีการติดต่อค้าขายระหว่างประเทศมากขึ้นหลังการทำสนธิสัญญาบาวริงประเทศไทยต้องยกเลิกพระคลังสินค้าเปลี่ยนเป็นการค้าแบบเสรีดำเนินการโดยเอกชน ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนจากแบบเลี้ยงตัวเองมาเป็นระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้า เกิดการเกษตรกรรมเพื่อส่งออกแทนการปลูกเพียงเพื่อบริโภคเท่านั้น 
          การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญคือการที่มีพ่อค้าต่างชาติเข้ามาเปิดร้านค้า การตั้งโรงสีข้าว การทำป่าไม้ โรงไฟฟ้า การเงิน การธนาคาร **มีธนาคารที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ ธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาร์เตอร์แบงก์ และธนาคารอินโดจีน 
** ประเทศไทยได้ตั้งธนาคารเรียกว่า บุคคลัภย์ พ.ศ. 2447 ต่อมาเป็น "แบงก์สยามกัมมาจล" และปัจจุบันเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ **และได้จัดตั้งหน่วยงานเกี่ยวกับการจัดการเรื่องเงินรายได้ขึ้น เพื่อความเป็นระเบียบ คือ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ได้จัดตั้งพระราชบัญญัติตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้น ใน พ.ศ. 2416 เพื่อเก็บผลประโยชน์ซึ่งเป็นรายได้ของแผ่นดินมารวมไว้เป็นที่เดียวกัน **กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติกรมพระคลังสินค้ามหาสมบัติ ใน พ.ศ. 2418 ทำให้รายรับ ราย จ่ายงบประมาณแผ่นดินเป็นไปอย่างเรียบร้อย 
** ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงตั้งโรงกษาปณ์ขึ้น ใน พ.ศ. 2403 และมีการออกพระราชบัญญัติธนบัตร ใน พ.ศ. ใน พ.ศ. 2451 ประเทศไทยประกาศเทียบค่าเงินไทยเป็นมาตรฐานทองคำ และสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงตั้ง "คลังออมสิน" และเปลี่ยนมาเป็น "ธนาคารออมสิน" ใน พ.ศ. 2490 
          การปรับปรุงการเกษตรกรรมและการชลประทาน 
              ออกประกาศงดเก็บค่าหางข้าวสำหรับเกษตรกรผู้ที่หักร้างถางพงและทำนาในปีแรก และจะจัดเก็บในปีที่ 2-4 ไร่ละ หนึ่งเฟื้อง (12 สตางค์) ต่อปี และปีที่ 5 เก็บไร่ละหนึ่งสลึง และสร้างประตูกั้นน้ำ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการขุดคลองเพื่อเชื่อมต่อกัน และทำให้มีพื้นที่สำหรับการเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น และสามารถส่งเสริมการปลูกข้าวได้มากขึ้น เพื่อเป็นสินค้าส่งออกของประเทศ

ปัญหาเศรษฐกิจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปก เกล้าเจ้าอยู่หัว 
         ในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลต้องแก้ไขด้วยการลดและปลดข้าราชการ ยุบหน่วยงาน ลดรายจ่ายในราชสำนัก และเพิ่มภาษีอากรบางประเภท จนเป็นผลทำให้เกิดความเคลื่อนไหวการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475
นโยบายเศรษฐกิจของคณะราษฎร์ ได้มอบหมายให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้ร่างโครงการเศรษฐกิจ ถูกวิจารณ์ว่ามีแนวทางนิยมคอมมิวนิสต์ จึงไม่นำมาใช้ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482 - 2488) ประเทศไทยได้รับความกระทบกระเทือนทางเศรษฐกิจอย่างมาก เกิดภาวะขาดแคลนเครื่องอุปโภคและบริโภค เกิดภาวะเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก

การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจภายใต้แผนพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 
         เศรษฐกิจระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังโดยส่วนรวมเป็นอย่างมาก สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายการแก้ไข คือ การให้คนไทยมีงานทำทุกคน และขจัดการครอบงำจากต่างชาติ ส่งเสริมให้คนไทยจับจองที่ดินเป็นของตนเอง และรัฐบาลควบคุมกิจการขนาดใหญ่ เช่น การป่าไม้ เหมืองแร่ . โรงงานฟอกหนัง โรงงานยาสูบ เป็นต้น 
ต่อมาในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ได้กำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจครั้งแรก เรียกว่า "แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 - 2509) 
มุ่งขยายปัจจัยขั้นพื้นฐาน เช่น การไฟฟ้า ประปา คมนาคม ชลประทาน การพัฒนาการอุตสาหกรรม และการลงทุน ขจัดปัญหาการว่างงาน ผลสรุปเป็นที่น่าพอใจ  ปัจจุบันใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11

เมื่อถึงยุคปฏิวัติ

คำถามชวนคิด
  1.  ทำไมจึงมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้น  หากไม่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมจะเป็นอย่างไร
  2. ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรปส่งผลต่อประเทศไทยอย่างไร
 
กิจกรรมเสนอแนะ
  1. ชมสารคดีเกี่ยวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม
  2. กิจกรรมโต้วาที อุตสาหกรรมดีกว่าเกษตรกรรมอย่างไร
  3.  ศึกษาบุคคลตัวอย่างที่มีผลงานในการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทย
  4.  จัดทำหนังสือพิมพ์เสมือน ในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม
 
การบูรณาการ
  1.  กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างประเทศ  เกี่ยวกับคำศัพท์ 
  2.  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  เรียงความ แต่งคำประพันธ์
  3.  กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  เรื่อง การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
 4.  กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ  วาดภาพอุตสาหกรรมในอนาคต

ที่มา 
school.obec.go.th/saod_rs/p007/p03 (วันที่ 23 พฤษภาคม 52)       
https://th.wikipedia.org/wiki/
https://202.143.144.83/~skb/computor/ganjana/west_modern_factory.htm
www.lks.ac.th/kukiat/student/betterroyal/social/39.html 
https://www.lks.ac.th/kukiat/student/betterroyal/social/39.html

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4012

อัพเดทล่าสุด